วันที่ 14 เดือนธันวาคมปี 2012 หนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้น
เหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก, รัฐคอนเนคติคัต นำไปสู่การสูญเสียคน 27 ชีวิต หนึ่งใน 27 คือผู้ยิงเอง และ 20 ชีวิตในจำนวนนั้นๆ เป็นเด็กอายุ 6-7 ปี
แซนดีฮุกไม่ใช่เหตุกราดยิงแรก หรือเหตุสุดท้ายในสหรัฐอเมริกา แต่มันเขย่าขวัญของคนทั้งชุมชนและประเทศ และเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการพูดคุยกันเกี่ยวกับวิธีการป้องกันเหตุในรูปแบบเดียวกันไม่ให้มันเกิดซ้ำในที่ใดๆ อีกจากหลากหลายแง่มุม
4 ปีถัดมา หน้าตาของแซนดีฮุกเปลี่ยนไป จากโรงเรียนหน้าตาธรรมดา นอกจากการติดกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม การเปลี่ยนกระจกทั้งหมดเป็นกระจกกันกระสุนและการออกแบบที่คำนึงถึงหลักการป้องกันเหตุร้ายเป็นหัวใจ แล้ว หน้าตาแซนดีฮุกซุกซ่อนดีไซน์ทั้งหมดก่อนหน้านั้นด้วยความอบอุ่นของไม้ แสงธรรมชาติ และพื้นที่ว่างสำหรับสนามหรือแม้แต่บ้านต้นไม้
การออกแบบของแซนดี้ฮุกไม่ใช่เพื่อการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่ในระยะเวลาที่ผ่านพ้นมาจากเหตุกราดยิงครั้งนั้น ผ่านการถอดบทเรียนมากมาย ทั้งจากกรณีก่อนหน้า และกรณีการยิงครั้งนั้นยังมีการเตรียมการเพื่อรักษารอยแผลขนาดใหญ่ของประเทศและชุมชนอีกด้วย (อ่านเกี่ยวกับการออกแบบของแซนดีฮุกอย่างละเอียดที่นี่)
2 ปีหลังจากเหตุกราดยิงที่นครราชสีมาและที่ร้านทองลพบุรี หรือ 6 ปีหลังจากอาจารย์ยิงเพื่อนร่วมงาน 2 รายซึ่งมีสื่อถ่ายทอดสดตลอดการทำงานของเจ้าหน้าที่ และอีกหลากหลายเหตุการณ์มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?
คำตอบคือการถอดบทเรียนจำนวนมาก แต่ความเปลี่ยนแปลงระดับที่จับต้องได้จากบทเรียนนั้นๆ กลับยังไม่เกิดขึ้น
การถอดบทเรียนคือการตีความและสกัดปรากฏการณ์ เหตุการณ์ หรือรูปแบบเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำใดๆ ออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ หรือเสริมเติมจากความเข้าใจที่เรามีอยู่แล้วกับเรื่องนั้นๆ ตั้งแต่การถอดบทเรียนความสำเร็จของนักธุรกิจ การเคลื่อนไหวทางการเมือง สิ่งที่สามารถนำไปสู่เหตุกราดยิง และอีกหลายๆ อย่าง
โดยการถอดบทเรียนนั้นสามารถมาจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาย หรือหลากหลายแง่มุม นักอาชญวิทยาอาจมีบทเรียนเกี่ยวกับการกราดยิงในรูปแบบหนึ่งมาแบ่งปัน คนทำงานสื่ออาจมีอีกมุมมองเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณสื่อ ตำรวจก็อาจมีองค์ความรู้ของอาชีพในการพูดถึงขั้นตอนการทำงาน และอีกมากมาย และด้วยโลกที่เชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย การถอดบทเรียนในยุคปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดโดยการรายงานของสื่อหลักภายในประเทศ แต่การแบ่งปันบทเรียนและกรณีเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในสนามที่ใหญ่กว่าเดิมจากผู้คนที่มากกว่าเดิมในที่ที่มีองค์ความรู้แตกต่างกันไป
และผ่านการทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของเหตุการณ์เหล่านั้นและเหตุการณ์ที่คล้ายกัน สายตาของเราอาจเห็นทางออกของปัญหาได้อย่างง่ายดายขึ้น ขั้นตอนถัดมาคือการลงมือทำ และด้วยแง่มุมที่หลากหลาย บางครั้งการถอดบทเรียนในเรื่องเดียวกันอาจนำไปสู่บทสรุปที่แตกต่างออกไปก็ได้
การรวบรวมข้อมูลโดยองค์กร Gun Violence Archive พบว่าในปี 2019 มีเหตุกราดยิงจำนวน 417 ครั้งในสหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกันนั้นที่ฟรุตพอร์ต รัฐมิชิแกน มีการออกแบบและก่อสร้างโรงเรียนด้วยแนวคิดใหม่ แนวคิดที่ความปลอดภัยนั้นมาก่อนทุกอย่าง
จากการรายงานข่าวโดยสำนักข่าว NBC ว่าด้วยการออกแบบของโรงเรียนมัธยมฟรุตพอร์ต อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน บ็อบ ชีโมนีแอก (Bob Szymoniak) เล่าถึงวิธีคิดเบื้องหลังการออกแบบโรงเรียนของเขาว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกที่จะไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเมื่อต้องออกแบบโรงเรียนใหม่
