การเลือกตั้งสหรัฐฯ การชิงตำแหน่งผู้นำประเทศมหาอำนาจ ที่ทั่วโลกจับตา กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.คนที่ 45 จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในเร็วๆ นี้
ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2020 นี้ แม้จะมีขึ้นจริงๆ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน หรือเป็นช่วงปลายปี แต่ว่ากระบวนการของการเลือกตั้งนั้น ถือว่าได้เริ่มอย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และขั้นตอนต่างๆ นี้ ต่างก็ยาวนานถึง 9 เดือน ก่อนที่เราจะเห็นผู้ชนะตัวจริง
ในสัปดาห์นี้ ที่ถือว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้เริ่มขึ้นแล้ว The MATTER ขอพาไปดูกระบวนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ว่า มีการลงคะแนนเพื่อหาตัวแทนพรรคอย่างไร และเมื่อได้ตัวแทนพรรคแล้ว ชาวอเมริกันโหวตกันแบบไหน ก่อนจะได้ผู้นำมา
การเลือกตัวแทนของพรรค เพื่อไปเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น เริ่มต้นจาก 2 วิธี คือ คอคัส และไพรมารี่ ซึ่งแต่ละรัฐก็จะมีวิธีที่แตกต่างกันไป
คอคัส (Caucuses)
คอคัสเป็นก้าวแรก ของการเฟ้นหาตัวแทนพรรค โดยกระบวนการคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐจะเดินทางไปรวมตัวกันที่หน่วยเลือกตั้งเพื่อร่วมประชุมหารือกัน ซึ่งจะจัดขึ้นตามโรงเรียน โบสถ์ ห้องสมุด หรืออาจเป็นบ้านของคนในพื้นที่ และพลเมืองในรัฐจะจับกลุ่มกันตามผู้สมัครที่พวกเขาเลือก และหารือกันว่าจะเลือกผู้สมัครคนไหนแบบเปิดเผย ซึ่งกลุ่มของผู้สมัครรายใดที่ได้รับคะแนนสนับสนุนไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด ผู้สมัครรายนั้นก็จะถูกถอดชื่อออกไป ส่วนผู้สนับสนุนผู้สมัครรายนั้นก็จะต้องไปสนับสนุนคนอื่นที่ยังเหลืออยู่แทน
และหลังจากนั้นก็จะนำจำนวนผู้สนับสนุน ไปคิดเป็นสัดส่วนว่า ผู้สมัครแต่ละราย จะได้จำนวน ‘ดิลิเกต’ (delegate) หรือตัวแทน จำนวนเท่าไหร่ ที่จะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของพรรค และโหวตผู้แทนของพรรค ไปชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดี
ในการเลือกตั้งปีนี้ มี 6 รัฐที่ใช้การเลือกตั้งแบบ คอคัส โดยเริ่มจากรัฐไอโอวาเป็นที่แรก ซึ่งมีกฎหมายของรัฐไว้ว่า จะเลือกตั้งก่อนที่อื่นเป็นเวลา 8 วัน ทำให้การเลือกตั้งในรัฐนี้ ถือเป็นการเปิดฉากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ด้วย
ซึ่งในการลงคะแนนคอคัสของไอโอวา ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พีท บูติเจิจ และ เบอร์นี่ แซนเดอร์ส ต่างก็อ้างว่า ตนคือผู้ชนะทั้งคู่ จากการที่ได้ตัวแทนไปคนละ 11 คนเท่ากัน แม้ว่าพีทจะมีคะแนนนำเพียงเล็กน้อย คือ 0.1% โดยยังถือว่าเป็นผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการด้วย
การเลือกตั้งขั้นต้น (Primary)
ส่วนใหญ่แล้ว รัฐในสหรัฐฯ จะนิยมใช้การเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี่ มากกว่าแบบคอคัส ซึ่งวิธีนี้เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ที่ประชาชนจะไปหย่อนบัตรลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ที่มีทั้งแบบเปิด คือให้ประชาชนทั่วไป มาออกเสียงได้ ส่วนแบบปิด คือ ให้เฉพาะสมาชิกพรรคเท่านั้น
ซึ่งเช่นเดียวกับ ไอโอวาที่จะเป็นรัฐแรกของคอคัส รัฐนิวแฮมป์เชียร์เอง ก็จะเป็นรัฐแรกของประเทศที่จัดการเลือกตั้งแบบไพรมารี่เช่นกัน ซึ่งปีนี้ จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ และโดยปกติเราจะรู้ผลการเลือกตั้งคร่าวๆ แต่ผลอย่างเป็นทางการจะยังไม่มีการประกาศจนกว่าจะถึงการจัดประชุมใหญ่ของแต่ละพรรค
การประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อเลือกผู้แทน (National Party Conventions)
หลังจากผู้สมัครเดินทางตระเวนหาเสียงกันยาวนาน ตามการเลือกตั้งในแต่ละรัฐต่างๆในที่สุด ก็จะถึงคิวของ การประชุมใหญ่ระดับประเทศของพรรค ซึ่งจะจัดขึ้นทั้งหมด 4 วัน และให้ตัวแทนระดับรัฐจากการประชุมขั้นต้นและการประชุมคอคัสที่ได้รับเลือกจากประชาชนทำการรับรองผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่พวกเขาชื่นชอบ และเมื่อการประชุมใหญ่สิ้นสุดลง พรรคการเมืองก็จะออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า พรรคได้เสนอชื่อบุคคลใดเป็นตัวแทนของพรรคลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
ปกติแล้ว ทั้ง 2 พรรค จะจัดประชุมในช่วงวันที่ต่างกัน และเมืองที่ต่างกันด้วย โดยปีนี้ พรรคเดโมแครตเลือก เมืองมิลวอกกี้’ รัฐวิสคอนซิน เป็นที่ตั้งของการประชุมเสนอชื่อผู้แทนพรรค และจะจัดการประชุมในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่รีพับลิกัน จะจัดที่เมืองชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ธ แคโรไลนา ซึ่งจะมีการประชุมช้ากว่าเดโมแครต คือในเดือนสิงหาคม
การเลือกตั้งสหรัฐฯ (2020 Presidential Election)
หลังจากได้ตัวแทนอย่างเป็นทางการ ทั้งคู่ต่างก็จะประชันนโยบาย เดินหน้าหาเสียง และต้องขึ้นเวทีดีเบตอีกถึง 3 ครั้ง! ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ที่ถูกกำหนดไว้ให้เป็น ‘วันอังคาร’ หลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปีนี้ก็คือวันที่ 3 พฤศจิการยน โดยการโหวตนี้ เป็นการลงคะแนนทางอ้อม ที่ประชาชนจะเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมผู้สมัครดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ตนชื่นชอบ ในทุกรัฐยกเว้นรัฐเมนและเนแบรสกา
และหากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน ในรัฐ ผู้สมัครคนนั้นจะได้คะแนนผู้เลือกตั้ง (electoral vote) ทั้งหมดของรัฐนั้นๆ ทำให้ผลของการเลือกตั้งในวันนี้ ถือว่าออกมาคร่าวๆ และยังไม่เป็นทางการ
โดยหลังจากนั้น ในวันจันทร์แรก หลังพุธที่ 2 ของเดือนธันวา คณะผู้เลือกตั้งจะมารวมตัวกัน เพื่อออกเสียงเลือกผู้สมัครที่ประชาชนข้างมากในรัฐของตนเลือกไว้ ผู้สมัครคนใดที่ได้เสียงจากคณะเลือกตั้งมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 538 เสียง (270 เสียง) ก่อน ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะอย่างเป็นทางการ ซึ่งปกติแล้ว แนวโน้มของผลในวันเลือกตั้ง และวันลงคะแนนของคณะเลือกตั้ง มักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่พลิกโผมากนักด้วย
พิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่ง (Inauguration Day)
และขั้นตอนสุดท้าย หลังจากเริ่มกระบวนการเลือกตั้งกันมาอย่างยาวนาน ในวันที่ วันที่ 20 มกราคม หลังการเลือกตั้ง จะถือเป็นวันที่ประธานาธิบดีขึ้นรับตำแหน่ง เข้าพิธีสาบานตน และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการจบกระบวนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทำงานในวาระอีก 4 ปี ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งหน้า จะวนมาอีกครั้ง
ซึ่งปีนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จากพรรครีพับลิกัน ก็ประกาศชองตำแหน่งสมัยที่ 2 อีกครั้ง โดยที่เรายังไม่รู้ว่า ใครจะได้เป็นตัวแทนจากเดโมแครต มาเชือดเฉือนกับทรัมป์ในครั้งนี้ แต่ตลอดปีนี้ เราคงได้เห็นสีสันของการเมืองอเมริกัน การหาเสียง การโต้วาที และการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ไปอีกตลอดปี
อ้างอิงจาก