แม้ประเทศไทยจะไม่เคยมีสงครามใหญ่มานับสิบๆ ปี แต่ก็เตรียมความพร้อมไม่ได้ขาด ดูแลความมั่นคงทั้งในภาคใต้และชายแดน จะไม่ยอมให้อริราชศัตรูรุกล้ำอธิปไตยของชาติได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว แม้ยามสงบก็ไปบุกน้ำลุยไฟช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ (บางครั้งก็เสียสละเข้ามายึดอำนาจทำงานแทนรัฐบาล ทั้งที่ไม่อยากทำ)
นี่คือสิ่งที่ผู้มีอาชีพ ‘ทหาร’ ภูมิใจ และบอกว่าเป็นภารกิจสำคัญ ที่เรียกว่าการ ‘รับใช้ชาติ’
ต้นเดือน เม.ย. ของทุกปี ระหว่างวันที่ 1 – 12 คือฤดูของการเกณฑ์ชายไทยจำนวนหนึ่งไปทำงาน ‘รับใช้ชาติ’ ภายใต้การทำงานให้กับกองทัพ โดยชายไทยที่มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ไปจนถึงอายุระหว่าง 22 – 29 ปี ที่ขอผ่อนผันหรือยังไม่เข้ารับการตรวจเลือก จะต้องมาเข้ารับการตรวจเลือก
บุคคลที่จะมีคุณสมบัติพอจะได้ ‘รับใช้ชาติ’ ภายใต้ชื่อกองทัพ จะต้องมีความสูงเกินกว่า 1.60 เมตรขึ้นไป มีรอบอกไม่ต่ำกว่า 76 เซนติเมตรขณะหายใจออก และต้องมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่พิการ-ทุพพลภาพ ไม่มีโรคประจำตัวต้องห้าม 12 โรค เช่น ความผิดปกติทางหู-ตา โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด โรคของระบบหายใจ โรคติดเชื้อ โรคติดเชื้อ โรคทางประสาทวิทยา โรคทางจิตวิทยา ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังจะต้องไม่เป็นกระเทย สาวประเภทสอง คนข้ามเพศ ซึ่งเหล่านี้ต้องมีใบรับรองเพศมายืนยัน
ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี (ระหว่างปี 2552 – 2561) พบว่า ในแต่ละปี กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน จะสำรวจชายไทยที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งมักมีอยู่ราว 3.4 – 3.6 แสนคน ขณะที่กองทัพเหล่าต่างๆ มักจะส่งความต้องการมาให้ ซึ่งมักจะมีอยู่ระหว่าง 8.5 หมื่นคนถึง 1.1 แสนคน แปลง่ายๆ ว่า ชายไทยวัยฉกรรจ์ราว 30% จะถูกเกณฑ์มาเป็นทหาร ไม่ว่าจะโดยสมัครใจ หรือไปลุ้นที่การจับใบดำ (=ไม่ต้องเป็นทหาร) ใบแดง (=ต้องเป็นทหาร)
- ปี 2552 ต้องการทหารเกณฑ์ 85,760 คน ไม่มีตัวเลขผู้เข้าเกณฑ์
- ปี 2553 ต้องการทหารเกณฑ์ 87,000 คน ไม่มีตัวเลขผู้เข้าเกณฑ์
- ปี 2554 ต้องการทหารเกณฑ์ 97,280 คน ไม่มีตัวเลขผู้เข้าเกณฑ์
- ปี 2555 ต้องการทหารเกณฑ์ 103,555 คน จากผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 347,000 คน หรือ 29.8%
- ปี 2556 ต้องการทหารเกณฑ์ 94,480 คน จากผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 359,863 คน หรือ 26.2%
- ปี 2557 ต้องการทหารเกณฑ์ 100,865 คน จากผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 347,831 คน หรือ 28.9%
- ปี 2558 ต้องการทหารเกณฑ์ 99,373 คน จากผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 344,254 คน หรือ 28.8%
