หากกฎที่ใช้ไม่เหมาะสม เรายังควรก้มหน้าทำตามอยู่หรือไม่…
แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ต้องอาศัยกฏระเบียบ ข้อบังคับ ไปจนถึงระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ด้วยบริบทและเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป หากวันนี้ คุณค่าที่คนรุ่นใหม่ยึดถือไม่สอดคล้องกับแบบนิยมของคนรุ่นก่อน เราจะควรสยบยอมต่ออำนาจดั้งเดิมหรือควรเรียกร้องเพื่อสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง ณ ปัจจุบัน
ดูเหมือนว่าประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสถานศึกษายังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาทุกยุคทุกสมัย ไล่ตั้งแต่รายละเอียดที่ไม่ได้อยู่ในหนังสืออย่างระเบียบเครื่องแต่งกาย ทรงผม และรูปแบบการลงโทษ ไปจนถึงความรู้ซึ่งอยู่ในตำรา ทั้งเนื้อหา การตีค่าความสามารถด้วยเกรด และกระบวนการสอบเข้า
เหล่านี้ต่างส่งผลโดยตรงต่อเยาวชนของประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เด็กหลายคนต้องเผชิญกับความเครียด ปัญหาสุขภาพ และความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากการถูกปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความเป็นตัวเองและแรงกดดันจากชั่วโมงเรียนที่มหาศาลจนไม่มีเวลาค้นหาตัวเอง จนนำมาซึ่งแฮชแท็กเรียกร้องและการรวมตัวของเยาวชนที่ต้องการต่อสู้เพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าควรจะเป็น
บทความนี้ เราจึงทำการรวบรวม 6 ภาพยนตร์น้ำดีที่เล่าถึงพลังเล็กๆ ของครูและเด็กในรั้วโรงเรียน ที่อยากเปลี่ยนบ้านหลังที่สองของพวกเขาให้ดีขึ้น ซึ่งระหว่างรวบรวมก็แอบตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะหลายอย่างที่ปรากฏในหน้าจอก็ละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเราอย่างไม่น่าเชื่อ…
Dead Poets Society (1989)
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร ?”
นี่ไม่ใช่คำถามที่ตอบง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กไทยผู้อยู่ในระบบการศึกษาที่ตีกรอบความคิด และไม่เหลือเวลามากพอให้เด็กได้ลองค้นหาตัวเองเช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียนของเวลตัน โรงเรียนสำหรับเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยที่หล่อหลอมเด็กด้วยกฎระเบียบแบบเก่า สอนตามตำรา และให้ความสำคัญของระเบียบวินัยมาเป็นอันดับ 1 อย่างไรก็ดี การมาถึงของจอห์น คีตติง ครูผู้คิดนอกกรอบ ได้ช่วยกลุ่มเด็กๆ ผู้ไม่มีความฝันให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของชีวิต จนเหล่านักเรียนร่วมกันสร้างชมรมเพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่แต่ละคนสนใจ
กว่า 30 ปี ใจความหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยเก่าลงเลย โรงเรียนมากมายยังขัดเกลาเด็กด้วยวิชาการและความเข้มงวด จึงทำให้เด็กๆ ต่างมองหาใครสักคนที่จะเป็นดั่งคุณครูคีตติงในชีวิตจริงอยู่เสมอ เด็กยังต้องการใครสักคนที่กล้าชวนนักเรียนขึ้นไปยืนบนโต๊ะเพื่อสอนให้มองโลกในมุมที่แตกต่าง ยอมฉีกตำราเพื่อกระตุ้นให้เด็กค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในบทกวีแทนที่จะตีความตามหนังสือ และที่สำคัญที่สุดคือการย้ำเตือนว่าชีวิตทุกวินาทีต่างมีคุณค่า และจงเป็นวัยรุ่นที่ใช้เวลาแบบที่จะไม่มานั่งเสียดายในภายหลัง
‘Carpe Diem’ ภาษาละตินที่แปลว่า ‘จงฉกฉวยช่วงเวลาเอาไว้’ ยังคงเป็นประโยคกินใจที่แบบเรียนไทยอาจไม่เคยสอนเรา
3 Idiots (2009)
เมื่อรานโช ฟาร์ฮาน และราจู สามเพื่อนซี้คณะวิศวกรรมพนันกันว่า ใครจะประสบความสำเร็จมากกว่าในอีก 10 ปีให้หลัง ความบ้าพลังวายป่วงจึงเกิดขึ้นทันทีที่หนังพาเราย้อนกลับไปดูว่า ชีวิตนักศึกษาของทั้งสามคนเป็นอย่างไร
ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง 50 นาที ภาพยนตร์สัญชาติอินเดียเรื่องนี้ได้พาคนดูไปตั้งคำถามถึงภาคส่วนต่างๆ ของระบบการศึกษา เริ่มจากการตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า เด็กเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร วิธีการสอนที่เน้นการท่องจำยังจำเป็นจริงๆ หรือ ทำไมครูจึงต้องกดดันเด็กมากขนาดนั้น แล้วการวัดความสำเร็จของคนด้วยคะแนนสอบยังเป็นวิธีที่ตอบโจทย์อยู่หรือเปล่า…
แม้ชีวิตประจำวันของทั้งสามคนที่มาพร้อมฉากร้องเล่นเต้นรำตามสไตล์หนังบอลลีวูดจะดูวุ่นวาย เฮฮา ทว่าก็สอดแทรกไปด้วยบทสนทนาที่แทงใจคนไทยทั้งประเทศ และผู้ชมก็คงอยากลุ้นจนจบเรื่องว่า สุดท้ายแล้วอนาคตของทั้งรานโช ฟาร์ฮาน และราจูจะลงเอยอย่างไร
The Chorus (2004)
‘แรงมาก็แรงกลับ’ คือคติประจำใจของครูใหญ่แห่งโรงเรียนดัดสันดานฟองด์เดอเลตอง เมื่อเขาตัดสินไปแล้วว่าเด็กในโรงเรียนคือขยะสังคม เป็นเพียงชิ้นส่วนที่ไม่มีใครต้องการ แนวทางการเปลี่ยนสันดานของเด็กด้วยความรุนแรงจึงเป็นทางเลือกเดียวที่เขาใช้เสมอมา และดูเหมือนว่ามันก็ไม่เคยจะได้ผลเลยแม้แต่น้อย
จนกระทั่งวันหนึ่ง เคลมองต์ มาติเยอร์ อดีตนักดนตรีได้จับพลัดจับผลู สมัครเข้ามาเป็นครูแนะแนวคนใหม่ของโรงเรียน เคลมองต์เห็นต่างจากครูใหญ่ทุกประการ เขาไม่เชื่อว่าการทรมานร่างกายและความรู้สึกจะทำให้เด็กซนกลายเป็นคนดีได้ เขาจึงเลือกทำสิ่งที่ถนัดอย่างการก่อตั้งวงนักร้องประสานเสียงเพื่อพิสูจน์ว่า เสียงดนตรีคือวิธีขัดเกลาที่ดีกว่าการลงโทษ
การได้คลุกคลีกับนักเรียนในวงช่วยให้ทั้งคุณครูเคลมองต์และผู้ชมได้เข้าใจว่า ต้นตอของปัญหาไม่ใช่เด็ก เพราะสุดท้ายแล้วเยาชนแต่ละคนต่างเป็นผลผลิตของสังคมที่หล่อหลอมเขามา บางคนครอบครัวมีปัญหา บางคนถูกกระทำความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งนั่นทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งไม่เคยรู้จักความสุขที่แท้จริง และถ้าหากสถานที่อย่างโรงเรียนไม่ให้โอกาสและโอบอุ้มพวกเขา ใครเล่าจะช่วยให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคตได้
Roald Dahl’s Matilda the Musical (2022)
ภาพยนตร์มิวสิคัลอารมณ์ดีที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิคของโรอาลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) ว่าด้วยเรื่องราวของมาทิลดา เวิร์มวูด เด็กหญิงผู้ครอบครัวไม่ใส่ใจและไม่เคยให้ความอบอุ่น เธอใช้เวลาแต่ละวันไปกับหนังสือ จึงทำให้เธอกลายเป็นเด็กสาวที่เฉลียวฉลาดกว่าเด็กในวัยใกล้เคียง และนั่นก็ทำให้ทั้งพ่อและแม่ต่างคิดว่ามาทิลดาแปลกประหลาดจนต้องส่งเธอไปเรียนในโรงเรียนที่เคร่งครัดระเบียบวินัยเป็นพิเศษ
แม้เพื่อนร่วมห้องจะเป็นมิตร แถมครูประจำชั้นและบรรณารักษ์ที่มาทิลดาแวะไปอ่านหนังสือด้วยก็ใจดีกับเธอเสมอมา แต่ครูใหญ่ใจโหดของโรงเรียนครันเช็มฮอลล์กลับมองว่า มาทิลดาคือ ‘เด็กก้าวร้าว’ ที่สมควรได้รับการลงโทษ นำไปสู่สารพัดเรื่องราวสุดเพี้ยนของกลุ่มนักเรียนที่ต้องต่อสู้กับคุณครูผู้ไร้ความเข้าอกเข้าใจ
นอกเหนือไปจากความสนุกสนาน ไร้เดียงสา และจินตนาการที่ผู้สร้างตั้งใจถ่ายทอดแล้ว แก่นแท้ของ Roald Dahl’s Matilda the Musical คือการสื่อสารตรงไปยังผู้ชมว่าอย่าเผลอโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเราเคยเกลียด และก็อย่าลืมที่จะสนับสนุนให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือ ทำในสิ่งที่รัก และรู้จักตั้งคำถาม และที่สำคัญที่สุด หนังยังบอกกับทุกคนว่า แม้จะอ่อนประสบการณ์และไม่มีอำนาจ แต่เยาวชนของชาติก็สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นกำลังสำคัญได้หากเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดีพอ คำถามคือ ในวันนี้ เราได้สร้างสภาพแวดล้อมแบบนั้นให้พวกเขาและเธอแล้วหรือยัง
School of Rock (2003)
“ถามจริง เด็กไทยเรียนหนักไปรึเปล่า?” คงไม่มีใครคิดว่าการเดินเรื่องสุดติงต๊องใน School of Rock จะช่วยขยายความคำถามดังกล่าวให้กับผู้ชมได้
ย้อนกลับไปในปี 2003 ผู้กำกับผู้มีสไตล์เด่นชัดอย่างริชาร์ด ลิงก์เลเตอร์ (Richard Linklater) ตัดสินใจบอกเล่าชีวิตสุดฮาของดูอี้ ฟินน์ ร็อคเกอร์ตกอับที่บังเอิญเข้ามาจับงานสอนหนังสือในโรงเรียนประถมแบบงงๆ และบทเรียนที่เขาใช้ขัดเกลาลูกศิษย์ก็ต้องบอกเลยว่างงยิ่งกว่า!
เท้าความก่อนว่า โรงเรียนที่ดูอี้ไปสอนนั้นเน้นวิชาการแบบสุดกู่ ผู้ปกครองต่างหมายมั่นปั้นมือว่า ลูกหลานของตนจะต้องมีอนาคตอันสดใส ได้เรียนต่อมัธยมและมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำข้อสอบได้คะแนนเต็ม โดยไม่เคยถามเลยสักครั้งว่า สิ่งที่เด็กๆ ต้องการแท้จริงคืออะไร
อย่างไรก็ดี ดูอี้ที่รู้จักแค่เรื่องของวงร็อคได้เข้ามารื้อวิชาเรียนในหลักสูตรออกไปจนเกลี้ยง ดึงรอยยิ้มอันร่าเริงและความใฝ่ฝันที่ถูกปิดกั้นของเด็กออกมาผ่านการฟอร์มวงดนตรี เป็นการสะท้อนอย่างมีนัยสำคัญว่า เด็กๆ สามารถมุ่งมั่นกับการเรียนได้ แต่เวลาผ่อนคลายก็ต้องมีก็เช่นกัน ท่องตำรากับพักผ่อนต้องดำเนินไปอย่างควบคู่ โดยที่ครูกับผู้ปกครองต้องหาจุดกึ่งกลางให้เจอ และห้ามเผลอกดดันเด็กจนพวกเขาไม่มีความสุข
ไม่ใช่เด็กทุกคนที่อยากเป็นหมอ วิศวกร และทนายความ เด็กบางคนอาจจะอยากวิ่งตามความฝันในการเป็นนักดนตรี คำถามคือคุณเคยถามและรับฟังเขาจริงๆ หรือไม่
Sing (Mindenki) (2016)
นี่คือหนังสั้นจากประเทศฮังการี เจ้าของรางวัลออสการ์ในปี 2017 ที่จะท้าทายให้พวกเราตัดสินว่า ระหว่าง ‘ศักดิ์ศรีของเด็ก’ กับ ‘โรงเรียนได้หน้า’ อะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน
บางครั้ง คำพูดสั้นๆ ของครูก็อาจกลายเป็นปมในใจของเด็กคนหนึ่งไปทั้งชีวิต…อย่างที่รู้กันว่า ช่วงประถมปลายคือวัยที่เด็กจะได้ลองค้นหาตัวตน เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมทั้งแสวงหาการยอมรับ ดังนั้น การที่คนเป็นครูแสดงออกอย่างตั้งใจจนเด็กคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าหรือแปลกแยก ย่อมส่งผลต่อชีวิตในด้านอื่นๆ ของเด็กไม่มากก็น้อย
Sing หรือ Mindenki จะจับภาพไปที่ความอยุติธรรมซึ่งฝังรากลึกในวงนักร้องประสานเสียง แล้วถ้าหากวันหนึ่ง ความผิดปกตินี้ถูกรับรู้ร่วมกันทั้งในฝั่งคุณครูและนักเรียน แต่ละคนจะมีท่าทีและวิธีแก้ไขอย่างไร เด็กๆ จะสยบยอมเพื่อเป้าหมายหรือร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้อง
เราไม่อยากสปอยล์เรื่องราวไปมากกว่านี้ เพราะฉะนั้น หากใครมีเวลาสัก 25 นาที ก็สามารถเข้าไปรับชมหนังสั้น Sing (Mindenki) กันได้เลย
อ้างอิงจาก