นึกถึงผอ.โรงเรียน หลายคนคงนึกภาพของผู้บริหารที่ดูน่าเกรงขาม เดินมา นักเรียนเป็นต้องหลบ ไม่กล้าเข้าไปพูดคุยด้วย
แต่ผอ.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน กลับพยายามเปลี่ยนภาพของผอ. ให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ นั่งกินข้าวพูดคุยได้ โดยไม่ต้องเกร็ง ไปพร้อมๆ กับความพยายามออกนโยบาย ทดลองใหม่ๆ โดยตั้งเป้าหมายใหญ่ว่าอยากให้นักเรียนมีความสุข อย่างเช่น โครงการให้นักเรียนได้ทดลองใส่ชุดไปรเวทมาเรียนสัปดาห์ละครั้ง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงใหญ่ในสังคม
The MATTER จึงชวน ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ มาพูดคุยกันถึงกระแสทดลองใส่ชุดไปรเวท เครื่องแบบและความภูมิใจต่อสถาบัน ไปถึงเสรีภาพของเด็กในโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนในยุคปัจจุบัน และระบบการศึกษาไทยเราควรออกจากกรอบ เพื่อให้เด็กมีความสุขในการเรียนแค่ไหน
ทำไมถึงเกิดโครงการทดลองให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียน
ผอ.ศุภกิจ: จุดเริ่มต้นจริงๆ อาจจะต้องบอกว่าด้วยความที่เรามานั่งเป็นผู้อำนวยการอยู่ตรงนี้ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ เราไม่ใช่โรงเรียนรัฐบาลเราไม่สามารถจะนั่งรอเฉยๆ รอภาครัฐส่งข้อมูลมาให้เราทำ เพราะอย่างนั้นมันไม่สมเหตุสมผลที่ผู้ปกครองจะจ่ายเงินให้ลูกของเขามาเรียนที่นี่ ถ้าโรงเรียนของเราไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าโรงเรียนรัฐบาลจะมาเรียนทำไม เพราะฉะนั้นก็จะเป็นความรับผิดชอบในหน้าที่ของเราในฐานะผู้อำนวยการ
อีกส่วนนึงสมัยตอนที่ผมไปเรียนหนังสือ ผมก็ได้อ่านงานวิจัยหลายชิ้นที่เกี่ยวกับการศึกษา หนึ่งในนั้นคือเรื่องของยูนิฟอร์มและชุดไปรเวท เราก็อ่านถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของทั้งสองแบบ เราจึงรู้สึกสนใจ พอกลับมาโรงเรียน เราจึงลองเสนอผู้บริหารในยุคนั้น แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติทันที
เห็นว่าเป็นโครงการที่คิดมา 10 ปีแล้ว ทำไมผอ.คิดว่าเวลานี้เป็นเวลาที่พร้อมจะให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวท
ผอ.ศุภกิจ: เราพยายามนำเสนอมาเรื่อยๆ จากที่พูดขึ้นมาปุ๊ปก็โดนให้หยุดทันที ก็ค่อยๆ ได้รับการพูดถึง จนสุดท้ายมาถึงปีนี้โรงเรียนเราใช้วิสัยทัศน์ว่า ‘School of happiness’ ผมจึงเปิดประเด็นอีกครั้งและเราก็มาดีเบตกันในหมู่ผู้บริหารจนสุดท้ายเป็นมติที่ทั้งครู และนักเรียนมีออกมาร่วมกัน เราจึงเดินหน้า
