ขายกันมาสักระยะ กับยุทธศาสตร์ ‘อำนาจละมุน’ หรือ Soft power ของรัฐบาล เพื่อหวังใช้กอบกู้ศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกลางดีเบตฝั่งรัฐศาสตร์ ที่มองว่ารัฐกำลังใช้คำนี้ภายใต้นิยามต่างไปจากความเข้าใจร่วมของนานาประเทศ
แต่แล้วไง ใครแคร์…เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งเป็นรองประธาน ไม่ว่าถูกจ่อไมค์เมื่อไรก็พร้อมขายซอฟต์พาวเวอร์ได้ทันที เช่นเดียวกับนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ทันทุกเทรนด์ สามารถเกี่ยวทุกกระแสมาสื่อสารโดยเฉพาะบนบัญชีเอ็กซ์ (X)
The MATTER จึงลองรวบรวมให้ดูว่า อะไรบ้างที่ถูกเรียกแทนให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะนั่นอาจช่วยอธิบายนิยามของซอฟต์พาวเวอร์ในสายตารัฐตอนนี้
นางงาม
คงต้องยอมรับว่า ข้อความที่นายกฯ เศรษฐาโพสต์ เมื่อ 19 พฤศจิกายน หลังแอนโทเนีย โพซิ้ว พลาดมงสามบนเวทีประกวด Miss Universe 2023 แต่ก็ทำผลงานได้ปัง ด้วยการคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศมาได้ ในรอบ 35 ปี ทำให้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง
“ไม่ต้องเสียใจครับเราทำกันเต็มที่เดี๋ยวขอปรึกษากับรองประธานซอฟต์พาวเวอร์ว่าจะทำงานร่วมกับรองมิสยูนิเวิร์สอย่างไรบ้างเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติได้” ซึ่งข้อความนี้ นายกฯ ใช้โพสต์ตอบกลับความเห็นของแพทองธาร ผ่านบัญชีเอ็กซ์ ที่เล่าถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมส่งใจเชียร์แอนโทเนียจนไม่เป็นอันทำอะไร
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวคราวนี้ดูเหมือนจะเป็นไปในทางบวกเสียมาก เพราะมีนักวิเคราะห์หลายรายที่พูดถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจรายล้อมเวทีนางงาม ตั้งแต่สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ ห้องเสื้อแบรนด์ไทย อาชีพเมคอัพอาร์ติส และอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากต่างชาติ ซึ่งนี่อาจดูเข้าเค้าการเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตามนิยามสากลไม่น้อยทีเดียว
ด้วยตาม พจนานุกรมแคมบริดจ์ ให้นิยามไว้ว่า ‘Soft Power คือการใช้อำนาจหรืออิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวให้อีกประเทศหนึ่งทำบางอย่างแทนที่จะใช้อำนาจทางการทหาร (Hard Power)’
สัปเหร่อ
ไหนๆ ก็พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ด้านความบันเทิงแล้ว ในปีนี้หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมหนังไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ความนิยม และรายได้ ต้องยกให้สัปเหร่อ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของจักรวาลไทบ้าน ที่กระแสติดลมบนถึงขนาดที่นายกฯ ยังขนทัพ ครม.สวมผ้าพื้นถิ่นไปร่วมชม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม
ก่อนที่ในวันเดียวกัน เฟสบุ๊กส่วนตัวของนายกฯ จะโพสต์ข้อความชื่นชมว่าเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งย้ำว่า “ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ”
“รัฐบาลเราสนับสนุน Soft Power ทุกมิติ ด้านภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เราพร้อมที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกเป็น ‘จุดขาย’ ไปสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และความชื่นชอบให้กับประเทศไทย”
