หลายๆ ครั้งที่เกิดอาชญากรรมไปจนถึงฆาตกรรม มักถูกพิจารณาว่าเป็นแค่ปัญหาส่วนตั๊ว..ส่วนตัว ในระดับปัจเจก เป็นเรื่องความขัดแย้งส่วนตัว หรือบางอาชญากรรมจบลงด้วยเหตุแห่งความยากจนหาเช้ากินค่ำไม่มีเงินรักษาพ่อแม่ที่เจ็บป่วย ไม่มีเงินส่งค่าเล่าเรียนลูก กลายเป็นยถากรรมของแต่ละคนไป หรือคนนั้นเป็นคนจิตใจอำมหิต คนบาป มีปัญหาสุขภาพจิต
ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้วมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นผลผลิตของโครงสร้างสังคมด้วยตัวของมันเอง
ยิ่งเป็นกรณีสะเทือนขวัญและเป็นความรุนแรงที่มีความสูญเสียอย่างมากในที่ชุมนุมชนบนพื้นที่เปิด อย่างกรณี mass shooting วิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุกราดยิงจึงไม่ใช่การยุติปัญหาแบบตายแล้วถือว่าจบกัน เหมือนฉากบู๊หนังล้างผลาญที่ต้องกำจัดให้ตัวละครนั้นพ้นเฟรม
และยิ่งผู้ที่ก่อเหตุกราดยิงเป็นทหาร ซึ่งเป็นอาชีพที่เข้าถึงอาวุธยุทโปกรณ์ อาวุธสงครามได้ง่ายมาก และกลายเป็นความรุนแรงที่เลยเถิดออกมานอกค่ายทหาร ลามมาถึงพลเรือน
เพราะค่ายทหารเสมือนจักรวาลคู่ขนานกับโลกนอกค่ายที่แสนจะมึดมนอนธการ ท้าทายเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนอยู่เรื่อยมา เป็นอาณาจักรที่ปลูกฝังการใช้ความรุนแรงให้คุ้นชินกับทารุณกรรมโดยรุ่นพี่หรือครูฝึกที่ใช้แรงงานหรือออกคำสั่งตามอำเภอใจจนบาดเจ็บปางตายที่กลายเป็นเรื่องปรกติ ในนามของการฝึกหัดความอดทน การฝึกซ้อม และ ‘ธำรงวินัย’ ที่คนอ่อนแอก็แพ้ไป
และด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ไล่บี้กดขี่ลงมาตามขั้นลำดับชั้น แล้วสุดท้ายทหารระดับล่างๆ ไม่รู้จะไประบายที่ไหนก็ต้องไปหาเศษหาเลยลงกับพลเรือน ไปกร่างวางอำนาจบาตรใหญ่ใส่เด็กผู้ชายหน้าละอ่อนที่เข้ามาเรียนวิชารักษาดินแดนในค่ายทหารสัปดาห์ละครั้ง ในฐานะที่ตนเองมีอำนาจเหนือกว่าภายในรั้วค่ายทหารที่จำกัด
ร้ายไปกว่านั้นในบรรดาความรุนแรง ทารุณกรรมได้รับการหล่อเลี้ยงในนามของบทพิสูจน์ ‘ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย’ ‘ชายชาติทหาร’ ‘ผู้ชายอกสามศอก’ และ ‘การเสียสละรับใช้ชาติ’ ที่รัฐปิตาธิปไตยเอามาค้ำคอให้ทหารชั้นผู้น้อยอดทนอดกลั้นต่อการถูกกดขี่กดทับในสังคมชนชั้นของกองทัพ แล้วเอาเครื่องแบบมาสร้างภาคภูมิใจ ปลอบประโลมเลียแผลปิดร่องรอยความรุนแรงกันเอง ด้วยเหตุนี้ในปริมณฑลของทหาร เครื่องแบบจึงถูกให้ความสำคัญใส่ใจกว่าการพัฒนาปฏิรูปเรื่องอื่น ๆ
ทำให้ ‘ชายชาติทหาร’ กับ toxic masculinity แยกจากกันไม่ขาด
ด้วยแหล่งที่มาเดียวกับ ‘ชายชาติทหาร’ ปีนและอาวุธสงครามต่าง ๆ จึงสัมพันธ์กับ ‘ความเป็นชาย’ เหมือนที่หนังบู๊หนังสงครามฮอลลีวูด ฮีโร่ชายฉกรรจ์ในกองทัพอเมริกันจับอาวุธเข่นฆ่าศัตรู ถูกผลิตอย่างเฟื่องฟูหลังอเมริกาพ่ายแพ้สงครามเวียตนาม เพื่อสร้างแฟนตาซีแห่งการใช้อาวุธปืนในการปราบปรามศัตรูในนาม ‘คนไม่ดี’ เป็นการชดเชย เช่นหนังเรื่อง Rambo เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 เป็นต้นมา[1] และกองทัพนำอาวุธสงครามจัดแสดงให้เด็กที่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชายได้ ‘เล่น’ ในงานวันเด็กแห่งชาติของแต่ละปี
