บ้านจะกลายเป็นสถานที่มอบการศึกษาให้กับเด็ก หลังจากที่ COVID-19 ระบาดจนทำให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน
แต่ถ้าการศึกษาย้ายออกจากห้องเรียนมาอยู่ที่บ้านรูปแบบ วิธีการ รวมถึงนิยามความหมายของคำว่าการศึกษา จะเปลี่ยนไปด้วยหรือเปล่า?
เราได้ไปเข้าร่วมงานเสวนาเรื่อง วิกฤต COVID-19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤาเพียงวาทกรรมซ้ำซาก? ซึ่งจัดโดย ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา กลุ่มพลเรียน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วพบประเด็นที่น่าสนใจที่เล่าถึงแนวทางของ New normal ทางการศึกษาที่จะเข้ามาหลังจากวิกฤต COVID-19 ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า แนวทางการศึกษาแบบใหม่นี้จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้กับเราได้
ความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ที่มีมาตั้งแต่ก่อน COVID-19
การระบาดของ COVID-19 ทำให้โรงเรียนทั่วประเทศต้องเลื่อนเปิดเทอม และหาทางเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีมาตลอดนั้น ยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้น
แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีอะไรบ้าง?
ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า 3 สิ่งที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยมาโดยตลอด ก็คือ รัฐ โรงเรียน และตลาด ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับแรงสะเทือนจากการมาของ COVID-19 ที่ฉุดให้การศึกษาออกจากห้องเรียน และกลับไปสู่สถาบันครอบครัว
อ.วงอร เล่าว่า ที่ผ่านมา โรงเรียนและรัฐทำให้บ้านกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเรียนรู้ โดยเฉพาะบ้านของชนชั้นแรงงาน หรือกลุ่มเปราะบาง หรือก็คือ COVID-19 ทำให้เห็นว่า สถาบันครอบครัวไม่เคยมีอำนาจในการสร้างความรู้ให้กับเด็ก
“ในกรณีของรัฐไทย ตั้งแต่ที่เราเริ่มมีการศึกษาสมัยใหม่ (Modern Education) ที่จัดโดยโรงเรียน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ร.5 หากมองในแง่ของการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ จะพบว่า ครอบครัวถูกดึงอำนาจของการให้การเรียนรู้แก่บุตรหลานตัวเอง ออกไปสู่โรงเรียนทีละเล็กทีละน้อย”
โรงเรียนแห่งแรกที่ตั้งขึ้นมาในไทยคือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ) ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ สอดคล้องกับที่ อ.วงอร เล่าไว้ว่า โรงเรียนกับรัฐมีความสัมพันธ์ต่อกันมาตลอด โดยโรงเรียนจะเป็นแหล่งสร้างบุคลากรให้กับรัฐนั่นเอง
นอกจากการสร้างบุคลากรแล้ว โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ของการสร้างอุดมการณ์ที่รัฐต้องการมอบให้กับประชากร ผ่านทางหลักสูตรต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวสูญเสียบทบาทในการอบรมการเรียนรู้ลูกหลานของตัวเองไป
“ในมุมของประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ครอบครัว โรงเรียน มองว่าการมีอยู่ของครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งประกอบอาชีพเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอน ก็มีส่วนทำให้ผู้ปกครองผลักภาระด้านการพัฒนาชีวิตของลูกหลานตัวเองออกไป”
ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกอำนาจในการสอนเด็กออกจากครอบครัวด้วย โดย อ.วงอร กล่าวว่า แต่ละครอบครัว สามารถเข้าถึงการศึกษาคุณภาพดีได้ไม่เท่ากัน เพราะในขณะที่การศึกษาสร้างผลตอบแทน สร้างสิทธิพิเศษให้กับเด็กกลุ่มที่มีฐานะและมีความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพดีผ่านโรงเรียน ในทางกลับกัน การศึกษาก็ไปสร้างต้นทุนด้านต่างๆ ให้กับเด็กที่มีฐานะยากจนเช่นกัน
“ปัญหานี้จะไม่รุนแรงถ้ารัฐช่วยให้การศึกษาที่มีคุณภาพกระจายตัวอย่างทั่วถึง แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐกลับทำให้การศึกษาที่มีคุณภาพกระจุกตัวมากกว่าเดิม”
การกระจุกตัวของการศึกษาคุณภาพดีนั้น เป็นผลมาจาก ตลาด หนึ่งในสิ่งที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามที่ อ.วงอรกล่าว เพราะรัฐดึงกลไกตลาดเข้ามากำกับการให้บริการทางการศึกษา ทำให้โรงเรียนกลายเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันแปรผันไปตามกำลังซื้อหรือกลไกตลาด นั่นหมายความว่า ที่ไหนมีกำลังซื้อ ที่นั่นจะมีการลงทุนด้านการศึกษา โรงเรียนที่มีคุณภาพจึงอยู่อย่างกระจุกตัวไปโดยปริยาย