บรรยากาศมวลรวมก็คล้ายจะเป็นเรื่องราวดีๆ แล้ว ถ้าไม่นับเสียงวิพากษ์รัฐตามปกติ แต่แล้วความคิดเห็นซื่อๆ อย่างตรงไปตรงมา ของต้องเต ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับของสัปเหร่อ ก็ตอกย้ำความสงสัยของสังคมที่ยังไม่กระจ่าง ว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไรกันแน่? สำคัญกว่านั้นต้องเตยังสะท้อนความปรารถนาของคนทำหนังไทย ที่ยังรอคอยการสนับสนุนของรัฐตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต เพื่อเพิ่มโอกาสให้หนังไทยดีๆ ได้ออกสู่สายตาผู้ชม
ไทบ้าน
ถ้าจะบอกว่าความนิยมของสัปเหร่อเป็นเรื่องที่อวยเกินจริง คงต้องทบทวนใหม่เสียแล้ว เพราะในการบรรยายในหัวข้อ Soft power The great challenger ในงานสัมมนา Thailand 2024 Beyond Red Ocean เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนนั้น แพทองธาร ในฐานะรองประธานยุทธศาสตร์ฯ ยังยกให้ไทบ้านเป็นหนึ่งในตัวอย่างกลุ่มคนสร้างสรรค์ ที่เป็นผู้นำธุรกิจของไทย
“มีศักยภาพเพียงพอจะ ‘พาหนะ’ พาประเทศไทยไปเป็นที่รู้จักของเวทีโลก แต่…เป็นการทำงานที่ภาคเอกชนสู้ด้วยตัวเองค่ะ” นั่นยิ่งตอกย้ำว่าผลิตภัณฑ์ของจักรวาลไทบ้าน ซึ่งไม่ใช่เพียงหนังสัปเหรอน่าจะอยู่ในเรดาร์ของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แล้ว
โทฟุซัง-นันยาง
ในขณะที่ไทบ้านถูกยกให้แนวหน้ากลุ่มคนสร้างสรรค์ บนเวทีเดียวกันนั้นเอง ยังมีอีก 2 แบรนด์ ที่แพทองธาร ชี้ว่าเป็นตัวอย่างของผู้นำธุรกิจของไทยที่เติบโต แข็งขัน และพัฒนาธุรกิจอย่างจริงจัง คือ โทฟุซัง และนันยาง
โดยมีการโพสต์ข้อความผ่านบัญชีอินสตาแกรม อธิบายไว้ภายหลังว่า “โทฟุซัง พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม การทำรีเสริช และข้อมูลในผลิตภัณฑ์ตัวเองอย่างแข็งแรง” เช่นเดียวกับ “นันยาง ตำนานรองเท้านักเรียนทุกยุคทุกสมัย และพารองเท้าแตะไทยไปอยู่ในหัวใจชาวต่างชาติ” ซึ่งทั้งหมดเป็นการต่อสู้ของภาคเอกชนเอง
เป็นที่มาของโจทย์ใหญ่ของรัฐ ที่จะใช้ต้นทุนที่มีอยู่ สร้าง Soft Power ที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามความเห็นของเธอ “ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พวกเรา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำลังทำอยู่ค่ะ”
ช็อกมินต์
ในช่วงเวลาของการจัดตั้งรัฐบาลก่อนหน้านี้ ใครจะจับหรือสลัดมือออกจากกัน ในความทรงจำของประชาชนอาจเลือนราง เพราะพลิกกันไปมาก็หลายหน แต่ภาพจำอย่างหนึ่งที่กลายเป็นมีมในโลกออนไลน์ นั่นคือการชนแก้วช็อกมินต์ในระหว่างประชุมแกนนำสำคัญของพรรคการเมืองต่างๆ จนกำเนิดรัฐบาลช็อกมินต์ ยิ่งเพิ่มกระแสให้เครื่องดื่มชนิดนี้ได้รับความสนใจ และยกยอให้เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์
โดยไม่นานมานี้ วันที่ 7 พฤศจิกายน หลังเกิดข้อกังขาว่ารัฐบาลกำลังใช้นิยามซอฟต์พาวเวอร์แหวกแนวไปจากนานาชาติ อาจเพราะยังไม่เข้าใจดี ในฐานะรองประธานยุทธศาสตร์ฯ แพทองธาร จึงได้ตอบคำถามนี้อีกครั้ง โดยยกช็อกมินต์ประกอบการอธิบาย
“ซอฟต์พาวเวอร์ อธิบายอย่างง่ายๆ คือ อำนาจละมุน (Soft Power) ที่ไม่ต้องการใช้อาวุธหรืออะไรที่รุนแรง ใช้ Soft Power ให้ชนะใจ หรือเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ โดยโอบรับวัฒนธรรมต่างๆ ที่เข้ามา”
“อย่างช็อกมินต์ก็ได้ค่ะ เกิดฮิต นิยมขึ้น ช็อกมินต์ขายดีขึ้นมา อันนั้นคือวัฒนธรรมที่ถูกโอบรับโดยคนไทยในประเทศเอง นั่นคือเศรษฐกิจภาพเล็ก ซึ่งเป็นภาพของร้านค้าที่เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ Soft Power ที่เราทำอยู่ขณะนี้ เราต้องการผลักดันสิ่งเหล่านั้นให้เป็นระดับโลกมากขึ้น ไม่ใช่แค่หัวข้อของช็อกมินต์นะคะ แต่หัวข้อของ 11 อุตสาหกรรมที่เราได้แถลงไปแล้ว”
หมูกระทะ
การสนับสนุนการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองผ่านอุตสาหกรรมอาหาร นับเป็นท่าพื้นฐานของบ้านเรา อย่างเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน แพทองธารได้ลงพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ อีกหนึ่งจังหวัดที่มีอาหาร และผลไม้ขึ้นชื่อ
จังหวะพอเหมาะพอดี ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อไปถึงโอกาสที่จะสนับสนุน ให้หมูกระทะลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างที่เคยพูดไว้ “หมูกระทะเองในแต่ละจังหวัดก็มีซิกเนเจอร์ที่ไม่เหมือนกันด้วยก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะสามารถดึงแต่ละจังหวัดให้มาร่วมกันได้”
“เราเห็นของเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น อาหารสไตล์จิ้มจุ่มหรือปิ้งย่างนั้นราคาสูงมาก แต่ของเราราคาดีมากๆ เลี้ยงได้ทั้งหมู่บ้าง จึงอยากสนับสนุน เพราะเรามีสินค้าที่ดี มีวัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว และในเรื่องของอาหารของประเทศไทยนั้นได้เปรียบ และจะสามารถผลักดันเป็นซอต์พาวเวอร์ได้แน่นอน”
ผ้าไทย
พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์แล้วจะตกผ้าไทยไปไม่ได้ เพราะอย่างการเปิดประชุมซอฟต์พาวเวอร์นัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 3 ตุลาคม นายกฯ ก็เปิดตัวด้วยการสวมใส่สูทผ้าขาวม้าสีสดใส ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวไทย ขณะที่แพทองธารเอง ก็ไม่พลาดนำผ้าขาวม้ามาผูกที่เอวพอเป็นกิมมิก อาจจะเป็นนัยว่าผ้าไทยยังคงอยู่ในความสนใจของคณะทำงานเช่นที่แล้วมา
Thailand Winter Festivals
จากจุดเริ่มต้นของงานประเพณี ที่ขยับขยายจนเป็นเทศกาลใหญ่ รู้ตัวอีกทีไทยก็กลายเป็นเมืองแห่งอีเวนต์ไปแล้ว เพราะปีปีหนึ่งมีการจัดกิจกรรมกว่า 3,000 งานทีเดียว นอกจากเหตุผลว่า ถ้าเป็นเรื่องสนุกขอให้บอกแล้ว ในทุกเทศกาลล้วนเป็นโอกาสของพ่อค้าแม่ขายทั้งสิ้น
“เทศกาล winter festival จะเป็นเครื่องมืออีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาที่ประเทศไทยมากขึ้น ให้คนทั่วโลกมาตัดสินใจใช้เงินในประเทศไทย และ winter festival จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นฮับดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ วันนี้รัฐบาลเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในการเดินหน้าวัฒนธรรมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ในทุกด้านให้ประเทศไทย เป็นที่จดจำและมีตัวตนในแผนที่โลกอีกครั้ง”
เป็นคำประกาศของแพทองธาร ในการเปิดงาน Thailand Winter Festivals ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งยังกล่าวถึงเทศกาลอาหาร บันเทิง กีฬา ศิลปะต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนไทยให้เป็นจุดหมายปลายปีของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ด้วยกรอบคิดของรัฐ อนุมานได้ไม่ยากว่าแคตตาล็อกซอฟต์พาวเวอร์ของไทย คงจะยังมีอัปเดตเวอร์ชั่นล่าสุด ล่าสุดแล้ว ล่าสุดกว่า ไปเรื่อยๆ…แต่โจทย์ใหญ่คือ ทั้งของเก่า-ของใหม่เหล่านั้นจะถูกอัปเกรดต่อไปอย่างไร ซึ่งนั่นอาจทำให้วันหนึ่งเราอาจต้องกลับมาถกกันใหม่ ว่าทำไมนิยามของ Soft power ถึงได้สำคัญก็ได้