ขณะเดียวกันปืนเองก็ไม่ได้เป็นอุปกรณ์ใช้สอย หรืออาวุธป้องกันตัวเพียงอย่างเดียว หากแต่ปฏิบัติหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ของผู้ชายในฐานะหัวหน้าครอบครัว ปกป้องลูกเมีย เป็นนักสู้ นักรบ คาวบอย ปืนจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ ‘ความเป็นชาย’ ปืนยังแสดงออกถึงความเหนือกว่า การมีพละกำลัง ดุดัน ทักษะการฝึกฝนความแม่นยำ เด็ดขาด และมีสติ [2]
มิพักต้องพูดถึงปืนที่เป็นสัญญะ phallus เหมือนที่กระสุนปืนถูกอุปมาอุปไมยให้เป็นสเปิร์ม และผู้ชาย ‘ปืนโต’ นั้น ก็ถือว่ามี hegemonic masculinity
ในโลกชายเป็นใหญ่ที่มีการจัดลำดับ ‘ความเป็นชาย’ และ hegemonic masculinity หรือ ‘ความเป็นชายแบบอำนาจนำ’ ก็มีลำดับสูงสุดเหนือชายทั้งปวง เป็นสภาวะที่หนุ่มๆ หลายคนหมายปอง เพราะเป็นสภาวะของผู้ชายที่อำนาจมากกว่า เท่ห์และเจ๋งกว่า ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองและอาชีพ เช่นเป็นประธานาธิบดี นักกีฬา ดารานักร้องนายแบบชื่อดัง แต่ก็ถือว่าชายกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรชายทั้งหมด บรรดาพ่อบ้านหรือเด็กเนิร์ดหรือชายหนุ่มที่ขาดความมั่นใจในตนเอง รูปไม่หล่อพ่อไม่รวย เด็กผู้ชายที่อ่อนแอปวกเปียกที่มักถูกรังแกในโรงเรียน หรือแม้แต่ทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกทหารชั้นผู้ใหญ่ใช้อำนาจข่มเหง การได้เข้าถึงอาวุธปืนที่เป็นตัวแทนของอำนาจแบบผู้ชาย ก็เป็นการเยียวยาทำให้พวกเขารู้สึกแมน ๆ มีอำนาจขึ้นมาบ้าง
โดยฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมปืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกัน ที่การครอบครองปืนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสิทธิ์ในการป้องกันตนเอง และ National Rifle Association (NRA) ก็ยังคงผลิตซ้ำความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความเป็นชาย’ และปืนอย่างต่อเนื่อง เช่นนิตยสารรายเดือนของ NRA ที่ชื่อ The American Rifleman ที่นำเสนอปืนให้เป็นองค์ประกอบคุณธรรมของผู้ชายในฐานะผู้ปกป้องเด็กสตรีคนชราคนพิการ และยังคงหากินกับวาทกรรม ‘ความเป็นชาย’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ จน NRA เป็น lobbyist ที่ทรงพลังและมีเงินหนุนมหาศาล สามารถชักจูงโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาออกหรือไม่ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนได้ เช่นสามารถยับยั้งการจัดระเบียบควบคุมการครอบครองอาวุธปืน[3]
โศกนาฏกรรมการยิงกราดสังหารหมู่จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นลักษณะประการหนึ่งของสังคมอเมริกันที่พลเรือนเข้าถึงอาวุธได้ง่าย