- ปี 2559 ต้องการทหารเกณฑ์ 110,307 คน จากผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 355,938 คน หรือ 30.9%
- ปี 2560 ต้องการทหารเกณฑ์ 103,097 คน จากผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 361,233 คน หรือ 28.5%
- ปี 2561 ต้องการทหารเกณฑ์ 104,734 คน จากผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 356,978 คน หรือ 29.3%
เมื่อรวมกัน ในช่วงสิบปีหลัง มีชายไทยเข้าไป ‘รับใช้ชาติ’ ด้วยการทำงานให้กองทัพ รวมกันถึง 986,451 คน
สำหรับคนที่เป็นทหารเกณฑ์ นอกจากจะได้ฝึกฝนร่างกาย ยังจะได้รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว รวมแล้วประมาณ 10,000 บาท/เดือน (เพิ่มขึ้นจากราวสิบปีก่อน ที่ได้เพียง 8,200 บาท/เดือน)
ส่วน ระยะเวลาในการประจำการจะแตกต่างกันไป ระหว่าง 6 เดือน – 2 ปี ขึ้นอยู่กับหน้าที่การงาน วุฒิการศึกษา และที่มา ว่าสมัครเข้ามาเอง หรือจับใบดำ-ใบแดง
อย่างไรก็ตาม ระบบการเกณฑ์ทหารของไทยถูกวิพากษ์มาโดยตลอด ไม่เพียงการดึงแรงงานออกจากระบบเป็นจำนวนมหาศาล ยังทำให้คนบางกลุ่มอาจสูญเสียหน้าที่การงานและผลัดพรากจากครอบครัว ไม่รวมถึงกระแสข่าวที่มีมาโดยตลอด เรื่องการให้ทหารเกณฑ์ไปทำงานรับใช้นาย เป็นคนขับรถ คนสวน คนรับใช้ ฯลฯ แทนที่จะได้รับใช้ชาติอยู่ในกรม-กอง
ขณะที่ระบบการฝึกฝนร่างกาย ก็มีหลายครั้งที่เลยเถิดจนเกิดเหตุสลดให้ได้เป็นข่าวอยู่เนืองๆ อาทิ
- พลทหาร วิเชียร เผือกสม (ถูกรุมทำร้ายร่างกาย จนอวัยวะภายในบอบช้าและไตวายเสียชีวิต, 2554)
- พลทหาร สมชาย ศรีเอื้องดอย (ถูกใช้ปี๊บครอบหัวแล้วรุมตีด้วยอาวุธจนเสียชีวิต, 2557)
- พลทหาร ทรงธรรม หมุดหมัด (ถูกลงโทษทางวินัยด้วยการซ้อม จนมีเลือดออกในสมองเสียชีวิต, 2559)
- พลทหาร ยุทธกินันท์ บุญเนียม (ถูกสั่งขังและรุมทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต, 2560)
- พลทหาร นพดล วรกิจพันธ์ (ลิ้นหัวใจฉีกขาดจนเสียชีวิต หลังถูกลงโทษซ่อมวินัยหมู่, 2560)
- พลทหาร อดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ (เสียชีวิตกะทันหัน ชันสูตรพบรอยพกช้ำและกระดูกซี่โครงหัก, 2560)
จึงเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหาร มาเป็นระบบการรับสมัคร เช่นเดียวกับหลายๆ ชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพราะอันที่จริงในแต่ละปีก็มีผู้สมัครเป็นทหารจำนวนมาก โดยเฉพาะปี 2560 ที่สูงถึง 5 หมื่นคน คิดเป็น 49% ของจำนวนที่กองทัพต้องการ
แต่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนายทหารระดับสูง ก็ยังยืนยันที่จะใช้ระบบเดิมต่อไป ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2497
นั่นแปลว่า เมื่อฤดูร้อนมาถึง..ฤดูเกณฑ์ทหารก็จะเริ่มต้นขึ้น และชายทหารนับแสนคนก็จะยังถูกเกณฑ์ให้ไป ‘รับใช้ชาติ’ ด้วยการทำงานให้กับกองทัพ ในฐานะ ‘ทหารเกณฑ์’ ต่อไป
Illustration by Naruemon Yimchavee