สีผมที่สะดุดตาของหยก พร้อมกับการแต่งชุด ‘ไปรเวท’ น่าจะสร้างความขุ่นเคืองให้คนที่รักในระเบียบไม่น้อย
ข่าวอันอื้อฉาวของหยก—ธนลภย์นั้นไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เราจะได้ยินเรื่องเธอผ่านคดีอันไม่น่าพึ่งประสงค์จากกรณีมาตรา 112 มาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เธอถูกส่งเข้าศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปราณี ซึ่งเป็นสถานพินิจประเภทหนึ่ง และการพยายามเข้าเรียนต่อในโรงเรียนแห่งหนึ่งแต่กลับถูกปฏิเสธ ยิ่งทำเรื่องราวของหยกเข้มข้นขึ้นไปอีก
การแสดงออกทางร่างกายผ่านการย้อมสีผมฉูดฉาด การปฏิเสธชุดนักเรียน รวมไปถึงการปีนรั้วเข้าโรงเรียน ล้วนเป็นอากัปกิริยาที่ประท้วงและต่อต้านอำนาจของโรงเรียนและผู้บริหารอย่างตรงไปตรงมา การละเมิดกฎดังกล่าวจึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการต่อต้านของเธอที่ถูกมองว่าเป็นการทำลายระเบียบอันดีงามของโรงเรียน
วัฒนธรรมอำนาจและเผด็จการในโรงเรียน
เราคงไม่ได้มองว่าสิ่งนี้คือปัญหาของโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง เท่ากับนี่คือวัฒนธรรมอำนาจในโรงเรียนที่เติบโตมากับระบบราชการและรัฐเผด็จการตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาเป็นอย่างช้า เราไม่อาจแยกขาดระบบการศึกษาจากการเมืองได้เลย โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก่อนหน้าคือคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่มากับการปฏิวัติ 2475 ในเงื้อมมือเผด็จการและระบบราชการ เทคโนแครตการศึกษาได้วางแผนการศึกษาด้วยอิทธิพลแบบอเมริกัน เกิดแผนการศึกษาแห่งชาติขึ้นมาคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การขยายโรงเรียนนอกจากเพื่อให้การศึกษาแล้ว ยังสัมพันธ์กับการวางแผนให้โรงเรียนเป็นจุดเผยแพร่อุดมการณ์อนุรักษนิยม เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งในเขตชนบทและป่าเขาจึงวางพิกัดของโรงเรียนไว้ ในยุคเผด็จการมองโรงเรียนว่าเป็นสถานที่ประดุจโรงงานผลิตพลเมืองที่เชื่องและเชื่อฟัง เพื่อผลิตออกไปเป็นแรงงานที่จงรักภักดีต่อระบบทุน จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน พลเมืองที่พวกเขาต้องการจึงไม่ใช่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ หรือการรวมกลุ่มต่อรองเพื่อสังคมที่ดีกว่า แต่ในทางตรงกันข้ามสำหรับหลายคน โรงเรียนคือพื้นที่การสานต่อคอนเนกชั่นทางการเมืองและธุรกิจ เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของระบบเส้นสายและระบบอุปถัมภ์ที่ไม่แยแสว่า ทำไมสังคมถึงต้องการประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และเสรีภาพ ก็ในเมื่ออำนาจที่พวกเขามีก็เพียงพอแล้วที่จะใช้ชีวิตดีๆ ได้
ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ประเทศไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการมาหลายครั้ง สังคมประชาธิปไตยถูกคั่นด้วยอำนาจรถถังและการรัฐประหารที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเรื่อยมา ล่าสุดคือปี 2557 ที่กินเวลายาวนาน แต่ที่เป็นจุดสำคัญเลยก็คือปี 2515 หลังจากถนอม กิตติขจรรัฐประหารตัวเองและพยายามกระชับอำนาจ ได้ออกกฎหมายและระเบียบจำนวนมากที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ และยิ่งชัดเจนกับนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งจากจุดนี้ทำให้เกิดมายาคติว่าระเบียบทรงผมและชุดนักเรียนเป็นจารีตประเพณีที่เก่าแก่
