ทุกๆ งานสัปดาห์หนังสือ ที่จัดขึ้นนั้นหลายๆ คนก็มักจะมีหนังสือในใจที่อยากจะวิ่งไปซื้อในช่วงเวลาที่คุณรู้ว่ามันวางจำหน่ายแล้ว ไม่ว่ามันจะเป็นหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของนักเขียนที่คุณรอคอย หรืออาจเป็นเล่มต่อที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้วจบได้อย่างค้างคาใจเหลือเกิน
หนังสืออีกประเภทหนึ่งที่หลายๆ คนรออุดหนุนคือ หนังสือที่เราไม่คิดว่าจะมีฉบับแปลไทยออกมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอย่าง หนังสือเล่มนั้นวางจำหน่ายมาแล้วครั้งหนึ่ง จึงไม่มีใครกล้าพิมพ์ซ้ำ หรือเป็นหนังสือที่คลาสสิกจนดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดี อย่างเช่น สูญสิ้นความเป็นคน ผลงานวรรณกรรมคลาสสิกของ ดะไซ โอซามุ ก็ดูจะไม่จัดพิมพ์จนกระทั่งสำนักพิมพ์ JLIT นำมาตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยในปี 2016 หรือ Colorful ที่เคยวางจำหน่ายโดยใช้ชื่อไทยว่า ‘เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม’ ก็เพิ่งมีโอกาสตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เป็นต้น
และหนึ่งในหนังสือที่เราไม่คิดว่าจะจัดทำภาษาไทย แต่ก็มีประกาศว่าจะจำหน่ายเล่มไทยในงานหนังสือครั้งนี้ ก็คือมังงะเรื่อง Ototo No Otto หรือ ที่ใช้ชื่อไทยว่า My Brother’s Husband – ด้วยสายใยรัก – มังงะที่เขียนโดย อาจารย์เก็งโกโร่ ทากาเมะ ที่คนไทยจะคุ้นเคยกันในฐานะนักเขียนมังงะเกย์อีโรติก แต่การวางจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ในไทยไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เห็นมังงะติดเรตถูกกฎหมายแล้ว เพราะมังงะเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น
รู้จัก เก็งโกโร่ ทากาเมะ ให้มากขึ้น
ก่อนไปทำความเข้าใจเรื่องราวของมังงะเรื่องนี้ เราคิดว่าควรจะพูดถึงนักเขียนมังงะเรื่องนี้เสียก่อน เก็งโกโร่ ทากาเมะ ไม่ได้เป็นชื่อจริง แต่เป็นนามปากกว่าของนักเขียนมังงะวัย 54 ปี ท่านหนึ่ง ที่นักอ่านผู้ติดตามมังงะเกย์อยู่แล้วคงคุ้นเคยชื่อของนักเขียนอย่างนักเขียนท่านนี้เป็นอย่างดี เพราะเขาเป็นเจ้าของผลงานแนวติดเรท ที่วาดชายหนุ่มร่างกายล่ำสันได้อย่างดี รวมถึงสามารถแต่งเรื่องราวได้หลากหลายแนว แต่หลายคนมักจดจำงานของเขาในเชิงโศกนาฎกรรมมากกว่าแนวโปกฮา
แต่เก็งโกโร่ ทากาเมะ เอง ระบุว่าตัวเขาเป็นนักเขียนการ์ตูน ที่มีโอกาสได้ลงผลงานในนิตยสารเกย์โดยตรงมาหลายต่อหลายเล่ม และอีกด้านหนึ่ง เขาเป็นศิลปินแนวเกย์อีโรติก ที่มีโอกาสได้จัดงานนิทรรศการศิลปะใน อเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปหลายครั้ง จนมีคนให้ฉายาว่า Tom Of Finland Of Japan (เป็นฉายาที่ยกเอาชื่อ Tom Of Finland นักเขียนวาดภาพประกอบจากฟินแลนด์ที่ถนัดการวาดชายหนุ่มหุ่นล่ำ) นอกจากนี้เขายังเคยทำหนังสือรวบรวมประวัติศาสตร์ศิลปะเกย์ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาแล้ว ซึ่งบางครั้งเขาก็พยายามออกความเห็นเกี่ยวกับสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของ LGBTQ ในญี่ปุ่นบ้าง แต่ชีวิตการทำงานกับชีวิตรักเขาก็ดูลงตัวอยู่แล้ว
จนกระทั่งวันหนึ่งสำนักพิมพ์ฟุตาบาฉะ (Futabasha) ได้ชักชวนเขาให้มาเขียนมังงะอัตชีวประวัติของตนเอง ซึ่งถึงเขาจะไม่ได้ตกปากรับคำในทันที แต่นั่นก็เป็นการจุดประกายให้เขาอยากสร้างมังงะที่ทำให้คนอ่านทุกเพศสภาพเพศวิถีได้อ่าน ได้เข้าใจ ไม่ใช่เพียงการเล่าเรื่องของตัวเองที่อาจทำให้คนอ่านคิดว่าเป็นการมองเข้าข้าง LGBTQ จนเกินไป
และนั่นก็กลายเป็นที่มาที่ไปในการวาดมังงะเรื่อง My Brother’s Husband – ด้วยสายใยรัก – มังงะที่เล่าเรื่องของ คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวกับลูกสาว ที่ต้องรับมือ ชายหนุ่มจากแคนาดาที่เป็น ‘น้องเขย’ ของเขา ไปในที่สุด
ไม่ใช่แค่เรื่องเกย์แต่เป็นมังงะที่เล่าเรื่องความแตกต่างกันของคนในสังคม
หลายคนคงรู้สึกว่า มังงะที่บอกเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะทางเราเองก็เคยรวมมังงะเหล่านั้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่อะไรที่ทำให้ผลงาน My Brother’s Husband มีความโดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัลทั้งในบ้านเกิดอย่างรางวัล Excellence Prize จากงาน Japan Media Arts Festival เมื่อปี 2015 กับรางวัลจากงานต่างประเทศ อาทิ รางวัลสาขา Best U.S. Edition of International Material จาก รางวัล The Will Eisner Comic Industry Awards ประจำปี 2018
สิ่งที่เราค้นพบเมื่ออ่านมังงะเล่มนี้ฉบับภาษาไทยคือ การที่เรื่องไม่ได้เดินหน้าด้วยการเล่าเรื่องเกย์อย่างเดียว แต่เป็นการเล่าเทียบเคียงเรื่องราวหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน ผ่านตัวละครสามตัวที่พอจะแบ่งเลเยอร์ให้คร่าวๆ ได้ดังนี้
ยาอิจิ แม้จะมีน้องชายฝาแฝดเป็นเกย์ จนควรเข้าใจเรื่องเหล่านี้จากคนใกล้ตัว แต่เขาก็ยังไม่สามารถเปิดใจได้ ในขณะเดียวกันก็มีความคิดที่ติดอยู่ในกรอบของประเทศที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้ามเจ้าตัวก็เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ทำงานอยู่กับบ้าน ซึ่งในสังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยปลื้มปริ่มคนที่มีแนวคิดแบบนี้เท่าใดนัก
