แม้การลาออกจากงานจะเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้คนในยุคนี้ แต่เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เข้ามา จะเห็นได้ว่าอัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ของพนักงานทั่วโลก หรือที่เรียกว่า The Great Resignation
โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักสถิติแรงงานในสหรัฐอเมริกาพบกระแสของการลาออกครั้งใหญ่ โดยมีพนักงานเซ็นใบลาออกกันมากถึง 4 ล้านคน สอดคล้องกับรายงานช่วงเดือนมิถุนายนที่พบว่า บริษัทต่างๆ มีการเปิดรับพนักงานถึง 10 ล้านตำแหน่ง และจากการศึกษาของบริษัท Microsoft กับพนักงาน 30,000 คนทั่วโลกก็เผยอีกว่า กว่า 41 เปอร์เซนต์มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานที่ทำอยู่ภายในปี ค.ศ.2021 นี้ด้วย
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยังไง? ต้องยอมรับว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปเยอะมาก โดยเฉพาะมิติของการทำงานที่ต้องเปลี่ยนมาทำงานระบบทางไกลหรือ remote working ซึ่งไม่ใช่พนักงานทุกคนจะปรับตัวได้ดีกับการทำงานรูปแบบนี้ ทั้งยังประสบกับปัญหาอื่นๆ ตามมา จนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการตัดสินใจลาออก ได้แก่
รู้สึกเหนื่อยล้า เผชิญกับภาวะหมดไฟ ภาวะหมดไฟนับว่าเป็นปัจจัยหลักในการลาออกของพนักงานเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะในช่วงสถานการณ์ปกติหรือมีโรคระบาดเข้ามาก็ตาม แต่โรคระบาดทำให้ผู้คนเหนื่อยล้าและหมดไฟได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการต้องปรับตัวหลายๆ อย่างให้เข้ากับ new normal การเผชิญกับความโดดเดี่ยวช่วงกักตัว การขาดการติดต่อแบบ face-to-face และต้องใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมากขึ้น ทำให้ต้องใช้พลังงานหรือการเพ่งโฟกัสที่มากขึ้นตามไปด้วย หรือแม้แต่การพยายามสร้างสรรค์งานออกมาให้ได้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย จึงไม่แปลกหากพวกเขาจะเหนื่อยล้าได้ง่าย และมองหางานใหม่ที่เหนื่อยล้าน้อยกว่านี้
ไม่มี work-life balance การทำงานอยู่บ้านอาจเป็นสวรรค์ของใครหลายคนในช่วงแรก แต่ระยะหนึ่งพวกเขาอาจพบว่า ชีวิตส่วนตัวและงานค่อยๆ หลอมรวมกัน จนทุกช่วงเวลากลายเป็นไปหมด ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ชอบ ผลกระทบที่ตามมาคือสุขภาพจิตที่แย่ลงและปัญหาความสัมพันธ์กับรอบข้าง ทำให้พวกเขามองหาความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ซึ่งการอยู่ในองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับ work-life balance ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนไปทำงานที่อื่น ที่ที่มีเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนที่ชัดเจนกว่านี้ หรือที่ที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมากกว่านี้
ค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ การปรับรูปแบบการทำงานมาเป็น work from home แม้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปได้มาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะพวกเขาจะต้องเสียเงินไปกับค่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม และค่าไฟฟ้า ซึ่งหากองค์กรไม่มีนโยบายหรือสวัสดิการช่วยเหลือ การแบกรับค่าใช้จ่ายนั้นจะทำให้พนักงานรู้สึกลำบากมากขึ้น ยิ่งถ้าต้องทำงานที่ยากขึ้นหรือมากขึ้น แต่ได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ไม่มีการสนับสนุนเรื่องความสะดวกสบายหรือความรวดเร็วในการทำงาน แม้จะเข้าใจดีแค่ไหนว่าองค์กรก็กำลังประสบวิกฤตทางการเงิน แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าควรมองหาองค์กรใหม่ที่พร้อมจะสนับสนุนมากกว่า
วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ ไม่ว่าจะช่วงก่อนหรือหลังเกิดโรคระบาด วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษย่อมสร้างความขัดแย้งในจิตใจของพนักงาน แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นเรื่องที่อดทนได้ แต่พอโรคระบาดเข้ามา ความเหนื่อยล้าจากการต้องทำงานระบบทางไกล ผสมกับความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การตั้งเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึง work-life balance ของพนักงาน รูปแบบการทำงานที่ไม่คำนึงถึงเงื่อนไขของปัจเจกบุคคล หัวหน้าไม่รับฟังลูกน้อง หรือปัญหาอื่นๆ ที่สังเกตได้ชัดเจนขึ้นเมื่อทำงานแบบ work from home จึงทำให้พนักงานตัดสินใจที่จะลาออกได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
งานไม่มั่นคงหรือไม่มีโอกาสเติบโต ความก้าวหน้าในอาชีพหรือ Career Path คือปัจจัยที่หลายคนให้ความสำคัญ เมื่อก้าวเข้าสู่การทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง พวกเขาจะเติบโตและก้าวหน้าได้มากแค่ไหนในสายงานนี้ ภาพนั้นควรเป็นภาพที่มองเห็นได้ชัดเจนประมาณหนึ่ง แต่โรคระบาดทำให้หลายองค์กรได้รับผลกระทบหนักและไปต่อได้ยาก จนภาพนั้นค่อยๆ เลือนลางหายไป พนักงานหลายคนมองว่าโอกาสในการเติบโตของพวกเขาลดน้อยลงไปด้วย จึงทำให้ตัดสินใจลาออกไปทำงานอื่นแทน
รู้ความต้องการของตัวเองมากขึ้น แม้โรคระบาดและการกักตัวจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน แต่ก็ทำให้เกิดช่องว่างเล็กๆ ให้หลายคนกลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของชีวิตหรือคุณค่าของการทำงาน พวกเขาเริ่มตั้งคำถามว่างานที่ทำอยู่ใช่ความสุขจริงหรือไม่? การเปลี่ยนไปทำงานอื่นจะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่านี้หรือเปล่า? อะไรที่พวกเขาต้องการในชีวิตจริงๆ? ซึ่งการลาออกไปไล่ตามความต้องการของตัวเองอาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด หลังจากตกตระกอนกับความคิดของตนเองได้แล้ว
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า อุตสาหกรรมที่มีพนักงานลาออกมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีอัตราการลาออกเพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซนต์ และอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่มีอัตราการลาออกเพิ่มขึ้น 3.6 เปอร์เซนต์ ทำให้พบว่าอัตราการลาออกจะเพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโรคระบาด เพราะเมื่อปริมาณงานถาโถมเข้ามามากขึ้น พนักงานก็เกิดอาการเหนื่อยล้าและภาวะหมดไฟได้ง่าย
โรคระบาดและการกักตัวทำให้อะไรหลายๆ อย่างชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่สะสมมานานหรือความต้องการลึกๆ ของตัวพนักงานเอง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่ไม่นอนเช่นนี้ พวกเขาจะต้องรีบมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวที่แน่นเหนียวกว่าให้กับตัวเอง หรือมองหาเป้าหมายใหม่โดยที่คำนึงถึงความยืดหยุ่น ความสุข และความพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะพอใจกับการทำงานอยู่บ้าน ไม่ใช่ทุกคนที่จะพอใจกับการทำงานที่ออฟฟิศ และไม่ใช่ทุกคนที่จะพอใจกับการทำงานในช่วงเวลา 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ซึ่งพวกเขามองว่าชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะทำอะไรที่ไม่สามารถเติมเต็มความพึงพอใจของตนเองได้
กล่าวคือ พวกเขามองว่า Quitting is the best self-care. หรือ การดูแลตัวเองที่ดีที่สุดคือการลาออกจากงานนั่นเอง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก The Great Resignation ไม่ใช่แค่พนักงานจะเผชิญกับการมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์ตัวเองมากขึ้นเท่านั้น แต่นายจ้างเองก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียทรัพยากรบุคคล และการประกาศจ้างงานใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งวิธีรับมือกับปัญหานี้ที่ดีที่สุด ผู้ว่าจ้างหรือนายจ้างจะต้อง ‘รับฟัง’ ความต้องการของพนักงานมากขึ้น และ ‘ปรับเปลี่ยน’ นโยบายหรือวัฒนธรรมองค์กรบางอย่าง เพื่อลดความไม่พึงพอใจในงานของพวกเขาให้น้อยลง ก่อนที่จะเสียบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมากไปอย่างน่าเสียดาย
อ้างอิงข้อมูลจาก