“ทุกวันนี้ที่ทำงานหนัก ก็เพื่อหวังจะให้ได้กลับบ้าน”
ไม่ว่าเบื้องหลังการตัดสินใจออกนอกประเทศของใครจะเป็นอย่างไร สร้างบาดแผลจนไม่อยากหันกลับแค่ไหน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับอดีตคนข่าวที่ต้องลี้ภัย ซึ่งผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่าง จอม เพชรประดับ ที่เริ่มเห็นสัญญาณว่า ‘ภารกิจ’ ของเขาใกล้สำเร็จแล้ว หลังผู้คนตื่นตัวทางการเมือง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นที่ผ่านมา
หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 เส้นทาง ‘ท่องเที่ยว’ ตามคำนิยามของจอม จึงเริ่มต้นขึ้น ช่วงต้นเขาเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา แล้วได้รับคำชักชวนให้ไปสหรัฐอเมริกาต่อ ด้วยการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของเขาจึงไม่ยากที่จะตอบตกลง
เป็นตามคาดการณ์ ไม่นานเขาก็เป็นหนึ่งรายชื่อที่ คสช. เรียกให้ไปรายงานตัว แม้จะไม่ได้มีคดีความติดตัวจนถึงตอนนี้ก็ตาม
ต้องยอมรับว่า ชื่อของเขามาเป็นที่รู้จักกับการเปิดหน้าทำช่อง Thai Voice Media ที่เน้นถ่ายทอดชีวิตของบรรดาผู้ลี้ภัย และแตะประเด็นที่ ‘เพดานสูง’ เกินกว่าจะเปิดปากได้ในประเทศ ณ เวลานั้น จนได้รับเสียงชื่นชมและเผชิญแรงเสียดทานไปพร้อมกัน แต่ดูเหมือนการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านมา เป็นคำตอบให้กับเขาว่า “ไม่มีอะไรสูญเปล่า”
ทั้งที่ต้องดิ้นรนกับชีวิตในต่างแดน แล้วทำไมถึงยังเดินหน้าเคลื่อนไหว? The MATTER จึงถือโอกาสในช่วง ‘วันผู้ลี้ภัยโลก’ ที่ใกล้จะมาถึงไปคุยกับ จอม เพชรประดับ ถึงเหตุผลที่เขายังยืนหยัดต่อสู้ รวมถึงความรู้สึกของการเป็นผู้ลี้ภัยที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’ นับแต่เลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งพ้นไป
จาก ‘สื่อ’ สู่ ‘นักเคลื่อนไหว’
“การตัดสินใจลี้ภัยการเมืองเป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิต ที่คิดว่าเรายังคงทำอะไรได้อีก ในการเปลี่ยนไปสู่สังคมที่มีความหวัง มีอนาคต ทำให้การเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย บทบาทที่เราเคยทำสื่อตอนอยู่เมืองไทยก็น่าจะมีส่วนช่วยบ้าง”
ถึงตอนนี้จอมจะเริ่มห่างหายไป จากการจัดรายการผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่ตลอดหลายปีที่ผ่าน จอมมองว่าเขาใช้ความรู้ที่ติดตัวมา ผนวกกับโอกาสของการอยู่ห่างจากมือที่มองไม่เห็น อย่างเต็มศักยภาพแล้ว
ทำให้หลายคนมีข้อครหาว่าเขานิยามตัวเองว่าเป็นสื่อได้อีกหรือไม่? จอมตอบคำถามนี้อย่างชัดเจน
“บทบาทสื่อที่เคยทำอยู่ของผมจบไปแล้ว ส่วนที่ขยับมาเคลื่อนไหวในโซเชียล คือในฐานะคนที่ต้องการเห็นความเป็นประชาธิปไตยในไทยเท่านั้น ผมไม่ได้สัมภาษณ์แบบเป็นกลาง ไม่คุยกับคนที่เราไม่เชื่อถือในแบบเดียวกัน ผมออกความเห็นด้วย และแสดงจุดยืนตัวเอง”