ไมค์ เกย์จากแคนาดา ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกดูเป็นคนตัวใหญ่ และมีบางจังหวะที่ออกแอคชั่นเต็มที่ คล้ายกับเป็นภาพเหมารวมของชาวตะวันตกที่ชาวเอเชียมองกัน แม้ภายนอกจะดูเป็นคนโหวกเหวกโวยวาย แต่ลึกลงไปเขากลับเป็นคนคลั่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น (Japonophile) และมีความละเอียดอ่อนทั้งในแง่การใช้ชีวิตหรือในอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าที่ยาอิจิคาดคิดไว้
คานะ ลูกสาวของยาอิจิ เด็กหญิงวัยประถมที่ไม่รู้เรื่องทั้งของเรียวจิ, เรื่อง LGBTQ และด้วยความไม่รู้อีกมากมาย ทำให้เธอกลายเป็นอีกตัวละครสำคัญภายในเรื่อง เพราะทุกคำถามจากปากของเธอนั้น เป็นสิ่งที่หลายครั้งก็ค้านกับคนเป็นพ่อคิด แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นสิ่งที่ลึกๆ แล้วในใจของหลายคนก็อยากจะถามเรื่องนี้
ด้วยการวางให้ตัวละครหลักเป็นเช่นนี้ การเล่าเรื่องจึงไม่ใช่การถามไถ่ถึงชีวิตของเกย์ระหว่าง ไมค์ กับ เรียวจิ เพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นการพูดคุยกันของคนที่ไม่เคยรู้วัฒนธรรมของฝ่ายตรงข้ามแทน และในระหว่างที่ ไมค์ กับ ยาอิจิ อาจกระดากใจในการถามอะไรตรงๆ แต่ก็มีคานะ ที่สอบถามเรื่องราวต่างๆ ตามวิสัยเด็กที่อยากรู้อยากเห็น การพูดคุยระหว่างตัวละครที่เราเห็นในเรื่องจึงไม่ออกมาในลักษณะคุกคาม หรือมีการเหยียดซ่อนไว้อย่างตั้งใจ อย่างเช่นการถามว่า ระหว่าง ไมค์ กับ เรียวจิ ใครเป็นสามี ใครเป็นภรรยา ก่อนที่คำตอบจะจบลงง่ายๆ ว่า ทั้งสองคนต่างเป็นสามีของกันและกัน
มิหนำซ้ำด้วยแนวคิดของเด็กยังสะท้อนกลับไปหาผู้ใหญ่ว่าเรื่องราวบางอย่าง เป็นกำแพงที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น จนครอบครัวต้องเว้นระยะห่างอย่างไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์สังคมของญี่ปุ่นแบบละมุนละม่อมผ่านมุมมองของไมค์ ที่มองยาอิจิ ในฐานะพ่อเลี้ยงเดี่ยวผู้รับช่วงการสืบทอดกิจการของที่บ้าน ว่าเป็นงานที่น่าทึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับความคิดของคนญี่ปุ่นอย่าง ยาอิจิ ที่รู้สึกว่าเขายังเกาะมรดกพ่อแม่กินไม่ได้ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง
เรื่องราวดำเนินไปอย่างนี้ตลอดจนจบเล่ม และด้วยความเป็นเล่มแรกก็อาจทำให้มีความรู้สึกโหวงๆ อยู่ในใจเล็กน้อย แล้วเราก็เซอร์ไพรส์กับตอนจบของเรื่องที่แอบหักหลังคนอ่านเล็กน้อย แต่นั่นก็ทำให้เรื่องน่าติดตามต่อไปอีกว่าจะไปทิศทางใดกันแน่ เราจึงไม่แปลกใจเลยที่ฉบับรวมเล่มแค่เล่มเดียว ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้คว้ารางวัลติดมือมาแล้ว
รูปเล่มหนังสือ ทำการสื่อ-สาสน์ ที่ผู้สร้างอยากจะบอกได้อย่างดีที่สุด
ด้วยความที่นักเขียนของมังงะเรื่องนี้ ขึ้นชื่อในฐานะนักเขียนมังงะเกย์ติดเรท จึงมีความ ‘ถอดใจ’ ที่จะได้อ่านเรื่องนี้ในแบบรูปเล่ม จนกระทั่งมีข่าวว่ากำลังจะมีการจัดทำมังงะเรื่องนี้ในรูปแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ไม่แปลกเท่าใดนัก เพราะหนังสือรวมภาพศิลปะของอาจารย์ผู้เขียนก็มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษมาก่อนแล้ว และเราก็คิดว่าคงได้เก็บฉบับภาษาอังกฤษเป็นรูปเล่มแทน
จนวันหนึ่งเราได้ข่าวว่า จะมีการจัดทำ My Brother’s Husband เป็นภาษาไทย …เราทั้งตกใจและแปลกใจกับคนที่คิดจะทำมังงะฉบับนี้แบบแปลไทย ก่อนจะมีการโปรโมทจากทางสำนักพิมพ์เป็นระยะๆ ว่าตัวมังงะไม่ใช่การ์ตูนเกย์แต่เป็นการ์ตูนเพื่อความเข้าใจ LGBTQ ซึ่งมีกระแสตอบรับจากทั้ง สาว Y กับกลุ่มสังคมหลากหลายทางเพศที่มีคนกล้าทำมังงะอะไรแบบนี้มา (รวมถึงมีคนถามว่าจะเอาผลงานเก่าๆ ของ เก็งโกโร่ ทากาเมะ มาทำไหมด้วย … ซึ่งน่าจะยากนะ)
เมื่อได้เล่มจริงมาอ่าน เราก็พบว่าหลายๆ ซีนที่เราเคยคิดว่า เก็งโกโร่ ทากาเมะ จะลากยาวไว้ทำไม เขียนฉากโล่งๆ ไม่มีคำพูดเลยทำไม จะเป็นแฟนเซอร์วิสก็รู้สึกว่าไม่ได้มีอรรถรสโชว์ร่างกายขนาดนั้น พอมาในแบบหนังสือแล้ว เราเจอซีนที่ถูกใส่เพิ่ม ช่องที่เหมือนจะมีการยืด สุดท้ายมันเป็นการทำให้จังหวะการอ่านของผู้อ่านสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนอยากเล่ามากกว่า และมันได้ผลมากที่สุดก็เมื่อเป็นการพลิกหน้ากระดาษอ่าน
ตัวอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่าพอเป็นเล่มแล้วรู้สึกถึงอารมณ์เต็มเปี่ยมคือ จังหวะหนึ่งของเรื่องที่ ไมค์ ออกเดินทางไปหาเพื่อนในญี่ปุ่นแล้วเมากลับมาที่บ้านของยาอิจิ ปรากฎว่า ไมค์ ที่เมายังไม่สร่างลืมตามาเห็นยาอิจิแล้วคิดว่าเป็นเรียวจิ จึงโผเข้าร่างกดน้ำหนักใส่ยาอิจิ ฉากสองหน้านี้ชวนให้คิดว่า ผู้เขียนตั้งใจจะลากเรื่องให้ติดเรทมากทีเดียว พอเราพลิกหน้าต่อไปเราก็เห็นว่า ยาอิจิ กำลังเงื้อมือเตรียมต่อยป้องกันตัว แต่ในด้านล่างของช่อง ก็เหมือนมีอะไรฉุดรั้งการกระทำของยาอิจิไว้ ก่อนจะพบท้ายหน้าว่า ไมค์ กำลังร้องไห้อยู่ แล้วหน้าต่อไปก็เป็นฉากที่ไมค์ร้องไห้ ฟูมฟาย ว่าทำไม เรียวจิต้องจากไป พอพลิกกระดาษไปอีกหน้ายาอิจิ ก็ลูบหัวปลอบใจ ไมค์ แบบเต็มหน้ากระดาษ ก่อนจะลงเอยที่หน้าต่อไปด้วยคำพูดว่า ‘ถ้าสูญเสียคนรักไป ไม่ว่าใครก็ต้องเจ็บปวดทั้งนั้น’
ในช่วงจังหวะสี่ห้าหน้ากระดาษ ถ้าเป็นการเลื่อนหน้าจออาจรู้สึกมันผ่านไปเร็ว แต่เมื่ออยู่ในแบบเล่ม การเรียงลำดับอารมณ์นี้ได้ถูกนำเสนอแบบสอดคล้องกับความตั้งใจของผู้เขียนมากขึ้น และนั่นก็ทำให้คิดว่า โชคดีเหลือเกินที่ยังมีคนกล้าทำหนังสือแบบนี้ในรูปแบบเล่มพิมพ์จริงๆ ออกมาให้เราได้อ่านกัน นอกจากนี้ภายในเล่มยังมีเกร็ดความรู้อย่างการแต่งงานกันของเพศเดียวกัน และ เหตุการณ์ Pink Triangle ที่ช่วยเสริมความรู้ให้กับคนที่ไม่คุ้นเคยวัฒนธรรม LGBTQ ได้อย่างดี
อ้างอิงข้อมูลจาก