ช่วงนี้กระเเสซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) มีค่อนข้างมากในประเทศไทย มีการพูดถึงส่วนที่เป็น ‘ซอฟต์-Soft’ ความละมุนละไมของวัฒนธรรมที่ต่อยอดเป็นธุรกิจได้ แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนเดียว แล้วคำถามสำคัญคือ ‘พาวเวอร์-Power’ อยู่ตรงไหน?
ล่าสุดพี่ทิม—พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาเยี่ยมเราที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เลยได้ไปดูนิทรรศการที่ MIT Museum ซึ่งจัดเเสดงเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งคือ เอกสารจัดตั้งห้องแลปวิจัย AI เเห่งแรกของโลกในปี 1970s โดยมาร์วิน มินสกี (Marvin Minsky) และซีมัวร์ ปาเปิร์ต (Seymour Papert) บิดาของโมเดิร์น AI
ในช่วงนั้นคุยกับพี่ทิมสนุกๆ ว่า Artificial Intelligence หรือ AI เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มาก่อนกาล เพราะมาร์วินเคยเล่าให้ฟังขำๆ ว่าการได้ชื่อว่า AI มาจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาต้องการสร้างแบรนด์ให้สาขาวิชาวิจัยใหม่นี้ดูเท่และน่าเกรงขาม หากลองนึกดูว่าในขณะนั้นถ้าใครอยากหือกับอเมริกาแล้วกระทรวงกลาโหมบอกว่า เรากำลังทำ AI อยู่ก็คงจะมีร้อนๆ หนาวๆ กันบ้าง แต่การตั้งชื่อเท่ๆ อย่างเดียวก็คงไม่พอ (ไม่งั้นประเทศไทยก็คงเจริญไปแล้ว)
อีก 2 สิ่งสำคัญที่ส่งผลให้อเมริกาทำนั่นก็คือ การทุ่มงบประมาณมหาศาลให้กับศาสตร์อุบัติใหม่โดยการมองระยะยาว ตอนนั้น AI ในยุค 1970 ถือเป็นช่วงตั้งไข่ ไม่ได้ทำงานเชิงพาณิชย์หรือขายได้แบบทุกวันนี้ แต่งบประมาณที่รัฐใส่เข้าไปต่อเนื่องในยุคนั้น ทำให้เกิดงานวิจัยและสถาบันการศึกษาที่สร้างคนมีความรู้ ความสามารถ และทำ AI มาต่อเนื่องอย่างน้อย 50 ปี จนเป็นรากฐานให้เกิดนวัตกรรมอย่างทุกวันนี้
สิ่งสำคัญต่อมาคือ การที่อเมริกาเชื่อมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับวงการภาพยนตร์อย่างฮอลลีวูด ครั้งหนึ่งตอนที่เรายังเรียนปริญญาตรีอยู่ที่ College of Liberal Arts & Sciences แอริโซนา ช่วงปี 2016 เราได้ไปฟังนักฟิสิกส์ลอว์เรนซ์ เคราส์ (Lawrence Krauss) จัดสัมมนากับคนจากฮอลลีวูดและกระทรวงกลาโหมของอเมริกา
เขาพูดสิ่งหนึ่งที่ทำให้จำฝังใจว่า “ต่อให้อเมริกาจะมีความเจริญมากน้อยแค่ไหน แต่กระทรวงกลาโหมและฮอลลีวูดจะต้องสร้างภาพผ่านหนังไซ-ไฟให้อเมริกาไฮเทคที่สุดเสมอ เพราะสิ่งนี้จะดึงดูดคนเก่งๆ ทั่วโลกมาทำให้อเมริกาเจริญก้าวหน้าจริงๆ” หลังจากได้ฟังแล้วรู้สึกขนลุกมาก และเขายังพูดต่ออีกว่า “ต่อให้จีนจะมีเงินเยอะแค่ไหน หรือมีจำนวนคนเก่งในประเทศแค่ไหน แต่เขาไม่มีสตาร์ วอร์ส หรือสตาร์ เทรคที่จะดึงดูดคนเก่งๆ จากทั่วโลกเข้ามาเป็นพวกทางวัฒนธรรม”
การสร้างวัฒนธรรมเห่ออนาคตผ่านสื่อหรือภาพยนตร์ ทำให้รัฐไม่ได้เป็นแค่คนเดียวที่ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่สร้างนักลงทุนเอกชน วัฒนธรรมสตาร์ตอัป ซิลิคอนแวลลีย์ และวัฒนธรรมที่รัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) สำหรับนวัตธรรม (นวัตกรรม+วัฒนธรรม)
