(1)
อันที่จริง ปรากฏการณ์ ‘ยกโขยง’ ลาออก ของกลุ่ม 4 กุมาร จากพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงเอฟเฟ็กต์ที่ตามมาหลังจากนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองไทยแบบ ‘ไฮบริด’ อันเป็นลูกผสมระหว่าง ‘ทหาร’ และ ‘นักการเมือง’
อันที่จริง พรรคทหารนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ตั้งแต่จอมพลป. พิบูลสงคราม พยายามจะสืบทอดอำนาจผ่านพรรคเสรีมนังคศิลา, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผ่านพรรคสหชีพ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร ผ่านพรรคสหประชาไทย
แต่ตัวอย่างที่เอ่ยถึงทั้งหมด ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เสรีมนังคศิลา จบลงไปพร้อมกับจอมพลป. ถูกรัฐประหาร สหชีพ สิ้นชีพเมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ และสหประชาไทย ก็มีอันเป็นไปเมื่อจอมพลถนอม รัฐประหารตัวเอง ในปี พ.ศ.2514 ก่อนจะตามมาด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อีก 2 ปีหลังจากนั้น
เพราะในเวลานั้น การเมืองไทย ยังถูก ‘ทหาร’ คุมอย่างเต็มรูปแบบ คนไทยยังยอมรับทหาร เพราะ ‘หวาดกลัว’ ภัยคอมมิวนิสต์และทฤษฎีโดมิโน ที่ประเทศรอบด้าน ตกเป็นของคอมมิวนิสต์ทั้งหมด พรรคทหาร จึงเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น ทหารไม่ต้อง ‘ออกแรง’ เข็นมาก เพราะอย่างไรก็สามารถต่อท่ออำนาจได้ง่ายๆ
แต่สำหรับ ‘สามัคคีธรรม’ ในปี พ.ศ.2535 อยู่ภายใต้ ‘ซีนารีโอ’ ที่ต่างออกไป 3 ปีก่อนหน้านั้น ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประชาธิปไตยแล้ว และเหตุผลของการรัฐประหารในปี พ.ศ.2534 เหตุผลสำคัญ ก็คือการคอร์รัปชั่น หรือ ‘บุฟเฟต์คาบิเน็ต’ จากนักการเมือง ‘ขี้โกง’
และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ทหาร ก็ไม่สามารถอยู่ต่อได้นาน เพราะโลกในเวลานั้น ไม่มีใครยอมรับทหารเป็นรัฐบาลแบบ ‘ลากยาว’ สมรภูมิรบเรื่องคอมมิวนิสต์จบลงไปแล้ว และเศรษฐกิจไทยก็กำลังอู้ฟู่แบบอะไรก็ดีไปหมด
(2)
เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปล่อยให้การเมืองกลับไปเป็นปกติ โดยมีพรรคการเมืองที่ผู้นำรัฐประหารเดิม สามารถ ‘คุม’ ได้ ไม่ต้องไปยืมมือพรรคนู้นพรรคนี้ ที่มีสิทธิ์ ‘ตุกติก’ ได้ทุกเมื่อ เหมือนสมัย พล.อ.เปรม
ปี พ.ศ.2534 พรรคสามัคคีธรรม จึงเกิดขึ้น ด้วยการออกแรงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน โดยให้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เป็นตัววิ่งจัดตั้งพรรค
ขั้นตอนของสามัคคีธรรม ก็ไม่ได้ยากอะไร ในเวลานั้น รสช. กำลังมีคณะกรรมการ ‘ตรวจสอบทรัพย์สิน’ คอยจัดการนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่พอดี เพราะฉะนั้น หากรสช.อยากให้ใครมาอยู่ข้างเดียวกัน ก็มีคำพูดปากต่อปากว่าบรรดา ‘บิ๊กๆ’ จะสามารถ ‘เป่าคดี’ ได้ เปรียบเสมือน ‘โปรย้ายค่าย’ สมัยนี้
3 มกราคม ปี พ.ศ.2535 หลังรัฐธรรมนูญที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้ร่างให้คณะรสช. ประกาศใช้ได้ไม่นาน พรรคสามัคคีธรรมก็ถือกำเนิดขึ้น โดยรวมนักการเมืองระดับ ‘เจ้าพ่อ’ ผู้มีอิทธิพล ของหลายจังหวัด รวมถึงนักการเมืองที่เคยถูกกล่าวหาว่า ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ เป็นกรรมการบริหารพรรคเต็มไปหมด
โดยมี ‘ทุนใหญ่’ คอยสนับสนุน
เพราะเห็นว่าพรรคนี้อนาคตไกลแน่ๆ
ขณะเดียวกัน บรรดานายทหาร ก็สยายปีกไป ‘ยึด’ พรรคชาติไทย ของกลุ่มราชครู ซึ่ง พล.อ.ชาติชาย ที่ถูกรัฐประหารก่อนหน้านี้สังกัดอยู่ โดยล็อบบี้จนได้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.อ.เกษตร เป็นหัวหน้าพรรค แน่นอน หากสามัคคีธรรมได้อันดับหนึ่ง และหากชาติไทยได้อันดับ 2 ขั้วนี้ ก็สามารถจับกันเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิสดารอื่นในการเลือกนายกฯ แต่ใช้การเมืองปกติ ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญที่เอื้อไว้
ผลการเลือกตั้งเดือนมีนาคมไม่มีอะไรผิดความคาดหมาย เมื่อสามัคคีธรรมชนะ จับกับชาติไทยได้ บรรดาพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กก็รุมตอมแกนรัฐบาล แต่ที่พลาดกว่าก็ตรงที่เกิดมีคนไปเล่น ‘มายากล’ ทำให้ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ไม่อาจเป็นนายกฯ ได้ และต้องไปดึง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่เคยประกาศไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่เป็นนายกฯ ‘เหาะ’ ลงมาเป็น
หลังจากนั้น ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘จุดจบ’ และก็กลายเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่ทำให้สามัคคีธรรม ‘พัง’ ไปพร้อมๆ กับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2535 เพราะในความเป็นจริง อำนาจที่คิดว่าสูงส่ง ที่คิดว่า ‘คุมได้’ ก็ยังมีบางปริมณฑลของ ‘กองทัพ’ และของ ‘นักการเมือง’ ที่รสช.เดิมในพรรคสามัคคีธรรม ไปไม่ถึง และมองไม่เห็น
แน่นอน การสั่งสลายการชุมนุม และความรุนแรงที่เป็นมูลเหตุของการสลายการชุมนุมนั้น มี ‘การเมือง’ อยู่เบื้องหลังค่อนข้างมาก เหมือนเหตุความไม่สงบทุกครั้ง แต่ที่น่าเศร้าก็คือ สาธารณชนไม่มีใครรู้อะไรไปมากกว่า ‘เรื่องเล่า’ ไม่เคยมีการเอาผิดกับใคร เพราะกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ออกตามมาหลังจากนั้นไม่นานนั่นเอง..
(3)
หากเอาเงาของสามัคคีธรรม ไปทาบกับพลังประชารัฐ ก็จะพบว่า ทาบกันเกือบมิด เพราะไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เงาของพลังประชารัฐ มี ‘ทหาร’ ทาบอยู่ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560 ประกาศใช้ แล้วให้บรรดารัฐมนตรี 4 กุมาร คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์, อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และกอบศักดิ์ ฟูตระกูล ลาออก เพื่อไปรับหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพรรคชุดแรก เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งต้นปี พ.ศ.2562
ว่ากันว่า ‘พี่ใหญ่’ ในรัฐบาลเดิม ทำหน้าที่คอยดึง สส. มาจากทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย มายังพรรคการเมืองใหม่ พร้อมกับคำสัญญาว่าจะจัดสรร ‘โปรย้ายค่าย’ ให้แบบเดียวกับที่สามัคคีธรรมเคยทำมาในอดีต
ในเวลานั้น ‘ระบบตรวจสอบ’ ที่ว่ากันว่าใช้ ‘ปราบโกง’ ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560 ไม่เคยมองเห็นเลยว่าผู้มีอิทธิพล ที่อยู่นอกพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คอยทำอะไรอยู่บ้างเบื้องหลัง ตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจา การ ‘ดีล’ ไปจนถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ พี่ใหญ่ก็สามารถจัดการได้ทั้งหมด
แน่นอน พรรคการเมืองนี้ ถือเป็นพรรคที่มีสภาพคล่องมากที่สุด ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคออกไปพูดปราศรัยต่างกรรมต่างวาระว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมา ‘เพื่อพวกเรา’ ทุนใหญ่จึงไหลเข้าหาพรรคนี้อย่างไม่ขาดสาย นักการเมืองหลายคนคุยกันเรื่องยอดตัวเลขที่ได้รับจัดสรรมาด้วยแววตาลุกวาว
วงนักการเมืองพูดกันว่า ถ้ารู้ว่า ‘พี่ใหญ่’ ทำอะไรกับพรรคการเมืองนี้บ้าง เรื่องของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ ‘ปล่อยกู้’ ให้กับพรรคอนาคตใหม่ จนกลายเป็นประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคจะถือเป็นเรื่องขี้ผงไปเลย..