ตรงกันข้ามกันกับแซนดีฮุก โรงเรียนมัธยมแห่งนี้เต็มไปด้วยผนังซีเมนต์หนาหนักแข็งทื่อ ซีเมนต์เหล่านั้นยื่นออกมาเป็นปีกที่ทำหน้าที่ที่กำบัง ทั้งจากสายตาของผู้ยิงและวิถีกระสุน โถงทางเดินของโรงเรียนปราศจากล็อกเกอร์ แต่ล็อกเกอร์รวมกันอยู่ในบริเวณร่วมใจกลางโรงเรียนเพื่อให้ครูสามารถมองเห็นนักเรียนทั้งหมดพร้อมๆ กันได้โดยไม่มีใครบังใคร ทางเดินไร้ล็อกเกอร์ดังกล่าวยังถูกออกแบบให้โค้งเพื่อมิให้ผู้ยิงสามารถมองเห็นทั้งหมดของทางเดินได้
และในขณะที่การออกแบบห้องเรียนของแซนดีฮุกนั้นให้ความรู้สึกอบอุ่น การออกแบบของฟรุตพอร์ตนั้นอาศัยการสร้างมุมอับสายตา นอกจากประตูกันกระสุนที่สามารถถูกล็อกอย่างแน่นหนาได้แล้ว จะมีมุมมุมหนึ่งของห้องที่เมื่อมองจากข้างนอก ไม่ว่ามุมใดก็จะไม่เห็นมุมมุมนั้นเพื่อเป็นที่หลบภัยสำหรับนักเรียนหากมีเหตุกราดยิงเกิดขึ้น นักข่าว NBC ทิ้งท้ายว่าดีไซน์รูปแบบดังกล่าวกำลังจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นให้เป็นมาตรฐานใหม่สำหรับโรงเรียนเกิดใหม่ในสหรัฐอเมริกาหลังจากนี้
องค์ความรู้ที่นำมาสู่การออกแบบนี้มาจากอะไร? คำตอบนั้นอาจคาดไม่ถึง แต่ในตัวมันเองก็ไม่น่าแปลกใจ บริษัทที่ออกแบบโรงเรียนมัธยมฟรุตพอร์ตคือ TowerPinkster บริษัทที่มีความรู้ทั้งจากการออกแบบโรงเรียน ห้องสมุด สนามบินแล้ว ที่สำคัญคือการออกแบบเรือนจำอีกด้วย ไม่น่าแปลกใจที่สถาปนิกเรียกหนึ่งในการออกแบบบนโต๊ะรับรองที่มีจอที่สามารถมองเห็นได้ทุกส่วนของโรงเรียนว่า ‘Educational entry Panopticon’ คอนเซ็ปต์การออกแบบการตรวจตราเรือนจำแบบหอคอยสูงเดี่ยวๆ ท่ามกลางห้องขังจำนวนมาก ผู้คุมบนหอคอยสามารถมองเห็นทุกห้องขังได้โดยที่นักโทษมองไม่เห็นผู้คุม สร้างความรู้สึกที่นักโทษกำลังถูกจับจ้องตลอดเวลา
ความคนละขั้วของโรงเรียนฟรุตพอร์ตและแซนดี้ฮุกนั้นมาจากการตีความบทเรียนที่ถูกถอดออกมาอย่างแตกต่างกัน นักออกแบบแซนดี้ฮุกพูดเองว่าคุณไม่สามารถสร้างคนดีได้จากคุก และการถกเถียงว่าการออกแบบเพื่อรักษา หรือการออกแบบเพื่อป้องกันนั้นอะไรดีกว่าแน่นอนว่าสามารถถกเถียงได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าจากประสบการณ์นับครั้งไม่ถ้วนของสหรัฐการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่งที่จับต้องได้เกิดขึ้น
อย่างนั้นแล้วในไทยมีบทเรียนอะไรมาบ้างจากกรณีและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่คล้ายๆ กันกับเหตุกราดยิงล่าสุด? หลังจากการเกิดเหตุกราดยิงโดยบุคลากรทหารจำนวนหนึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นมีการตั้งคำถามทั้งจากประชาชนและนักการเมืองเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของคนในเครื่องแบบทหารและตำรวจว่า ทำไมจึงมีการผลิตบุคคลากรที่มีโอกาสเป็นผู้กราดยิงได้ในเมื่อหน้าที่ใหญ่ๆ ของทั้ง 2 คือการรับใช้ประชาชน
นอกจากนั้นตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อนในเหตุการณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยยิงเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต 2 รายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของสื่อจำนวนหนึ่งที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านโซเชียลมีเดียที่ขัดต่อจรรยาบรรณสื่อ และเพิ่มแรงกดดันให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ รวมไปถึงผู้ก่อเหตุอีกด้วย บางความเห็นมองว่าความกดดันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ก่อเหตุจบชีวิตตัวเอง
บทเรียนเหล่านี้ รวมไปถึงบทเรียนนับร้อยทั่วโลกจากกรณีใกล้เคียงกัน ทั้งแนวคิดของการควบคุมปืนอาจช่วยลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุเช่นนี้ หรือการเข้าใจจิตวิทยาของนักยิงเพื่อหาสัญญาณ และแม้แต่ปลูกฝังคนในสังคมไม่ให้เป็นแบบนั้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่อาจสร้างคนรูปแบบนั้นต่อสังคม ทั้งหมดสามารถนำไปใช้เพื่อป้องกันทั้งปลายและต้นเหตุได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยคืออะไร?
“แต่วินาทีที่ลั่นไกสังหารประชาชน เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว” คำพูดของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผบ.ทบ. พูดหลังเหตุกราดยิง จ.นครราชสีมา ในปี 2563 เกิดขึ้น และแม้คำสัญญาพร้อมน้ำตาของเขาคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เราเห็นสิ่งที่จับต้องได้จากเหตุการณ์เหล่านี้บ้างหรือยัง?
หรือจะเป็นกรณีเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู การทำงานของสื่อก็ยังถูกตั้งคำถามในแง่มุมอื่นๆ เช่น การสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตเพื่อวาดเรื่องราวโศกนาฏกรรม หรือการสร้างคอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อจำลองเหตุการณ์เป็นขั้นตอนก็อาจทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสื่อในแง่วิธีการ แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปในรูปแบบที่ดีขึ้น
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของจิตใจภายใน คนที่ก่อเหตุเช่นนี้ เป็นคนที่มีจิตใจภายใน ข้างในที่ผิดปกติ ซึ่งก็ต้องหามาตรการที่จะควบคุมให้ได้ ที่สำคัญลองคิดดูว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ใช้อาวุธปืนอย่างเดียว” เราอาจมองเห็นอะไรบางอย่าง นั่นคือเหตุผลที่ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกรูปแบบใดเลย
เช่นเดียวกันกับที่ พล.อ.อภิรัชต์พูดถึงผู้ยิงในกรณีเหตุกราดยิงนครราชสีมาว่า เขาหยุดเป็นทหารหลังเหนี่ยวไก พร้อมกับวอนให้ประชาชนอย่าโทษทหาร แต่โทษมายังตัวเขาแทน คำพูดของพล.อ.อนุพงษ์นั้นมีความหมายโดยนัยว่า ความผิดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากระบบ จากสภาพแวดล้อม หรือจากองค์กร แต่เกิดจากบุคคล เป็นเรื่องดีชั่ว และเรื่องดีชั่วนั้นไม่อาจแก้ไขได้ทั้งหมด
และเมื่อมองเช่นนั้น มันส่งผลให้บทเรียนเกี่ยวกับการควบคุมปืนหรือการแก้ไขใดๆ ถูกมองข้ามไปพร้อมๆ กันด้วย “ที่สำคัญลองคิดดูว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ใช้อาวุธปืนอย่างเดียว แต่มีการใช้มีดด้วย แล้วอย่างนี้จะต้องให้เราห้ามใช้มีดด้วยหรือ? อย่าลืมว่าครั้งนี้เขาใช้มีดทำร้ายเด็ก ถ้าเรามองผลที่เกิดขึ้นในขณะนี้มันไม่ใช่ไปดูเรื่องปืนเพียงอย่างเดียว จะต้องดูว่าทำไมคนถึงมีจิตใจข้างในอย่างนี้ได้” พล.อ.อนุพงษ์พูดต่อ ก่อนพุดถึงความขาดเมตตาของผู้ยิง
การถอดบทเรียนนำไปสู่การตีความที่หลากหลายได้ เราไม่อาจบอกได้ว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของแซนดีฮุก หรือโรงเรียนฟรุตพอร์ทนั้นในระยะยาวแล้วจะได้ผลขนาดไหน แต่ในขณะที่ปลายเหตุมีการแก้แล้ว คนจำนวนมากก็เล็งที่จะแก้ปัญหาต้นเหตุ การควบคุมปืน การสร้างค่านิยมสังคมที่ไม่ผลักให้เด็กกลายเป็นนักยิง และอีกมากมาย เราอาจเรียกได้ว่าการแก้ไขทั้งต้นและปลายเหตุของปัญหามีความสำคัญพอๆ กัน ต้องทำไปทั้งคู่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
แต่สำหรับประเทศไทยแล้วสิ่งที่อาจต้องเกิดขึ้นคือเราต้องการผู้นำที่เชื่อว่าบทเรียนเหล่านี้ที่ถอดมา สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในระดับไหนระดับหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก