หลังการล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลา 2519 จรัล ดิษฐาอภิชัย ถูกทางการไทยควบคุมตัวเขาสู่กองพันทหารสารวัตรที่ 1 เขาถูกผู้คุมผรุสวาทด้วยถ้อยคำหยาบคาย ปัสสาวะรดหน้าห้องขัง แต่ฟ้ายังมีตา เขาพบโอกาสแหกคุก และหนีเข้าป่าจับอาวุธร่วมกับ พคท. และได้สมญานาม ‘สหายแผ้ว’
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จรัลถูกรับเลือกเป็น 1ใน 11 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกของประเทศไทย ทว่าทำงานได้ไม่นานนัก รัฐประหารปี 2549 ก็ริบตำแหน่งเขากลับเป็นสามัญชนคนธรรมดา แต่ไม่ได้แปลว่าเขาหยุดต่อสู้
ในช่วงปี 2551-2553 จรัลเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม นปช. สวมเสื้อแดงเรียกร้องหลักการพื้นฐานที่สุดในระบบประชาธิปไตย หนึ่งคนหนึ่งเสียง เพียรตะโกนจากดินสู่ดาวให้ผู้มีอำนาจในไทยเคารพผลการเลือกตั้ง แต่ผลการเรียกร้องก็อย่างที่รู้กันคือ การสูญเสียอย่างน้อย 92 ชีวิต จากการถูกสลายการชุมนุมระหว่างผู้ประท้วง ทางการ และมือที่สาม
หลังการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557 หมายเรียกและหมายจับคดี ม.112 มาถึงหน้าบ้านของเขา จากการเป็นประธานจัดงาน 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 เขาตัดสินใจหนีออกนอกประเทศเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยอีกหลายคน ล่องเรือข้ามแม่น้ำโขง ก่อนจับเครื่องบินสู่ยุโรป หวังพึ่งความศิวิไลซ์ของชนฝรั่งเศสให้โอบอุ้ม
ถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 9 ปีพอดิบพอดีที่ จรัล กลายเป็นผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศส นี่คือเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้อัลตร้ามาราธอนของชายที่ชื่อ จรัล ดิษฐาอภิชัย บุรุษที่คนกลุ่มนึงนับถือเป็นบรมครูแห่งการต่อสู้เคลื่อนไหว คนอีกกลุ่มเรียกเขาว่าพี่ชายหรือคุณลุง แต่คนอีกกลุ่มกลับตราหน้าเขาว่าคือ ‘พวกล้มเจ้า’ ‘นักโทษหนีคดี’ และไล่ให้ออกนอกประเทศ
ส่วนคุณจะเรียกเขาว่าอย่างไร ก่อนตัดสินใจ โปรดไล่เรียงอ่านเรื่องราวด้านล่างนี้เสียก่อน
(1)
ผู้ลี้ภัยคนแรกในฝรั่งเศส
“วันที่ 15 มิถุนายนนี้ คือครบ 9 ปีที่ผมลี้ภัยมาที่ฝรั่งเศส ถือว่ายาวนานพอสมควร” จรัลพูดขึ้น
มันเป็นเวลาไทยประมาณ 15.00 น. ที่ผมวีดีโอคอลหา ‘สหายแผ้ว’ เสียงตู๊ดดังไม่ถึง 2 ครั้ง ใบหน้าของเขาก็โผล่บนหน้าจอแมคบุ๊กของผม เขายังเป็นคนเดิม ไม่ใช่ด้วยรูปลักษณ์ผมสีขาวสั้นเกรียนติดหนังหัว แต่ด้วยนัยน์ตานิ่งลึกมั่นคง และท่าทางสบายๆ ที่นอกนเอกเขนกให้สัมภาษณ์บนเตียงนอน
‘ชีวิตที่ฝรั่งเศสเป็นอย่างไรบ้าง?’ ผมเริ่มด้วยคำถามกว้างๆ
“แม้ว่าการกินอยู่อาจจะลำบากบ้าง ห้องที่อยู่คับแคบ ต้องทำมาหากินเอง แต่ผมว่าชีวิตตอนนี้ ดีกว่าอยู่เมืองไทยนะ ทั้งเรื่องสวัสดิการ, การรักษาพยาบาล, เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ” สหายแผ้วกล่าว “แล้วก็ยังได้ทํางานการเมืองในต่างประเทศ เขาเรียกว่าการช่วงชิงเสียงสนับสนุนจากสากลเพื่อสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย แล้วก็ได้เดินทางไปไม่รู้กี่ประเทศแล้ว”
จรัลเล่าว่าเขาเดินทางออกจากประเทศไทยหลังการรัฐประหารปี 2557 ด้วยเส้นทางธรรมชาติ (แม่น้ำโขง) แต่ด้วยความโชคดีกว่าผู้ลี้ภัยคนอื่น เขามีวีซ่ายุโรป (เชงเก้น) ที่เหลืออายุอีก 4 ปีอยู่ในมือ เขาจึงตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางสู่ฝรั่งเศสในทันที
‘ทำไมถึงเป็นฝรั่งเศส?’ ผมถามต่อ
จรัลให้เหตุผลไว้ 3 ข้อ ประการแรก ความคุ้นเคยกับฝรั่งเศส เพราะจรัลเคยมาเรียนปริญญาโทประวัติศาสตร์ที่นี่หลังช่วงออกจากป่า ประการสอง ความพร้อม เขาเล่าว่าหลังช่วงล้อมปราบคนเสื้อแดงปี 2553 เขาเคยเดินทางมาอาศัยอยู่ที่นี่เป็นเวลา 13 เดือนและได้เตรียมพื้นฐานเอาไว้แล้ว และประการสุดท้าย เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง
ในตอนนี้ จรัลได้รับสถานะพลเมืองฝรั่งเศสแล้ว โดยได้รับสัญชาติฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หรือถึงขณะนี้ก็เกือบ 6 ปีแล้ว ซึ่งล่าสุดเขาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างตื่นเต้นว่า กำลังจะไปเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศฝรั่งเศส
“ผมเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองไทยคนแรกของฝรั่งเศส เมื่อก่อนผมคิดว่าท่านปรีดี (พนมยงศ์) เป็นคนแรก แต่หลังจากถามพี่ดุษฎี (ลูกสาวของปรีดี) ปรากฏว่าท่านปรีดีไม่ได้ขอสถานะผู้ลี้ภัย ท่านมาอยู่ในสถานะที่รัฐบาลฝรั่งเศษเขารับรอง” จรัลเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ให้ฟังระหว่างสนทนากัน
ถ้าเป็นไปได้ เราหวังว่าเขาจะเป็นคนสุดท้าย แต่ในความจริงไม่ใช่แบบนั้น
(2)
ผู้ประสานงานผู้ลี้ภัยชาวไทยในฝรั่งเศส
“เนื่องจากพอมาอยู่ฝรั่งเศส ผมเหมือนกับเป็นผู้อาวุโส มีเงิน มีเงื่อนไขดีหน่อย ใครมาผมก็ต้องดูแลครับ เรียกว่ามาลงเรือลําเดียวกันแล้ว ไม่ช่วยได้ยังไง ช่วยเพื่อให้เขาได้สถานะผู้ลี้ภัยเร็วๆ จะได้ร่วมกันเคลื่อนไหวอย่างนี้ ก็ทําตามสภาพตามเงื่อนไขที่มี” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนอธิบาย
ถ้าเทียบกับผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศสคนอื่น ไม่ว่า อั๊ม เนโกะ – ศรัณย์ ฉุยฉาย, 4 สหายวงไฟเย็น หรือ วัฒน์ วรรยางกูล ยอดนักเขียนผู้ล่วงลับ จรัลนับว่าเป็น ‘รุ่นพี่’ ทั้งในแง่การต่อสู้และการดูแลเอาใจใส่คนเหล่านี้
ในหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ ของวัฒน์ เขาเล่าว่าเมื่อเดินทางมาถึงฝรั่งเศส จรัลคือคนแรกที่ไปรับเขาที่สนามบิน และพามาทานข้าวกับคนไทยในฝรั่งเศส รวมถึงประสานช่วยหาที่พักและความสะดวกสบายอื่นๆ
จรัลเล่าขั้นตอนการต้อนรับผู้ลี้ภัยในเราฟัง เริ่มจากลำดับแรก จัดรถไปรับที่สนามบินฝรั่งเศส หลังจากนั้นจึงพาไปกินข้าว แล้วค่อยจัดหาที่พัก ซึ่งทางการฝรั่งเศสจัดศูนย์ลี้ภัยสำหรับผู้อพยพไว้อยู่แล้ว แต่จรัลเสริมว่าการหาที่พักในปัจจุบันยากขึ้น เพราะสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่ทำให้มีผู้ลี้ภัยนับล้านคนอพยพเข้ามาในประเทศฝรั่งเศส
“หาบ้านนี่ยากมาก เพราะค่าเช่าแพงครับ นอกจากแพงแล้ว ยังต้องไปยื่นหลักฐานว่ามีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งผู้ลี้ภัยมันไม่มีทางมีเงินพอ เพราะโดยทั่วไปถ้าจะเช่าที่พัก เราต้องมีรายได้ 2-3 เท่าของค่าเช่า สมมติ ค่าเช่าห้องเล็กๆ ในปารีส 500 ยูโร/เดือน เราต้องมีหลักฐานว่ามีรายได้ 1,500 ยูโร/เดือน ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอกถ้าไม่ทำงาน แต่มาใหม่ก็ยังไม่ได้ทำงานหรอก” จรัลเล่าต่อว่าตอนนี้ผู้ลี้ภัยหลายคนเริ่มทำงานแล้ว อาทิ ตีโต้–วรวุฒิ เทือกชัยภูมิ เป็นผู้ช่วยเชฟ หรือ จอม–นิธิวัต วรรณศิริ ทำงานสวนสาธารณะ
และลำดับสุดท้าย ช่วยผู้ลี้ภัยคนอื่นหางานและหาเงิน
“การมาอยู่ในยุโรปหรือประเทศไหนก็ตาม ในยุคปัจจุบันต้องมีเงิน ซึ่งถ้ายังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยก็ยังไม่ได้เงินช่วยเหลือ (ประมาณ 200 ยูโร/ เดือน)” จรัลเล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้ คนไทยในประเทศอื่น เช่น ในยุโรป หรือสหรัฐฯ จะรวมเงินกันมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทุกเดือน แต่ด้วยสถานการณ์การต่อสู้ที่ยาวนานขึ้น และสภาพเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ เงินช่วยเหลือก็ลดน้อยลง
“ผู้ลี้ภัยส่วนในช่วงหลัก มักเป็นผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ฉะนั้นพี่น้องบางคนเขายังกลัวอยู่นะครับ” ประโยคที่จรัลพูดขึ้นมาลอยๆ เหมือนจะสะท้อนอีกหน้าที่หนึ่งในฐานะ ‘รุ่นพี่’ ของเขาว่า คือปลอบประโลมและให้กำลังใจผู้ลี้ภัยที่หวาดกลัวการคุกคามจากทางการไทย
(3)
การเรียกร้องในต่างประเทศ
“เรามาลี้ภัยเพื่อมาทํางานการเมืองนะ เราอยู่ฝรั่งเศสสามารถไปสำนักงานสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียมได้ภายในชั่วโมงกว่าๆ จะไปอังกฤษ, เยอรมนี, อเมริกา จะไปไหนก็ได้ ถ้าอยู่ประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นเนี่ย มันติดแหง็กอยู่ที่นั่นนะ ยกเว้นเรามีเงินเดินทาง” ชายวัย 76 ปีเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง แต่ทุ้มลึกแฝงความมุ่งมั่น
ตลอดระยะเวลาที่จรัลลี้ภัย เขาเดินทางไปประชุมกับองค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้อง “เสียงสนับสนุนจากสากล” ให้หันมาให้ความสำคัญกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย เขาจัดการชุมนุมทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น จัดชุมนุมร่วมกับผู้ลี้ภัยคนอื่นหน้าโบสถ์แซงก์ออกุสติน ในกรุงปารีสเพื่อยืนหนังสือถึง มานูเอล มาครง ให้หันมาสนใจสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงการประชุม APEC 2022
แต่แม้สหายแผ้วจะแข็งขันในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศขนาดไหน เขาก็ยอมรับว่า ‘ยากมาก’ เพราะในสายตาของต่างประเทศ ไม่ได้มองสถานการณ์ในประเทศไทยเลวร้าย หรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ไม่มีการนองเลือดเท่าบรรยากาศหลังรัฐประหารในเมียนมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ในระดับบุคคลทั่วไป จรัลเล่าว่าการช่วงชิงความสนใจจากชาวฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ยาก เพราะนอกจากภาพจำการรัฐประหารของไทยไม่ได้ดูรุนแรงแล้ว ตัวของจรัลเองก็มีเพื่อนชาวฝรั่งเศสน้อยมาก เนื่องจากอายุมากและไม่ได้ทำงานหรือเรียนหนังสือเหมือนคนอื่น จึงไม่มีโอกาสเล่าสถานการณ์ในไทยให้ฟัง เพื่อชักชวนมาเป็นแนวร่วมสนับสนุน
“เวลาชวนคนฝรั่งเศสมาสนับสนุนการต่อสู้ในประเทศไทย มาอย่างมากก็สัก 1-2 คน” จรัลเล่าต่อว่าเขามีความพยายามจัดตั้งสมาคมสมามฉันท์ ไทย-ฝรั่งเศส แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ขณะที่คนเมียนมาในฝรั่งเศสสามารถจัดตั้งกลุ่มได้สำเร็จ และยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนฝรั่งเศสอีกด้วย
มุมมองดังกล่าวคล้ายกับเวลาที่จรัลมีโอกาสพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งก็ไม่มีทีท่าให้ความสนใจไทยมากนัก
“เวลาผมไปพบกับองค์กรระหว่างประเทศ ผมจะบอกว่าแม้นรัฐประหารจะไม่นองเลือด ไม่ได้จับคนขังคุกมากเหมือนที่อื่น แต่ว่ามันได้หยุดพัฒนาการประชาธิปไตยในไทย ฉะนั้นถ้าคุณต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย คุณต้องประนามการรัฐประหาร” จรัลเล่าบทสนทนาระหว่างที่เขาเคลื่อนไหวในต่างประเทศให้เราฟัง
เขาเสริมมุมมองเขาต่อประชาธิปไตยในไทยว่า เหมือนประชาธิปไตยแบบบอนไซ (Bonsai Democracy) กล่าวคือ พอจะโตก็โดนตัดกิ่งก้านเล็มลำต้นให้ต่ำเตี้ยด้วยการสร้างความขัดแย้งแล้วรัฐประหาร ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยไม่สามารถหยั่งรากลึกที่แข็งแรง และเติบโตเป็นต้นไม้ประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งได้
เมื่อกาลเป็นแบบนี้ ผมก็อดสงสัยที่จะถามตรงๆ ไม่ได้ว่า แล้วทำไมยังเคลื่อนไหวอยู่?