(4)
ตลอด 1 ปี หลังการเลือกตั้ง ภาพทั้งหมดก็ชัดขึ้น ผู้ที่เคยบอกว่า ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เกี่ยว อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ออกหน้ามารับบทเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ตัวจริง เสียงจริง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล่นบท ‘มืออาชีพ’ คนกลาง ไม่เกี่ยวกับใคร ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างเดียว..
แล้วก็ถึงเวลาบ่งบอกให้รู้ว่า ‘ใคร’ คือตัวจริง การทำพิธีเทียบเชิญอันศักดิ์สิทธิ์ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และการสมานฉันท์ทุกกลุ่ม ทุกขั้ว โดยที่ไม่มีขั้วของผู้ก่อตั้งพรรคเดิมหลงเหลืออยู่ เพราะพวกนี้ ‘แข็ง’ เกินไป และมีความพยายามต่อสู้ ท้าทายอำนาจของพี่ใหญ่ เพื่อเกาะกระทรวงเดิม ที่เป็นกระทรวง ‘เกรดเอ’ เอาไว้
นี่จึงเป็นความซับซ้อนที่มากกว่าสามัคคีธรรมในอดีต เพราะพลังประชารัฐนั้นมีอายุยืนยาวกว่า และมีกลุ่มมวลชนผู้สนับสนุน ผู้เลือกที่จะรักความสงบ จบที่ลุงตู่ล้นหลามกว่า
แต่ถามว่าเราอยู่ในการเมืองที่ ‘ใหม่’ กว่าห้วงเวลานั้นหรือไม่ เราอยู่ในการเมืองที่ใสสะอาด ปราศจากการคอร์รัปชั่นหรือไม่ คำตอบนี้ทุกคนรู้อยู่ในใจ..
(5)
คำถามสำคัญหลังจากนี้ก็คือ พลังประชารัฐ ที่กลายเป็นพรรคที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้นำ และใช้สถานะพรรคเพื่ออุ้ม พล.อ.ประยุทธ์ โดยเขี่ยทีมผู้ก่อตั้งพรรคเดิมอย่าง 4 กุมาร ที่เชื่อกันว่ามีสายสัมพันธ์อันดี กับ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย ออกไปแบบสมบูรณ์ จะเดินต่อไปอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้สำหรับพวกเขาเท่านั้น..
เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็เดินมาถึงวันนี้ ด้วย คสช. ด้วยกองทัพ ด้วยตำรวจ ด้วยองค์กรอิสระ ที่ใช้ พล.อ.ประวิตร เป็นคน ‘ดีล’ มาโดยตลอด และแม้แต่ ส.ว. 250 คน ที่เป็นกำลังสำคัญ ทำหน้าที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ใช่ใครอื่นที่แต่งตั้งมา เป็น พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบันนี่เอง ที่นั่งเป็นประธานคัดเลือก ส.ว.
เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญนี้ และระบบการเมืองแบบนี้ แม้จะออกแบบมาให้พรรคพลังประชารัฐเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้เผื่อทางหนีทีไล่ว่าหากวันหนึ่ง พรรคพลังประชารัฐ ‘แตก’ หากบรรดานักการเมือง ส.ส. ของพรรค เกิดไม่ยอมรับหัวหน้าพรรคคนใหม่ หากวันหนึ่ง นายทุนพรรคไม่เอาด้วย
หรือเกิด Worst Case Scenarios ร้ายแรงที่สุดคือบรรดาชนชั้นนำ ผู้ที่ทำรัฐประหารด้วยกันมาก่อนหน้านี้เกิดขัดคอกัน เห็นไม่ตรงกัน จะทำอย่างไร แล้ว ส.ว. จะอยู่ข้างไหน แล้วองค์กรอิสระ ที่คสช. เป็นผู้คัดสรรมาก่อนหน้านี้ จะเลือกข้างไหน หากต้องทำหน้าที่แก้วิกฤต หรือเลวร้ายที่สุดคือต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ เพราะแทบไม่ได้เปิดทางให้เสียงจริงๆ ของประชาชน มีพื้นที่อยู่ในสมการแห่งอำนาจนี้เลย
เส้นทางในประวัติศาสตร์ของสามัคคีธรรม บอกแล้วว่า ความขัดแย้งกันเองของคนในกองทัพ ในพรรคการเมือง และในระบบการเมืองที่มีคนไม่กี่คนมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้พรรคมีจุดจบอย่างไร