#ไฟเซอร์นักเรียน กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ เมื่อนักเรียนส่วนหนึ่งไม่กล้าไปฉีดวัคซีน หลังได้รับข้อมูลมาว่า ฉีดวัคซีนชนิด mRNA แล้วจะเป็นอันตราย หรือบางคนก็ไม่ได้อนุญาตจากผู้ปกครอง แล้วพอเพื่อนไม่ฉีด บางคนก็ลังเลที่จะฉีดวัคซีนตาม
สำหรับวัคซีน Pfizer ที่จะให้ใช้ในกลุ่มนักเรียนนั้น เป็นไปตามการจัดสรรที่กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียน ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน โดยให้เฉพาะนักเรียนที่มีอายุ 12-18 ปี เพื่อเป็นหนทางให้พวกเขากลับไปเรียนที่ห้องเรียนกันได้มากขึ้น
The MATTER เคยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยและผลข้างเคียงของวัคซีน Pfizer กันไปแล้ว แต่คราวนี้เราจะพามาดูข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร แพทย์อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ถึงประเด็นที่หลายคนกังวล และสาเหตุที่นักเรียนควรได้รับวัคซีนกัน
ผลข้างเคียงของวัคซีนทั่วไป
อาการข้างเคียงทั่วไปที่พบในเด็กหลังได้รับวัคซีน Pfizer ก็ไม่แตกต่างจากที่พบในผู้ใหญ่ มีทั้งอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น หรือบางรายอาจเกิดอาการข้างเคียงที่พบได้ยาก เช่น มีรอยแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน และต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการที่พบได้ยากนี้มักจะหายไปเองภายใน 10 วัน
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อย่างที่เราได้ยินข่าวกันมาตลอดว่า วัคซีน mRNA เกี่ยวโยงกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้ชาย ซึ่งโดยมากมักเกิดกับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองมากกว่าเข็มแรก
อัตราอาการข้างเคียงที่เกี่ยวกับระบบหัวใจ ในกลุ่มอายุ 12-16 ปี แบ่งตามกลุ่มเพศได้ดังนี้
- กลุ่มเด็กและวัยรุ่นเพศชาย อายุ 12-16 ปี: 162.2 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส
- กลุ่มเด็กและวัยรุ่นเพศหญิง อายุ 12-16 ปี: 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส
ประเด็นนี้ นพ.มานพ อธิบายไว้ว่า ต่อให้อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกลุ่มเด็กผู้ชายมีมากกว่ากลุ่มเด็กผู้หญิง แต่ความเสี่ยงโดยรวมก็ยังน้อยอยู่ดี และโดยรวม ผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนก็มีน้อยมาก ที่หลายคนกังวลเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ก็เป็นผลข้างเคียงที่ไม่ได้รุนแรง
“เพราะฉะนั้น ผลดีของวัคซีนก็ยังมากกว่าความเสี่ยงจากการป่วยหนักจาก COVID-19 อยู่ดี ดังนั้น วัคซีนจึงคุ้มที่จะฉีด และทุกประเทศก็ให้คำแนะนำเหมือนกัน”
ขณะเดียวกัน อาการที่ต้องเฝ้าระวังว่าอาจเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีดังนี้
- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
- หอบเหนื่อยง่าย
- ใจสั่น
- หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ
ย้ำว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน มักจะหายไปเองใน 1-2 วัน ซึ่ง นพ.มานพ กล่าวว่า แตกต่างจากผลข้างเคียงร้ายแรงอย่างเรื่องเส้นเลือดอุดตันในวัคซีน AstraZeneca ที่ทำให้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้
“ถ้าหลังฉีดวัคซีนภายใน 2 สัปดาห์แล้วมีอาการที่ต้องเฝ้าระวัง ก็ควรไปพบแพทย์ ถ้าพบว่าเป็น ก็อาจได้รับคำแนะนำให้นอนโรงพยาบาล 1-2 วัน ในต่างประเทศส่วนใหญ่ให้นอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ แล้วกลับบ้านได้ใน 2 วัน หรืออย่างช้าที่สุดก็ไม่เกิน 5 วัน”
นอกจากนี้ ใน #ไฟเซอร์นักเรียน ยังมีการพูดถึงอาการ Long COVID ด้วย โดยเป็นการเปรียบเทียบผลของการฉีดวัคซีนกับอาการ Long COVID ว่าอย่างไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน
อธิบายคร่าวๆ ว่า อาการ Long COVID คือ อาการหลงเหลือหลังติด COVID-19 ในระยะยาว เพราะตอนที่เราป่วย ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีบางอย่างขึ้นมา ซึ่งจะไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย และไปทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ โดยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป และสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย
สำหรับกลุ่มเด็กนั้น ยังมีรายงานเรื่อง Long COVID ในเด็กน้อยมาก ซึ่งเพตรา ซิมเมอร์มันน์ (Petra Zimmermann) ศาสตราจารย์จาก University of Fribourg ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับ Medical News Today ว่า เด็กมักไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เมื่อป่วยด้วยโรค COVID-19 การฉีดวัคซีนจะช่วยปกป้องพวกเขาจากผลระยะยาวของ COVID-19 เช่น อาการอักเสบหลายระบบในเด็ก และอาการ Long COVID
“ฉะนั้น เราจึงต้องยุติความเสี่ยงของการเกิด COVID-19 ในกลุ่มอายุนี้”
ส่วนเรื่องผลข้างเคียงระยะยาวที่บางคนกังวลว่า หากฉีดไปแล้ว อาจเป็นอันตรายกับร่างกายในภายหลังได้ นพ.มานพ กล่าวว่า ข้อแนะนำของไทย เลียนแบบแนวทางของอังกฤษที่รอดูข้อมูลหลังจากการปูพรมฉีดเข็ม 1 ก่อนว่าเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าการฉีดเข็มเดียวเท่านั้น เพราะการจะได้ภูมิคุ้มกันเพียงพอก็ต้องฉีดให้ครบ แต่แนวทางของสถิติขอดูก่อนว่า หลังจากฉีดเข็มหนึ่งไปแล้ว มีผลเป็นอย่างไร แล้วค่อยพิจารณาว่าจะฉีดเข็มสองเมื่อไหร่
นพ.มานพยังย้ำอีกว่า เราพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี ที่มีข่าวลวงเรื่องวัคซีน mRNA เยอะแยะไปหมด ซึ่งเป็นที่ทราบแล้วว่าไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว
เมื่อถามว่า ควรมีแนวทางอย่างไรให้นักเรียนกล้าฉีดวัคซีน Pfizer นพ.มานพก็กล่าวว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือให้ความรู้ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐประชาสัมพันธ์ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนผู้ใหญ่เยอะมาก แต่ไม่ค่อยประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้เด็กเท่าที่ควร
“ต้องเน้นข้อมูลตรงนี้ให้กลุ่มเด็กมากขึ้น จริงๆ ทำได้เพราะมีข้อมูลชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าเน้นการประชาสัมพันธ์ ก็จะทำให้ตัวเด็กเข้าใจ รวมถึงผู้ปกครองเข้าใจ เราไม่ใช่ประเทศต้นๆ ของโลกที่ฉีดวัคซีน เราเห็นตัวอย่างในประเทศอื่นมาเยอะแยะ เขาฉีดไปก่อนเราตั้งหลายเดือน ถ้าจะเกิดอะไรน่ากังวล เราต้องเห็นกันก่อนอยู่แล้ว อีกอย่าง ยังไม่เห็นคำแนะนำจากประเทศไหนเลยที่บอกว่า การฉีดไม่ดี”
ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวลือกลายๆ ด้วยว่า ขวดวัคซีนที่นำมาฉีดให้นักเรียนนั้น อาจบรรจุเป็นวัคซีน Sinovac ข้างใน ซึ่ง นพ.มานพ กล่าวว่า กระบวนการในการจัดเตรียมวัคซีน Pfizer มีความยุ่งยากและละเอียดอ่อนมาก ไม่มีทางเลยที่จะเอาขวด Pfizer มาแล้วใส่วัคซีน Sinovac เข้าไป
นพ.มานพกล่าวต่อว่า รูปแบบของวัคซีนแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวที่คนตื่นตระหนกว่าต้องฉีดน้ำเกลือเข้าไปในขวดก่อน เพราะลักษณะของ Pfizer จัดเก็บมาเป็นผงแห้ง แช่ในอุณหภูมิเย็นจัด ก่อนจะใช้จึงต้องเติมน้ำเกลือเข้าไป ในขณะที่วัคซีน Sinovac จะมาเป็นของเหลวอยู่แล้ว การเตรียมการเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถเอาวัคซีนอันนึงมาใส่ในขวดอีกอันนึงได้
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากในเรื่องของการฉีดวัคซีน Pfizer บางคนถูกครู (และญาติผู้ใหญ่) ส่งข้อมูลย้ำๆ เรื่องผลเสียของวัคซีนชนิด mRNA หรือหลายคนก็ออกมาเปิดเผยว่า โรงเรียนไม่ยอมส่งรายชื่อนักเรียนที่ต้องการรับวัคซีนไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้เด็กอาจเสียสิทธิ์รับวัคซีน ทั้งยังมีเรื่องของระเบียบในการแต่งกายที่เด็กต้องแต่งชุดนักเรียน ห้ามย้อมผม ห้ามใส่ถุงเท้าผิดสี ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนอีกด้วย [อ่านสรุป #ไฟเซอร์นักเรียน ได้ที่นี่]
อ้างอิงจาก