ทั้งหมดล้วนมีเหตุผลเบื้องหลังของการตัดสินใจเช่นนี้อยู่ เขาอธิบายว่า ในอดีตความคิดของคนในสังคมไม่ได้แตกกระจาย การนำเสนอประเด็นทางการเมืองของสื่อมวลชนตอนนั้นเลยคล้ายจะมีเอกภาพ โดยไม่มีใครแตกแถว “เราอยู่ในกติกากันมาก ใครทำอะไรที่เกินกติกา ก็จะถูกอัปเปหิออกไป”
แต่ไม่มีใครสามารถห้ามการตั้งคำถามที่เกิดขึ้นในใจของคนได้ โดยเฉพาะตัวเขาที่มีโอกาสสัมผัสปัญหาของประชาชน และสังเกตเห็นความประหลาดของระบบยุติธรรมของประเทศ นั่นถึงทำให้เขาเริ่มวิพากษ์โครงสร้างรัฐ และสถาบันของไทย ผ่านการถ่ายทอดมุมมองนักวิชาการ ไปจนถึงผู้ได้รับผลกระทบตัวจริง โดยเฉพาะจากคดี ม.112
นั่นถึงทำให้จอมถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ พร้อมถูกแปะป้ายคนเสื้อแดง “ความหมายของความเป็นเสื้อแดงของผม คือคนทั่วไปที่เคยเจ็บปวดจากความผิดพลาดของการเมืองไทย ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือกันออกจากการมีส่วนร่วม”
จอมย้ำอีกว่า การทำงานของเขาที่ผ่านมา ถึงจะมีหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสลืมตาอ้าปากให้กับคนเสื้อแดง แต่เขาก็ยังยึดมั่นในแนวทางว่าผู้นำทุกคนจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถึงเป็นที่มาของภารกิจสื่อสารการเมือง ที่เริ่มต้นในวันที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ
“ภารกิจของเราที่ลี้ภัยมาก็เพื่อขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง ถึงได้ที่ทำงานเป็นกรรมกรในแต่ละวันมาเคลื่อนไหว ใช้ความต่างของช่วงเวลาว่าเช้าที่นี่คือค่ำไทย ถ้าเราตื่นเช้าหน่อยก็จะคุยกับคนที่เมืองไทยได้ เลยตื่นตี 4 จัดรายการ กลับจากทำงาน 6 โมงเย็น ก็พักผ่อนก่อนจะเริ่มเตรียมข้อมูลสัมภาษณ์”
มาถึงตอนนี้ สิ่งที่จะลืมไปไม่ได้ คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของจอม เกิดขึ้นภายใต้สถานะของการเป็นผู้ลี้ภัย ที่ยังต้องแบกรับความกดดันในการเลี้ยงชีพ
ชีวิตไม่ง่ายในต่างแดน
ย้อนกลับไปชีวิตช่วงเริ่มต้นในต่างแดน จอมเล่าว่า แม้สหรัฐฯ จะมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่เดินทางมาจากหลายประเทศทั่วโลก “เขาดูแค่ว่าอยู่ที่นั่นไม่ได้จริงไหม ถูกทำร้าย หรือถูกทำให้ไร้ศักดิ์ศรีหรือไม่ ตอนนั้นผู้ลี้ภัยการเมืองไทยไปต่างประเทศยังน้อยมา เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์ก็ยังจำภาพว่า ไทยไม่เคยมีเหตุผิดปกตินิ เกิดอะไรขึ้นนะ”