“มันเป็นวิถีชีวิตนะ เหมือนกินข้าว” เขากล่าวต่อว่า
ที่ผมกลัวที่สุดนะ ผมกลัวตัวเองจะหยุดเคลื่อนไหว เพราะการเคลื่อนไหวสำหรับผมมันเป็นวิถีชีวิต ถูกบ้างผิดบ้าง ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่เหมือนเรากินข้าวนะ บางมื้ออร่อยบางมื้อไม่อร่อย แต่ว่าเราต้องกิน
คำอธิบายของเขาอาจฟังดูนามธรรมและอินดี้ แต่ประวัติการต่อสู้ที่ยางเป็นหางว่าวก็ยืนยันความคิดเขาได้อย่างชัดเจน
(4)
ถึง (ว่าที่)รัฐบาลใหม่ พรรคก้าวไกล
ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถามเขาถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันว่า อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำเป็นอันดับแรก? แต่จากการพูดคุย สหายแผ้วมีทั้งคำแนะนำและคำเตือน
ขอเริ่มจากคำเตือนก่อน..
จรัลอธิบายสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันว่า กลุ่มอำนาจเก่าเหมือนกำลัง ‘ดิ้นเฮือกสุดท้าย’ คล้ายปลาหมอที่ถูกทุบแล้วแต่ยังดิ้นไม่ยอมตาย ซึ่งเขาเตือนว่าอย่าไว้วางใจชนชั้นนำไทย เพราะสิ่งที่ชนชั้นนำไทยถนัดมีอยู่ 2 อย่างคือ การหลอกหลวงและการปราบปรามประชาชน
ชนชั้นปกครองไทยเนี่ยใช้อยู่สองวิธีหลักๆ ในการรับมือกับประชาชน หนึ่งปราบปราม สองหลอกลวง ปราบปรามไม่ได้ก็หลอกลวง หลอกลวงไม่ได้ก็ปราบปราม หรือทำทั้งปราบปรามและหลอกลวง
สำหรับการปราบปรามไม่จำเป็นต้องขยายความเพิ่ม แต่การหลอกลวง เขายกตัวอย่างการดำเนินคดีผู้ชุมนุมในช่วงม็อบราษฎรที่ผ่านมา ซึ่งมีการพลิกกลับไปกลับมาของมาตรฐานคำตัดสินศาลอยู่หลายครั้ง บางครั้งให้ประกันตัว บางครั้งไม่ให้ หรือบางครั้งสั่งฝากขังเป็นหลายเดือนก่อนปล่อย ซึ่งจรัลมองว่ามันเป็นการลดความตึงเครียด และทำให้การเคลื่อนไหวที่เขาทำอยู่ดำเนินการยาก
นอกจากนี้ เขายังเตือนไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ว่าต้องจับตาดูให้ดี ถึงแม้กรณีหุ้น iTV เหมือนจะมีทิศทางคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังต้องไม่ลืมว่าชนชั้นปกครองไทยยังคงมีองค์กรต่างๆ อยู่ในมือ โดยเฉพาะตุลาการและกองทัพ ดังนั้น ประชาชนต้องเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้การจัดตั้งรัฐบาลทำได้สำเร็จ
ส่วนคำแนะนำ เขาเสนอทั้งหมด 3 ข้อ ประการแรก ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประการที่สอง ลบล้างผลพวงรัฐประหาร และประการสุดท้าย ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ทำรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เขาตระหนักดีว่าการดำเนินการเหล่านี้อาจถูกขัดขวาง ดังนั้น สหายแผ้วจึงเสนอแค่ข้อเดียวที่สามารถทำได้เลยคือ “ไม่ต้องไปไหว้ศาลพระภูมิและศาลเจ้า”
เรื่องนี้ง่ายที่สุดเลยนะ ไม่ต้องไปไหว้ศาลพระภูมิและศาลเจ้า เมื่อก่อนใครเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีกระทรวงไหนก็เข้าไปไหว้กันใหญ่ ไม่ต้องไหว้ครับ ไม่ผิดกฎหมายด้วย” ผมถามต่อทันทีว่าทำไม สหายแผ้วสวนทันทีว่า “อ้าว! ก็คนไทยถือว่าศาลพระภูมิเป็นเจ้าดูแลที่”
แต่ที่จริงเจ้าของที่คือประชาชนต่างหาก
ในเรื่องนี้สหายแผ้วเปรียบเปรยแล้วแต่ใครจะตีความว่ามันหมายถึงอะไร
(5)
ผมคงไม่กลับมาอยู่เมืองไทยอีกแล้ว
ถ้ามีโอกาสจะกลับมาอยู่เมืองไทยไหม? ผมมักถามคำถามนี้เสมอเมื่อได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ และจรัลเองก็เช่นกัน
“ผมคงไม่กลับไปแบบตั้งรกราก แต่ถ้ามีโอกาสคงไปมาๆ” เขาอธิบายเหตุผลที่เลือกจะไม่กลับมาอยู่เมืองไทย (แบบจริงจัง) ไว้ทั้งหมด 4 ข้อ
ข้อแรก ไม่ได้ผูกพันธ์กับเมืองไทยมากนัก จรัลกล่าวว่าพ่อและแม่ของเขาเสียชีวิตหมดแล้ว ส่วนความผูกพันธ์ที่เขามีต่อเมืองไทยก็เป็นในแง่ความรักต่อประชาชนคนไทยเสียมากกว่า ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับความเป็น ‘ชาติไทย’
ข้อสอง ไม่มีทรัพย์สมบัติ จรัลยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ตัวเขาไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรอยู่ที่เมืองไทยอีกแล้ว เขาเรียกตัวเองว่า ‘ชนชั้นไร้สมบัติ’ ไม่มีบ้าน ไม่มีเงิน และไม่มีแรงทำงานหาเงิน ดังนั้น การอยู่ที่ฝรั่งเศสเพื่อรับเงินช่วยเหลือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในสายตาเขา
ข้อสาม การต่อสู้ อย่างที่เขากล่าวไปว่า การต่อสู้เป็นวิถีชีวิตของตัวเขา และเขาคาดว่าการที่ตัวเองกลับไปเมืองไทยอาจทำอะไรไม่ได้มากอีกแล้ว ผิดกับการอยู่ที่นี่ ซึ่งยังพอมีลู่ทางเป็นปากเสียงให้ผู้อพยพทั่วโลกได้
ข้อสี่ ความไม่เสถียร ตามประสานักต่อสู้ที่เห็นธาตุแท้ของเผด็จการไทยมายาวนาน เขายังไม่เชื่อนักว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนผ่านการเมืองจะเสถียรมากพอสำหรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่มี ม.112 เป็นชนักติดหลังเช่นเขา
“ผมคิดว่ามันยังไม่เสถียรหรอก มันอาจจะมีขึ้นมีลง มีการผลิกผันก็ได้ มันคงไม่ดีถ้าเกิดต้องติดคุกตอนแก่” เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาก่อนทิ้งท้ายถึงความตายตัวเอง
“ผมอายุ 76 ปีแล้ว อีกไม่กี่ปีผมก็จะตายแล้ว ตายที่ไหนก็ได้ ผมสั่งลูกกับเมียไว้แล้ว ไม่ต้องไปทําพิธีทางศาสนา ไม่ต้องทำอะไร ตายแล้วก็ตาย”
Fact Box: ในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 หรือวาระครบรอบ 50 ปีการชุมนุม 14 ตุลา จรัลจะออกหนังสือ ‘อัตชีวประวัติ’ ของตัวเอง ใครสนใจสามารถติดตามได้ที่ Facebook: Jaran Ditapichai
อ่านบทสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ได้ที่:
“ต้องโทษคนรุ่นผม ที่ปล่อยอนาคตแบบนี้มาให้รุ่นหลาน” ปวีณ อดีตตำรวจที่ถูกบีบให้ลี้ภัย
“หวังจะกลับบ้านอยู่ทุกวัน” จอม เพชรประดับ นักข่าวที่ดันเพดาน ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ
ใครจะรู้ว่าแค่แชร์บทความ จะต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย คุยกับ การ์ตูน-ชนกนันท์