การยกตัวอย่าง AI ขึ้นมาในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเพราะเราเชื่อว่ามันเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดมากว่ากว่าจะมาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกอย่าง ChatGPT โดย OpenAI แบบทุกวันนี้ มันมีการทำงานทางวัฒนธรรม (หนังฮอลลีวูดมากมายที่พูดถึง AI ส่วนมากเกิดขึ้นที่อเมริกา และมีคนอเมริกันเป็นผู้นำ) มีการทำงานต่อเนื่องทางวิทยาศาสตร์ และการวิจัยจาก MIT และที่ต่างๆ อย่างน้อย 50 ปี ทั้งยังสร้างภาพจำว่าสิ่งนี้จะทำให้คนทั้งโลกไม่กล้าหือกับอเมริกาได้ยังไงจากยุคหลังสงครามโลก และแม้ว่า 3 สิ่งนี้อาจจะดูเผินๆ ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จริงๆ แล้วจะเห็นตัวเชื่อมที่โยงกันข้ามเวลาและบริบทอยู่ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมซอฟต์พาวเวอร์ต้องการ ‘Hard Agenda’
“Power is Power”
เช่นเดียวกับที่เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ (Cersei Lannister) จาก Game of Thrones กล่าวไว้ข้างต้น สุดท้ายซอฟต์พาวเวอร์ก็คือเรื่องของพาวเวอร์ เราจึงต้องมีธงว่าจะสร้างมันขึ้นมาได้ยังไง และจะเอามันไปทำอะไร โดยส่วนตัวเห็นว่าคนที่จะทำซอฟต์พาวเวอร์ได้ต้องมีความอยากครองโลกอยู่นิดหนึ่ง เป็นผู้มีความคิดริเริ่มและมีแผนสูง
ถ้าสมมติว่าไทยต้องการทำซอฟต์พาวเวอร์ผ่านซีรีส์วาย ซึ่งเรามีบันทึกสถิติทางด้านการค้าอยู่แล้ว เราไม่ได้แค่ทุ่มงบทำซีรีส์วายไปเรื่อยๆ แต่จะใช้สิ่งนี้เป็นม้าโทรจัน (Trojan Horse) ประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า เราเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+ Friendly) ที่สุดในโลก เราจะทุ่มงบสนับสนุนงานวิจัยล้ำๆ เช่น การทำอสุจิเทียม (Artificial Sperm) หรือไข่เทียม (Artificial Egg) ให้คนเพศเดียวกันมีลูกทางชีวภาพได้เป็นครั้งแรกของโลก ลองจินตนาการปกแม็กกาซีน TIME มีรูปเด็กที่เกิดจากดีเอ็นเอของผู้ชาย 2 คน หรือผู้หญิง 2 คนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หมอไทยได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและการแพทย์ รวมไปถึงการทำแคมเปญให้ผู้นำของโลกและอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งหลายมาเที่ยวในไทย
ตัวอย่างเช่นเมื่อทรอย ซีวาน (Troye Sivan) มาถ่ายเอ็มวีเพลง Got Me Started ที่ไทย รัฐบาลควรมองสิ่งนี้เป็นกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมดีไซเนอร์ไทยให้ได้ทำงานร่วมกับศิลปินต่างชาติ หรือผลักดันให้มีการพ่วงขายสินค้าไทยอยู่ในเอ็มวีนั้น สร้างแรงจูงใจด้วยการลดภาษีให้กองถ่ายต่างชาติ ดึงดีไซเนอร์จากทั่วโลกที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศมาพักผ่อน ออกแบบคอลเล็กชั่นพิเศษที่มีขายเฉพาะที่ไทย และอาจนำสินค้าเหล่านี้ไปอยู่ในซีรีส์วายก่อนจะฉายไปทั่วโลก
รวมถึงอาจสร้างให้มีฉากแต่งงานที่โรแมนติกมากๆ สอดคล้องไปกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมสากล ดึงดูดให้คนทั่วโลกมาแต่งงานที่ไทย ซึ่งเราจะให้สัญชาติเด็กที่เกิดที่นี่ เพื่อสร้างความสามารถพิเศษที่มีความหลากหลาย เราจะโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ของไทย ทำแพ็กเกจการแปลงเพศตามรอยเซเลบริตี้แล้วไปทัวร์พัทยา สร้าง Pattaya Papaya ให้ดังยิ่งกว่า Tokyo Banana
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างเล็กๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากซีรีส์วาย แต่จะเห็นได้ว่าเราเพิ่มความสามารถและผลักดันไทยได้ในหลายๆ มิติ ทั้งสื่อ เทคโนโลยี อาหาร และทรัพยากรคน
ตัวอย่างต่อมาคือ หากสมมติว่ารัฐจะผลักดันน้ำบูดู สินค้าท้องถิ่นจากปัตตานี จังหวัดที่เราเติบโตมาตอนเด็กๆ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดบูดูแฮกกาธอน นำผู้ประกอบการ คนในชุมชน ดีไซเนอร์ ศิลปิน และแฮกเกอร์มาทำงานร่วมกัน เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ให้กับสินค้านี้จนอาจเกิดแคมเปญต่างๆ เช่น บูดูไบโอติก ผลักดันประเด็นความเป็นโปรไบโอติก จุลินทรีย์ที่อยู่ในการหมักน้ำบูดูซึ่งทำให้คนสุขภาพดีขึ้น
เราอาจจะอบรมคนดูผ่านการสร้างมินิซีรีส์ “My Boo (do): ความรักวุ่นวายกับเจ้าชายบูดู” จากผู้กำกับสุดโรแมนติกอย่างพี่หมู—ชยนพ บุญประกอบฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เล่าถึงเรื่องราวความรักของหนุ่มใต้จากชุมชนที่หมักบูดู กับหมอสาวที่มาค้นพบความมหัศจรรย์ของจุลินทรีย์ในบูดู เกิดเป็นซีรีส์โรเเมนติกที่ดำเนินเรื่องผ่านอาหารแบบเดียวกับ เช่นเดียวกับเเดจังกึมจากเกาหลีก็เป็นซีรีส์จากเเดนโสมแรกๆ ที่เข้ามาในไทย
เมื่อซีรีส์เรื่องนี้ส่งออกวัฒนธรรมบูดูและประเด็นทางสุขภาพออกไป เราจะสร้างแคมเปญการท่องเที่ยวเชิงอาหารและสุขภาพ (Health & Food Tourism Campaign) ตามรอยซีรีส์ เเล้วมีกิจกรรมอย่าง Boodo Can Do ให้คนสามารถมาทดลองหมักบูดูได้เอง เชิญอินฟลูเอนเซอร์และเชฟชื่อดังในไทยและต่างชาติมาทดลองเอาน้ำบูดูไปสร้างเมนูใหม่ๆ เช่น ไอครีมบูดูรสเปรี้ยว เสิร์ฟแบบ Molecular Gastronomy ที่ร้านของเชฟเอียน—พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย สาขาปัตตานี นอกจากนี้เราจะส่งเสริมให้โรงพยาบาลและมหาลัยท้องถิ่นทำวิจัยเรื่องโปรไบโอติก เกิดเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะสายที่โยงกับวัฒนธรรมและวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยซอฟต์พาวเวอร์ที่มี Hard Agenda เดียวกัน คือการผลักดันบูดูเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมระดับโลก
จะเห็นว่าการจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ต้องมีการร่วมมือกันของคนที่หลากหลาย แต่มี Hard Agenda เดียวกัน คือทำให้ไทยครองโลก เราต้องการผู้นำที่กล้า บ้า มีความอยากครองโลกเพื่อส่วนรวม และมีอำนาจมากพอที่จะดึงเอาคนจากมิติต่างๆ มารวมกันได้ ไม่ใช่คิดเพียงเรื่องเล็กน้อยอย่างการแค่เป็นคนดีก็เพียงพอแล้ว
ทว่าน่าเสียดายที่หลายๆ ครั้ง วาระของผู้มีอำนาจในประเทศไทยยังไม่ใช่การพัฒนาที่แท้จริง แต่เป็นแค่การพยายามนำคีย์เวิร์ดซอฟต์พาวเวอร์มาทำให้ตัวเองดูดี เพื่อทำอะไรเดิมๆ ต่อไปเรื่อยๆ ได้ เพราะถ้าเรายังทำเช่นนั้น ต่อให้จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์, AI power, ไทยแลนด์ 5.0 หรือคีย์เวิร์ดใหม่ๆ ก็คงไม่อาจทำให้ไทยเจริญขึ้น
ผู้เขียนขอขอบคุณพี่เอ๋-นิ้วกลมที่สนับสนุนให้เขียนสิ่งนี้ออกมาครับ