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 เมื่อปี 2515 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการกำหนดรูปแบบและนิยามระเบียบวินัยแก่นักเรียนไทย กฎหมายฉบับนี้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมเด็กและนักเรียน พ.ศ. 2481 กำหนดระเบียบวินัยนักเรียนอย่างเคร่งครัดผ่านเครื่องแบบและการแต่งกาย ทั้งกำหนดโทษหากละเมิด จากนั้นก็ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2515 ตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 132 ได้กำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน โดยเฉพาะการ ‘เฆี่ยน’ หรือ ‘ตี’ ซึ่งใครหลายคนอาจไม่รู้ว่าการเฆี่ยนนั้นมีระเบียบกำกับไว้ด้วยนั่นคือ
“การเฆี่ยน ให้เฆี่ยนด้วยไม้เรียวเหลากลมเกลาผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.7 เซนติเมตรที่บริเวณก้นหรือขาอ่อนท่อนบนด้านหลัง ซึ่งมีเครื่องแต่งกายรองรับ กำหนดเฆี่ยนไม่เกินหกที โดยให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือครู อาจารย์ที่หัวหน้าสถานศึกษามอบหมายเป็นผู้เฆี่ยน ต้องกระทำในที่ไม่เปิดเผย และในลักษณะเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนให้เข็ดหลาบ ไม่ประพฤติชั่วและกลับตัวเป็นคนดีต่อไป”
การเฆี่ยนมีระเบียบการชัดเจน ทั้งขนาดไม้เรียว จุดที่ถูกทำโทษ กระทั่งยังไม่ใช่การลงโทษเพื่อประจานต่อหน้าคนอื่น หรือการลุด้วยโทสะแบบที่เราเคยเจอหรือที่เป็นข่าวกันมา แบบนี้ใครกันแน่ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ และยังไม่นับว่าสุดท้ายแล้วโทษการเฆี่ยนถูกนำออกไปตั้งแต่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2543 ทุกวันนี้การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีจึงถือว่าไม่มีระเบียบใดรองรับ
เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมโรงเรียนถึงยังใช้ความรุนแรงทางกายภาพโดยตรงกับนักเรียน อย่างการลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี ใช้แปรงลบกระดานเคาะไปที่นิ้วมือ ปาชอล์กใส่หัวนักเรียน การทำให้เจ็บปวดทางกายด้วยการสั่งให้ใช้แรงต่อร่างกายตัวเอง ตลอดจนการใช้แรงกดดันทางสังคม เพื่อลงโทษคนด้วยจิตวิทยาในการสร้างความเกลียดชังแบบที่กองทัพใช้ฝึกทหารเกณฑ์ ทั้งยังไม่นับการก่นด่านักเรียนอย่างหมูอย่างหมา ดังที่เราเห็นได้ทั่วไปในคลิปวิดีโอจากข่าว
นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยพิธีกรรมหน้าเสาธง การร้องเพลงชาติ การให้โอวาทหน้าเสาธงยามแดดร้อนเปรี้ยงหรือยามฝนพรำ ผ่านข้ออ้างว่าต้องการฝึกวินัยแก่นักเรียน ขณะที่ครูจำนวนหนึ่งหลบอยู่ในร่มไม้หรือใต้ชายคา และครูยังถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านพิธีกรรมไหว้ครู มากกว่าจะทำให้ครูเป็นคนที่นักเรียนไว้ใจ เข้าถึง และปรึกษาหารือได้ แต่ในทุกวันนี้เรากลับสั่งสอนให้นักเรียนต้องคลานเข่าเข้าไปพบครูที่นั่งอยู่บนโต๊ะ หรือสร้างความภาคภูมิใจให้นักเรียนจากการที่โรงเรียนได้รางวัลประกวดมารยาท ทั้งหมดนี้เป็นแนวปฏิบัติที่เราพอจะเดาได้ว่าเขาให้ความสำคัญแก่อะไรมากกว่ากัน
โรงเรียนที่แสดงอำนาจเช่นนี้ บางคราก็มีลักษณะไม่ต่างไปจากเรือนจำที่ขังเด็กๆ ของพวกเราไว้ ครูและผู้ปกครองจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการรักษาวินัยผ่านการแต่งกายและทรงผม เป็นสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของนักเรียนได้ แต่พวกเขาอาจไม่ทันคิดว่าบางอาชีพอย่างทหาร ตำรวจ และพระสงฆ์ ที่แต่งกายถูกระเบียบเป๊ะๆ ยังกลายเป็นข่าวอื้อฉาวในพาดหัวของหนังสือพิมพ์ สื่อโซเชียลมีเดีย หรือรายการข่าวในโทรทัศน์ยามเช้าบ่อยแสนบ่อยได้เลย
ที่แย่ไปกว่านั้น บางครั้งหน้าเสาธงก็คล้ายกับลานประหาร เพราะเป็นสถานที่ใช้ลงทัณฑ์ประจานนักเรียนให้ได้อับอายต่อหน้าสาธารณะ ซึ่งหลายคนมักลืมไปแล้วว่าเคยมีข่าวนักเรียนฆ่าตัวตายจากความอับอายที่ถูกประจานด้วย
แม้บางครั้ง ครูและผู้บริหารก็รู้ทั้งรู้ว่าการลงโทษทางกายนั้นสามารถฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายได้ แต่โรงเรียนก็ยังตกเป็นข่าวความรุนแรงอยู่เสมอมา กลายเป็นครูและโรงเรียนนั่นเองที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นี่ยังไม่ต้องพูดไปถึงเรื่องที่อาจจะซับซ้อนเกินความเข้าใจของผู้บริหารโรงเรียนบางโรงเรียนอย่าง ‘สิทธิมนุษยชน’
นักเรียนกับการต่อต้านอำนาจ
หยกไม่ใช่กรณีแรกที่ออกมาต่อสู้เรื่องทรงผม แต่เราเคยถกเถียงเรื่องนี้อย่างกว้างขวางและอย่างช้าไปแล้วในปี 2556 ที่เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลไปออกรายการเจาะข่าวเด่นของสรยุทธ สุทัศนะจินดา นั่นคือระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และการเรียกร้องเรื่องทรงผมและเครื่องแบบก็เป็นประเด็นร้อนในความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนช่วงปี 2563 เช่นกัน ซึ่งครั้งนั้นนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะร่วมหมู่อยู่มาก อย่างไรก็ตาม นักเรียนเหล่านั้นจะเติบโตต่อไปอยู่ในสถานะอื่น ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือออกไปตามฝันด้วยเส้นทางอื่น
พวกเขาเหล่านี้จึงกลายเป็นผู้กล้าที่หาญขึ้นตั้งคำถาม และต่อรองในกฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลด้วยวิธีการที่ต่างกันไป ซึ่งอย่าลืมว่าโรงเรียนเองก็ไม่ใช่ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการตั้งคำถามหรือการเห็นต่างจากครู ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในโรงเรียนอย่างตรงไปตรงมา
จริงอยู่ว่าในวัยรุ่น พวกเขาอาจมีความขบถอยู่ในตัว แต่การต่อสู้ดังกล่าวที่ผ่านมามักทำโดยปัจเจกคือทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้คิดภาพในฐานะกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงมีคนให้ความเห็นในโซเชียลมีเดียทำนองว่าถึงแม้ตัวเองจะแหกกฎ แต่ก็ยังไม่คิดจะฉีกกฎเพื่อปกป้องความไม่สมเหตุสมผลของกฎด้วยเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลของตนเอง ซึ่งคนเหล่านี้ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นพ่อแม่และผู้ปกครองของนักเรียนไปด้วย
ดังนั้น การดำรงอยู่ของอำนาจในโรงเรียน จึงมีแนวโน้มที่จะมีแนวร่วมปกป้องกฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่มาก การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในยุคหลังที่สิ้นหวังขึ้นเรื่อยๆ จึงออกมาในรูปแบบที่มีความคาดหมายมากขึ้น ดังที่ทิชา ณ นครกล่าวถึงหยกว่า
“เธอต้องคำราม จำเป็นต้องคำราม เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องคำราม”
เมื่อสังคมยังเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกเลยว่าหยกจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว
ทำโรงเรียนให้เป็นประชาธิปไตยถ่วงดุลอำนาจ
เมื่ออำนาจนิยมในโรงเรียนเป็นอุปสรรค ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลล้วนๆ แต่เกิดจากระบบและกลไกที่เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งการรวมศูนย์อำนาจ ผู้บริหารโรงเรียนมีอำนาจมากเกินไป หรือการไม่มีระบบตรวจสอบหรือการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
หากจะไล่ตามตรรกะของฝ่ายรักษากฎระเบียบแล้ว รัฐบาลจะต้องเอื้ออำนวยในประเด็นนี้ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การออกระเบียบและกฎที่คุ้มครองสิทธิเด็กซึ่งสัมพันธ์กับโรงเรียนและครู หรือระบบตรวจสอบการใช้ความรุนแรงและการละเมิดต่อเด็ก ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและตัวนักเรียนเอง
เช่นเดียวกับการไม่ยินยอมให้โรงเรียนออกกฎระเบียบที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักเรียน แม้จะอ้างว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองเห็นชอบก็ตาม
ความจำเป็นต้องออกแบบระบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ‘ผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนโรงเรียน’ เพื่อทำหน้าที่เป็นบุคคลภายนอก เข้าไปตรวจสอบการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน หรือการผลักดันในโรงเรียนระดับมัธยม ให้ ‘สภานักเรียน’ มีบทบาทตรวจสอบ รวมถึงรับร้องเรียงเรื่องการละเมิดต่อนักเรียนในกรณีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ และเชื่อมโยงไปยังผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนโรงเรียน นั่นจะทำให้ระบบสภาโรงเรียนกลายเป็นปากเป็นเสียง และตัวแทนของพวกเขาเองในโรงเรียนเป็นมากกว่าแขน ขา และเครื่องมือของผู้บริหารเท่านั้น
การใช้ความรู้เข้าผ่อนหนักเป็นเบายังอาจจะทำให้เสียงขึงขังของอำนาจลดลงได้บ้าง หากผู้มีอำนาจระดับกระทรวงทำการวิจัย โดยเลือกโรงเรียนตัวอย่างเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกันในกรณีทรงผมและเครื่องแต่งกายภายใน 1 ภาคการศึกษาว่า โรงเรียนที่มีกฎระเบียบควบคุมนักเรียนและไม่มีนั้นส่งผลต่อนักเรียนอย่างไร ทั้งในเชิงพฤติกรรมและผลการเรียน หรือกระทั่งความเห็นของผู้ปกครอง ซึ่งอาจเลือกกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม เลือกโรงเรียนหลายขนาดตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่ เช่นเดียวกับวิธีอื่นๆ ที่อาจพลิกแพลงได้ เพื่อยกระดับการถกเถียงบนพื้นฐานที่มาจากการเก็บข้อมูลและวิจัย ที่จะเปิดช่องทางให้สังคมเรานี้สนทนากันให้กว้างขวางมากขึ้น
อำนาจนิยมในโรงเรียนไม่สามารถลด ละ เลิกได้ ตราบใดที่ไม่มีกลไกลิดรอนกิ่ง ก้าน ใบ ซึ่งเป็นมรดกของผลไม้พิษชื่อ ‘เผด็จการ’ ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน และจะไปต่อไม่ได้เลยหากเราไม่เข้าใจอำนาจซึ่งไร้สมดุลในโรงเรียน ที่ปล่อยให้เกิดการละเมิดต่อนักเรียนตลอดหลายสิบปีมานี้
อ้างอิงจาก
“ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132”, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89, ตอนที่ 66 (25 เมษายน 2515) ฉบับพิเศษ น. 27-32
“ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2515”, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร, เรื่องเดียวกัน, น. 217-219