ช่วงก่อนหน้านี้ 2-3 ปีผมก็พูดเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งก็เริ่มมีบางคนเห็นด้วยว่าน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่กล้า จนมาถึงปีนี้อย่างที่บอกเพราะวิสัยทัศน์ของเรา ผมว่ามันเป็นความลงตัวในแง่ที่มันถูกพูดถึงหลายครั้งในกลุ่มผู้บริหาร จึงมีความคิดให้ลองถามทีมงาม ซึ่งทีมก็ไปคุยกับเด็กต่อ ซึ่งเด็กเขาก็แฮปปี้อยู่แล้ว
เราต้องการให้เด็กมีความสุข เพราะฉะนั้นเรื่องใส่ชุดมาเป็นเรื่องที่รู้กันโดยนัยอยู่แล้วว่าถ้าเด็กได้ใส่ชุดมาเขาน่าจะมีความสุขนะทีนี้มันตอบไม่ได้เลยว่ามีหรือไม่มีถ้าเราไม่ลองเป็นโอกาส
คิดว่าถ้าใส่ชุดไปรเวทแล้วจะเกิดประโยชน์ หรือไปส่งเสริมนักเรียนอย่างไรบ้าง
ผอ.ศุภกิจ: เราคิดว่าถ้าได้ใส่ชุดไปรเวท เด็กน่าจะมีความสุข อันที่2 ที่จะตามมาถ้าหากว่าผลคือนักเรียนมีความสุข เราจะทำงานวิจัยระยะ 2 ว่ามันไปช่วยสนับสนุนพัฒนาการของเด็กในแง่ของความมั่นใจตัวเอง การกล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออก ความคิดสร้างสรรค์ตรงนี้จริงหรือเปล่า เพราะถ้าเราไม่ลองเราไม่มีทางรู้ว่าแค่เรื่องของการแต่งกายไปช่วยตรงนั้นจริงไหม
ส่วนนึงเรามองตัวเราเองสมัยเด็กว่าเราก็ไม่ใช่คนที่มีความมั่นใจ แต่พอเรามีโอกาสได้นำเสนอตัวตนของเรา แค่ผ่านการแต่งกายแล้ว เมื่อมีคนยอมรับ เรารู้เลยว่าเรารู้สึกมีความมั่นใจ และอยากมีแอคชั่นกับอะไรต่างๆ อยากมีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น เราจึงคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้และน่าจะลอง ซึ่งถ้าผลออกมาดี มันน่าจะช่วยเด็กอีกหลายๆ คนที่เขาไม่มีความมั่นใจ และไม่มีทักษะในแง่ของการเข้าสังคม แค่ในแง่ของการแต่งกายหรือการนำเสนอตัวเอง
ถ้าการทดลองนี้ออกมาได้ผลลัพธ์ที่ดี จะยกเลิกการให้ใส่ชุดนักเรียนเลยหรือเปล่า
ผอ.ศุภกิจ: เราไม่ทำถึงขั้นยกเลิก การเปลี่ยนแปลงมันยาก บางประเทศอาจจะง่าย แต่บริบทของประเทศไทย บางเรื่องอาจจะง่าย แต่บางเรื่องก็ต้องใช้เวลา อันนี้เราเข้าใจ คือชุดยูนิฟอร์มก็ยังมีข้อดีมากมาย เพราะฉะนั้นผมว่าเราไม่ควรจะไปเลิกในตอนที่มันยังมีข้อดีอยู่ แล้วสิ่งที่เราทำ เราชัดเจนว่าเราไม่ได้ไปยกเลิกชุดยูนิฟอร์ม เรายังให้ใส่ยูนิฟอร์มแต่เราเอาชุดไปรเวทเสริมเข้ามา แล้วลองดูว่าถ้ามีทั้งคู่จะเป็นอย่างไร
ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเลย เพราะขนาดการเรียนหนังสือยังกลายเป็นการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่ในอนาคตยูนิฟอร์มไม่ได้ส่งผลกระทบ และมีการเลิกไป เราก็ยังไม่รู้ แต่ปัจจุบันความเหมาะสมลงตัวของสังคมของผู้ใหญ่ และของเด็ก เราเปิดประเด็นอาทิตย์ละครั้งยังยากเลย แต่ในความยากก็เกิดการจูนเข้าหา ด้านเด็กรุ่นใหม่ ส่วนมากก็เห็นด้วยกับชุดไปรเวท แต่ในด้านผู้ใหญ่ก็จะมีบางส่วนที่มองว่าทำทำไม แต่มันก็จะเกิดการจูนเข้าหากัน เพื่อเกิดการลงตัว ผมจึงมองว่าสัปดาห์ละครั้งจะเป็นไปได้
ผอ.คิดว่าความภูมิใจในสถาบันอยู่ที่เครื่องแบบหรือเปล่า
ผอ.ศุภกิจ: คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดต้องไม่ใช่คนในอดีตแล้ว ยุคของผู้ใหญ่มันจบไปแล้ว เราภูมิใจในการใส่ชุดยูนิฟอร์มมันก็เป็นเรื่องของเรา แต่ยุคปัจจุบันเราจะมาบอกว่า‘ยูนิฟอร์มดีอย่างนี้ อย่างนั้น คุณจะต้องภูมิใจนะ’ มันพูดไม่ได้ เพราะมันคือชีวิตของเขา ดังนั้นคนที่จะต้องพิสูจน์ ต้องเป็นพวกเขาแต่ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่ใจกว้างเปิดให้เขาลองดูมันไม่มีทางรู้
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เข็มที่ติดเวลาขึ้นม.ปลาย ถ้าเป็นสมัยก่อนมันจะมีความภาคภูมิใจมากเลยกับเข็มอันนี้ แต่ ณ ปัจจุบัน เด็กก็จะบ่นว่า‘เขาไม่อยากติด มันเป็นภาระสำหรับเขา ผมรักสถาบันอยู่แล้ว รักมากด้วย ไม่มีเข็มผมก็รักสถาบัน’ นี่คือความเปลี่ยนแปลง จนบางทีเรายังคุยกันเลยว่าปักไปเลยดีไหมไม่ต้องติด เพราะคนที่ต้องรักษากติกาก็หงุดหงิด เพราะถ้าคุณไม่ติดเข็ม มันผิดระเบียบ เราก็ต้องรักษาระเบียบ ในขณะที่เด็กเองก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่าเข็มจะสร้างคุณค่า ถามว่าเราพยายามโปรโมทไหม แน่นอนว่าโรงเรียนก็ทำเพื่อให้เด็กเห็นว่าเรามีกฎระเบียบและจะช่วยสร้างคุณค่า แต่วิถีชีวิตที่มันเปลี่ยนไป ถ้าเรายังไปคงไว้ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าไม่ได้ตอบโจทย์เด็ก ไม่ได้ทำให้เด็กไปถึงคำว่าภูมิใจ และมีคุณค่าของสถาบัน และมันก็ไม่ได้ทำให้เขารักสถาบันน้อยลง เราจะไม่ปรับเพื่อเขาหรอ มันก็จำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง
หลังเกิดการทดลองสัปดาห์แรกถึงมีกระแสต่อต้านหรือการขอให้ทบทวนเรื่องการแต่งชุดไปรเวทออกมา ผอ.คิดอย่างไรกับกระแสเหล่านี้
ผอ.ศุภกิจ: ผมโอเคมากเลย ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติของสังคมที่ต้องมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในแง่นึงของสังคมไทยก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นเช่นเดียวกันว่าพฤติกรรมการแสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดีย ยิ่งเป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยกับการสร้างเด็กว่า ต้องสร้างให้เด็กเคารพซึ่งกันและกันในความเห็นต่างได้ คุณทะเลาะกันยังไงก็ตามในโต๊ะ เมื่อคุณออกจากโต๊ะไปคุณต้องกอดคอกัน แล้วออกไปนั่งกินข้าวกันเหมือนปกติได้ ตรงนี้ผมว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญ
ในอดีตเราสอนว่าถ้าเด็กไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่เป็นเด็กไม่ดีเพราะฉะนั้นเด็กต้อง respect ผู้ใหญ่ แต่ ณ ปัจจุบันเราก็ต้องสอนอย่างนั้นและก็ต้องสอนให้ผู้ใหญ่เอง respect เด็กเป็นด้วย
สังคม ณ ปัจจุบันไม่ใช่สังคมเฉพาะของผู้ใหญ่แล้ว แต่เรามีทั้งผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่น และวัยต่างๆ เราจะไปจำกัดสิทธิบางอย่างของเขาไม่ได้ และเราต้องขัดเกลาให้เขาใช้สิทธิ ตัวตนของเขาให้เป็น ให้สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นเรายิ่งต้องฉวยโอกาสในการสอนตรงนี้
ผอ.คิดว่านักเรียนสามารถมีเสรีภาพในการศึกษาได้แค่ไหน
ผอ.ศุภกิจ: ควรมีมากที่สุดเท่าที่จะมีได้ คือหน้าที่ของผู้ใหญ่ถ้าเรามองเขาเป็นลูก บางทีหน้าที่ของเราก็คือต้องหาความรู้ หาอะไรก็ตามมาที่จะสอนเด็กให้เขามีความสุขกับชีวิต และประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวของเขาเพราะฉะนั้นส่วนใหญ่สิ่งนี้ผมว่าตามหลักทุกคนรู้หมดแต่คนที่จะเอาไปทำจริงๆ มันมีไม่เท่าไหร่
ผมว่าผู้ใหญ่คนไทยก็เหมือนยังขีดเส้นให้เด็ก เป็นภาพที่ทฤษฎีและปฏิบัติยังไม่ได้ไปด้วยกัน และบางคนก็ไปตีความผิดอีกว่า ต้องปล่อยเด็กไปเลย คุณต้องเข้าใจว่าเด็กก็คือเด็ก เพราะฉะนั้นบางอย่างเราจำเป็นต้องแนะนำ แต่ถามว่าเราควรจะไปจำกัดเขาไหม เราไม่ควร แต่เราควรที่จะมีเวลาอยู่กับเขา ภาษาอังกฤษเขาจะใช้คำว่า ‘Scaffolding’ คือเหมือนเป็นตัวนั่งร้านคอยพยุงไม่ให้ตึกมันล้ม ต้องเป็นภาพอย่างนั้น
แต่หน้าที่ของคุณไม่ใช่ไปเป็นช่างก่อสร้าง เขามีหน้าที่ก่อสร้างตัวเขาเอง แต่เราจะเป็นเหมือนนั่งร้านที่พยุงให้เขาเป็นตึกที่มีความสมบูรณ์ สวยงามได้
ภาพโรงเรียนในอุดมคติของ ผอ.เป็นแบบไหน
ผอ.ศุภกิจ: เด็กอยากมาเรียนหนังสือ แล้วได้ในสิ่งที่เขาควรจะได้กลับไป ตอนนี้ในส่วนของโรงเรียน เราไม่พูดถึงประเทศอื่น ผมว่าโรงเรียนที่เป็นเหมือนโรงเรียนในฝันของเด็กอาจจะยังมีน้อย หน้าที่ของเราก็คือ เราจะพยายามสร้างโมเดลเหมือนกรุงเทพคริสเตียนฯ ที่เมื่อเด็กพูดถึง หรือผู้ปกครองพูดถึงแล้วอยากเข้ามาเรียน เรามองว่าการสร้างโรงเรียนที่ดีจะเป็นยังไง ดังนั้นเราจึงต้องพยายามทำการบ้าน อ่านงานวิจัยว่าเด็กในปัจจุบันเป็นอย่างไร อะไรคือความเหมาะสมของเขา อนาคตของประเทศชาติต้องการผลิตคนที่มีคุณภาพ แบบไหน เป็นอย่างไร เราก็ต้องดูในระดับนึง แต่สุดท้าย อย่างที่บอก เราก็ต้องสร้างเขาโดยที่เราเป็นตัวนั่งร้าน และให้เขาสร้างตัวตนเขาเองขึ้นมา
เป้าหมายในวันแรกที่อยากเป็นครูของ ผอ.คืออะไร แล้วเป้าหมายในวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมรึเปล่า
