หลังการเรียกร้องกว่า 2 ทศวรรษ ก็ใกล้ความจริงเสียที สำหรับร่าง พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. หลังสภาฯ ลงมติเห็นชอบ ส่งให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ต่อไป
เนื่องในโอกาสวันผู้ถูกบังคับสูญหายสากล ที่ตรงกับวันที่ 30 ส.ค. ของทุกปี The MATTER อยากชวนไปสำรวจ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ว่าคลอดแล้วจะส่งผลอย่างไร และมีอะไรน่าสนใจบ้าง ก่อนจะถึงวันที่นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
พ.ร.บ.นี้มีไว้จับตาใคร
อาจจะพอทราบกันแล้วบ้าง ว่ามีการระบุเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ”
ไม่เพียงควบคุมการทำงานอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายนี้ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย นั่นเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่เองก็จะได้รับการคุ้มครองเช่นกัน หากปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วทุกคนมีสิทธิในชีวิต เนื้อตัวร่างกาย ผู้ใดจะมาละเมิดมิได้ แต่หลายครั้งเจ้าหน้าที่มักถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง
แบบไหนเข้าข่ายกระทำผิด
ตามมาตรา 5 ของร่างฉบับที่ผ่านการแก้ไขของวุฒิสภาแล้วนั้น กฎหมายจะนับว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
- เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกทรมาน หรือบุคคลที่สาม
- เพื่อลงโทษผู้ถูกทรมาน เพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่าทำ
- เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม
- เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
นับว่าผู้นั้นทำผิด ‘ฐานกระทำทรมาน’ อย่างไรก็ตามถ้ากระทำด้วยประการใดที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 5 ให้ถือว่า ‘กระทำความผิดฐานกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ตามมาตรา 6
มาตรา 7 หากมีการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ จนส่งผลให้คนนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย จะถือว่า ‘ฐานกระทำให้ผู้อื่นสูญหาย’
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. อุ้มหายฯ
- ความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น
ข้อถกเถียงหนึ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง คือ ความผิดของบุคคลนั้นจะเริ่มนั้นเมื่อใด ร่าง พ.ร.บ. ระบุไว้เพิ่มเติม ในมาตรา 7 ว่าผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำความผิดข้างต้นให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น
นอกจากนี้ จะต้องสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหาย ตามมาตรา 10 ที่กำหนดให้ดำเนินการสอบสวนจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย
ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็หมายถึงต้องหาจนกว่าจะเจอนั่นเอง
- ครอบครัวร้องทุกข์แทนได้
ปัญหาโลกแตกประการหนึ่งของกฎหมายไทย ที่เถียงกันอยู่บ่อยครั้ง คือการที่เจ้าพนักงานมักร้องขอให้เจ้าทุกข์เป็นผู้เข้าร้องทุกข์ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยกับกรณีบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย
ในพ.ร.บ.นี้ จึงให้ความหมาย ‘ผู้เสียหาย’ เอาไว้ว่า ไม่เฉพาะผู้ที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจจากการทรมาน หรือการกระทำให้สูญหายเท่านั้น แต่ให้หมายรวมถึงสามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ที่อยู่กินฉันสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียน ผู้อุปการะด้วย
นั่นจึงเป็นเหตุให้ มาตรา 11 ระบุถึงกรณีที่ผู้ถูกกระทำทรมาน ไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเอง สามารถให้สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ไม่เว้นแต่ผู้ที่อยู่กินแต่ไม่จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ สามารถทำหน้าที่นั้นแทนได้ เสมือนพวกเขาเป็นผู้เสียหายเอง
- อ้างเหตุพิเศษเพื่ออุ้มหายไม่ได้
เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งที่กฎหมายจะถูกยกเว้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่ว่ากันว่าฉุกเฉิน แต่คงไม่เกิดกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่ตามมาตรา 12 กำหนดว่า พฤติการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม หรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาเพื่ออ้างให้การกระทำผิดตามพ.ร.บ.นี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายได้
- นับอายุความตามกฎหมายอาญา คือ 20 ปี
สำหรับอายุความเป็นอีกเรื่องที่เปลี่ยนไปมาอยู่หลายครั้ง บ้างว่าให้กำหนดอายุไว้ที่ 50ปี อย่างที่ฟากฝ่ายค้านเสนอ ขณะที่ กมธ.กฎหมายฯ ระบุให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทรมานหรืออุ้มหายนั้นไม่มีอายุความในทุกกรณี
ท้ายสุดการแก้ไขของส.ว. จบที่ไม่ได้ระบุอายุความไว้ใน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ซึ่งหมายถึงการใช้ตามประมวลกฎหมายอาญาที่ 20 ปี แต่ยังให้คงข้อที่ให้เริ่มนับอายุความเมื่อทราบชะตากรรมของผู้เสียหายไว้อยู่
- ต้องบันทึกวิดีโออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จับจนถึงปล่อยตัว
ส่วนนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองไม่แพ้กัน แต่ข้อสรุปในท้ายสุดระบุให้ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้เจ้าพนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย
- กฎหมายบังคับใช้นอกราชอาณาจักรด้วย
จากหลายเหตุการณ์นำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า หากการกระทำผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรแล้วจะเป็นเช่นไร มาตรา 8 ตอบคำถามนี้ไว้แล้วว่า ไม่ว่าจะทำความผิดฐานกระทำการทรมาน ฐานกระทำการโหดร้ายฯ หรือฐานทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเกิดขึ้น ‘นอกราชอาณาจักร’ ผู้กระทำผิดต้อง ‘รับโทษในราชอาณาจักรไทย’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10 มาใช้บังคับด้วย
อย่างไรก็ตาม ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10 นั้น ถ้ามีการลงโทษข้อหาใดในต่างประเทศแล้ว ก็จะไม่ลงโทษข้อหาเดียวกันในราชอาณาจักรอีก
รับโทษอะไรบ้าง
– ผู้กระทำผิดฐานกระทำการทรมาน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท
-หากผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส จะมีโทษหนักขึ้นจำคุก 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท
-และจะต้องรับโทษหนักขึ้น หากถึงขั้นเสียชีวิต มีโทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 3 แสน-1 ล้านบาท
นอกจากโทษที่พูดถึงข้างต้น ยังระบุโทษถึงผู้ให้การสนับสนุน ผู้สมคบ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำผิด ซึ่งมีโทษหนักเบาต่างกันออกไป
แก้ไขอะไรไปจากร่างเดิม
ยังคงน่าเสียดายที่ กมธ. ของ ส.ว. ได้ปรับแก้หรือตัดข้อเสนอจำนวนหนึ่งออกไป ซึ่งหลายประเด็นเป็นที่สนใจของประชาชน เช่น
- ตัดข้อห้ามที่ไม่ให้นิรโทษกรรมผู้ก่อการทรมานหรืออุ้มหาย
ในร่างก่อนแก้ไขของส.ว. ระบุถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหาย กฎหมายอื่นที่กำหนดนิรโทษกรรมหรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในภายหลังนั้นจะนำมาใช้กับกรณีเหล่านี้ไม่ได้ แต่ก็ถูกปัดตกไป
ท้ายสุดการผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เพื่อเตรียมตรากฎหมายใหม่ครั้งนี้ คงไม่ใช่บทสรุปของการต่อสู้ทั้งหมด แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของก้าวต่อไป ที่ต้องรอดูว่าจะสามารถแก้ปัญหาการถูกบังคับสูญหาย ซึ่งไม่เคยปรากฏในสารบบกฎหมายไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
- ตัดสัดส่วนผู้แทนผู้เสียหาย
ในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทุกฉบับที่ผ่านมามีการจัดตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” เหมือนกัน แต่ต่างกันที่สัดส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลภายนอก
สำหรับส่วนที่ถูกพูดถึง คือ กรรมการที่รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง จากเดิมที่มาจากการคัดสรร ถูกปรับลดเหลือ 6 คน ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญในหลายด้าน ทั้งสิทธิมนุษยชน กฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ แพทย์นิติเวชศาสตร์ และแพทย์จิตเวชศาสตร์ โดยมีการตัด ‘ผู้เสียหาย หรือผู้แทนผู้เสียหาย’ ออกไป ส่งผลให้ข้าราชการกลายเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการป้องกันการอุ้มหายฯ
“เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ” สำเร็จลุล่วง ตามเหตุจำเป็นของพ.ร.บ.นี้ที่ถูกให้ไว้ การผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ซึ่งไม่เคยอยู่ในสารบบกฎหมายมาก่อน จึงไม่ใช่บทสรุปของการต่อสู้ทั้งหมด แต่นับเป็นจุดเริ่มของก้าวต่อไปที่ต้องพิสูจน์ว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
อ้างอิงจาก