ถึงจะพร้อมเปิดรับถ้าเข้าข่ายตามข้อกำหนด แต่จอมก็ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ถึงจะได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัย โดยระหว่างนั้นจะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดจากรัฐ แถมยังไม่สามารถหางานทำได้เป็นหลักแหล่ง จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเป็นหลัก
อัตตาของเขาในตอนนั้นถึงสั่นคลอนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะอาชีพผู้สื่อข่าวทั้งจาก ITV TITV ก่อนจะมาต่อที่ NBT, Voice TV ที่จอมเคยผ่านมา ล้วนสร้างรายได้ ประสบการณ์ในวิชาชีพ และความภูมิใจให้กับชายคนนี้มาตลอด แต่ในวัยใกล้แตะหลักห้า เขากลับคว้าอะไรไม่ได้เลย
“ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นเพิ่งเรียนจบที่ยังอายุน้อย เขามีพลังวางแผนจัดการชีวิต ถ้าคุณมีศักยภาพกลไกของประเทศนั้นก็มีโอกาสให้เดินหน้า แต่เราที่เคยคิดว่าอยู่ตัวในชีวิตแล้วระดับหนึ่ง ตอนอายุจะ 50 ปี ต้องทิ้งทุกอย่างหมด ไม่ง่ายเลย”
“ชีวิตที่ต้องตระเวนไปนอนบ้านคนโน้นคนนี้ บ้านนั้นอาทิตย์นึง บ้านนี้สามอาทิตย์ 20 วัน อยู่โดยพึ่งพิงคนอื่น จนรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่า ร้องไห้เลยเป็นอะไรที่ธรรมดามาก จนมีช่วงหนึ่งที่เป็นซึมเศร้าเพราะยังยอมรับไม่ได้”
การได้สถานะผู้ลี้ภัยจึงช่วยให้เขามีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอีกครั้ง จนในตอนนี้ทำอาชีพคอยดูแลผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือตามบ้าน (Care provider) สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และยังใช้ช่วงเวลาที่เหลือเพิ่มความรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์อีกด้วย
ทั้งในปัจจุบัน จอมได้รับกรีนการ์ด สำหรับตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ แล้ว นั่นทำให้เขามีโอกาสในการทำงานที่มากขึ้น ได้รับสวัสดิการ จ่ายภาษี และเห็นโอกาสในการวางแผนชีวิตในวัยใกล้เกษียณ
“การใช้ชีวิตภายใต้สวัสดิการรัฐฯ มันมีเงื่อนไขไม่ใช่ได้มาง่ายๆ เหมือนเราได้ไปหาหมอ หมอรักษาคุณก็เพื่อให้คุณทำงานได้ แล้วจะได้จ่ายภาษี เป็นระบบที่แฟร์ ต้องทำงานหนักแล้วมันจะตอบแทนเราตอนเราแก่”
นับชั่วโมงของบทสนทนาที่กำลังไหลลื่น สิ่งหนึ่งที่ดึงสายตาอยู่หลายหน คือภาพถ่ายชายคนหนึ่งที่ล้อมกรอบวางไว้อย่างสวยงาม จึงอดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากถาม “พ่ออเมริกาของผมเอง” จอมเล่าว่าชายสูงวัยคนดังกล่าวเป็นคนที่เขานับถือจากการทำงาน และเป็นครอบครัวที่ช่วยเหลือให้เขาปรับตัวกับการอยู่ไกลบ้านได้
เช่นเดียวกันพ่อแม่ผู้ล่วงลับ และญาติน้องที่บ้างเขาก็ไม่ได้มีโอกาสอยู่ด้วยในวาระสุดท้าย ที่จอมจัดวางรูปเรียงรายอยู่ใกล้เคียงกัน “คนไกลบ้าน ทำได้แค่นี้แหละ”
คำตอบเหล่านี้แทบจะทำให้เราไม่ต้องตั้งคำถามต่อไปเสียด้วยซ้ำ
ยังคิดอยากกลับเมืองไทยไหม?