ผอ.ศุภกิจ: ผมมองในคำว่ากรุงเทพคริสเตียนฯ เราต้องการให้ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ปกครองคิดถึงโรงเรียนที่ทำให้เด็กมีความสุข เขาจะนึกถึงโรงเรียนเราถ้าเขาอยากจะให้ลูกของเขาประสบความสำเร็จในชีวิต มีบุคลิกภาพความเป็นผู้นำ เขาจะนึกถึงเรา เพราะฉะนั้นอันนี้เหมือนเป็นภาพรูปธรรมในความตั้งใจตอนแรก
แต่ผมมีความรู้สึกแย่ตรงที่ เวลาเราฟังข่าวแล้วได้ยินว่า การศึกษาไทยมันแย่มาก ไปเทียบกับใคร แม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังแย่ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ ที่อีกหน่อยเขานึกถึงประเทศไทย จะนึกถึงโรงเรียนนี้ ว่าเป็นโรงเรียนที่ดี เราตั้งใจอยากทำอย่างนั้น
ผมอาจจะยังไม่ได้มองภาพใหญ่ถึงเพื่อประเทศชาติ เพราะหน้าที่ของผมคือตรงนี้ ดังนั้นผมต้องทำหน้าที่ผู้บริหารของโรงเรียนนี้ให้มันดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
นอกจากเรื่องชุดไปรเวทแล้ว ผอ.ยังมีแผนอยากทำอะไรอีกไหม
ผอ.ศุภกิจ: เรายังมีแผนจะทำอะไรอื่นๆ อีกเยอะ นอกจากเรื่องชุดไปรเวท แต่เราไม่คิดว่าสิ่งที่เราทดลองทำในโรงเรียนเรา จะกลายเป็นข่าว กระทบเหมือนสร้างประเด็นให้ทะเลาะกัน ยิ่งทำให้เราต้องคิดให้เยอะ ให้รอบคอบกว่านี้ แต่เรายังมีอีกหลายอย่างที่อยากทำ เพราะเราเห็นศักยภาพในเด็กเรา แต่การที่เราจะทำอะไรที่เป็นการเปลี่ยนแปลง แม้จะทำเป็นการทดลอง ต้องดูบริบทของแต่ละที่เป็นสำคัญ รู้ว่าเด็กของเรามีศักยภาพแค่ไหน เราต้องปรับให้เหมาะกับเด็กเรา เราจะทำแบบเดิมไม่ได้หรอก อะไรก็ตามที่เราเรียนรู้มา และรู้ว่ามันเหมาะกับเด็กยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินการสอน รูปแบบการสอนก็ดี ยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไปก็ดี มันแตกต่างจากเมื่อก่อนทุกอย่าง ฉะนั้นเราจะใช้รูปแบบเดิมๆ หมดไม่ได้
ผอ.มองว่า วันนี้การศึกษาไทยมีช่วยให้นักเรียนได้เดินตามความฝันของตัวเองแค่ไหน
ผอ.ศุภกิจ: ผมเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่ และนักการศึกษาไทยกำลังทำ แต่ว่ามันก็คงยากที่จะขับเคลื่อนทั้งประเทศ เพราะบ้านเรามีความแตกต่างมาก ดังนั้นโจทย์ที่จะขยับทั้งหมดก็คงยาก เพราะฉะนั้นบางอย่างผมก็เห็นด้วย แต่บางอย่างผมก็อึดอัด อย่างเช่นตอนนี้ สิ่งที่เราเห็นคือการไปโฟกัสเรื่องกระบวนการ project base learning หรืออะไรก็ตาม ผมมีความรู้สึกว่า ผลลัพธ์ คุณต้องการอะไร ควรต้องเอาโจทย์ตรงนั้นเป็นตัวตั้ง
ประเทศเราใช้งบประมาณส่งครูไปดูงานในประเทศหลักๆ ด้านการศึกษา แล้วทุกคนก็หยิบตัวอย่างมา แล้วอ้างว่าเอามาปรับให้เหมาะสมกับบ้านเรา เอาเข้าจริงผมว่า ไม่ใช่ เพราะว่าเราไม่ได้เอาโจทย์ของประเทศไทยเป็นตัวตั้ง อย่างฟินแลนด์ หรือญี่ปุ่น ที่คุณว่ากระบวนการการเรียนของเขาดี จนเป็นเหมือนสินค้าส่งออก แต่บ้านเขาเองก็ยังมีปัญหาต่างๆ เหมือนกัน เราแค่จะไปดูวิธีที่เขาสร้างเด็กอย่างเดียว โดยไม่ดูจุดแข็ง จุดอ่อนของประเทศเรา เราวิเคราะห์ตรงนี้กันมากน้อยแค่ไหน
ตอนผมไปฟินแลนด์ ผมถามเขาว่า คุณอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แล้วทำไมยังพัฒนาเรื่องนี้อีก เขาก็บอกว่า เขาเจอปัญหาในบ้านเขา โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เขาจึงทำงานวิจัย แล้วเอาผลงานวิจัยไปสร้างวิธีการ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ผมไม่รู้นะว่าบ้านเราทำงานวิจัยหรือยัง หรือว่าตกลงเราต้องการผลลัพธ์ออกมายังไง สำหรับผมตอนนี้ outcome base learning หรือ base education น่าสนใจมากกว่า
ในระบบการศึกษามีเด็กหลายคนที่จบมา ไม่รู้ตัวเองควรเรียนอะไร ชอบอะไร คิดว่าโรงเรียนจะมีส่วนให้เด็กคนพบตัวเองได้มากแค่ไหน
ผอ.ศุภกิจ: ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียน มันเป็นที่ฝึก ผมว่ามันช่วยได้แน่นอน ในระดับนึง สุดท้ายในยุคปัจจุบัน หน้าที่ของครูมันต่างไป เราจะไปคิดแบบเดิมไม่ได้ ถ้าครูยังไม่เข้าใจรูปแบบการให้ความรู้แก่เด็กแบบใหม่คืออะไร ไม่มีทางเลยที่เด็กเราจะไปยืนอยู่บนมาตรฐานโลก หรือคิดแบบมาตรฐานโลกได้
จริงๆ เราตีโจทย์ง่ายๆ สมมุติเรามีห้องเรียน 1 ห้อง นักเรียนเป็นนานาชาติเลย คนสอนเป็นฝรั่ง ผมถามว่าถ้าครูฝรั่งถาม คุณคิดไหมว่าเด็กไทยจะเป็นคนแรกๆ ไหมที่ยกมือตอบ ทุกคนรู้เลยว่าไม่มีทาง แล้ววิธีแก้ตรงนี้คืออะไร ผมว่ามันก็แก้ได้นะ แต่การศึกษาไทยเรามัวแต่ไปโฟกัสกับกระบวนการมากกว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในยุคสมัยนี้ควรไปอย่างไร
ผอ.ศุภกิจ: เพื่อน มันต้องเพื่อนอยู่แล้ว คำว่าเพื่อน ณ ยุคปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องอายุเท่ากัน ต่างวัยกันก็เป็นเพื่อนได้ และเรื่องนี้ตอนผมมาเป็นครูใหม่ๆ ผมก็เคยโดนครูที่อาวุโสกว่ากระแนะกระแหนกับเด็กมาแล้วว่า ‘ชั้นเป็นครูนะไม่ใช่เพื่อนพวกเธอ’ เราเข้าใจนะ เราก็ว่าอาจารย์เขาไม่ได้ผิด แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ผมว่าไม่ใช่แล้ว ถ้าเราไม่ได้ใจเด็กนะ ไม่มีทาง1+1 เด็กไม่มีทางตอบว่าเท่ากับ 2 หรอก เค้าก็จะ 1+1 เท่ากับ 3 4 5 ตลอดแหละ
เด็กหลายคนติดภาพว่าผอ. ตามโรงเรียนต้องเป็นคนที่ดุจนทำให้นักเรียนไม่กล้าเข้าหา ผอ.ศุภกิจมองเรื่องนี้ยังไง และคิดว่านักเรียนกับผอ.สามารถมีความสัมพันธ์แบบใดได้
ผอ.ศุภกิจ: จริงๆ วันนั้นมีนักข่าวช่องนึงเขาบอกว่า เขาไปที่สถาบันอื่น เวลามีผู้บริหาร หรือผอ. เดินมา ก็คือแตกฮือ นักเรียนวงแตกออก แต่ของที่นี่ไม่ใช่ ถ้าได้เห็นก็จะเห็นว่า เด็กสามารถเข้าถึงเราได้ แต่มันไม่ใช่ง่ายนะ อย่างที่บอกเราต้องตั้งเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรถึงจะได้ใจเด็ก ผมก็ตั้งโจทย์ของผมว่า ทำยังไงถ้าเรานั่งกินข้าวแล้วนักเรียนคนอื่นจะไม่ลุกหนีจากเราไป ทำยังไงถ้าเราเดินไป แล้วเด็กจะไม่เลิกลั่ก หนีไป ไม่อยากคุยกับเรา มันเป็นโจทย์ที่ผอ. หรือผู้บริหารต้องทำ
อีกอย่างนึงที่ผมรู้สึก คือเวลาไหว้ครู เราอิจฉาคนเป็นครูมากเลย กับเด็กปัจจุบันเราอาจจะไม่รู้สึก เพราะว่าเห็นภาพเด็กทุกคนขึ้นมาไหว้ครูหมด ไม่ว่าจะเป็นครูหรือผู้บริหาร แต่กับศิษย์เก่า เขาจะไม่รู้สึกผูกพันว่าผู้บริหารเป็นครูเขา เพราะฉะนั้นเขาก็จะเดินไปหาครูที่สอนเขา ครูก็จะยิ้มแย้มดีใจที่เด็กมา แต่ผู้บริหารก็อิจฉามากเลยนะ เพราะเขาเห็นความเป็นครู ในคนที่สอนเขาไง แต่เราไม่ได้สอนเขา ดังนั้นเวลามีศิษย์เก่ามาหาผม ผมจะดีใจมากว่า เขาเข้าใจว่าคนทุกคนที่ทำงานในโรงเรียนทุกคนเป็นครู แต่หน้าที่ต่างกัน อย่างเช่นครูห้องสมุด เขาก็เป็นครู ผมว่าอันนี้มันเป็นโจทย์ที่ทำให้เด็กรู้สึกเข้าถึงได้
จากการอาจารย์ฝ่ายศาสนกิจมาก่อนด้วย ในมุมของศาสนาคริสต์ ได้นำอะไรมาปรับใช้กับการบริหาร หรือนำมาประยุกต์ใช้กับระบบภายในโรงเรียนบ้าง
ผอ.ศุภกิจ: ผมนำมาใช้เยอะมาก อันนึงที่เราได้ยินเสมอ เราจะมีความรู้สึกว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สิ่งนึงที่เกิดขึ้นกับคน คือการเจริญด้านวัตถุ แต่ความเจริญด้านศีลธรรมตกต่ำลง อันนี้ก็เป็นโจทย์สำหรับโรงเรียนอีกเช่นกัน ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีความสุขในสังคมของวัตถุได้โดยที่ความงดงามในจิตใจยังอยู่ อย่างที่เราใช้วิสัยทัศน์ school of happiness ในคำสอนของศาสนาเราก็มีเรื่องความสุข ดังนั้นทุกอย่างไม่ว่ากระแสสังคมโลกจะเปลี่ยนไปยังไง แต่สุดท้ายสิ่งที่เราต้องการก็คือความสุข แล้วเราก็ต้องสอนเด็กว่า เราสามารถมีความสุขได้ โดยไม่ต้องรอให้ชีวิตประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว ถึงจะมีความสุขได้
แล้วจากการที่อยู่กับนักเรียน คลุกคลีกับโรงเรียนมานาน ผอ.ได้เรียนรู้อะไรจากเด็กๆ บ้าง
ผอ.ศุภกิจ: หลายอย่างเลย อย่างนึงที่ผมเห็นชัดเจนก็คือ เด็กเขาเก่ง แล้วเขาก็มีมุมมองของเขา มีความสามารถของเขาที่เราไม่ควรละเลย และเราเห็นเลยว่า ถ้าเราอยากให้เด็ก respect เรา เราก็ต้อง respect เขา แล้วเขาจะ respect เรา โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