“ฟิล์มมีบ้าน ฟิล์มมีรถ ฟิล์มมีมงกุฎ ฟิล์มมีรูปร่างหน้าตาที่หลายๆ คนมองว่าสวย และอีกอย่างลูกกระเดือกฟิล์มไม่ได้ใหญ่เท่ากำปั้นแบบนั้น ดังนั้นจะมาเป็นกะเทยเหมือนกันไม่ได้”
ฉันใด
“วายค่ะไม่ใช่เกย์ วายคือชายรักชาย แต่เกย์คือจะรวมพวกกระเทยตุ้งติ้งมาด้วย คนล่ะแบบน่ะค่ะ” (สะกดตามต้นฉบับ)
ฉันนั้น
ในเมื่อวายไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว จึงขอเกริ่นสั้นๆ ว่า ‘วาย’ มาจากป๊อปคัลเจอร์สัญชาติญี่ปุ่น Yaoi หรือ BL (boy love) เดิมเป็นนิยายและมังงะ ก่อนจะเพิ่มแพลตฟอร์มเป็นซีรีส์ในทีวีในยุคหลัง เล่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ โรมานซ์ๆ ระหว่างชายหนุ่ม ที่ตัวละครเป็นชายรักต่างเพศซึ่งมักจะชอบนิยามตัวเองว่า ‘ชายแท้’ แต่มาตกหลุมรักใสๆ กันเอง เพราะความใกล้ชิดผูกพัน ความน่ารักและเสน่ห์ของอีกฝ่าย ที่อาจจะเป็นเพื่อนรัก เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ร่วมมหาลัยร่วมโรงเรียน รูมเมท ซึ่งมันพิเศษตรงที่เป็นความรู้สึกวาบหวามหวั่นไหว หลงรักกับคนเพศเดียวกันกับคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น นายคนเดียวที่ทำให้ฉันก้าวข้ามกรอบสังคมและรสนิยมทางเพศ ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่สามารถรักแบบนี้กับใครได้อีก…ฟินสิรอไร
และอันเนื่องมาจากความรักโรแมนติกสุดพิเศษนี้ และบทอัศจรรย์ระหว่างเพศเดียวกัน วรรณกรรมวายจึงถูกตัดสินว่าเป็น ‘สื่อลามกอนาจาร’ เคยถูกสันติบาลปราบปราม ห้ามวางขายในงานสัปดาห์หนังสือ บางร้านหนังสือชั้นนำก็ออกกฎไม่รับหนังสือประเภทนี้มาวางขาย ตกเป็นข่าวว่าทำให้สังคมเสื่อมทราม เยาวชนใจแตก
ด้วยเหตุนี้เมื่อแรกมีวัฒนธรรมวายในไทยช่วงทศวรรษ 2540 วายจึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ เผยแพร่เสมือนวรรณกรรมใต้ดิน แอบซื้อแอบขายแอบอ่าน ซื้อยาเสพติดค้าอาวุธสงครามยังง่ายเสียกว่า
แต่เมื่อเพดานความคิดสังคมสูงขึ้น เริ่มยอมรับรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย ไปพร้อมกับรสนิยมทางวรรณกรรม วัฒนธรรมการบริโภควายก็เดินทางออกจากใต้ดินขึ้นมาสู่บรรณพิภพบนดิน ก่อนจะขยายแพลตฟอร์มมายังทีวี เกิดซีรีส์วายที่กลุ่มผู้บริโภควายหรือ ‘สาววาย’ เป็นตลาดใหญ่ของอุตสหกรรมบันเทิง
‘สาววาย’ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (sub culture) กลุ่มหนึ่ง ที่เริ่มมีตัวตนมากขึ้น พวกเธอส่งเสียงดังมากขึ้น ไม่เพียงเป็นตลาดที่เริ่มแมส จาก book club ลับๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงตัวตนอย่างสบายใจ เพราะการอ่านหนังสือไม่ได้หมายความว่าต้องไปนั่งอ่านเงียบๆ ในใจคนเดียวลำพัง มาสู่ชุมชนขนาดใหญ่ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ พวกเธอไม่ลืมประวัติศาสตร์ร่วม และยังหอบเอาความทรงจำที่เคยถูกดูแคลนถูกเหยียด เคยถูกตีตราว่าเป็นโรคจิต บ้าผู้ชาย ผิดปกติ อันเนื่องมาจากชอบเสพเรื่องราวความรักเพศเดียวกันที่ถูกตีตราว่าวิปริตทางเพศ
ในฐานะวัฒนธรรมย่อย พวกเธอสร้างวัฒนธรรมภายในกลุ่มของตน ทั้งรหัสภาษา เช่นคำว่า “ชิป” “เมะ” “เคะ” จิ้น” “โมเมนต์” “เรือล่ม” “เรือผี” สร้างอัตลักษณ์ ระบบค่านิยมความเชื่อ บรรทัดฐาน การนิยามความหมายคุณค่าของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคนภายนอกนิยาม เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกนิยามว่าป่วยทางจิต แต่ขณะเดียวกัน ในการสร้างอัตลักษณ์วัฒนธรรมสาววายเอง เช่นเดียวกับการสร้างวัฒนธรรมและกลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ ก็ดันไปนิยามให้คุณค่าความหมายกลุ่มอัตลักษณ์วัฒนธรรมอื่นด้วยเช่นกันเพื่อแบ่ง ‘คนใน’ กับ ‘คนนอก’ ชุมชน จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ด้วยประการฉะนี้ จึงมีสาววายออกมาประกาศกร้าวว่า
“วายค่ะไม่ใช่เกย์ วายคือชายรักชาย แต่เกย์คือจะรวมพวกกระเทยตุ้งติ้งมาด้วย คนล่ะแบบน่ะค่ะ”
และ
“วายเป็นเซตใหญ่ค่ะ และ lgbt เป็นส่วนหนึ่งของวาย กลุ่ม lgbt จะต้องเข้าใจจุดนี้ก่อน เราไม่ได้เหยียด แต่คุณแค่เป็นเซตย่อยของเรา ดังนั้น นิยายวายจึงไม่ใช่นิยายเกย์ แต่นิยายเกย์คือนิยายวายได้ค่ะ”
แน่นอน คำพูดของสาววายเพียงหนึ่งนางก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนชุมชนสาววายได้ทั้งหมด และสาววายเองก็ไม่ได้คิดอ่านเหมือนกันทั้งหมดและมีชุดนิยามอธิบายที่แตกต่างกันออกไป เหมือนกับที่ฟิล์มมีบ้าน ฟิล์มมีรถ ฟิล์มมีมงกุฎ กระเดือกไม่เท่ากำปั้น จะมาเหมือนกันไม่ได้!
อันที่จริง มันมีความเหลื่อมซ้อนกันระหว่าง เพศวิถีรักเพศเดียวกัน เพศสภาพเกย์ และวัฒนธรรมวาย อาจจะสัมพันธ์กันหรือไม่สัมพันธ์กันก็ได้ สาววายหรือผู้ที่ชื่นชอบบริโภควายๆ อาจจะสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ เคารพสิทธิเสรีภาพเกย์กะเทย หรือไม่สนอะไรใดๆ เลย จิ้นฟินประโลมโลกย์อย่างเดียว เก้งกวางกะเทยก็อาจจะเป็นแฟนคลับซีรีส์วาย หรือไม่อินก็มี
แต่อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ หากสังคมไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ สังคมก็จะไม่ยอมรับวัฒนธรรมวายด้วยเช่นกัน และอุตสาหกรรมวายเองก็ทำให้คนเริ่มคุ้นชินกับคนรักเพศเดียวกันพอๆ กับที่ขบวนการเคลื่อนไหว LGBTQ ทำ
อย่างไรก็ตาม ความพยายามจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของวายให้ห่างจากเกย์และวัฒนธรรมเกย์กะเทย ก็เป็นหัวใจหลักของเรื่องวายๆ ตัวละครหลักของเรื่องทั้ง ‘พระเอก’ กับ ‘นายเอก’ ต่างถูกกำหนดให้เป็นชายรักต่างเพศ so-called ‘ชายแท้’ แต่บังเอิญเกิดความรู้สึกรักขึ้นมาเอง โดยไม่ใช่เกย์ ซ้ำเกย์กะเทยในบางเรื่องยังเป็นตัวละครที่มักจะมาผิดที่ผิดเวลา ต้องเอาออกไปให้พ้นหูพ้นตาพระเอกทั้งสองคน
สาววายบางนางกับกลุ่มเรียกร้องสิทธิเกย์บางกลุ่มจึงดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน
แม้วายจะเชิดชูความรักที่ก้าวข้ามกรอบคิดค่านิยมรักต่างเพศนิยม เพราะตัวละครในวายเป็นเพศวิถีที่ลื่นไหลที่คนมีจู๋จะมารักกันเอากัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อก้าวข้ามรักต่างเพศนิยมแล้วจะต้องก้าวข้ามบรรทัดฐานกรอบคิดอื่นๆ บางเรื่องก็ยังเชิดชู ‘ความเป็นชาย’ แบบ hegemonic masculinity ให้เหนือ ‘ความเป็นชาย’ ลักษณะอื่นๆ รวมถึง ‘ความเป็นเกย์’ บางเรื่องว้าวซ่าด้วยการเพิ่มดีกรีความหวานสาวให้พระเอก คลี่คลายความหวานสาวจากคุณสมบัติ ‘ความเป็นหญิง’ มาสู่กายภาพผู้ชาย เพื่อให้เห็นว่า คาแร็คเตอร์ so-called ‘ชายแท้’ มารักกันนั้น ฝ่ายไหนเป็นรุก ฝ่ายไหนเป็นรับ
ดังนั้นหากจะบอกว่าวายเป็น non-binary ก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะคู่ตัวละครมักจะสร้างให้เป็นคู่ตรงข้ามกันเสมอ และแบ่ง ‘ความเป็นหญิง’ ‘ความเป็นชาย’ อยู่ดี เช่นเดียวกับการที่บอกว่าวายไปแอบใช้วิถีทางเพศของเกย์มา ก็ดูจะผูกขาดการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมากเกินไป เพราะการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็ไม่ได้เป็นเพศวิถีเฉพาะเพศสภาพเกย์เท่านั้น และไม่จำเป็นต้องช่วงชิงมาเป็นคุณสมบัติให้กับกลุ่มอัตลักษณ์ใด
การพร่าเลือนกรอบต่างๆ การทำให้เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักไม่ได้เป็นคุณสมบัติของเกย์เท่านั้น ความรักเกิดขึ้นกับเพศสภาพ เพศวิถีใดก็ได้ ไม่เกี่ยงว่าจะต้องเป็นชายคู่กับหญิงภาคบังคับเท่านั้น การทำให้คนคุ้นชินกับผู้ชายกอดจูบแสดงความรักใคร่กัน สิ่งเหล่านี้คือคุณูปการของวาย ซึ่งวายก็จะสามารถเพิ่มคุณูปการมากได้กว่านี้ หากผู้ผลิตไม่เน้นแต่สักจะขายแต่ความวาย ขอแค่มีฉากฟินๆ มาเสิร์ฟก็พอ ไม่ลงทุนไม่พิถีพิถันในการผลิตทั้งในด้านสุนทรีย์ศาสตร์ ตรรกะความคิดความอ่าน อย่างที่ปรากฏให้เห็นในบทละคร ฉากแอ็กติ้ง
เพราะการที่สาววาย ออกมาป่าวประกาศว่า วายเป็นร่มใหญ่ แล้ว LGBT ก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในร่มของวาย หรือเกย์กับวายคนละพวกกัน เกย์คือพวกกะเทยตุ้งติ้ง วายคือชายรักชาย ไม่เพียงแต่เป็นภัยความมั่น เคลมใหญ่เกินเบอร์ แต่ยังเป็นผลของการไม่ยอมเรียนรู้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่ทำให้วายจะดูวายป่วงไป
ในเมื่อวายไม่ใช่วัฒนธรรมใต้ดินอย่างแต่ก่อน ชุมชนก็ไม่ใช่หลุมหลบภัยของสาววายจากโลกรักต่างเพศนิยมที่พร้อมจะตีตราว่าบาปรสนิยมอื่นๆ หากแต่วาย เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและในโลกออนไลน์ มีหนัง มีละคร มีซีรีส์ สาววายและชุมชนของพวกเธอต่างต้องปฎิสังสรรค์แลกเปลี่ยนกับชุมชนและวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะชุมชน LGBTQ ที่เปรียบเสมือนชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง
Illustration by Sutanya Phattanasitubon