หลายพรรคการเมืองมีนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ทำเอาคนจำนวนหนึ่งตกอกตกใจ ว่าถ้าไม่มี ‘ทหารเกณฑ์’ เสียแล้ว จะมีหลายฝ่ายเสียประโยชน์ โดยเฉพาะตัวทหารเกณฑ์เอง เพราะเชื่อในคำโฆษณาที่ว่า—เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด
แต่คำถามด้านกลับก็คือ แล้วการ ‘เป็นทหาร’ ในฐานะของการ ‘เกณฑ์’ (conscription) นั้น—‘เสีย’ อะไรมากกว่าที่คุณคิด, ด้วยหรือเปล่า
โดยเฉพาะการ ‘เสีย’ ในทางเศรษฐกิจ!
เชื่อไหมครับ ว่าแม้แต่ อดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ ก็ยังเคยไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร เพราะมันจะทำให้เกิดการสูญเสีย ‘ต้นทุน’ (cost) บางอย่างไป
คำว่า ‘ทหาร’ นั้น มีหลายความหมาย แต่ถ้ามองในมุมของเศรษฐศาสตร์ ทหารสามารถแบ่งออกได้เป็นสองพวกใหญ่ๆ พวกแรกก็คือ ‘ทหารอาชีพ’ หรือ professional soldier พวกนี้ก็คือทหารที่ ‘เลือก’ จะมาทำอาชีพทหาร คือเห็นว่าการเป็นทหารเป็นอาชีพแบบหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องรักอาชีพนี้ ถึงได้อยู่กับอาชีพนี้ได้ยาวนาน กระบวนการมาเป็นทหารอาชีพเกิดผ่านความ ‘สมัครใจ’ (volunteer) มาเอง จึงไม่มีปัญหาอะไร ใครใคร่เป็นทหาร ถ้าผ่านการคัดเลือกและมีคุณสมบัติเหมาะสมก็เป็นไป
แต่ยังมีทหารอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเอาเข้าจริงอาจเป็นทหารประเภทที่เก่าแก่ดึกดำบรรพ์กว่าทหารอาชีพด้วยซ้ำ คือทหารที่เรียกว่า ‘ทหารเกณฑ์’ หรือ conscripted soldier หรือในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า The Draft ทหารเหล่านี้เป็นทหารที่มีมาแต่เก่าแก่ แม้แต่ในประมวลกฎหมายฮัมมูราบีของจักรวรรดิบาบิโลน ก็ยังมีระบบการเกณฑ์ทหารเพื่อเอาไว้ใช้รบในศึกสงครามต่างๆ
ยุคกลางก็มีการเกณฑ์ทหารเหมือนกัน เรียกว่า medieval levies โดยใช้ระบบฟิวดัลบีบบังคับผู้คนที่อยู่ในที่ดิน ทำให้ชาวนาและสามัญชนทั้งหลาย ต่างต้อง ‘เลือกข้าง’ อยู่กับนายของตัวเอง และถูกเกณฑ์ไปทำหน้าที่ทหารเพื่อรับใช้กษัตริย์หรือพวก ‘ลอร์ด’ และอัศวินต่างๆ
การเกณฑ์คนหนุ่มไปเป็นทหารแบบดึกดำบรรพ์นี้ มีลักษณะที่มองทหารเกณฑ์เป็น ‘หน่วย’ มากกว่าเป็น ‘มนุษย์’ หรือ ‘ปัจเจก’ ที่มีเลือดเนื้อและความต้องการเยี่ยงคน บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ ‘เกณฑ์ทหาร’ เอาไปทำ ‘แรงงานทาส’ อยู่บ่อยๆ และแม้ในยุคปัจจุบัน ก็ยังเป็นซากเดนร่องรอยสำนึกและวิธีคิดของการเกณฑ์คนไปเป็นทาสกันอยู่ในหลายสังคม เราจึงเห็นข่าวทหารเกณฑ์ถูก ‘ซ่อม’ หรือถูก ‘ซ้อม’ จนตายหรือปางตายได้บ่อยๆ
OSCE หรือองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ Organization for Security and Co-Operation in Europe อันเป็นองค์กรเดียวที่เชื่อมโยงมิติด้าน ‘การทหาร’ กับ ‘มิติมนุษย์’ เข้าด้วยกัน และประเทศไทยได้เข้าร่วมกับ OSCE มาตั้งแต่ 9 พฤศจิกายน 2543 แล้ว โดย OSCE มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการสร้าง ‘มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ’ (Confidence Building Measures) ทางความมั่นคง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามด้าน คือ 1) ด้านการเมืองและการทหาร 2) ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ 3) ด้านมนุษย์
OSCE นั้นมีหน่วยงานย่อยที่มีชื่อจำยากอยู่อีกสองหน่วยงาน คือ ODIHR (Office for Democratic Institutions and Human Rights) และ DCAF (Democratic Control of Armed Forces) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้จัดทำ ‘คู่มือว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของกำลังพลในกองทัพ’ (Handbook on Human Rights and Fundamental Freedoms of Armed Forces Personnel) ขึ้นมา (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ casede.org)
สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานที่สองหน่วยงานนี้บอกว่าสำคัญมีอาทิ
- The Right to Life: คือต้องไม่ถูก ‘รังแก’ (เขาใช้คำว่า bullying) จากการเกณฑ์ทหาร รวมถึงต้องมีกระบวนการยุติธรรมเพื่อไต่สวนการตายที่อธิบายไม่ได้เมื่ออยู่ในเขตทหารหรือระหว่างปฏิบัติหน้าที่ด้วย
- The Right not to be Subjected to Torture, Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: ซึ่งก็คล้ายๆ ข้อแรก คือต้องไม่ถูกทรมานอย่างโหดร้าย หรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือปฏิบัติด้วยการเหยียดหยามให้ต่ำต้อยจากความเป็นมนุษย์
นอกจากนี้ก็มีสิทธิอื่นๆ อีกหลายอย่างที่คู่มือนี้เสนอเอาไว้ เช่น สิทธิในการแสดงออก สิทธิในความเท่าเทียม ฯลฯ ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า บ้าหรือ—เป็นทหารจะมาแสดงความคิดเห็นอะไรได้ยังไง แล้วจะเท่าเทียมได้อย่างไรกัน
คู่มือนี้ตอบคำถามพวกนี้กลายๆ ว่า กองทัพมีลักษณะเป็น closed hierarchical institution หรือเป็น ‘สถาบันปิดที่ีลำดับชั้นสูงต่ำ’ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกองทัพทุกหนทุกแห่งทั่วโลก แต่เพราะเป็นแบบนี้นี่แหละครับ ถึงต้องมีมาตรการป้องกัน (safeguards) ไม่ให้เกิดการละเมิด (abuse) จากผู้มีอำนาจสูงกว่า เช่นการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเรื่องที่เน้นย้ำมากก็คือการทำร้ายร่างกายที่เกิดจาก rites หรือ rituals คือ ‘พิธีกรรม’ ที่คนมีอำนาจมากกว่าจะกระทำต่อคนที่มีอำนาจน้อยกว่าผ่าน ‘ธรรมเนียมปฏิบัติ’ ต่างๆ เพราะหากคนในกองทัพยกระดับ ‘วิธีปฏิบัติ’ บางอย่างขึ้นไปเป็น ‘พิธีกรรม’ (ไม่ว่าจะอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) เช่น การทรมานในนามของการฝึกวินัยหรือการลงโทษ ฯลฯ แล้ว, ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ในกองทัพ
จะเห็นได้เลยว่า การ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ในกองทัพต่างๆ นั้น เกิดขึ้นก็เพราะสำนึก ‘เห็นคนไม่ใช่คน’ อันตกทอดมาจากความดึกดำบรรพ์โบราณในการ ‘เกณฑ์คนไปเป็นทาส’ ตั้งแต่ยุคหลายพันปีก่อนโน้น—นั่นเอง
เรื่องเหล่านี้มีปัญหาในตัวอยู่แล้ว แต่ที่อยากชวนคุณมาพินิจพิเคราะห์ให้มากขึ้น ก็คือประเด็นเรื่อง ‘เศรษฐกิจ’ กับการเกณฑ์ทหารที่ อดัม สมิธ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อนานนมมาแล้วนี่แหละ
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคิดเห็นเหมือน อดัม สมิธ โดยบอกว่าการเกณฑ์ทหารนั้นทำให้สังคมเสีย ‘ต้นทุน’ ไปโดยไม่จำเป็นในหลายมิติ
แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจเสียก่อนนะครับ ว่าทหารเกณฑ์นั้นมี 2 ประเภท ประเภทแรกก็คือคนที่ ‘อยากเป็น’ ทหารเกณฑ์อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารก็สอดคล้องกับความต้องการของตัวเองพอดี คนเหล่านี้จึงไม่มีปัญหาอะไร และไม่ควรมีใครไปมีปัญหาอะไรกับเขาด้วย แต่คนประเภทต่อมา ก็คือกลุ่มคนที่ไม่ได้อยากเป็นทหาร ทว่าถูก ‘บังคับเกณฑ์’ ให้ต้องไปเป็นทหาร คนกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็น ‘แรงงาน’ ที่ไม่เต็มใจ หรือเรียกว่า unwilling workforce
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า กลุ่มแรงงานที่ถูกกองทัพเกณฑ์ไปอย่างไม่เต็มใจนี้ ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะกับยุคใหม่ ถือว่าเป็นการ ‘ใช้แรงงาน’ ที่ ‘ไม่คุ้มค่า’ เอาเสียเลย มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังบอกว่า แรงงานของทหารเกณฑ์นั้นมักจะ ‘เสียเปล่า’ เพราะเมื่อไม่เต็มใจทำเสียแล้ว ก็มักไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการฝึก สุดท้ายทหารเกณฑ์จำนวนมากก็จะถูกนำไปใช้แรงงานประเภทอื่นที่อาจไม่เกี่ยวกับความเป็นทหารเลยก็ได้ เช่น กลายไปเป็นทหารรับใช้ คอยขับรถรับส่งลูกนายเมียนาย ฯลฯ อย่างที่เราเห็นกันได้บ่อยครั้งในหลายสังคม
ฟรีดแมนบอกด้วยว่า นั่นคือการเกณฑ์ทหารในยามสงบ คือไม่ได้มีศึกสงครามใดๆ แต่ต่อให้มีศึกสงคราม การเกณฑ์เอาคนที่ unwilling หรือไม่ได้อยากรบไปรบ เมื่อมองในทางเศรษฐศาสตร์ก็ยิ่ง ‘เสียเปล่า’ เพราะโดยมาก แต่ละประเทศมักจะเกณฑ์เอา ‘คนทำงานแบบมืออาชีพ’ (civilian professionals) ไปฝึกจนกลายเป็นแค่ ‘ทหารมือสมัครเล่น’ (amateur soldiers) ซึ่งไม่ได้เก่งกาจหรือเป็นประโยชน์ต่อประเทศเท่าไหร่ รบไปก็แพ้อะไรทำนองนั้น
เคยมีรายงานเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารและการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกลุ่ม OECD ระบุว่า ‘ต้นทุน’ ของการเกณฑ์ทหารนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ต้นทุนของการเสียโอกาส ทั้งของปัจเจกที่ถูกเกณฑ์และของประเทศ รายงานนี้ระบุว่า ในสังคมแบบดึกดำบรรพ์โบร่ำโบราณ ผู้คนไม่ได้มีความรู้ความชำนาญในการทำงานอะไรมากนัก การถูกเกณฑ์ทหารคือการเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้เรียนรู้ มีรายได้ และอาจมีชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นการสร้างผลิตภาพให้ประเทศได้ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว (เช่นกลุ่มประเทศ OECD) การเกณฑ์ทหารคือการ ‘ดึง’ เอากลุ่มคนที่มักจะมีมาตรฐานชีวิตและมาตรฐานความรู้ที่สูงกว่าและหลากหลายกว่าองค์ความรู้ที่กองทัพมีเข้าไปฝึกใน ‘เรื่องไม่เป็นเรื่อง’ เช่น เกณฑ์นักสิ่งแวดล้อมไปฝึกทหารแทนที่จะคิดหาทางแก้ปัญหาให้สังคมเรื่องความยั่งยืน ฯลฯ
จะเห็นว่า ถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์ การเกณฑ์ทหารแบบเก่าๆ ซึ่งมีลักษณะของการ ‘บังคับใช้แรงงาน’ (forced labour) นั้น มีผลเสียหลายด้าน ดังนั้น หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามว่า เราควรยกเลิกการเกณฑ์ทหารเพื่อใช้ระบบสมัครใจแทน จะได้เกิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ทหารอาชีพ’ ขึ้นมาหรือเปล่า
‘ทหาร’ ไม่ควรถูก ‘เกณฑ์’ มาเป็นทหาร แต่ควร ‘สมัคร’ มาเป็นทหารด้วยศักดิ์ศรี ความพร้อม ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในตัว—ไหม?
คำตอบของเราจะเป็นแบบไหนก็ได้ แต่คำตอบนั้นๆ สุดท้ายแล้วก็จะสะท้อนให้เราเห็นในที่สุด, ว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหน และเรามีส่วนสร้างให้สังคมเป็นแบบไหน
อ้างอิงจาก