“เราจะเห็นว่า โรงเรียนแพงๆ มอบให้ทั้งการศึกษาและสังคมที่ดีกว่าโรงเรียนถูกๆ ให้กับเด็ก ซึ่งมันไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดขึ้น แต่มันจะเกิดขึ้นแล้วกลายเป็นบรรทัดฐานถ้าหากรัฐไม่เลือกที่จะเข้าไปสร้างกลไกเชิงสถาบันที่จะมาขัดขวางการทำงานของกลไกตลาดในระบบการศึกษา ซึ่งถ้าเราดูจากโครงข่ายสถาบัน หรือสิ่งที่รัฐสร้างขึ้นมาเป็นเงื่อนไข เช่น กฎหมาย ระเบียบต่างๆ เราก็จะพบว่า รัฐเลือกที่จะส่งเสริมกลไกดังกล่าว มากกว่าที่จะไปขัดขวาง”
นอกจากโรงเรียนคุณภาพดีจะอยู่กันอย่างกระจุกตัวแล้ว กลไกตลาดที่เข้ามาสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยังทำให้โรงเรียนต้องแย่งชิงเด็กกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินรายหัวตามระบบการจัดสรรงบประมาณของรัฐ
นี่คือหน้าตาของระบบการศึกษาไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่ที่ COVID-19 ยังไม่ระบาด ซึ่งเป็นผลมาจากการจับมือกันอย่างแนบแน่นของรัฐ โรงเรียน และตลาด
คืนการศึกษา กลับสู่สถาบันครอบครัว
แล้วหลังจาก COVID-19 ระบาด การศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
แน่นอนว่า โรคระบาดครั้งนี้ผลักให้ผู้คนต้องดิ้นรนหาทางเอาชีวิตรอดกันอย่างหนัก
รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเมินว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของ 24 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยนั้น เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้น กลับมีกลุ่มคนรายได้น้อยเพิ่มขึ้นมาอีกมาก โดยสังเกตุได้จากกลุ่มที่คนมาลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่เราเห็นกันอย่างชัดเจนมาตลอด และการมาของโรคระบาดนี้ ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำที่เว้นช่องว่างอยู่ก่อนนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดย อ.นงเยาว์กล่าวว่า สถานะการศึกษาของเด็กในครอบครัวของคนที่มีรายได้น้อยในไทย อยู่ในภาวะวิกฤตตลอดเวลา หรือก็คือ ต้องเผชิญกับความยากลำบากอยู่ทุกขณะ จนแทบจะเป็นเรื่องปกติของพวกเขาอยู่แล้ว
“สำหรับครอบครัวเหล่านี้ สถานศึกษาหมายถึงอะไร? อันดับแรกเลย คือที่พักพิง เป็นสถานที่ที่ทำให้เด็กมีชีวิตรอดด้วยการเข้าถึงอาหาร มีสุขภาพดี รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากภาวะการถูกคุกคาม จากการข่มขืน การถูกกระทำชำเรา และรอดปลอดภัยจากการถูกชักชวนเข้าไปในเรื่องของยาเสพติด หรือถูกลักพาไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์”
ดังนั้น ในระยะสั้นแล้ว การมาของ COVID-19 จึงเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองและเด็กๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนี้ อ.นงเยาว์ ยังยกตัวอย่างกรณีวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งผลักให้คนที่มีรายได้น้อยต้องหาทางรับมือกับปัญหาต่างๆ เช่น การหลุดออกจากระบบการศึกษา การเบี่ยงเส้นทางการศึกษาจากที่เคยเรียนในโรงเรียนดีๆ บางครอบครัวก็ต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนขยายโอกาสแทน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นผลกระทบในระยะยาว จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ธีรพงษ์ ภักดีสาร คุณครูจากกลุ่มพลเรียนที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย ก็อธิบายว่า รัฐสามารถแก้ปัญหาในระยะสั้นได้ โดยการใช้ประโยชน์จากโรงเรียนและเครือข่ายชุมชน ในการสำรวจความพร้อมของเด็ก และเข้าช่วยเหลือทั้งเด็กและครอบครัวในพื้นที่นั้นๆ
“ถ้ากระทรวงใช้กลไกของโรงเรียนในการสำรวจ และอำนาจตัดสินใจกับโรงเรียนในเรื่องของการเปิดเทอมเอง หรือจะทำอย่างไรกับนักเรียนในระหว่างที่โรงเรียนยังปิดอยู่ ผมคิดว่ามันน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาบางส่วนจากผู้ปกครองได้พอสมควร”
แต่อีกมุมหนึ่ง อ.วงอร ก็มองว่า ในระยะยาวความเหลื่อมล้ำอาจจะดีขึ้นก็ได้ แม้ว่า แต่ละครอบครัวมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ไม่เท่ากัน และไม่สามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง แต่หากตั้งคำถามโดยไม่ยึดติดกับมาตรฐานของรัฐแล้ว การศึกษาในรั้วโรงเรียน เป็นการศึกษาที่ดีที่สุดจริงเหรอ?
