ถ้าไม่ได้ร่ำรวยจนล้มบนฟูกได้สบายๆ การลาออกโดยไม่มีงานใหม่มารองรับยังนับเป็นความเสี่ยงอันสูงลิ่วของเหล่ามนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน เพราะต่อให้มีเงินเก็บสำรองไว้ แต่กว่าจะได้งานใหม่ เงินก้อนนี้อาจจะหมดเกลี้ยงไปแล้วก็ได้
ถึงอย่างนั้น บางคนกลับตัดสินใจยื่นใบลาออกทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงและไม่มั่นคง นอกจากนี้ในรายงาน The Deloitte Global 2022 Gen Z & Millenial Survey ซึ่งสำรวจคนทำงานจาก 46 ประเทศทั่วโลกพบว่า คนเจเนอเรชั่น Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลกว่า 1 ใน 3 ตั้งใจจะลาออกจากงานประจำ โดยไม่มีแผนสำรองและไม่ได้มีงานใหม่มารองรับ
ทำไมบางคนถึงยอมรับความเสี่ยง และสิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรในยุคสมัยเราได้บ้าง ชวนมาสำรวจไปพร้อมกันในบทความนี้
เพราะความสุขก็สำคัญ
ก่อน COVID-19 หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ชีวิตยังอีกยาวไกล ทำงานหนักๆ ไปก่อนแล้วค่อยไปดูแลกายใจทีหลังก็ได้ แต่แล้วโรคระบาดเริ่มทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตแสนสั้นเกินกว่าจะบอกว่า ‘ไว้ทำวันหลังก็ได้’ บวกกับความเครียดในช่วง COVID-19 ที่มีมากพออยู่แล้ว ทำให้หลายคนไม่สามารถแบกรับความเครียดจากการทำงานได้มากเท่าเดิม เลยตัดสินใจโบกมือลาการทำงานที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต หรือท็อกซิกกับตัวเอง เห็นได้จากสถิติเมื่อปี 2022 ที่พบว่า เหตุผลหลักของการลาออกสำหรับเจน Z ในประเทศไทย คือ COVID-19 ทำให้พวกเขากลับมาย้อนคิดถึงสิ่งที่ตัวเองให้คุณค่า รวมทั้งความฝันและความต้องการของตัวเองมากขึ้น
ส่วนการสำรวจของ OliverWyman Forum สะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ต้องการงานที่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม มีการสนับสนุนเรื่องสุขภาพจิต และคาดหวังให้องค์กรมีความโปร่งใส มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้ได้ พวกเขาก็พร้อมจะลาออกด้วยเช่นกัน
“อายุเท่านี้ (อาจไม่จำเป็น) ต้องมี…”
ก่อนหน้านี้เรามักได้ยินประโยคที่ว่า “อายุเท่านี้ ต้องมี…เป็นของตัวเอง” บางทีข้อความในช่องว่าง อาจเป็นบ้าน รถ การแต่งงานมีลูก หรือมีทรัพย์สินที่มั่นคง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มแต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง บ้างก็อยู่คนเดียว เมื่อบวกรวมกับสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น เลยทำให้ ‘ความคาดหวัง’ เรื่องการรีบลงหลักปักฐาน มีบ้านหลังใหญ่ มีชีวิตที่ร่ำรวยตั้งแต่วัยหนุ่มสาวนั้นค่อยๆ ลดลงไป และสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่หมุดหมายในชีวิตสำหรับบางคน ทว่ากลับเป็นเรื่องความสุขและชีวิตที่สมดุลมากกว่า
จึงไม่น่าแปลกใจหากจะมีคนที่มองว่า ความไม่มั่นคงทาง ‘การเงิน’ ในบางช่วง เป็นเรื่องที่ยอมรับได้มากกว่าการไม่มั่นคงทาง ‘ความรู้สึก’ เพราะถ้าปล่อยให้ตัวเองหามรุ่งหามค่ำทำงานหนักจนเกินไป หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ สุดท้ายก็ต้องเสียทั้งเงินและเวลามาเยียวยาตัวเองอยู่ดี ดังนั้นบางคนที่พอจะมีเงินเก็บ หรือไม่ได้เดือดร้อนด้านการเงินมาก เลยตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำให้ร่างพังใจสลาย แม้ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ก็คงคุ้มกว่าการมาเยียวยาตัวเองทีหลัง
ถึงไม่มีงานประจำรองรับ แต่มีงานอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น
การที่บางคนลาออกโดยไม่มี ‘งานประจำรองรับ’ ไม่ได้หมายความว่าจะ ‘ว่างงาน’ อย่างสิ้นเชิง เพราะช่วงที่กำลังหางานใหม่ บางคนยังพอมีรายได้จากงานเสริมอื่นๆ บ้างก็ทำงานเหล่านี้ควบคู่มาตั้งแต่ทำงานประจำอยู่แล้ว ซึ่งยุคนี้เรามีโอกาสหางานเสริมจากหลากหลายช่องทางมากขึ้น เช่น เปิดร้านในช่องทางออนไลน์ งานฟรีแลนซ์ใน Fastwork (แอปพลิเคชั่นรวมงานฟรีแลนซ์ที่เชื่อมต่อคนจ้างงานกับคนทำงานฟรีแลนซ์ โดยไม่จำเป็นต้องมีคอนเน็กชั่นส่วนตัวหรือยื่นใบสมัครงานไป) หรืออีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ‘Affiliate Marketing’ หรือการตลาดแบบพันธมิตร ที่กำลังมาแรงในยุคของ Twitter และ TikTok ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือการโพสต์รีวิวของใน TikTok พร้อมกับแปะลิงก์ไว้ ถ้ามีคนกดซื้อจากลิงก์นั้น คนรีวิวก็จะได้ค่าคอมมิชชั่นเป็นการตอบแทน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นระบบ ‘นายหน้า’ นั่นเอง
ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้ อาจเป็นยุคของอินฟลูเอ็นเซอร์ดังๆ หรือมียอดผู้ติดตามเยอะๆ แต่ด้วยอัลกอริทึ่มของ TikTok ที่ต่อให้ผู้ติดตามน้อย คลิปก็กลายเป็นไวรัลได้เหมือนกัน บวกกับยุคที่คนเริ่มเชื่อรีวิวจากผู้ใช้จริง มากกว่าการยิงแอด เลยเอื้อให้คนทั่วๆ ไปที่ใช้สินค้านั้นสามารถหารายได้จากช่องทางนี้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจจาก University of Phoenix ที่สำรวจพนักงานกว่า 5,000 คน และ 50 บริษัทในสหรัฐฯ พบว่า แม้ 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันวางแผนจะลาออกจากงานประจำโดยไม่ได้หางานใหม่สำรองไว้ แต่ 69% บอกว่าพวกเขาอาจจะ ‘อยู่ที่เดิมต่อไป’ ถ้าคิดว่าบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้
ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้คนที่ลาออกแบบไม่มีงานใหม่มารองรับ จะมี ‘ความพร้อม’ ทางด้านการเงินในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลือกได้ พวกเขาคงอยากให้องค์กรรับฟังและปรับเปลี่ยนบางอย่าง มากกว่าจะอยากลาออกมาอยู่เฉยๆ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงจากการว่างงาน
อ้างอิงจาก