ปีที่แล้ว เราอาจถามกันว่า “ติดหรือยังนะ?” มาปีนี้ นอกจากคำถามแรกจะยังไม่ได้คำตอบแล้ว ยังเจอคำถามใหม่ว่า “เมื่อไหร่จะได้ฉีดวัคซีน?” เสริมเข้าไปอีกด้วย
COVID-19 ระบาดไปแล้ว ระลอกแล้วระลอกเล่า แต่ประเด็นที่ค้างคาใจหลายคนก็ยังไม่หายไปไหน ตั้งแต่เรื่องของการเปิดให้ประชาชนได้ตรวจเชิงรุก ไปจนถึงการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า จนล่าสุด เกิดการระบาดในย่านทองหล่อ-สุขุมวิท นำไปสู่ความกังวลว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าครั้งก่อนๆ
สำหรับตอนนี้ ยอดผู้ได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 6 เมษายน ตามรายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 274,989 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 อีก 49,635 ราย ขณะที่ มีผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงและได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว 4 ราย
ขณะที่ สถานการณ์การฉีดวัคซีนในทั่วโลกนั้น อิสราเอล ถือเป็นประเทศที่มีการเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนสูงสุดถึง 114% โดยแบ่งเป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก 59% และเข็มที่สอง 55% รองลงมาคือ เซเชลส์ ที่ฉีดให้ประชากรไปแล้ว 105% แบ่งเป็น เข็มแรก 66% และเข็มที่สองอีก 39% ส่วนอันดับสามคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ฉีดให้ประชากรไปแล้ว 89%
แล้วในอาเซียนเพื่อนบ้านของเราล่ะ ฉีดวันซีนกันไปถึงไหนแล้วนะ?
สำหรับการฉีดวัคซีนในอาเซียนนั้น อ้างอิงข้อมูลจาก The New York Times และ Our world in data ได้เป็นดังนี้
สิงคโปร์ คิดเป็น 27% ฉีดเข็มแรก 19% ฉีดเข็มที่สอง 8.3%
อินโดนีเซีย คิดเป็น 4.7% ฉีดเข็มแรก 3.2% ฉีดเข็มที่สอง 1.5%
มาเลเซีย คิดเป็น 2.5% ฉีดเข็มแรก 1.6% ฉีดเข็มที่สอง 0.9%
กัมพูชา คิดเป็น 1.8% ฉีดเข็มแรก 1.4% ฉีดเข็มที่สอง 0.4%
ฟิลิปปินส์ คิดเป็น 0.8% ฉีดเข็มแรก 0.8% ฉีดเข็มที่สอง <0.1%
เมียนมา คิดเป็น 0.7% ฉีดเข็มแรก 0.7% ไม่มีข้อมูลเข็มที่สอง
ลาว คิดเป็น 0.6% ฉีดเข็มแรก 0.6% ไม่มีข้อมูลเข็มที่สอง
ไทย คิดเป็น 0.4% ฉีดเข็มแรก 0.4% ฉีดเข็มที่สอง 0.1%
บรูไน คิดเป็น 0.1% ฉีดเข็มแรก 0.1% ไม่มีข้อมูลเข็มที่สอง
เวียดนาม คิดเป็น 0.1% ฉีดเข็มแรก 0.1% ไม่มีข้อมูลเข็มที่สอง
เท่ากับว่า สิงคโปร์เป็นชาติที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรนำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนไปไกลแล้ว ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 8 จากทั้งหมด 10ประเทศในอาเซียน ที่รั้งท้ายมานั้นคือ บรูไน และเวียดนาม ส่วนในอันดับโลกนั้น ไทยอยู่อันดับที่ 82 ของโลก
แม้เราจะเริ่มฉีดวัคซีนกันไปแล้ว แต่หลายคนก็ยังข้องใจในความล่าช้า รวมถึง ยังคงสงสัยว่า เมื่อไหร่เราจะได้ฉีดวัคซีนกันนะ?
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติมถึงเรื่องของการฉีดวัคซีน ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า ในพื้นที่ทั่วไปที่ไม่มีการระบาด ยังเน้นที่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ รวมทั้ง อสม.ที่ไปตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในชุมชนซึ่งอาจจะเจอผู้ติดเชื้อ
กลุ่มต่อมาก็คือ ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายว่า หากติดเชื้อแล้วจะป่วยเยอะ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งคนที่มีโรคเรื้อรัง
“แต่ถ้าพื้นที่ที่มีการระบาด จะมีการฉีดในบริเวณที่มีการระบาดของโรค เช่น ตอนนี้แถวสุขุมวิท-ทองหล่อ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็จะมีการดำเนินการลงไป โดยทาง กทม.จะฉีดป้องกันโรคให้กับคนที่ยังไม่ติดเชื้อ แต่มีความเสี่ยงด้วย”
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ถ้าเป็นพื้นที่อื่นๆ ต้องดูเป็นกรณีว่า ตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะรับเชื้อแล้วป่วยรุนแรงไหม หรืออยู่ในกลุ่มอาชีพเสี่ยงหรือเปล่า เพราะตอนนี้วัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่นั้น ยังมีจำกัด และวัคซีนจะมาเข้ามาเยอะในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งสามารถฉีดได้จะกว้างขวางมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก