ตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 รอบแรก มีหลายสายงานที่เป็นอันต้องปิดตัวลง ไม่ใช่แค่เจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบ พนักงานตัวเล็กๆ ในกิจการนั้นก็ได้รับผลกระทบไปไม่ต่างกัน ระลอกต่อมา จนมาถึงระลอกล่าสุด มีทั้งกิจการที่ยังประคับประคองกันเรื่อยมา และมีทั้งกิจการที่ล้มหายตายจากกันไปนับไม่ถ้วน
การจ้างออก ถูกเลิกจ้าง จึงเป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมานี้ จากการปิดตัวลงของกิจการต่างๆ หลายที่พนักงานได้เงินชดเชย ได้ค่าจ้างล่วงหน้า แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้อะไรมาเลยแม้แต่เงินเดือนเดือนนั้น ทั้งที่จริงแล้ว หากมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ออกไป โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกันไปตามแต่กรณี
หากใครประสบปัญหานี้อยู่ เรามากางพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานกันดูว่า กรณีของเรานั้นเข้าข่ายได้รับเงินชดเชยในข้อไหนบ้าง
ก่อนอื่น มาเริ่มต้นจากนายจ้างกันก่อน หากนายจ้างจะบอกเลิกจ้างพนักงาน คือไม่ให้เขาทำงานกับเราอีกต่อไปแล้ว ต้องบอกล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจะมีผลในการเลิกจ้างเป็นรอบการจ่ายค่าจ้างครั้งถัดไป หมายความว่าคำสั่งนี้จะมีผลเมื่อถึงรอบการจ่ายเงินครั้งหน้า
แต่ถ้านายจ้างเซอไพรส์ ยื่นซองขาวแบบไม่ทันตั้งตัว นายจ้างต้องจ่าย ‘สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า’ ให้กับพนักงานเป็นจำนวนตามรอบการจ่ายค่าจ้าง เทียบง่ายๆ ก็คือบวกค่าที่บอกกะทันหันไปให้เป็นเงินเดือนอีกเดือนนึงนั่นเอง
แล้วทีนี้การบอกเลิกจ้างของนายจ้างเนี่ย หากลูกจ้างไม่ได้ทำอะไรผิด แค่ไม่อยากร่วมงานกันต่อแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยกันไป เงินชดเชยที่ว่านี้ คนละส่วนกับเงินเดือนที่จะต้องได้รับของเดือนนั้นๆ แต่กรณีที่ลาออกโดยสมัครใจ ผิดสัญญาบริษัท ทำความเสียหายแก่บริษัท หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง กรณีนี้นายจ้างสามารถให้ออกได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชย
แล้วคนที่ถูกเลิกจ้างอย่างกระทันหัน โดยที่ไม่ได้ทำผิดสัญญาใดๆ ของบริษัท ต้องได้เงินชดเชยเท่าไหร่บ้าง มาดูกัน
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
- ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
- ทำงานครบ 10 ปีขึ้น ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
- ทำงานครบ 20 ปี ขึ้นไปได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน
ลองมาดูตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น นาย ก. เงินเดือน 15,000 ทำงานบริษัทหนึ่งมา 7 ปี แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นายจ้างทนไม่ไหว ยื่นซองขาวให้ แจ้งล่วงหน้า 30 วัน ว่านับจากนี้ไป 30 วันไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ นาย ก. ก็จะเข้าข่าย “ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 8 เดือน” คิดเป็นเงิน 15,000 x 8 = 120,000 บาท อันนี้สำหรับค่าชดเชยนะ นาย ก. ก็ต้องได้เงินเดือน เดือนสุดท้ายตามปกติอยู่ดี แต่ถ้าหากนายจ้างทนไม่ไหว บอกให้นายก.ออกไปตอนนี้เลย ไม่ต้องรอ 30 วันแล้ว นายก.มีสิทธิ์เรียกค่าตกใจจากนายจ้างได้ เท่ากับเงินเดือนอีกเดือน
ปกติแล้วต้องได้วันสุดท้ายของการทำงาน แต่ถ้านายจ้างบอกเลิกจ้างกระทันหัน ก็ต้องพูดคุยตกลงกันว่าจะเป็นวันไหนอย่างไร ทีนี้เมื่อถึงเวลา แล้วนายจ้างมีท่าทีว่าจะเป็นนักบิดไม่จ่ายค่าชดเชย ก็มีโทษเช่นกัน
แม้จะถูกเลิกจ้างอย่างกระทันหัน แต่อย่าลืมเรียกร้องสิทธิ์ที่ควรจะได้ของเราให้ครบถ้วน นอกจากเงินชดเชยจากนายจ้างแล้ว ยังมีเงินจากประกันสังคมที่คอยช่วยเหลือคนว่างงานอีกด้วย อย่างน้อยเราจะได้มีเงินคอยประคับประคองเราในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ให้ผ่านพ้นไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