“ผมเชื่อมาตลอดทั้งชีวิตว่า ‘โรงพัก’ คือสถานที่ ‘เพื่อประชาชน’ อย่างสุดใจ และหากไม่ว่าเมื่อไรที่เราเดือดร้อน มีเรื่องทุกข์ใจ ผมก็คาดหวังมาโดยตลอดว่าเราจะสามารถมาขอคำปรึกษาหรือพึ่งพาเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในขั้นต้นได้”
“แต่วันนี้ เวลานี้ สิ่งที่พบเจออยู่ขณะนี้ มันลบล้างความเชื่อของผมไปเสียหมดสิ้น และมันทำให้ผมกลัวสถานที่นี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดสีกากีที่ทำงานอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ตอนนี้ด้วย”
ท่อนหนึ่งจากหนังสือสารคดี เมื่อผมถูกซ้อมทรมาน จึงมาตามหาความยุติธรรม ที่เล่าถึงเรื่องราวของชายผู้ตกเป็นแพะรับบาป และถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพในความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ สะท้อนถึงความสิ้นศรัทธาต่อหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ควรช่วยให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม แต่กลับกลายเป็นผู้ก่อความอยุติธรรมขึ้นมาเสียเอง
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เข้ามาช่วยเหลือครอบครัวของผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน และเป็นผู้จัดทำหนังสือดังกล่าว จึงจัดงานเสวนาเปิดตัวสารคดีเล่มนี้ เพื่อนำเสนอมุมมองต่อปัญหาการซ้อมทรมานและร่วมพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .… ให้เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุด
ถุงดำครอบหัว วิธีซ้อมทรมานให้รับสารภาพของตำรวจ
“ปีที่เกิดเหตุคือปี 2552 ลูกชายผมถูกควบคุมตัวไป หลังโดนกล่าวหาว่าไปก่อเหตุชิงทรัพย์ แล้วก็ถูกทรมานโดยการใช้ถุงดำครอบหัว ผมไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้เลยเป็นเวลา 6-7 ปี” คำกล่าวจาก สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมาน
เรื่องราวของฤทธิรงค์ เกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน ในช่วงค่ำของวันที่ 28 มกราคม 2552 ฤทธิรงค์ นักเรียนชั้น ม.6 (ในขณะนั้น) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวระหว่างขับมอเตอร์ไซค์อยู่ในตัวเมืองปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่บอกให้เขาตามไปที่สถานีตำรวจ แล้วเขาก็ตามไปอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่กลายเป็นว่า ฤทธิรงค์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและซ้อมทรมานให้รับสารภาพว่า เป็นคนกระชากสร้อยทอง เพียงเพราะตำรวจเห็นว่า เขามีรูปพรรณสัณฐานคล้ายผู้ก่อเหตุตัวจริง
หากคลิปผู้ต้องหาถูกครอบถุงดำจนขาดใจตายของคดีอดีตผู้กำกับโจ้ จะช่วยให้สังคมเห็นภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นได้ ก็คงต้องบอกว่า สิ่งที่ฤทธิรงค์เผชิญไม่ได้แตกต่างกับที่เราเห็นในคลิปนั้นเลย
ฤทธิรงค์ถูกซ้อมทรมานด้วยการครอบถุงดำให้ขาดอากาศหายใจเช่นกัน
“ลูกผมถูกครอบถุงดำจนขาดอากาศ เขาก็เลยกัดถุงให้มีรูหายใจนิดนึง แต่พอมีรูแค่นิดเดียว ตำรวจก็เอาถุงใบใหม่มาครอบ แล้วบอกว่า ‘ถ้าเกิดมึงกัด กูก็จะครอบใหม่ ถ้ามึงตายไปก็เปลี่ยนเป็นคดีคนหาย’ เขาถูกสวมถุงดำไป 4 ใบ ต่างจากที่เคสที่จังหวัดนครสวรรค์ (คดีอดีต ผกก.โจ้) ที่โดนไป 6 ใบ” สมศักดิ์กล่าว
ความแตกต่างของกรณี อดีต ผกก.โจ้ กับเหตุการณ์นี้คือ ฤทธิรงค์ได้ยินคำขู่ของตำรวจ จึงยอมรับสารภาพไปก่อน เพื่อให้ตนพ้นจากสถานการณ์ตรงนั้น เขาบอกตำรวจว่าจะพาไปยังที่ซ่อนของกลาง เอาตัวเองออกจากห้องซ้อมทรมาน ไปสู่โลกภายนอกอีกครั้ง ซึ่งสมศักดิ์มองว่า จุดนี้เองที่สมศักดิ์กล่าวว่า เป็นความแตกต่างกับกรณีของมาวิน (ผู้ถูกซ้อมทรมานในคดี ผกก.โจ้) เพราะมาวินไม่ได้ยอมรับสารภาพ จึงถูกซ้อมทรมานจนตาย
