“พรุ่งนี้ 9 โมงเช้า ผมขออนุญาตกลับไปอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยและร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทยด้วยคนน้ะครับ” ทักษิณ ชินวัตร ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ก่อนจะแลนด์ดิ้งลงจอดที่สนามบินดอนเมืองในวันนี้
นับตั้งแต่ถูกรัฐประหารในปี 2549 และแว็บมา ‘กราบแผ่นดิน’ เพียงชั่วคราว ในวันนี้สองเท้าจะแตะผืนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง ปอดสองขั้วจะได้สูดโอโซนผสม PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ก่อนจะถูกพาตัวไปรับทราบหมายจับที่ศาลฎีกาและเข้าเรือนจำในที่สุด
The MATTER เปิดเผยไทม์ไลน์การเดินทางกลับไทยของอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของไทย โดยยึดตามเอกสารที่เผยแพร่จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งได้มอบหมายให้กองบังคับการตำรวจจราจรพิจารณาเส้นทาง ทั้งทางหลักและทางรอง รวมถึงคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้น
ใครคือ ทักษิณ ชินวัตร
รู้จักอดีตนายกฯ คนนี้กันเสียหน่อย เขาคือชายที่ถูกสังคมไทยมองอย่างสุดขั้วมากที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ บางคนสรรเสิญเขาราวกับพระเจ้าและติดภาพของเขาไว้ตามมุมบ้าน ขณะที่บางคนเปรียบว่าเขาคือปีศาจ ผู้นำลัทธิล้มเจ้า และอะไรอีกมากที่โสมมกว่านั้น
ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เขาจบการศีกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 ก่อนได้ทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรมไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐฯ จนจบปริญญาเอก
หลังรับราชการตำรวจอยู่ไม่นาน ทักษิณก็หันสู่โลกธุรกิจเต็มตัวหลากหลายทั้งภาพยนต์, อสังหาริมทรัพย์ แต่ล้วนแล้วเจ๊งทั้งหมด โดยเขาเคยเล่าไว้ในรายการเจาะใจ ว่าตัวเองเคยมีหนี้สินมากถึง 200 ล้านบาท จากความล้มเหลวในการทำธุรกิจและการกู้ยืมเงินจากธนาคารในช่วงเวลาที่ค่าเงินที่ผันผวน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จและร่ำรวยจากธุรกิจโทรคมนาคม
แรกเริ่มที่ทักษิณตัดสินใจลงมาเล่นการเมือง เขาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังพลังธรรม โดยการชักชวนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ต่อมาภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ทักษิณได้นำพรรคไทยรักไทยลงสนามและเอาชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 ก่อนกวาดความนิยมชนิดพลิกฟ้าคว่ำดินจากนโยบายสำคัญ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์, ก่อตั้งธนาคาร SME ตลอดจนนโยบายสงครามกับยาเสพติด
กลางปี 2547 รัฐบาลทักษิณต้องเผชิญกับมวลชนที่ต่อมาจะพัฒนาเป็น ‘ม็อบพันธมิตรฯ’ ภายใต้การนำของ สนธิ ลิ้มทองกุล สื่อมวลชนและเจ้าของสำนักข่าวผู้จัดการที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการทุจริตคอรัปชั่นของเขาจนนำไปสู่การเรียกร้องให้ทักษิณลาออก ทักษิณยินยอมต่อเสียงเรียกร้อง และประกาศยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549
การเลือกตั้งครั้งนั้น 3 พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคมหาชนได้ประกาศไม่ลงเลือกตั้ง แต่ไม่อาจหยุดคลื่นความนิยมที่มีต่อพรรคไทยรักไทยได้ ทักษิณพาพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง กวาด สส.เกินครึ่งหนึ่งของสภาล่าง แต่ในครานี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อเรียกร้องให้ทักษิณลาออกยังเข้มข้นต่อเนื่อง โดยบางช่วงมีการเสนอให้มีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2540 ม.7 เพื่อมอบนายกฯ พระราชทาน
ในที่สุดวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเวลานั้นก็ประกาศยึดอำนาจจากทักษิณ ขณะที่เจ้าตัวเดินทางไปประชุมที่สหรัฐฯ และแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ คนใหม่ พร้อมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนต่อมากลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2550
นับจากวันนั้น ทักษิณกลับประเทศไทยมาเพียงครั้งเดียวคือในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 และปรากฎเป็นภาพ ‘กราบแผ่นดิน’ อันลือลั่น โดยในตอนนั้นเขาตกเป็นจำเลยคดีทุจริตที่ดินย่านรัชดาฯ ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา อย่างไรก็ดี สุดท้ายเขาไม่ยอมมารายงานตามที่ศาลนัดและหนีไปใช้ชีวิตต่างประเทศจนถึงเมื่อวานรวมเป็นเวลาทั้งหมด 15 ปี กับอีก 10 วัน
วันนี้ทักษิณต้องไปไหนบ้าง
สำหรับตารางชีวิตของอดีตนายกฯ คนที่ 23 วันนี้ ค่อนข้างรัดตัว โดยขอเริ่มตั้งแต่
- 19 สิงหาคม 2566
สำนักข่าวบีบีซีได้ติดต่อหา ทักษิณเพื่อยืนยันว่าเขาจะกลับมาประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคมจริงหรือไม่ ก่อนได้รับคำตอบว่า “กลับแน่นอน” หลังจากนั้นไม่นาน สำนักข่าวบีบีซีก็รายงานว่าทักษิณบินจากนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นที่พักพิงหลักมาเป็นเวลานานไปยังประเทศสิงคโปร์
- 22 สิงหาคม 2566
ยึดตามข้อมูลจาก แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้ายและแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เธอระบุว่าเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวที่มีทักษิณนั่งมาด้วย จะแตะรันเวย์สนามบินดอนเมืองในเวลา 9.00 น. ของวันนี้ (22 สิงหาคม) โดยเมื่อมาถึงแล้วเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะแสดงหมายจับเพื่อพาตัวเขาไปยังศาลฎีกา สนามหลวง
เมื่อถึงศาลฎีกา สนามหลวง ศาลจะให้ทักษิณรับทราบหมายจับ และอ่านคำพิากษาแต่ละคดีให้เขาฟังโดยย่อ ก่อนออกหมายขังเพื่อส่งตัวต่อให้กรมราชทัณฑ์ โดยข้อมูลจากเอกสารของกองบัญชาการตำรวจนครบาลระบุว่า ทักษิณจะถูกพาตัวไปที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ทางนครบาลได้เตรียมแผนสำรองไว้ในกรณีที่มาถึงไทยหลังเวลาทำการศาล โดยจะมีการนำตัวไปฝากที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน สโมสรตำรวจแทน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมทางเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม จะไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง เพราะอาจมีคนจำนวนมากมารอพบญาติ ซึ่งตรงกับไทม์ไลน์กลับบ้านของทักษิณพอดี
ภายหลังที่เขาถูกพาตัวมาที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ เขาจะต้องเข้าสู่ระบบคัดกรองโรคตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เมื่อผ่านแล้วจะถูกกักตัวเป็นเวลา 10 วันเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ด้วยอายุอานามที่มาก ทักษิณสามารถทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตั้งแต่วันแรก เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ
ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ทักษิณไม่ต้องนอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว และได้รับการพระราชทานอภัยโทษระหว่างกักโรค และอาจถูกควบคุมด้วยวิธีอื่น เช่น กำไล EM
ทักษิณเหลือคดีอะไรบ้าง
ทุกฝ่ายยืนยันตรงกัน (แม้กระทั่งตัวทักษิณเอง) ว่าเมื่อกลับมาประเทศไทยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยศาลมีคำสั่งพิพากษาจำคุกทักษิณรวม 10 ปีจากทั้งหมด 3 คดี
- คดีหวยบนดิน – ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 2 ปี
ที่มาที่ไปของคดีนี้เริ่มต้นในปี 2546 ครม.เวลานั้นได้มีมติให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่ายสลากแบบใหม่ เป็นเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว เพิ่มเติมจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งแบบเดิม โดยแบ่งเป็นสลากชนิดราคา 20 บาท พิมพ์ด้วย สีเขียว, สลากชนิดราคา 50 บาท พิมพ์ด้วยสีฟ้า และสลากชนิดราคา 100 บาท พิมพ์ด้วยสีแดง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินคดีนี้ในปี 2562 โดยลงโทษจำคุกทักษิณเป็นเวลา 2 ปี โดยให้เหตุผลว่าทักษิณเร่งรัดดำเนินการหวยรูปแบบดังกล่าวอย่างผิดขั้นตอน ไม่รอเครื่องพิมพ์ ทั้งยังไม่สนใจเสียงทักท้วงว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
- คดีเอ็กซิมแบงก์ – ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 3 ปี
กรณีนี้เกิดขึ้นในปี 2546 เช่นกัน โดยในปีนั้นรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ประเทศเพื่อนบ้านกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) โดยเมียนมาได้ขอกู้เงินจากธนาคารดังกล่าว เพื่อซื้อบริการดาวเทียมจากไทยภายใต้บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทักษิณและครอบครัวถือหุ้น
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาโทษจำคุก 3 ปีแก่ทักษิณ โดยศาลวินิจฉัยว่าทักษิณอนุญาตให้เมียนมากู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินไปซื้อบริการดาวเทียมจากบริษัทที่ทักษิณและครอบครัวมีหุ้นอยู่ ดังนั้น จึงเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
- คดีหุ้นชินคอร์ป – ศาลฎีกาสั่งจำคุก 5 ปี
คดีนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 2549 (ก่อนการรัฐประหาร) โดยตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ได้ประกาศขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ รวมเป็นเงิน 73,271 ล้านบาท โดยไม่เสียภาษี
โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินโทษจำคุกทักษิณจากคดีนี้ 5 ปี
- คดีทุจริตที่ดินรัชดา – ศาลฎีกาสั่งจำคุก 2 ปี (หมดอายุความ)
คดีนี้เกิดขึ้นหลังคุณหญิงพจมานได้ประมูลซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ จำนวน 33 ไร่ 78 ตรว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในเวลานั้น ทักษิณที่ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ได้ลงนามรับรองการซื้อครั้งนี้ในฐานะสามี จนนำไปสู่การฟ้องร้องจากอัยการสูงสุด
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินให้จำคุกทักษิณเป็นเวลา 2 ปี และออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 อย่างไรก็ดี คดีดังกล่าวหมดอายุความไปแล้ว
ยังมีอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจของทักษิณ โดยคดีนี้กองทัพบกเป็นโจทย์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาททักษิณจากกรณีให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการรัฐประหารของ คสช. เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2558 อย่างไรก็ดี ศาลได้ออกหมายจับทักษิณเนื่องจากไม่มารายงานกับศาล และจำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราว ทั้งนี้ อาจมีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่เมื่อทักษิณกลับถึงไทย
ทักษิณกลับไทยและได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และ เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จโดยการร่วมมือกับพรรคสองลุง ส่ง เศรษฐา ทวีสินเป็นนายกฯ — ดูเหมือนการเมืองไทยกำลังค่อยๆ คลี่คลายตัวออกมาพร้อมกับคำอธิบายว่า ‘ดีลลับ’ คืออะไร และ ‘ประชาชน’ อยู่ตรงไหนในสมการ
อ้างอิงจาก