อ.วงอรย้ำว่า ในระยะสั้นความเดือดร้อนของผู้ปกครองและชนชั้นแรงงานเป็นเรื่องจริง ทั้งยังรุนแรงอย่างมาก รัฐบาลและบุคลากรทางการศึกษาต้องหาทางพยุงให้ประชากรจำนวนมากฝ่าฝันปัญหาจากการที่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน ขณะเดียวกัน นี่เป็นผลจากการที่สถาบันครอบครัวถูกทำให้อ่อนแออย่างถึงที่สุด ในแง่ของการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ หรือแม้แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก
อีกทั้ง อ.วงอรยังตั้งคำถามว่า การถกเถียงเรื่องการศึกษาหลังยุค COVID-19 เคยมีการมองจากมุมของเด็กมากพอแล้วหรือยัง? ที่ผ่านมา ยังเป็นการตั้งคำถามและมองปัญหาจากมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาอยู่หรือเปล่า?
“ในบางมุม วิกฤตทำให้เด็กหลายคนได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งปกติพ่อแม่อาจจะต้องไปทำงานในที่แสนไกล แม้ว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจจะย่ำแย่ แต่เราก็มองว่า สุดท้ายการที่เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ น่าจะเป็นอะไรที่ดีสำหรับพวกเขา”
ขณะเดียวกัน ผลจาก COVID-19 ในระยะยาว อาจทำให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกหลานของตัวเองยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ ซึ่งการปรับตัวนั้น จะเป็นไปตามวิจารณญาณของแต่ละบ้าน และขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละครอบครัว
“ถามว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรไหม ถ้าเรานิยามการเรียนรู้ที่มันใหญ่กว่าแค่การศึกษา เราจะพบการเรียนรู้ชุดใหม่แบบที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยกับรัฐเลย ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวและกลยุทธ์ของผู้ปกครองต้องหันเหออกจากการพึ่งพารัฐและกลไกตลาด อาจจะเป็นการพึ่งพาชุมชนหรือเปล่า? มันเป็นการปรับตัวที่เกิดขึ้นในสถานการณ์บังคับ แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เรามองว่า หรือนี่คือจุดเริ่มต้นของการศึกษา ที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางหรือการเรียนรู้เชิงประจักษ์ แบบที่เด็กจะได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิต และการกระเสือกกระสนร่วมกับพ่อแม่”
อย่างไรก็ตาม อ.วงอรมองว่า การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลัง COVID-19 นั้น จะไม่ใช่การเรียนรู้ตามความหมายและความคาดหวังของรัฐ และอาจเป็นการเรียนรู้เพื่อล้มล้างรัฐหรือโค่นล้มทุนนิยมก็ได้ เพราะในสภาวะที่ผู้คนถูกบังคับให้ปรับตัวนั้น มีโอกาสสูงมากที่ประชาชนจะมองเห็นถึงความเอนเอียงของระบบการศึกษาในสภาวะปกติ
อ.วงอร สรุปทิ้งท้ายว่า วิกฤต COVID-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โรงเรียน และตลาด ซึ่งอาจสั่นคลอนการทำงานของกลไกทางสถาบันแบบเดิมที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอยู่
ขณะเดียวกัน ระบบการเรียนรู้แบบที่อิงกับโรงเรียนและรัฐก็อยู่ในช่วงที่ถูกทดสอบ โดยระบบที่อาจจะมาแทนที่การเรียนรู้แบบเดิม ก็คือระบบครอบครัวและชุมชนที่ปรับพึ่งตัวเองมากขึ้น ทั้งยังอาจเกิดการลุกขึ้นมาใช้อำนาจอิสระของตนในการการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น รวมถึง อำนาจของรัฐและกลไกตลาดที่เคยเข้าไปกำกับการเรียนรู้ และอนาคตทางเศรษฐกิจของเด็ก ก็น่าจะถูกลดทอนลงไปในระยะยาว
แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะหายไป เพราะท้ายที่สุดแล้วรัฐก็ยังต้องหาทางเยียวยาผลกระทบจากการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาในระยะสั้น และส่งเสริมการศึกษาในระยะยาวให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ใครต้องตกหล่นออกจากการศึกษาไป