“แค่นิดเดียวเอง มันเหมือนเป็นฟางเส้นบางๆ เท่านั้นเอง”
สมศักดิ์เล่าว่า พอฤทธิรงค์ได้ออกมาข้างนอก เพราะบอกตำรวจว่าจะพาไปหาของกลาง ลูกชายเขาก็พาไปยังร้านที่มีคนรู้จัก แล้วขอความช่วยเหลือจากผู้คนในละแวกว่า “ช่วยด้วย หนูถูกตำรวจบังคับทำร้าย” ตำรวจจึงนำฤทธิรงค์กลับไปที่โรงพักอีกครั้ง พร้อมพาไปตรวจปัสสาวะ แล้วบอกว่า ฤทธิรงค์ติดยาเสพติด แต่ชาวบ้านตามมาที่โรงพักด้วย แล้วแย้งว่า ตำรวจไม่สามารถตรวจเองได้ ต้องส่งให้โรงพยาบาลตรวจ และต้องติดต่อผู้ปกครองของเด็กด้วย ฤทธิรงค์จึงได้จังหวะบอกว่า โทรศัพท์ของเขาถูกยึดไว้ ติดต่อครอบครัวไม่ได้ ตำรวจเลยยอมคืนโทรศัพท์ให้ ตอนนั้นเอง สมศักดิ์ถึงได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายของเขา หลังเวลาผ่านไปแล้วกว่า 4 ชั่วโมง
ความทรมานไม่ได้จบลงภายในวันนั้น เมื่อสมศักดิ์ทราบว่าลูกชายของตนเจอกับอะไรบ้าง เขาก็รีบเดินหน้าแจ้งความเพื่อให้ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา แต่ปรากฏว่า ครอบครัวชื่นจิตรไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้เลยเป็นเวลา 6-7 ปี
ครอบครัวชื่นจิตรยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐมากกว่า 40 แห่ง เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ไปกว่า 4-5 ล้านบาท แถมบ้านและที่ดินก็ต้องติดจำนอง ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากหน่วยงานใดเลยแม้แต่น้อย
“ทุกอย่างเหมือนเป็นพายุร้ายที่พัดเข้ามาในครอบครัวของเรา เราต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2552-2558 เราเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือคำว่า ‘อยู่ระหว่างรอดำเนินการ’”
ซ้ำร้าย สมศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า เขาถูกหน่วยงานปกครองออกหนังสือให้ไปบำบัดยาเสพติด ทั้งที่ตัวเขาไม่เคยข้องเกี่ยวกับสารเสพติดเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเขากล่าวว่า นี่คือปฐมบทของการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ
“ช่วงประมาณปี 2553 ผมเคยไปหาอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม เพื่อร้องลงประจำวันว่า ถ้าเกิดผมถูกฆ่าตายหรือข่มแหง ก็ขอให้รู้ว่า ผมสองคนพ่อลูกไม่เคยมีเรื่องราวใดๆ เลย นอกจากเรื่องที่ร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจที่ซ้อมทรมาน ใช้ถุงดำคลุมหัวลูกผม”
กว่าจะได้รับความช่วยเหลือ ครอบครัวชื่นจิตรต้องรอมาจนถึงปี 2558 ที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและแอมเนสตี้ได้รับเรื่องร้องเรียน คดีจึงมีความคืบหน้าขึ้นมา และกำลังใจของครอบครัวก็ฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าตอนนี้ครอบครัวเขาจะยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และเวลาก็ล่วงเลยมา 12 ปีแล้วก็ตาม
“ผมเชื่อว่า การเอาถุงดำครอบ มันเกิดจากความเคยชินที่ส่งต่อกันปากต่อปากว่าทำแบบนี้แล้วจะได้ข้อมูล ไม่ได้เกิดจากตำราเรียนของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่กระบวนการเขาวางเอาไว้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร แต่ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ทำงานแบบนับ 1 แล้วข้ามไป 10 เลย ซึ่งพวกเขาไม่ใช่คนที่เดือดร้อน เขาจะได้ยินดีปรีดากับยศถาบรรดาศักดิ์ แต่คนที่เดือดร้อน คือเหยื่อที่ต้องจมกับความทุกข์”
เมื่อผมถูกซ้อมทรมาน จึงมาตามหาความยุติธรรม
เรื่องราวการต่อสู้ 12 ปีของครอบครัวชื่นจิตร ได้เผยแพร่ในรูปแบบหนังสือสารคดี โดยอิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือ เล่าถึงการแบ่งบทในหนังสือดังกล่าวว่า หนังสือสารคดีจำนวนเกือบ 200 หน้านี้ เล่าตั้งแต่การปูความให้คนอ่านเข้าใจเหตุการณ์ ปัญหาที่ครอบครัวชื่นจิตรต้องเผชิญ ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเห็นได้ชัดว่า การดำเนินการมักจะมาค้างอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ แล้วก็เงียบหายไป
“เราจะเห็นความพยายามอย่างเต็มที่ขององคาพยพต่างๆ ซึ่งต้องการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ได้รับความผิด”
อิชย์อาณิคม์ย้ำว่า เรื่องราวของครอบครัวชื่นจิตร ย้ำให้เห็นว่า เราต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไข ทั้งในทางกฎหมาย ในเชิงนโยบาย และโครงสร้างขององค์กรรัฐ เพื่อให้ปัญหาการซ้อมทรมานยุติลงอย่างแท้จริง
ขณะที่ พรทิพย์ โม่งใหญ่ ผู้สื่อข่าว Workpoint ช่อง 23 ที่ติดตามและสะท้อนเสียงของครอบครัวชื่นจิตรมาตลอด กล่าวว่า บทบาทของสื่อมวลชน คือการสะท้อนเสียงและความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งยังต้องทำให้สังคมเห็นว่า การซ้อมทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความทรมานทางกาย แต่เป็นความเจ็บช้ำตลอดกาลกับผู้ถูกซ้อมทรมานและครอบครัว
“ตลอดการติดตามความคืบหน้าของคดี เราไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ ความชัดเจนของคดีก็ไม่ค่อยปรากฏ”
เมื่อถูกถามว่า การใช้ถุงดำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นวิธีที่พบได้บ่อยในการซ้อมทรมานหรือไม่ พรทิพย์ก็ตอบว่า เรื่องของถุงดำ มักไม่ค่อยถูกสื่อตีแผ่ต่อ เพราะไม่ค่อยได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และยากที่จะหาหลักฐานได้ชัดเจน แต่การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นเรื่องที่ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งมาบ่อยครั้ง
ขณะเดียวกัน ปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้รับผิดชอบคดีนี้ก็เล่าถึงความยากลำบากในการทำงาน คดีของฤทธิรงค์มีความซับซ้อนเนื่องจากเขาเคยรับสารภาพแล้ว และครอบครัวก็ต้องการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังมีเรื่องของพยานเท็จที่เข้ามาทำให้คดีซับซ้อนขึ้นอีกด้วย แม้ว่าฤทธิรงค์จะไม่ได้ทำความผิดเลยแม้แต่น้อย
ปรีดาเสริมว่า การซ้อมทรมานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษมาตลอดหลายสิบปี กดให้ประชาชนกลัวที่จะออกมาพูดความจริง และยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของสังคมไทย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐควรจะต้องเป็นคนคอยต่อสู้แทนประชาชน ไม่ใช่ปกปิดความผิดเสียเอง
ประเทศไทยไร้กฎหมายเอาผิดการซ้อมทรมาน
“การบังคับบุคคลให้สูญหาย การซ้อมทรมาน ไม่มีความผิดในกฎหมายไทย”
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวในงานเสวนา พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ถ้าเป็นเรื่องของการซ้อมทรมาน จะต้องไปใช้กฎหมายเรื่องการทำร้ายร่างกาย ซึ่งการทำร้ายร่างกายต้องมีร่องรอยถูกทำร้าย แต่การทรมานไม่มีร่องรอย ทำให้กฎหมายปกติไม่สามารถเอาผิดกับเรื่องเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับการทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งจะไม่มีร่างของผู้สูญหาย และเมื่อไม่มีร่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมก็จะบอกว่า ไม่มีหลักฐาน กลายเป็นเรื่องของคนหายปกติ ทำให้เอาผิดกับเรื่องเหล่านี้ไม่ได้
