ต้นฤดูร้อนของทุกปี คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน คงจะกำลังง่วนทุ่มเทเวลาไปการหาโรงเรียนอนุบาลที่เหมาะสมให้กับคุณลูก มีหลากหลายปัจจัยที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง สภาพแวดล้อม หลักสูตรการเรียน ฯลฯ
แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญ คงไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่าง ‘ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเล่าเรียน’ ที่เรียกกันติดปากว่า ค่าเทอม
Young MATTER เลยขออาสาไปสำรวจค่าใช้จ่ายฯ ดังกล่าวของ โรงเรียนอนุบาลเอกชนชื่อดัง จำนวน 10 แห่ง ใน กทม. โดยหวังจะเป็นหนึ่งในข้อมูลให้คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อการศึกษาเล่าเรียนของคุณลูกสุดที่รักกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เรารวบรวมจะมาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ (1) สอบถามจากผู้ปกครองที่ส่งหรือเคยส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลเอกชนดังกล่าว และ (2) สืบค้นข้อมูลจากโรงเรียนโดยตรง
สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของหนูๆ ไม่ได้มีแค่ ‘ค่าเทอม’ ที่จะต้องจ่ายทุกเทอม จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา เพียงอย่างเดียว แต่บางโรงเรียนยังมี ‘ค่าแรกเข้า’ ซึ่งเปรียบเสมือนค่าธรรมเนียมดำเนินการ โดยจะเรียกเก็บเมื่อครั้งที่ผู้ปกครองประสงค์จะให้บุตรหลานเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว และจะเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
และนี่คือค่าใช้จ่ายที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเตรียมเอาไว้ หากต้องการจะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลชื่อดังเหล่านี้
- อนุบาลกุ๊กไก่ – ค่าแรกกับค่าเทอมแรกรวมกัน 63,500 บาท ค่าเทอมสอง 48,500 บาท
- อนุบาลแสงโสม – ไม่มีค่าแรกเข้า ค่าเทอม 70,900 บาท/เทอม
- โรงเรียนราชินีบน – ค่าแรกเข้า 3,000 บาท ค่าเทอมทั้งสองเทอม 27,900 บาท/เทอม
- โรงเรียนซานตาครู้สคอนแวนต์ – ค่าแรกเข้า 35,000 บาท ค่าเทอม 25,000 บาท/เทอม
- โรงเรียนรุ่งอรุณ – ค่าแรกเข้า 60,000 บาท ค่าเทอม 32,000 บาท/เทอม
- โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย – ไม่มีค่าแรกเข้า ค่าเทอมแรก 60,000 บาท ค่าเทอมสอง 40,000-50,000 บาท
- โรงเรียนสาธิตบางนา – ไม่มีค่าแรกเข้า ค่าเทอมระหว่าง 21,000 – 26,000 บาท/เทอม
- อนุบาลเด่นหล้า (เพชรเกษม) – ค่าแรกเข้า 9,000 บาท ค่าเทอม 66,000 บาท/เทอม
- อนุบาลมณีรัตน์ – ไม่มีค่าแรกเข้า ค่าเทอม 44,000 บาท/เทอม
- อนุบาลโรจน์จิราภา – ค่าแรกเข้า 7,900 บาท ค่าเทอม 43,000/เทอม
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ค่าเทอมของโรงเรียนอนุบาลชื่อดังใน กทม. จะมีตั้งแต่ 21,000 บาทไปจนถึง 70,900 บาท ขณะที่ค่าแรกเข้าก็มีตั้งแต่ไม่เก็บเลย ไปจนถึงเก็บอยู่ที่ 60,000 บาท
เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า เงินเหล่านั้น จะถูกนำไปใช้อะไรบ้าง? อยากรู้ไหม เราสำรวจมาให้ด้วย
ค่าเทอมเกินกว่า 50% จะถูกนำไปใช้เป็น ‘ค่าธรรมเนียมการศึกษา’ รองลงมาเป็น ‘ค่าอาหารกลางวัน/อาหารว่าง/อาหารเสริม’ ‘ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ’ รวมไปถึง ‘ค่าจ้างครูชาวต่างชาติ’ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองในการเพิ่มทักษะด้านภาษาของบุตรหลาน ที่ขาดไม่ได้ในยุคสมัยนี้
ถ้าจำแนกรายละเอียดค่าใช้จ่ายออก จะสามารถจัดได้ 3 กลุ่ม
– กลุ่มหลัก: ค่าใช้จ่ายที่ทุกโรงเรียนระบุไว้ตรงกันว่ามี เช่น ค่าธรรมเนียมการศึกษา, ค่าอาหารกลางวัน, ค่าอาหารว่าง, ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าอาหารเสริม(นม), ค่าซักฟอก, ค่าห้องปรับอากาศ, ค่าประกันอุบัติเหตุ, ค่าเครื่องใช้, ค่าหนังสือเรียน และค่าชุดนักเรียน
– กลุ่มเสริม: ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมพิเศษ (บางโรงเรียนรวมอยู่ในค่าเทอมแล้ว บางโรงเรียนต้องจ่ายเพิ่มเติม) เช่น ค่าเรียนวิชาพิเศษ, ค่าจ้างครูต่างชาติ, ค่าเรียนคอมพิวเตอร์, ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน, ค่าเรียนว่ายน้ำ, ค่าเรียนภาคฤดูร้อน, ค่ารถรับส่ง, ค่าเอกสารเสริมพิเศษ และค่าบำรุงห้องสมุด
– กลุ่มพิเศษ: ค่าใช้จ่ายที่มีเฉพาะบางโรงเรียนเท่านั้น เช่น ค่าข้อสอบ, ค่าประกันของเสียหาย, ค่าสมาชิกชมรมผู้ปกครอง, ค่าอบรมผู้ปกครอง และค่าธรรมเนียมอื่นๆ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็อยากจะหายาดมมาสูดให้ชื่นใจกันสักนิด และอย่าลืมว่านี่เป็นเพียงตัวเลขที่เราได้ทำการสำรวจโรงเรียนอนุบาลของเอกชน เท่านั้น ผู้ปกครองท่านใดที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็สามารถเลือกส่งบุตรหลานเรียนได้ก็ไม่ว่ากัน
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนอนุบาลเอกชนสองภาษา หรือ โรงเรียนอนุบาลนานาชาติที่ค่าใช้จ่ายแพงกว่านี้หลายเท่าตัว และโรงเรียนอนุบาลของรัฐ ซึ่งให้การศึกษาได้เท่ากันด้วยค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยาว์กว่า ด้วยการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากทางรัฐ ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน