เชื่อหรือไม่ว่า..
หนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่ ผ่านข้อเสนอทะลุเพดานและการชุมนุมทั่วประเทศหลายร้อยครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน เกิดจากการ ‘หายตัวไป’ ของนักกิจกรรมไทยคนหนึ่งที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงในวงกว้างมากนัก แถมสถานที่เกิดเหตุยังอยู่ในกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย.2563 ไม่ใช่ที่ไทย
‘ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 38 ปี ถูกชายฉกรรจ์พาตัวขึ้นรถตู้สีดำไปจากหน้าที่พักอาศัยในกรุงพนมเปญ ระหว่างคุยโทรศัพท์กับพี่สาว
วันเฉลิมเป็นนักกิจกรรมไทยที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านแล้วหายตัวไปรายที่ 9 นับแต่ คสช.รัฐประหารในปี 2557
แต่ทั้งที่การหายตัวไปของเขาและนักกิจกรรมรายอื่นๆ ถูกเชื่อมโยงไปถึงบุคคลบางกลุ่ม แทนที่รัฐบาลจะเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้เกิดความกระจ่าง กลับมีท่าทีค่อนข้างนิ่งเฉย ไม่กระตือรือร้น และไม่ดำเนินการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งที่ ‘สิทธิมนุษยชน’ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่โลกยุคปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ให้ความสำคัญ
ปัญหาเรื่องการ ‘อุ้มหาย’ โดยอำนาจมืดบางอย่าง หรือโดยฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐบางราย จึงถูกหยิบมาพูดหลายครั้งในเวทีการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ป้าย #saveวันเฉลิม จำนวนมากถูกชูขึ้น แกนนำผู้ชุมนุมซึ่งอายุห่างจากวันเฉลิมนับสิบปีพูดถึงชะตากรรมของเขา เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งติดตามตัวกลับนำเขากลับคืนสู่ครอบครัวอีกครั้ง
ความจริงปัญหาการอุ้มหาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย สามารถย้อนไปได้แสนไกล ทั้งกรณีหะยีสุหลง โต๊ะมีนา, ทนง โพธิ์อ่าน, สมชาย นีละไพจิตร, บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ฯลฯ
หลายกรณี มีพยานหลักฐานที่โยงไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐบางคน
แต่น้อยครั้งมากที่จะนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐไปพิสูจน์ความยุติธรรมในชั้นศาลได้
แม้ว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยจะไปลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ตั้งแต่ปี 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disapperance – ICPPED) ตั้งแต่ปี 2555
แต่การผลักดันร่างกฎหมายออกมา เพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับให้เกิดผลทางปฏิบัติในไทยได้จริง ก็ต้องรออีกหลายปีต่อมา ..และได้แค่ ‘เกือบ’ เท่านั้น
เพราะร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย’ ซึ่งผ่านการเห็นชอบในวาระแรก จากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2561 และผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) มาแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช. วาระสองและสามเท่านั้น
แต่ร่างกฎหมายนั้นก็มาไม่ทันกาล เพราะ สนช.ต้องพ้นจากหน้าที่ไปเสียก่อน หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค.2562
แม้รัฐบาลชุดต่อมาภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดิม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาต่อไป แต่ในเวลาต่อมา กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ก็ขอถอนร่างกฎหมายนี้ออกมาช่วงปลายปี 2562
ยธ.เสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฉบับใหม่ กลางปี 2563 ก่อนส่งไปให้สภาฯ พิจารณาต่อ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่วันเฉลิมถูกอุ้มหายไปที่กัมพูชา
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระทรวงการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกับเสนอร่างกฎหมายนี้ด้วย เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาชาติที่เสนอร่างของตัวเอง
กลายเป็นว่า ในขณะนั้นมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย มากถึง 4 ฉบับ
แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ก็ค่อยๆ หายไปจากการรับรู้ของสังคม จนสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมต้องช่วยกันสร้างแคมเปญ ‘กฎหมายอุ้มหายต้องไม่ถูกทำให้สูญหาย’
กระทั่ง มาเกิดกรณีโจ้ถุงดำ ในเดือน ส.ค.2564 มีคลิปบันทึกเหตุการณ์ตำรวจระดับผู้กำกับของ สภ.เมืองนครสวรรค์ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิตถูกส่งต่อกันทั่วในโลกออนไลน์ ความตื่นตัวเรื่องปัญหาการอุ้มหาย-ซ้อมทรมานจึงกลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนอีกครั้ง
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในช่วงเวลาดังกล่าวพอดิบพอดี ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบในวาระแรกรับหลักการ พร้อมกับตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 25 คน ขึ้นมาพิจารณาต่อ
เหตุที่เราปูพื้นเสียยืดยาว เพราะต้องการบอกว่า การจะผลักดันร่างกฎหมายที่อาจกระทบต่อผู้มีอำนาจ กระแสสังคมและความสนใจของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ
ซึ่งถึงตอนนี้ ความสนใจต่อร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย เริ่มซาลงไปตามวันและเวลาที่ล่วงเลย
The MATTER นั่งคุยกับ ‘พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ’ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวความขัดแย้งกับปัญหาการอุ้มหาย-ซ้อมทรมานมายาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นหนึ่งใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ว่ากฎหมายนี้สำคัญอย่างไร? ทำไมถึงต้องมีกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี่โดยเฉพาะ? และจะทำอย่างไร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาใช้ได้จริง?
ทำอย่างไร ให้เจ้าหน้าที่รัฐเกรงกลัวกฎหมาย และไม่ไปทำอาชญากรรมเช่นนี้กับใครอีก
เพราะคนที่ถูกทรมาน มีเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตใจ
ส่วนคนที่ถูกอุ้มหาย ก็มีคนที่รักรอคอยการกลับมาของเขาอยู่
อยากให้เล่าถึงความเป็นมาของกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย
ร่าง พ.ร.บ.นี้เคยเข้า สนช. เมื่อปี 2561 เกือบจะผ่านแล้ว แต่ก็ยุบสภาไปเสียก่อน แต่เราก็ดีใจที่มันไม่ผ่านนะ เพราะเนื้อหายังไม่ดี
จากนั้น เราก็พยายามชวนองค์กรต่างๆ มาคุย หยิบเอาฉบับที่ยังไม่ผ่าน ไปคุยกับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ตอนนั้นเป็นประธาน กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ก็รับทันที เพราะเขากำลังดูอยู่ว่าจะทำ กฎหมายอะไรให้ประชาชนได้บ้าง แต่ช่วงแรกๆ ยังไม่มีมติ เพราะ อ.ปิยบุตรมาบอกว่าขอไปคุยใน กมธ.กฎหมายก่อน เพราะมันมีตัวแทนมาจากหลายพรรค
จนวันสุดท้าย ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แค่วันเดียว กมธ.กฎหมายก็ขอให้เราไปชี้แจง ก็ชวนผู้เสียหายหลายๆ คนไปด้วย ส.ส.ที่อยู่ในห้องประชุมฟังเสียงผู้เสียหาย ทุกคนจึงมีมติร่วมกันให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้
แต่หลังจาก อนค. ถูกยุบ อ.ปิยบุตรโดนตัดสิทธิทางการเมือง ก็ไม่มีใครดันต่อ ตำแหน่งประธาน กมธ.กฎหมายก็ว่างลง พอคุณสิระ เจนจาคะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขึ้นมาเป็นก็ผลักดันต่อ จนออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ฉบับของ กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาต่อไป
ซึ่งร่างกฎหมายนี้ถูกผลักดันมานานแล้ว
ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2549 ที่ไปลงนามในอนุสัญญา CAT เข้าใจว่า ยธ.ตอนนั้นถูกบอกว่าจะต้องทำอะไรให้ภาพลักษณ์รัฐบาลดีขึ้นก็ลงไปลงนามในอนุสัญญานี้ จึงไปหยิบเรื่องซ้อมทรมานมา ซึ่งก็ดี เพราะเราค่อนข้างล้าหลัง ประเทศอื่นๆ ในโลกเซ็นกันไปหมดแล้ว เหลือแค่ชาติในอาเซียน
พอไปเซ็นกลับมา อนุสัญญานี้บอกว่าต้องทำให้ ‘การทรมาน’ เป็นความผิดทางอาญา ที่ไม่ใช่ความผิดทางอาญาตามปกติ เช่น ทำร้ายร่างกาย เพราะมันมีองค์ประกอบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ด้วย ที่กลไกปกติไปทำอะไรเขาไม่ได้ จึงต้องมีข้อหาที่มีลักษณะพิเศษ คือมุ่งหมายจะเอาเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็น ‘ข้อหาเฉพาะ’ ที่ประเทศไทยไม่เคยมี
มีคนแย้งว่า ความผิดเกี่ยวกับการทรมานก็มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) อยู่แล้ว ทำไมต้องไปออกเป็นกฎหมายใหม่
ใน ป.อาญา จะมีความผิดพวกทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วยเหนี่ยว ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ ..แต่จากประสบการณ์ ไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่าย ต้องออกแรงเยอะมากที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นจำเลยในคดีทำร้ายประชาชน
เพราะอะไร
เรื่องพยานหลักฐาน ใครจะไปหามาได้ การกระทำเกิดขึ้นในที่ลับ มีการปกปิด แถมผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ถ้าจะไปแจ้งความใครต้องไปแจ้งความในท้องที่นั้น ลองจินตนาการว่าถ้าผู้ต้องหาคดียาเสพติดในคดีโจ้ถุงดำไม่ตายจะไปแจ้งความที่ไหน ก็ต้องที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ แล้วใครเป็นผู้กำกับโรงพักนั้นอยู่
แต่ก็มีกลไกอย่าง ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. ที่มุ่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่
นี่แหละคือ ‘หลุมดำ’ เพราะตามปกติเวลาออกแบบกลไกอิสระเช่นนี้ มันน่าจะทำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น แต่ในความจริง พอกลไกมันถูกสร้างมาในระบอบที่ไม่ดี ก็เลยกลายเป็นเครื่องซักผ้า เอาไว้ฟอกความผิดให้กับเจ้าหน้าที่ถูกกล่าว ยกตัวอย่างมีคดีถุงดำปราจีนบุรี ผู้เสียหายไปร้อง ป.ป.ท. แต่ ป.ป.ท.ก็ไม่ชี้มูลตำรวจ โดยเชื่อคำให้การพยานคนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาว่า ไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีการทำร้ายกัน กว่าเราจะไปเจอเคสก็ 6 ปีหลังเกิดเหตุ จึงรื้อคดีมาช่วยเหลือ แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ป.ป.ท.ก็ไม่เปลี่ยนมติแล้ว เราจึงต้องนำไปฟ้องศาลแทน โดยฟ้องพยานรายนั้นไปด้วย
นี่คือคำตอบว่า ทำไมต้องมีกฎหมายเฉพาะออกมา เพราะอะไรที่เกี่ยวกับการทรมานหรืออุ้มหาย มันมีความยากมากๆ ที่จะใช้กลไกปกติเอาตัวคนผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาลงโทษ
กฎหมายใหม่จะช่วยแก้ปัญหาอย่างไร
หนึ่ง ถ้าประชาชนถูกควบคุมตัวทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะกักขัง คุมตัว เอาไปเป็นพยาน หรือกระทั่งค้นตัว ตรวจบัตร ตรวจยานพาหนะ จะให้มีการจดชื่อ จดบันทึก จดสถานที่ที่ถูกพาตัวไป ทุกขั้นตอนต้องถูกบันทึกเอาไว้ให้ตรวจสอบได้
สอง ในร่าง พ.ร.บ.นี้ ถ้ายึดเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด (สำหรับพรเพ็ญคือฉบับของ กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร) จะกำหนดว่า การจับกุมตัวทุกขั้นตอนจะถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานอื่น ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจจับกุม
สาม เปลี่ยนภาระการพิสูจน์ เพราะโดยปกติเราจะต้องเป็นคนพิสูจน์ว่าเราบาดเจ็บจากการกระทำของคุณ แต่ในร่าง พ.ร.บ.นี้จะเปลี่ยนไปในแง่ว่า ถ้าเราบาดเจ็บ ถูกทำร้าย ถูกปฏิบัติงานอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นเพราะคุณ คุณก็ต้องพิสูจน์มาว่าไม่จริงอย่างไร คือโยนภาระกลับไปยังฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ
สี่ ให้ใช้ระบบไต่สวนในศาลอาญาแผนกคดีทุจริตด้วย และให้อัยการเป็นเจ้าของสำนวน ที่สามารถควบคุมการค้นหาความจริงได้
ห้า นอกจากการปราบปราม ยังมีเรื่องของการป้องกันด้วย โดยร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้มี ‘การตรวจเยี่ยม’ ที่เป็นอำนาจของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ที่มีภาคประชาชนมากกว่าภาคราชการ และต้องมีความเป็นมืออาชีพ รู้และเข้าใจเรื่องบาดแผลทางจิตใจ เรื่องปัจจัยต่างๆ ในการคุ้มครองสิทธิที่อาจต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม
หก อีกอันที่สำคัญ คือเรื่องการเยียวยา เพราะปัญหาบางอย่างที่สั่งสมมาเช่นเรื่องการบังคับให้สูญหาย มันไม่มีวันจนสำหรับญาติถ้าเราไม่พบชะตากรรม โดยจะมีการเยียวยา 2 แบบ หนึ่ง ด้านความยุติธรรม โดยกรรมการตามร่าง พ.ร.บ.นี้จะตีความเรื่องอายุความกับความผิดต่อเนื่อง เพราะมันยังหาตัวไม่เจอ มีข้อเท็จจริงแค่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวไป และยังไม่ถูกนำตัวกลับคืนสู่สังคม จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนจนกระทั่งพบชะตากรรม โดยจะกำหนดนิยามของคำว่า ‘ผู้เสียหาย’ ให้กว้างกว่ากฎหมายอาญาปัจจุบัน และสอง การฟื้นฟูเขาให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เพราะคนที่ถูกซ้อมทรมาน สิ่งที่เขาสูญเสียยังมีเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (dignity) ด้วย หลายคนมี trauma เป็น PTSD จะทำยังไงให้เขาคืนสู่สังคมได้และได้ศักดิ์ศรีกลับคืนมา
หลายคนพูดว่านี่คือการกำหนดความผิดย้อนหลัง แต่จริงๆ ไม่ใช่ เป็นการขยายระยะเวลาค้นหาความจริงให้มันกว้างขึ้น เพื่ออะไร เพราะคดีเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับระบบหรือระบอบของบุคคลบางกลุ่ม และมีลักษณะทางการเมือง ซึ่งถ้าระบอบยังไม่ยุติไป เช่น อาร์เจนตินา กัวเตมาลา มันจะไม่มีทางสืบสวนสอบสวนคดีได้เลย เพราะตัวระบอบก็จะช่วยเหลือกันอยู่
ทั้งนี้ การเยียวยาที่ดีที่สุด คือไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.นี้ จะให้อำนาจกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายเสนอเรื่องการปฏิรูปในหลายๆ แบบ เช่น ถ้ามันเกิดขึ้นที่ค่ายทหาร ราชทัณฑ์ หรือสถานีตำรวจ ก็สามารถปฏิรูปกลไกตรงนั้นไม่ให้มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก
ร่างกฎหมายนี้ก็ถูกผลักดันมายาวนานนับสิบปีแต่ก็ไม่เคยสำเร็จ สมัย สนช.ก็เกือบจะผ่านแต่ก็ไม่ผ่าน แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้จู่ๆ การผลักดันร่างกฎหมายนี้คืบหน้า สภาผู้แทนราษฎรถึงหยิบขึ้นมาพิจารณาและเห็นชอบวาระแรกไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564
นับแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (ลงนามปี 2550) ก็มีความพยายามแก้กฎหมายประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เพิ่มขึ้นไปมาตราเดียว ซึ่งพอไปรับฟังความเห็นหลายคนก็บอกว่าไม่เพียงพอเพราะมันสัมพันธ์กับกฎหมายอื่นๆ ด้วย ขอให้ออกมาเป็นกฎหมายแยก ตอนนั้น ไทยยังไม่ไปลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการอุ้มหาย (ลงนามปี 2555) หลังจากนั้น รัฐบาลก็ถูกทางสหประชาชาติตำหนิมาเรื่องปัญหารการอุ้มหายเพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ เคสทนายสมชายและบิลลี่ ก็เลยเปลี่ยนท่าทีว่าต้องออกกฎหมายแยก ที่นำ 2 อนุสัญญาคือทรมานและอุ้มหายมารวมกัน แยกมาเป็นกฎหมาย stand alone โดยการริเริ่มของ ยธ. ถือเป็นชาติแรกๆ ที่มีกฎหมายลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะเราดี แต่เพราะเราช้า ทั่วโลกเขาออกกฎหมายไปด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน บ้างก็ออกกฎหมายใหม่ บ้างก็แก้ไขกฎหมายเดิม แต่ไม่มีใครเอา 2 ข้อหานี้มารวมกัน
จากนั้นก็เกิดกรณีของวันเฉลิมในเดือน มิ.ย.2563 แล้ว ส.ส.จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไปผลักดันร่างกฎหมายนี้ในอนุกรรมาธิการของ กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร จนเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ได้สำเร็จ มี ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน 101 คนร่วมกันลงชื่อ ก็เสนอไป ประกบกับร่างของ ยธ. แล้วโชคดีที่มี ส.ส.บางคนใส่ใจ อย่างอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ที่ติดตามทวงถามอยู่เรื่อยๆ
กระทั่งมาเกิดกรณีโจ้ถุงดำ ในเดือน ส.ค.2564 ซึ่งมาใกล้ๆ กับที่นายกรัฐมนตรีส่งจดหมายมายังประธานสภาฯ ขอให้บรรจุร่างกฎหมายนี้เข้าพิจารณาในระเบียบวาระได้ โดยจดหมายมาวันที่ 17 ส.ค.2564 แต่กรณีโจ้ถุงดำ มีคลิปหลุดออกมาวันที่ 25 ส.ค.2564 น่าจะเพราะคลิปนี้ไปเข้าหูเข้าตานายกฯ มาก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ เลยมีช่องให้รัฐบาลทำอะไรบางอย่างเพื่อจะไปชี้แจงกับสหประชาชาติได้ โดยปัดภาระไปที่สภาฯ ว่ารัฐบาลทำดีที่สุดแล้ว
เท่าที่ฟัง คือมีหลายเหตุการณ์ผสมกัน ไม่ใช่แค่กรณีโจ้ถุงดำอย่างเดียว
ใช่ แต่กรณีโจ้ถุงดำมาเป็นสปริงบอร์ด
จริงๆ เรื่องการซ้อมทรมานมีมานาน แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นใจคนที่ถูกจับ กระทั่งคลิปโจ้ถุงดำถูกเปิดเผยออกมา ก่อนหน้านี้หลายคนพูดกันว่าจะให้ไปกราบผู้กระทำผิดให้เขาพูดออกมาเหรอ พวกตำรวจจะพูดกันแบบนี้ตลอด
มันเหมือนกับบรรทัดฐานทางสังคมยกสูงขึ้นนิดนึง แต่ก็ไม่รู้จะอยู่ไปถึงเมื่อไร เลยบอกน้องๆ ในออฟฟิศว่าช่วงนี้พี่ขอทุ่มเททำเรื่องนี้ก่อน ขอลุยให้มันสุด
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาอยู่ตอนนี้ใช้ร่างของ ยธ.เป็นร่างหลัก ร่างนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ในมุมมองของคุณพรเพ็ญ
มีหลายประเด็น เรื่องนิยามของผู้เสียหายที่ไม่ชัดเจน, การสอบสวนที่ยังไม่เป็นอิสระ ร่างนี้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งส่วนตัวมองว่า DSI มีความสัมพันธ์กับตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก เลยเหมือนเป็นส่วนขยายของตำรวจ, เรื่องอายุความที่ไม่ได้เขียนอะไรไว้ จึงใช้ตาม ป.วิอาญา สูงสุด 20 ปี ต่างกับร่างของ กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎรที่เขียนไว้สูงสุดคือไม่มีอายุความ แล้วก็เรื่องสัดส่วนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายที่มาจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ที่เราคิดว่าไม่เหมาะสมเพราะกฎหมายต้องตั้งหลักว่าทำขึ้นมาเพื่อ ‘ตรวจสอบอำนาจรัฐ’
จริงๆ ยังมีอีกอันที่สำคัญมาก อยากผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ไม่รู้จะสำเร็จไหมคือการตัดอำนาจของศาลทหาร ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.ออก เพราะมันเป็นหลุมดำอย่างที่ว่า ไม่เช่นนั้นก็อ้างว่าการอุ้มหายหรือซ้อมทรมานเป็นการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบตาม ป.อาญา มาตรา 157 เพื่อให้เข้าไปอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช.อีก
เรื่องพวกนี้ต้องเจรจาต่อรองในที่ประชุม กมธ.วิสามัญ มีเรื่องไหนที่เราคิดว่าต้องผลักดันให้แก้ไขให้ได้ จะยอมตามร่างของ ยธ.ไม่ได้
เรื่องอำนาจสอบสวนเพราะมันสำคัญมาก มันจะต้องเป็นอิสระจริงๆ ไม่เช่นนั้นก็เอาเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้กระทำความผิดในคดีไม่ได้ รวมถึงการแจ้งการจับกับหน่วยงานอื่น เช่น ฝ่ายปกครอง ไม่เช่นนั้นการจับก็ถือว่าไม่ชอบตั้งแต่ต้น แต่ไม่รู้ว่าจะไปได้แค่ไหน มันก็ต้องทำงานไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดมาตรฐานใหม่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อีกเรื่องคือการตรวจเยี่ยมที่ปัจจุบันบางสถานที่ไม่มีใครเข้าไปตรวจเยี่ยมเลย เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซอยสวนพลู มีใครเข้าไปตรวจได้บ้าง
อะไรคือสิ่งที่โหดร้ายที่สุด สำหรับอาชญากรรมประเภท ‘อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน’
(หยุดคิด) ทุกครอบครัวที่มีคนถูกซ้อมทรมาน ถูกอุ้มหาย มันมีเด็ก มันทิ้งความเจ็บปวดไว้ลึกและยาวนานมาก เราทำงานกับครอบครัวผู้ถูกอุ้มหาย ทุกครอบครัวจะมีความรู้สึก guilty ว่าทำไมไม่ทำแบบนั้นในวันนั้น เช่น ก่อนวันที่พ่อหายก็รู้ว่ามีรถตาม ทำไมเราไม่ขว้างกระป๋องนมจะได้ไปโรงพักด้วยกัน, หรือยังโทรศัพท์ไปเบอร์คนที่หายไป เพราะวันที่ถูกอุ้มหาย เขาโทรมาแล้วไม่ได้รับ, บางครอบครัวก็บอกว่าจะทำแกงที่คนถูกอุ้มชอบไปเรื่อยๆ เผื่อกลับมาเมื่อไรจะได้กินได้เลย หรือบางคนเห็นพ่อถูกอุ้มแล้วทิ้งรองเท้าหลุดข้างหนึ่ง ก็เก็บรองเท้าข้างนั้นไว้รอวันที่พ่อกลับมา
เหตุการณ์เหล่านี้มันสร้างแผลลึกให้กับครอบครัวและพวกเราที่ไปรับฟังมา ซึ่งไม่ใช่ว่าพวกเขาจะพูดให้ฟังบ่อยๆ จะต้องไปอยู่กับเขานานๆ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่ปลอดภัยด้วย เพราะคนที่จะอุ้มหายได้ ต้องมีอำนาจในการปกปิด เช่น ตำรวจ ทหาร แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาทำจะเจอหมด คดีเอกยุทธ อัญชันบุตร, หมดที่ฝังแรงงานพม่าไว้ จะถูกบีบจนเจอ แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ทำ ยังไงก็ไม่เจอ ยิ่งเป็นคดีการเมือง
คนตายมันมีหลายสาเหตุ แต่การบังคับให้สูญหายมันเหนือกว่าการฆ่า มันคือปกปิดพยานหลักฐาน แล้วทำให้หายไปเลย ซึ่งคนปกติธรรมดาจะทำไม่ค่อยได้
ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงชอบใช้วิธีการแบบนี้
เพราะมันมีกลไกที่จะปกปิดความผิดสำเร็จให้ไง เช่น การเอาศพไปทำลาย มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ เอาแค่ทำขวดน้ำปลาแตก มันทั้งเหม็น ทั้งเลอะเทอะ แล้วถ้าเป็นศพมนุษย์ล่ะ ไม่ง่ายที่จะกำจัดไปโดยไม่มีร่องรอยเลย
เราพยายามบอกว่า ถ้ามี พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายมาใช้จริง มันต้องฟื้นคดีได้ อย่าไปตีความว่าฟ้องซ้ำไม่ได้ ถ้ามันมีหลักฐานการบังคับให้สูญหาย ต้องถือว่ามีหลักฐานใหม่ แต่อันนี้ต้องไปตีความกัน และอยากให้มีคดีขึ้นสู่ศาลเป็นบรรทัดฐานไว้
เท่าที่ทำงานด้านนี้มานับสิบปี การอุ้มหายและซ้อมทรมานส่วนใหญ่ เป็นความผิดเชิงบุคคล เชิงองค์กร หรือเป็นปัญหาของโครงสร้างรัฐไทย
ทั้งหมดเลย มีหลายแบบ แต่สิ่งที่มันเอื้อคือระบอบ ระบบราชการนี่แหละ ที่ช่วยกันปกปิด ซ่อนเร้น จริงๆ มีไม่กี่คนนะ อย่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนลงมือจริงๆ ก็มีไม่ถึงสิบคนนะ ชื่อมีไม่กี่จ่าเอง แล้วเขาก็จะถูกใช้ ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลแน่นอนมันคือระบบ แต่บางกรณีอาจจะเป็นเรื่องตัวบุคคล เช่น อดีตผู้กำกับโจ้ คือระบอบสนับสุนเขา แต่เขาเป็นเขานั่นแหละถึงทำแบบนั้นได้
ถึงวันนี้ คิดว่ามันจะเปลี่ยนอะไรได้บ้างไหม
สิบกว่าปีที่ผ่านมามันยากนะ แต่ 2 ปีหลัง งานง่ายขึ้นเพราะ เพราะมันมีแรงสนับสนุนจากสังคมเยอะมากๆ จากการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย โดยมีเด็กๆ ที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เวลาไปฟ้องน้องๆ ปราศรัยเขาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งนั้น แต่ละคำ แต่ละประโยค มันคือสิ่งที่เราพูดมาตลอด แต่มันไม่ค่อยโดนตีโป่งให้มันดังขึ้นมา
เรื่องร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ถ้าพูดกันตรงๆ มันไปข้างหน้าได้ด้วยกระแส แต่ตอนนี้กระแสเริ่มซาไปแล้ว คาดหวังแค่ไหนว่ากฎหมายนี้จะถูกผลักดันจนออกมาใช้ได้จริง
ก็คงต้องหวังพึ่งสื่อมวลชนด้วย สื่อฯมีหน้าที่ทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยกันแบบไม่หยุดยั้ง ถ้าสื่อฯกับผู้เสียหายยังยืนหยัดอยู่ เช่น พี่เจน (สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม) ที่ออกมาพูดเรื่องร่าง พ.ร.บ.นี้ได้อย่างชัดเจนในหลายๆ มิติ คือถ้ายังมีโมเมนตัมอยู่ ยังไงกฎหมายนี้ก็ต้องผ่าน
แต่ถ้ามันถูกปัดตกไป หรือถูกทำให้ช้า ไม่เกิดขึ้นจริงได้ เพราะใคร ไม่ใช่เพราะเรา ไม่ใช่เพราะสังคม แต่มันคือระบอบที่จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการซ้อมทรมาน ถูกกระทำแบบไร้มนุษยธรรม หรือถูกทำให้สูญหาย
ดังนั้น ถ้ามันไปหยุดอยู่ที่ไหน สังคมก็ต้องประณามที่นั่น แล้วทุกคนก็ต้องรู้ว่า ตัวเองได้ทำหน้าที่ของตัวเองดีพอแล้วหรือยัง แล้วเราก็จะพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด รวมทั้งการช่วยญาติที่เขาเฝ้าดูอยู่ แม้เขาจะไม่ได้ออกมาพูดเหมือนพวกเรา แต่เขาก็เฝ้าดูอยู่