นับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเห็นกันบ่อยนัก เมื่ออนาคตของชาติ ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปีที่แล้ว เยาวชนไทยหลายคนถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลากหลายข้อหา รวมถึง ข้อหาที่มีโทษร้ายแรงอย่าง ม.112
The MATTER ขอรวบรวมสถิติที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการดำเนินคดีในเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยเฉพาะในคดีอาญา ม.112 เพื่อสำรวจว่า มีเยาวชนกี่รายที่ถูกดำเนินคดีนี้ เยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีคือเท่าไหร่ และนอกจาก ม.112 แล้ว พวกเขาถูกคุกคามกันอย่างไรบ้าง?
มีเยาวชนอย่างน้อย 6 ราย ที่ถูกดำเนินคดี ม.112
มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างน้อย 6 ราย ที่ได้รับหมายเรียกและถูกดำเนินคดีใน ม.112 โดยมีตั้งแต่เยาวชนอายุ 14-17 ปี ทั้งจากการร่วมปราศรัยบนเวทีชุมนุม จากการร่วมกิจกรรมแต่งครอปท็อป จากการแต่งกายด้วยชุดไทยและชุดเสื้อยืดเอวลอยเดินพรมแดง จากการติดตามการจับกุมผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 อีกรายหนึ่ง และจากกรณีวางเพลิงเผาทรัพย์
เยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ที่อายุน้อยสุด คือ 14 ปี
จากการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา มีเยาวชนถูกดำเนินคดีใน ม.112 เพิ่ม 2 ราย โดยทั้งคู่มีอายุ 14 และ 15 ปี ทำให้สถิติผู้ถูกดำเนินคดีใน ม.112 ที่อายุน้อยที่สุด กลายเป็น 14 ปี หรือเทียบเท่ากับนักเรียนชั้นมัธยมต้นเท่านั้น
มีเยาวชนที่โดนดำเนินคดีจากการแต่งชุดครอบท็อป
ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักคือ การตีความและการบังคับใช้ ม.112 ที่กว้างขวาง ซึ่งประเด็นนี้ ทนายคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความคิดเห็นว่า ตามหลักในการตีความและบังคับใช้กฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด ตามตัวอักษร แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าการถูกดำเนินคดีใน ม.112 เกิดจากการตีความแล้วก็การบังคับใช้ที่ขยายความออกไป
“เลยกลายเป็นเรื่องที่ว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งของการกระทำในแต่ละพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวข้องกับสถาบันมันก็จะถูกตีความว่า เป็นความผิดใน ม.112”
ทนายคุ้มเกล้าเสริมว่า ตามองค์ประกอบของ ม.112 เป็นเรื่องดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ยังไม่ได้เป็นการตีความ ขยายความไปถึง การล้อเลียนหรือเสียดสี เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงหรือว่าชัดแจ้งในการกระทำนั้นๆ ว่าต้องการดูหมิ่น หรือว่าหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายใคร
มีเยาวชนอย่างน้อย 1 ราย โดนดำเนินคดี ม.116 และเป็นเยาวชนรายแรกที่โดนดำเนินคดีในมาตรานี้
อีกประเด็นน่าสนใจคือ ในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีอย่างน้อย 1 ราย ที่ได้รับหมายเรียกในคดีอาญา ม.116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี หลังขึ้นปราศรัยบนเวที #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนท์
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตจากการแจ้งข้อหา ม.116 ต่อเยาวชนรายนี้ว่า ในบันทึกแจ้งข้อหากล่าว ระบุเพียงพฤติการณ์ของไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ว่าเป็นผู้ร่วมและปราศรัย แต่ไม่ได้ระบุพฤติการณ์ของธนกรเลยแม้แต่น้อย
มีเยาวชนจำนวนมากถูกคุกคาม เช่น ตำรวจไปเยี่ยมบ้าน ถูกครูในโรงเรียนกดดัน ถูกสอบถามข้อมูลส่วนตัว และถูกตำรวจติดตาม
นอกจากการใช้กฎหมายต่างๆ แล้ว เยาวชนจำนวนมากยังถูกคุกคามในอีกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปเยี่ยมบ้าน พร้อมพูดกดดันให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ตั้งใจเรียนเพียงอย่างเดียว จนบางคนต้องยอมเลิกไปชุมนุมทางการเมือง เพราะกังวลในเรื่องความปลอดภัย
หรือกรณีที่นักเรียนหลายคน ถูกคุณครูในโรงเรียนกดดันและเรียกพบ เพื่อเตือนให้เลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่จัดในรั้วโรงเรียนหรือนอกรั้วโรงเรียนก็ตาม ซึ่งนับเป็นการกดดันจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเยาวชน
รวมทั้ง มีเจ้าหน้าที่ที่ไปสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเยาวชน และติดตามไปยังบ้านของเยาวชน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งการคุกคามที่เยาวชนซึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหลายคนพบเจอ อีกทั้ง เยาวชนที่ถูกคุกคามเหล่านี้ มักอาศัยอยู่ในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ด้วย
การที่เยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยเฉพาะ ม.112 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี อาจเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปอย่าวมหันต์ ซึ่งทนายคุ้มเกล้าได้เล่าถึงปัญหาของการตีความกฎหมายที่กว้างเกินไป
ทนายคุ้มเกล้าเล่าด้วยว่า เวลาเยาวชนถูกดำเนินคดีอาญาโดยเฉพาะฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งมีอัตราโทษสูง การจะขอใช้สิทธิการเข้ามาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีอาญาในชั้นนี้ก็ไม่สามารถเข้าได้ เนื่องจากฐานความผิดนี้มีอัตราโทษที่สูงเกินกว่าที่จะเข้าได้ ต้องถูกฟ้องไปก่อนถึงจะสามารถเข้าได้
“ฐานความผิดที่โทษสูงสุดของคดี ม.112 คือ 15 ปี แต่การที่จะขอเข้ามาตรการพิเศษแทนการที่ไม่ถูกฟ้องคดีอาญา โทษจำคุกมันต้องไม่เกิน 5 ปี ถึงจะเข้าได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าถ้าเด็กและเยาวชนถูกกล่าวหาในฐานความผิด 112 แล้วเด็กหรือผู้ปกครองไม่พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ถูกผิด หรือการไปสืบพยานในชั้นศาล อยากจะขอเข้ามาตรการพิเศษโดยที่ไม่ต้องถูกฟ้อง หรือว่าลบประวัติ ลบความผิด แล้วก็ไปบำเพ็ญประโยชน์หรือว่าเข้าค่ายเพื่อจะไม่ต้องถูกดำเนินคดี ก็ไม่สามารถเข้าได้ เพราะว่าโทษมันเกินกว่าที่กฎหมายให้สิทธิไว้ ต้องถูกฟ้องไปก่อนถึงจะสามารถขอเข้าได้ แต่เมื่อไปถึงขั้นตอนนั้นก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย หรือผู้ฟ้องคดีด้วยถึงจะสามารถเข้าได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกับรัฐเอง ในกรณีที่รัฐหรือว่าตัวแทนของรัฐเป็นผู้กล่าวหาเด็กและเยาวชน”
“เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจะมีประวัติอาชญากร และถ้าต่อมาถูกพิพากษาว่ามีความผิด การที่จะเข้าทำงาน รับราชการ หรือขอรับทุนสำคัญ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะว่าเสียประวัติไปแล้ว”
นอกจากนี้ ทนายคุ้มเกล้ายังเล่าถึงปัญหาของการที่เยาวชนถูกจับว่า จริงๆ แล้วมันต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่ามีการจับเด็ก แล้วก็จะจับเด็กไปที่ไหน แล้วต้องให้เด็กและผู้ปกครองเขามีสิทธิที่จะประสานงานให้จัดหาที่ปรึกษาเด็กมาให้
“คือมีสิทธิที่จะได้ติดต่อผู้ปกครองและที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นบุคคลที่เด็กและผู้ปกครองจัดหามาหรือไว้วางใจให้เข้าร่วมกระบวนการ แล้วก็ต้องแจ้งสถานที่ที่จับเด็ก หรือจะเอาเด็กไปไว้ให้ผู้ปกครองทราบโดยทันที ไม่ใช่จับไปก่อน เดี๋ยวไปถึงที่แล้วค่อยบอก แบบนี้ไม่ได้ แล้วก็ไม่ควรเอาเด็กไปควบคุมหรือปะปนกับผู้ใหญ่ที่โดนจับด้วย ในทุกขั้นตอนกระบวนการ ควรจะต้องแยกเด็กออกมาเป็นสัดส่วน เพราะต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจของเด็กเป็นหลักด้วย แม้ว่าเขาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม”
หมายเหตุ: อัพเดทข้อมูลถึง 23 มีนาคม 2564
อ้างอิงจาก