“หวังทุกวัน คิดทุกวันว่า เราอาจจะมีโอกาสกลับไปตายรายล้อมญาติพี่น้อง ไม่ใช่โดดเดี่ยวในต่างแดน” นี่เป็นความหวังที่จอมออกปากว่า อยากขอบคุณอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เข้ามาเขย่าให้คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและอ่อนล้าเต็มที่ได้มีหวังอีกครั้ง
จอมยอมรับว่า ตอนนี้การสื่อสารในประเด็นที่เคยวิพากษ์ไม่ได้ ถูกขยายอย่างกว้างขวาง และทำได้ดีกว่าเขาที่เคยรายงานจากต่างแดนไปมากแล้ว อย่างประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่เป็นปัจจัยหนึ่งให้พรรคก้าวไกลคว้าคะแนนเสียงได้เป็นกอบเป็นกำ
“20 ปีที่แล้วต้องยอมรับว่า คนไทยยังเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน ฆ่าใครต้องลงโทษให้ตาย ความหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ตอนนั้นถ้าใครพูดเรื่องพวกนี้ได้กลายเป็นตัวตลกทันที”
“ช่วงโควิดมันเป็นประสบการณ์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้คนเจ็บปวดมาก ขณะที่ประเทศอื่นได้รับการดูแลทั้งปากท้องและสุขภาพ บ้านเราเที่ยวมาแย่งกันเพื่อหาประโยชน์จากวัคซีน จนเกิดความล่าช้า คนถึงได้เห็นความโหดร้ายของการเมือง และรู้ว่า ‘ประชาชนต้องพึ่งรัฐบาล’”
ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งใหญ่ในบ้านเราหนนี้ คล้ายเป็นคำตอบของประชาชน ที่สะท้อนความคิดส่วนใหญ่ที่มีร่วมกันว่า “เราจะอยู่กันแบบเดิมไม่ได้แล้ว” ตามความเห็นของจอม
ทั้งยังมองว่า ไม่เพียงขั้วรัฐบาลเดิมที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ แม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็ได้บทเรียนไม่ต่างกัน “ด้วยวิธีการเล่นการเมืองแบบเดิม ความไว้วางใจต่อคุณทักษิณถึงถูกตั้งถาม”
“ในยุคคุณยิ่งลักษณ์ คนเสื้อแดงติดคุกก็เยอะนะ เขาอาจเคยพยายามทำเรื่องนิรโทษกรรมแล้วถูกตีตกไป แต่หลังจากนั้นก็ไม่เห็นเพื่อไทยต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออกเลย ทั้งที่มีคนเสื้อแดงจำนวนมากที่สู้กันมาแต่ต้น โดน ม.112 จนต้องลี้ภัยการเมือง” จอมอดไม่ได้ที่จะแสดงความผิดหวัง
เมื่อชนชั้นปกครองเดิมเริ่มอ่อนแอลง ประกอบกับความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนนี่เอง เป็นจอมเห็นว่ากำลังสร้างความหวังที่จะได้มีโอกาสกลับบ้านเกิดอีกครั้ง
ลี้ภัยทำไม ทำไมไม่สู้? เป็นคำถามที่จอมยอมรับว่าได้ยิน และได้อ่านมานับครั้งไม่ถ้วน เขาจึงตอบได้โดยแทบไม่ต้องใช้เวลาคิดเลยว่า “ถ้ากูสู้ในประเทศไทยกูก็ตาย แล้วใครอยากตายล่ะ”
“ผมอยากมีลมหายใจอยู่เพื่อจะสู้ ผมต้องอยู่ในประเทศที่ผมสามารถยืนอยู่ได้อย่างมีลมหายใจ จะมีศักดิ์ศรีหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ยืนอยู่ในจุดที่ปลอดภัย มีลมหายใจ ผมเลือกจุดนั้น ภารกิจของเราที่ลี้ภัยมาก็เพื่อขับเคลื่อนด้วยเงินที่ทำงานเป็นกรรมกรในแต่ละวัน”
เขายังตั้งคำถามว่า ในวันนั้นที่ ‘ความยุติธรรมของไทยอยู่บนหลายมาตรฐาน ผู้มีอำนาจสามารถหาประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมได้’ เขาจะยืนสู้ในสนามนั้นได้อย่างไร
“งานที่ผมตั้งแต่เริ่มลี้ภัยเริ่มผ่อนลง จนใกล้หมดภาระแล้ว” จอมกล่าวปิดท้ายด้วยน้ำเสียงและสายตาของความหวัง ที่จะได้เห็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้ง หรือมองใครเป็นปฏิปักษ์เพียงเพราะเห็นต่างอีกต่อไป
อ่านบทสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ได้ที่:
“ต้องโทษคนรุ่นผม ที่ปล่อยอนาคตแบบนี้มาให้รุ่นหลาน” ปวีณ อดีตตำรวจที่ถูกบีบให้ลี้ภัย
จากป่า-ต่างแดน การต่อสู้อัลตร้ามาราธอนของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ลี้ภัยไทยคนแรกของฝรั่งเศส
ใครจะรู้ว่าแค่แชร์บทความ จะต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย คุยกับ การ์ตูน-ชนกนันท์