ขณะที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในไทยที่ยังคงรุนแรง หลายโรงพยาบาลเริ่มกลับมาเตียงเต็มอีกครั้ง รวมถึงเริ่มมีข่าวผู้ติดเชื้อไม่สามารถติดต่อ หาเตียงในโรงพยาบาลได้
แพทย์หลายคนออกมาเห็นพ้องต้องกันว่า หนึ่งในวิธีที่จะหยุดการระบาดได้ คือการเร่งฉีดวัคซีน และวัคซีนนั้นต้องเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กำลังแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น
The MATTER จึงขอพาไปดูว่า แล้วตอนนี้แผนวัคซีนของไทย เป็นอย่างไรบ้าง มียี่ห้ออะไร ในสัดส่วนเท่าไหร่ และสถานะของวัคซีนเหล่านั้นในไทย เป็นอย่างไรบ้าง
แผนจัดซื้อวัคซีน 150 ล้านโดส (ประกาศ ศบค.เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564)
AstraZeneca 61 ล้านโดส = 40.67%
จากจำนวนจะเห็นได้ว่าวัคซีน AstraZeneca คือวัคซีนหลักของไทย โดยตามแผนจะเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโรงงาน Siam Bioscience ในไทย และจะมีการจัดส่งทุกเดือนถึงปลายปี 64 เดือนละ 5-10 ล้านโดส แบ่งเป็น เดือน มิ.ย. – 6 ล้านโดส, ก.ค.- พ.ย. จำนวนเดือนละ 10 ล้านโดส และเดือนสุดท้ายธันวาคม ที่ 5 ล้านโดส
แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อดูจำนวนเดือนมิถุนายน ก็พบว่า จาก 6 ล้านโดสที่ต้องได้นั้น ตามแผนการจัดสรรควัคซีนจะมีการส่งมอบ AstraZeneca เพียง 3.5 ล้านโดสเท่านั้น ทั้งก่อนหน้านี้ เมื่อถูกถามถึงแผนการส่งมอบ AstraZeneca บางครั้งรัฐบาลก็ระบุว่ามีแผนส่งมอบ 61 ล้านโดส แต่บางครั้ง อย่างเช่นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็แถลงว่า ตัวเลข 61 ล้านโดส ไม่ใช่ตัวเลขที่บริษัทฯ จัดส่งให้กับเรา แต่เป็นเพียงเป็นศักยภาพฉีดที่รัฐบาลวางไว้เอง
ซึ่งสำหรับวัคซีน AstraZeneca ไม่เคยมีการเปิดเผยสัญญาที่ชัดเจนออกมา จึงต้องติดตามว่า ตามแผน 150 ล้านโดสนั้น วัคซีนตัวนี้จะถูกส่งมอบ 61 ล้านโดสอย่างที่ว่าจริงไหม และจะจัดส่งล่าช้าหรือไม่
Sinovac 47.5 ล้านโดส = 31.67%
จนถึงปัจจุบัน Sinovac ได้ส่งมาถึงประเทศไทยแล้วจำนวน 11 ล็อต ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งหมด 9.5 ล้านโดส (ในจำนวนนี้รวมถึงที่จีนบริจาค 1 ล้านโดส) และจะจัดส่งปีนี้อีก 9 ล้านโดส รวมปี 2564 ทั้งหมด 19.5 ล้านโดส ขณะที่ตามแผนจัดหาวัคซีนนั้นระบุว่า จะสั่งซื้อ Sinovac อีก 28 ล้านโดส แม้ว่าในแผนเองจะระบุว่าขึ้นกับประสิทธิภาพของวัคซีน และสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์ก็ตาม จึงเกิดคำถาม และกระแสที่เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดสั่งวัคซีนตัวนี้
Pfizer 20 ล้านโดส = 13.3 %
ความคืบหน้าล่าสุดของวัคซีน Pfizer คือ เมื่อวานนี้ (24 มิถุนายน 2564) ทาง อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนตัวที่ 6 ของไทย ที่คาดว่าจะมีกำหนดส่งมอบไตรมาสที่ 4 หรือช่วงปลายปีนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า วัคซีน Pfizer จะเน้นฉีดกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 10 ล้านคน
Johnson & Johnson 5 ล้านโดส = 3.33%
วัคซีนที่ฉีดโดสเดียวอย่าง Johnson & Johnson อยู่ในขั้นตอนลงนามสัญญาจัดซื้อแล้ว และอยู่ระหว่างลงรายละเอียดจำนวน และเวลาส่งมอบ โดยล่าสุดยังไม่ทราบความคืบหน้าวัน และเวลาจัดส่งใดๆ
ยังไม่ระบุ 22 ล้านโดส = 14.67%
สำหรับอีก 22 ล้านโดสนั้น เป็นจำนวนที่รัฐบาลจะสั่งซื้อเพื่อเติมจำนวนวัคซีนจากแผนเดิม 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส โดยนอกจาก Sinovac ที่ระบุยี่ห้อแล้ว อีก 22 ล้านโดสนั้น รัฐบาลระบุว่าจะเป็นยี่ห้ออื่นๆ
วัคซีนทางเลือก
นอกจากจำนวน 150 ล้านโดสตามแผนของรัฐบาลแล้ว ยังมีวัคซีนทางเลือกอีก 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีน Sinopharm จากประเทศจีน ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้สั่งเข้ามา โดยมีการจัดส่งล็อตแรกมายังประเทศไทยแล้ว 1 ล้านโดส ซึ่งจะให้องค์กรต่างๆ ลงทะเบียนซื้อเข้ามา โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราคาเข็มละ 888 บาท (สองเข็ม 1,776 บาท)
และอีกยี่ห้อคือ Moderna ซึ่งล่าสุดเป็นกระแส เพราะหลายโรงพยาบาลมีการสั่งจอง และชำระเงินไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา ซึ่งล่าสุดองค์การเภสัชกรรมก็ได้ชี้แจงว่า ยังไม่ได้ทำการสั่งซื้อใดๆ โดยทางองค์การฯ ไม่ได้เป็นผู้นำเข้า แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนร่างสัญญา คาดจะลงนามซื้อขายเดือนสิงหาคม และจัดส่งในปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า ซึ่งที่ล่าช้า เพราะมีการประมาณการณ์จำนวนกับโรงพยาบาลเอกชน แต่พบว่าจำนวนยอดจองนั้นมีมากกว่า จึงต้องทบทวนเพื่อปรับจำนวนการสั่งซื้ออีกครั้ง
โดยสำหรับวัคซีนทางเลือกอย่าง Moderna นั้น มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราคาเข็มละ 1,900 บาท (สองเข็ม 3,800 บาท)
แผนวัคซีนที่ดูจะคลาดเคลื่อน ทั้งวัคซีนของรัฐบาล และวัคซีนทางเลือกนั้น จะตรงตามที่แผน และระยะเวลาที่กำหนดไหม เราคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะหากแผนวัคซีนคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ย่อมกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของไทย ที่นายกฯ ตั้งเป้าไว้ว่าต้องฉีดประชาชน 50 ล้านคนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ด้วย
ซึ่งตอนนี้ ก็เป็นวันที่ 117 ของการฉีดวัคซีนแล้ว เรายังฉีดไปได้ 8,400,320 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น – เข็มที่ 1 จำนวน 6,206,353 โดส หรือคิดเป็น 9.37 เปอร์เซ็นต์ และเข็มที่ 2 จำนวน 2,451,070 โดส หรือคิดเป็น 3.70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหลืออีกเพียง 188 วันในการฉีดวัคซีนก่อนจะถึงสิ้นปีนี้
อ้างอิงจาก