เหตุการณ์กราดยิงจึงถูกอธิบายว่าเหลื่อมซ้อนกันอย่างมากกับ toxic masculinity เพราะผู้ชายที่ต้องการเป็น hegemonic masculinity หรือพยายามรักษาความเป็นชายแบบอำนาจนำในโลกชายเป็นใหญ่ หันมาใช้ความรุนแรงเป็นทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมปืนในอเมริกาที่นับเหตุการณ์ยิงกราด อย่างน้อย 22 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ.2011 -2019 ผู้ก่อเหตุมักมีประวัติใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัว คุกคามทางเพศไปจนถึงข่มขืน และในคดีฆาตกรรมด้วยปืนหลาย ๆ ครั้ง ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อ โดยฆาตกรก็คือชายที่เธอสนิทสนมคุ้นเคย ซึ่งในปี ค.ศ.2017 ในคดีฆาตกรรมโดยคู่สมรสและคู่ชีวิต มีเหยื่อผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนทั้งหมด 2,237 คน และ 2 ใน 3 เป็นผู้หญิงที่ถูกยิงตาย[4]
ปืนจึงถูกอธิบายว่าเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งของผู้ชายในการยืนยันความเหนือกว่าผู้หญิง เช่นเดียวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ในรัฐฟลอริดา เดือนมกราคม ค.ศ.2019 ที่หนุ่มวัย 21 ปี บุกธนาคารแล้วบังคับให้ผู้หญิง 5 คน นอนราบไปกับพื้นล็อบบี้แล้วใช้ปืนพกยิงพวกเธอทีละคนจากด้านหลังศีรษะ ซึ่งกระสุนทั้ง 5 ลูก เขาเพิ่งซื้อมาเมื่อ 5 วันที่ผ่านมา ก็ถูกสันนิษฐานว่าแรงจูงใจมาจากความต้องการสังหารผู้หญิงเท่านั้น
และตามสถิติเอง อัตราส่วนของผู้หญิงครอบครองปืนก็น้อยกว่าผู้ชาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้ผู้หญิงควรหันมาพกปืนเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่ผู้ชายจะใช้ความรุุนแรง หรืออ้างความชอบธรรมใดๆ ให้ผู้หญิงยิงเรือกราดยิงผู้ชาย
เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลแม้จะเพียง 2 คนไปจนถึงสังหารคนหมู่มาก กระทำภายในบ้านไปจนถึงในที่สาธารณะ หรือก่อเหตุอุกฉกรรจ์ด้วยปืนพกหรืออาวุธสงคราม ก็ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะปัจเจก ที่จะว่าบาปให้กับผู้คลุ้มคลั่งก่อเหตุเพียงผู้เดียวง่ายๆ หากแต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้าง ทั้งอำนาจรัฐ และปิตาธิปไตย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Gibson, James . 1994. Warrior dreams: Paramilitary culture in post-Vietnam America. New York: Hill and Wang.
[2] Kimmel, M., Mahler, M. 2003. Adolescent masculinity, homophobia, and violence: Random school shootings, 1982-2001. American Behavioral Scientist 46:1439-58.;
Stretesky, P. B., Pogrebin, M. R. 2007. Gang-related gun violence: Socialization, identity, and self. Journal of Contemporary Ethnography 36:85-114.
[3] Angela Stroud. March 2012. Good Guys with Guns: Hegemonic Masculinity and Concealed Handguns. in Gender & Society 26(2):216-238.
[4] https://www.motherjones.com/crime-justice/2019/06/domestic-violence-misogyny-incels-mass-shootings/ ; https://www.vogue.com/article/toxic-masculinity-gun-violence-op-ed