เด็กๆ จะได้ฉีดวัคซีน Pfizer กันแล้ว หลังจากที่เหล่านักเรียนรอคอยกันมายาวนาน
พอเด็กจะได้ฉีดวัคซีน Pfizer ประเด็นเรื่องอาการข้างเคียงต่างๆ จากวัคซีนชนิด mRNA ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ด้วยความกังวลว่า เด็กฉีดได้หรือเปล่า จะปลอดภัยจริงๆ ใช่ไหม แล้วอาการข้างเคียงน่ากลัวแค่ไหนกันนะ?
The MATTER จะขอพาทุกคนมาดูสรุปผลข้างเคียงของเด็กที่ได้รับวัคซีน Pfizer และงานวิจัยในกลุ่มอายุต่างๆ ของเด็กที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อนี้ เพื่อให้ทุกคนหายข้องใจกัน
อาการข้างเคียงทั่วไป
National Health Service (NHS) หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ได้แจกใบปลิว ที่ระบุถึงอาการข้างเคียงทั่วไปที่พบในกลุ่มเด็กอายุ 16-17 ปี หลังจากที่สหราชอาณาจักร อนุมัติให้เด็กอายุ 16-17 ปี ฉีดวัคซีนได้แล้ว
ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ก็ระบุถึงอาการข้างเคียงทั่วไปที่พบในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ NHS โดยมีอาการดังนี้
- ปวดหรือเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดตามข้อ
- หนาวสั่น
- คลื่นไส้
อาการข้างเคียงที่พบได้ยาก
ขณะเดียวกัน อาจมีบางคนมีอาการอื่นๆ ที่พบได้ยาก ซึ่ง NHS ระบุไว้ว่า อาการเหล่านี้อาจคงอยู่ได้ประมาณ 10 วัน ซึ่งหากนานกว่านี้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
- รอยแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- นอนไม่หลับ
- มีอาการคันบริเวณที่ฉีดวัคซีน
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ในเด็ก
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ได้รับการยืนยันแล้วว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับวัคซีนของ Pfizer และยังเป็นอาการที่พบได้ในหลายพื้นที่
แต่คณะอนุกรรมการด้านโรค COVID-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับโลกด้านความปลอดภัยของวัคซีนประจำองค์การอนามัยโลก (GACVS) ระบุเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประโยชน์ในการป้องกัน COVID-19 มากกว่าความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เพราะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้
เช่นเดียวกับ คณะกรรมการความปลอดภัยขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) กล่าวว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ถือเป็นผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA ทั้งสองยี่ห้อ และเสริมว่ากรณีดังกล่าวมักเกิดขึ้นภายใน 14 วันหลังฉีดวัคซีน
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง หายใจถี่ ซึ่ง NHS ระบุว่า อาการนี้พบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุน้อย โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย
ขณะที่ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังเริ่มฉีดวัคซีน COVID-19 ยี่ห้อ Pfizer ในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กชายอายุ 13 ปี 1 ราย และสามารถรักษาหายได้ทันเวลา โดยหมอย้ำว่าสังเกตอาการเพื่อรักษาได้ทันท่วงที
อาการนี้ จะพบมากหลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ซึ่งข้อมูลจาก CDC ระบุว่า มีเด็กอายุ 12-17 ปี ราว 60 คน จากทั้งหมด 1 ล้านคน ที่ได้ฉีดวัคซีน Pfizer ที่เจออาการข้างเคียงนี้
**ขอย้ำว่า แม้อาการมักจะหายไปได้เอง แต่หากมีอาการก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ผลการศึกษาวัคซีน Pfizer ในกลุ่มเด็กอายุต่างๆ
แม้ว่าหลายประเทศจะให้ฉีดวัคซีน Pfizer กันไปแล้ว แต่ก็ยังมีการวิจัยกันอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน เพื่อหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด และจะช่วยให้เด็กได้รับความปลอดภัยที่สุดเช่นกัน
- กลุ่มอายุ 16 ปีขึ้นไป
กลุ่มอายุนี้ เป็นกลุ่มที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนกันไปแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
ในสหรัฐฯ นั้น สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer ให้กลุ่มอายุ 16 ปีขึ้นไป อย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยกำหนดให้ฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส เว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์
- กลุ่มอายุ 12-15 ปี
เป็นกลุ่มที่สหรัฐฯ อนุมัติให้ฉีดวัคซีน Pfizer ได้แล้ว โดยมีประเทศอื่นๆ ที่อนุมัติแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สเปน นอร์เวย์ เป็นต้น โดยกลุ่มอายุนี้จะได้รับวัคซีนโดสละ 30 ไมโครกรัม และต้องฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส เว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์
ข้อมูลจากการทดลองในระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทดลอง 2,264 คน พบว่า อาการข้างเคียงที่พบบ่อยสุดคือ ปวดบริเวณที่ฉีด (91%), อ่อนเพลีย (78%), ปวดศีรษะ (76%) ปวดกล้ามเนื้อ (42%), เป็นไข้ (24%) และปวดข้อต่อ (20%)
งานวิจัยยังระบุด้วยว่า โดยมากมักเกิดอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 1-4 วัน และอาการจะหายไปภายใน 1-2 วัน
- กลุ่มอายุ 5-11 ปี
เป็นกลุ่มที่มีผลทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 และ 3 พบว่าการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงดี เทียบเท่ากับในกลุ่มอายุ 16-25 ปี โดยจะได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็มที่มีปริมาณโดสละ 10 ไมโครกรัม ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของขนาดโดสในบุคคลอายุ 12 ปีขึ้นไป และเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 21 วัน
โดยการทดลองนี้ มีลักษณะที่ต่างจากการทดลองทางคลินิกที่กระทำในผู้ใหญ่ คือ ไม่ใช่การทดลองที่วัดประสิทธิภาพของวัคซีนโดยการเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ในผู้รับวัคซีนกับผู้ที่ได้รับยาหลอก เหมือนที่ทดลองในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่เป็นการเปรียบเทียบปริมาณแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ที่ถูกทำให้เกิดโดยวัคซีนในเด็ก เทียบกับการตอบสนองในผู้รับวัคซีนที่มีอายุมากกว่าในการทดลองกลุ่มผู้ใหญ่
เมื่อได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย ทางสหรัฐฯ ประกาศว่า จะเริ่มฉีดวัคซีน Pfizer ให้กลุ่มเด็กอายุดังกล่าว ก่อนสิ้นวันที่ 31 ตุลาคม
- กลุ่มอายุ 2-5 ปี และ 6 เดือน-2 ปี
เป็นกลุ่มอายุที่ยังอยู่ในการทดลอง ทำให้ยังมีข้อมูลไม่มากนัก โดยจะได้ผลการศึกษาเบื้องต้นออกมาในช่วงสิ้นปีนี้
สำหรับประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนการดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัดทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีอายุ 12-18 ปี โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน ทางกระทรวงฯ พบว่ามีผู้สมัครใจฉีดวัคซีนจำนวน 3.61 ล้านคน จากทั้งสิ้น 5,048,081 คน หรือคิดเป็น 71.67% โดยจะรวบรวมจำนวนเด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองให้ความยินยอมแล้วเพิ่มเติม และจะจัดส่งให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอรับการจัดสรรวัคซีน เพิ่มเติมต่อไป
วัคซีนสำหรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของสังคมแข็งแกร่งขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เหล่านักเรียน นักศึกษา ได้กลับไปเรียนรู้ในห้องเรียนกันอีกครั้ง หลังจากทรมานกับการเรียนออนไลน์มายาวนาน
อ้างอิงจาก