น่าเศร้าที่การทรมานและการบังคับสูญหาย ถือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย ซ้ำยังไม่เคยเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้ ซึ่งสุรพงษ์กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่สามารถเอาผิดได้ว่า การกระทำเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนๆ กันอยู่ นั่นคือ มีการเตรียมการ วางแผน มีขั้นตอน มีคนให้ความร่วมมือ มีอุปกรณ์ ผู้กระทำคือเจ้าหน้าที่ที่สืบสวนโดยใช้อาวุธ มีเครื่องมือ มีอาวุธสงคราม มีกองกำลัง ปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ทำเป็นกระบวนการเป็นทีม
นอกจากนี้ เวลาที่เกิดเหตุก็คือช่วงกลางวันแสกๆ แต่สถานที่ก่อเหตุมักจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนทั่วไปเข้าถึง เช่น โรงพัก ที่อยู่ของทหาร หรือในอุทยานแห่งชาติ ทำให้ไม่มีหลักฐานเอาผิดคนเหล่านี้ได้
สุรพงษ์กล่าวว่า ทางมูลนิธิของเรียกร้อง 2 ข้อ ข้อแรก คือ ต้องออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … และข้อสอง คือ ต้องปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้ปัญหาทั้งหลายยุติลง โดยมีข้อเสนอให้ปฏิรูป 8 ข้อ ได้แก่
- กระจายอำนาจตำรวจไปยังหน่วยงานที่จำเป็น เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายเฉพาะทางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ตำรวจจราจรไปอยู่กับท้องถิ่น ตำรวจรถไฟไปอยู่กับการรถไฟ
- ต้องแยกระบบการสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เป็นอิสระ
- ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบ ควบคุม และสอบสวนคดีได้ ไม่ใช่ตำรวจทำฝ่ายเดียว
- การสอบสวน ต้องกระทำในห้องสอบสวนที่จัดโดยเฉพาะ มีระบบการบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็น
- ยุบการรวมศูนย์ของกองบัญชาการทุกภาค เพื่อลดความซ้ำซ้อน และไม่จำเป็นในระบบการบังคับบัญชา
- ต้องกระจายตำรวจท้องที่ออกไปให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานท้องที่ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
- การแต่งตั้ง โยกย้ายตำแหน่ง ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม
- การเปรียบเทียบปรับในความผิดจราจรหรือความผิดอื่นๆ ต้องขึ้นเป็นอำนาจของตุลาการ ตามดุลยพินิจของศาล และต้องยกเลิกเงินรางวัลค่าปรับ
ขณะที่ ธานี วรภัทร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เมื่อร่างเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่ชั้นสภา ซึ่งตอนนี้มีการโต้เถียงในเรื่องคำนิยามค่อนข้างเยอะ ซึ่งตนมองว่า ต้องใช้ความร่วมมือจากสหวิชาชีพมาทำให้กระจ่าง
ธานี ให้ความเห็นอีกว่า องค์กรตำรวจเป็นหน่วยงานที่ควรทบทวนการทำงานมาตั้งนานแล้ว ซึ่งตำรวจเป็นตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำให้องค์กรตำรวจปลอดจากอำนาจทางการเมือง เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซง
“ก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ เราดูข่าวตามโทรทัศน์ เห็นข่าวเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานประชาชน เราดูก็รู้สึกเฉยๆ ยังเคยคิดว่า มันแปลกตรงไหน ทั้งที่ความจริงมันไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่เรากลับปล่อยมันเป็นเรื่องปกติ เราเพิกเฉยกับสิ่งเหล่านี้ และปล่อยให้มันมาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา” สมศักดิ์ กล่าวกับเราหลังจากสิ้นสุดการเสวนา
จนวันหนึ่ง เรื่องที่เคยคิดว่าไกลตัวกลับเกิดขึ้นกับลูกชายของตัวเอง สมศักดิ์จึงต้องเริ่มทบทวนว่า สิทธิของประชาชนมีอะไรบ้าง และเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทุกวันนี้ เวลาที่เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง สมศักดิ์ก็ยังคิดว่า ทุกคนได้ฟังคงจะยังไม่รู้สึกอะไรมากนัก เพราะผู้คนจะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว