เพราะทุกความสำเร็จมักมีผู้อยู่เบื้องหลังเสมอ กว่าที่งานหนึ่งงานจะสำเร็จได้ ทุกๆ คนต่างต้องทำงานหนักกันทั้งนั้น นาซาก็เช่นเดียวกัน เพื่อโลกที่ยังคงหมุนอยู่ เพื่อความก้าวหน้าหรือเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติในวันข้างหน้า และบุคลากรอย่างนักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งวิศวกร ก็ไม่ได้โดดเด่นแค่ในหมู่ผู้ชายแบบที่เราเห็นเท่านั้น
นอกจาก 3 สาวที่เห็นกันในหนังเรื่อง Hidden Figures แล้ว ยังมีบรรดาสาวๆ อีกหลายคนที่เป็นฟันเฟือง แถมยังเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาองค์กร รวมไปถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับในความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม และคณิตศาสตร์อีกด้วยแถมยังเป็นผู้ขับเคลื่อนหลายๆ อย่างเพื่อพัฒนาองค์กร รวมไปถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับในความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม และคณิตศาสตร์
Young MATTER พาไปรู้จัก 10 สาวเก่ง ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนาซา ที่ 5 ใน 10 คนนี้ ยังถูกเลโก้จับไปทำเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชั่นตัวต่อชุดใหม่ด้วย จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ากว่าจะได้ย่างก้าวที่สวยงามในวันนั้นพวกเค้าต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง
Katherine Johnson
นักวิจัยรุ่นอาวุโสขององค์การนาซา ความอัจฉริยะของเธอฉายแววมาตั้งแต่ในวัยเยาว์ Katherine เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย West Virginia ด้วยอายุเพียง 15 ปี แถมยังเป็นหนึ่งในสามชาวแอฟริกัน-อเมริกาหญิงที่สามารถคว้าปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์มาครอบครองได้สำเร็จ
ในปี 1953 เธอได้ทำสัญญาเป็นนักวิจัยทางคณิตศาสตร์ที่ NACA (ก่อนที่ตอนหลังจะเปลี่ยนเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วโลก) ซึ่งต่อมาเธอได้กลายเป็นที่รู้จักในด้านการคำนวณและการตรวจสอบวิถีวงโคจรของปรอทและโปรแกรมของกระสวยอวกาศ Apollo รวมไปถึงภารกิจที่ทำให้ Apollo 11 สามารถนำมนุษย์โลกขึ้นไปเยือนและย่ำบนดวงจันทร์ครั้งแรก ก็เป็นฝีมือของเธอเองด้วย
หลังจากทำงานมานาน 33 ปี Katherine ได้เกษียณออกจากงานในปี 1986 “ฉันรักที่ได้ทำงานในทุกๆ วัน” เธอบอกอย่างนั้น เมื่อปี 2015 เธอได้รับมอบเหรียญแห่งสันติภาพจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา เพื่อเป็นเกียรติสูงสุดในฐานะพลเมืองอเมริกาและชีวิตของเธอ
Mary Jackson
Mary ได้เข้าร่วมงานที่องค์การนาซาในปี 1951 เธอเข้ามาด้วยตำแหน่งนักคณิตศาสตร์ ก่อนจะรู้สึกว่าสิ่งที่เธอจะทำให้องค์กรได้ดีกว่าการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่เธอกำลังทำอยู่ น่าจะเป็นการทำงานด้าน Human Resources ปี 1979 เธอได้กลายเป็นผู้จัดการโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในการทำงานของผู้หญิงและคนผิวสี (โดยเฉพาะกลุ่ม ผู้หญิงผิวสี) ในนาซา ที่ถูกเลือกปฏิบัติ การตัดสินใจของเธอได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์กรอย่างที่เธอตั้งใจ
Dorothy Vaughan
Dorothy Vaughan ครูคณิตศาสตร์เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ที่เข้ามาทำงานกับนาซาในปี 1943 ในตำแหน่งนักคณิตกร เมื่อความเจริญของอุตสาหกรรมมาถึง นาซาเอา IBM เข้ามาใช้ในการประมวลผลตัวเลข ทำให้เธอต้องปรับตัวโดยการศึกษาภาษา FORTRAN ในการเข้ารหัสเครื่อง IBM ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในวิศวกรคณิตศาสตร์ของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ โดย Dorothy ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์ชั้นนำและวิศวกร เธอเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในโครงการ SCOUT ที่ส่งดาวเทียมแรกของอเมริกาขึ้นสู่อวกาศ
Magaret Hamilton
10 กรกฎาคม 1969 โลกได้จารึกว่า Niel Armstrong กลายเป็นมนุษย์โลกคนแรกบนดวงจันทร์ และนั่นก็ส่งผลให้ Magaret Hamilton กลายเป็นผู้ที่ทำให้ภารกิจของเขาสำเร็จด้วยเช่นกัน ย้อนกลับไปในปี 1958 หลังจากที่ Magaret จบการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์นามธรรมที่มหาวิทยาลัย Brandies แล้ว เธอได้งานพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อพยากรณ์สภาพอากาศที่ MIT (ส่วนความสามารถทางโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เธอโด่งดังในเวลาต่อมาคือสิ่งที่เธอเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด) หลังจากทำงานมาได้สักพักหนึ่ง Magaret ก็ได้เลื่อนขั้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งในเวลาต่อมาเธอและลูกทีมได้ช่วยกันพัฒนาซอฟแวร์ที่ช่วยทำให้ Apollo 11 สามารถพิชิตภารกิจสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ
Christine Darden
ในปี 1960 ถึงแม้คนผิวสีจะร่วมงานกับนาซามาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วก็ตาม ปัญหาการเหยียดผิวก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะขนาด Christine Darden ที่จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมก็ยังโดนให้ไปทำส่วนคอมพิวเตอร์ที่เป็นตำแหน่งสำหรับคนผิวสีอยู่ดี แต่ด้วยความที่ Christine เป็นคนมีความสามารถ ในปี 1973 เธอจึงได้เข้ามาดูแลเกี่ยวกับ Sonic Boom คือการทำให้เครื่องบินเร่งความเร็วให้สูงเร็วกว่าความเร็วเสียง และได้เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับ Sonic Boom มากกว่า 50 บทความ เธอยังสนใจหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ จนในที่สุดก็ได้รับปริญญาเอก 1983 และในปี 1989 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าวิจัยเกี่ยวกับ Sonic Boom อีก 10 ปีต่อมา เธอได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์การแสดงการบินและอวกาศของนาซา
Nancy Grace Roman
หากเราสามารถย้อนกลับไปในปี 1950 ได้ เราก็คงจะได้เห็นโลกที่ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านเบาบางกว่าที่เป็นอยู่ในยุคสมัยตอนนี้มากๆ แต่ไม่ใช่กับ Nancy Grace Roman เธอเริ่มทำงานกับนาซาครั้งแรกในปี 1959 ในตำแหน่งผู้ตั้งค่าโปรแกรมในดาราศาสตร์อวกาศ ต่อมาได้กลายหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงหญิงคนแรกและหัวหน้านักดาราศาสตร์ของนาซา อันเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘มารดาแห่งฮับเบิล’ ซึ่งเป็นชื่อที่ได้มาจากการคิดค้นรูบแบบแปลนตัวอย่างและพัฒนา ‘กล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล (hubble space telescope)’ หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาดาราศาสตร์ที่ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบปรากฏการณ์สำคัญต่างๆ มากมาย หลังเกษียณจากนาซา ในปี 1979 เธอเดินทางไปร่วมสอนและบรรยายในหลายๆ ประเทศ
Annie Easley
Annie Easley ผู้ทำงานกับนาซาเป็นเวลา 34 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1955 ด้วยตำแหน่งเดียวกันกับผู้หญิงผิวสีคนอื่น แต่เธอก็รู้ถึงความสามารถของตัวเองดี Annie จึงเขียนรหัสคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อใช้กับจรวดเซนทอร์ ซึ่งรหัสของเธอได้กลายมาเป็นรหัสพื้นฐานที่ใช้ทางอากาศ กองทัพ และดาวเทียมสื่อสาร แต่เมื่อ Annie อยากเรียนด้านคณิตศาสตร์เพิ่ม ซึ่งทางนาซาเองมีนโยบายจ่ายค่าเล่าเรียนให้พนักงานที่ต้องการเรียนเพิ่มเติมอยู่แล้ว กลับได้รับคำตอบว่านาซาจะจ่ายให้กับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทำให้เธอต้องจ่ายเงินเรียนเอง ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นว่าแม้เธอจะได้โชว์ความสามารถมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ไม่ได้ทำให้เธอถูกเลือกปฏิบัติน้อยลงเลย
Mae C. Jamison
ในปี 1992 Mae C. Jamison กลายเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกาหญิงคนแรกบนห้วงอวกาศ เริ่มจากความตั้งใจในวัยเยาว์ ตอนที่เธอศึกษาในระดับมัธยมปลาย ชีวิตวัยเรียนของเธอมักจะขวนขวายอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุดมาตลอด และส่วนใหญ่ก็มักเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เสมอ
เธอฝันอยากจะประกอบอาชีพวิศวกรรมชีวการแพทย์ และฝันของเธอก็ใกล้เข้ามาอีกเมื่อเธอได้รับทุนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Stanford สี่ปีต่อมาเธอก็ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตในสาขาวิศวกรรมเคมีจากที่นี่เช่นกัน
หลังจากนั้นเธอก็ไปศึกษาต่อที่ Cornell University Medical College เธอใช้เวลาในปีนั้นไปทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยกัมพูชาในประเทศไทย จนปี 1981 ก็คว้าปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตได้สำเร็จ และเป็นเด็กฝึกงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย University of Southern California Medical Center หลังจากนั้นในปี 1985 Jamison ได้เข้าร่วมในโปรแกรมฝึกมนุษย์อวกาศของนาซา จากการคัดเลือกกว่า 2000 คนทั่วประเทศ จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน ปี 1992 เธอได้กลายเป็นมนุษย์อวกาศแอฟริกัน-อเมริกาหญิงคนแรก
Kathryn Peddrew
ด้วยความที่ Kathryn Peddrew ถูกพ่อแม่สอนมาว่าเธอสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เธออยากเป็น ทำให้เธอเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง แม้จะถูกเลือกปฎิบัติจากเชื้อชาติและเพศก็ตาม ด้วยความที่จบทางด้านเคมี ก่อนจะมาทำงานกับ NACA เธอเคยสมัครเข้าร่วมทีมวิจัยทีมหนึ่ง แต่โดนปฏิเสธเพราะทางทีมวิจัยไม่มีที่พักสำหรับผู้หญิง หลังจากนั้น Kathryn จึงไปสมัครงานในแผนกเคมีของ NACA และในที่สุดเธอก็ได้เข้ามาทำงานในปี 1943 ถึงแม้ว่าเธอจะสมัครในแผนกเคมี แต่เมื่อผู้บริหารทราบว่าเธอเป็นคนผิวสี เขาจึงย้ายเธอไปทำงานที่ส่วนคอมพิวเตอร์ที่เป็นแผนกแยกของผู้หญิงผิวสีแทน แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ได้แสดงความสามารถจนได้ย้ายมาทำงานอยู่ในหน่วยงานที่ศึกษาความสมดุลของการบินและยานอวกาศ
Sally Ride
ปี 1983 โลกได้ต้อนรับและปล่อยตัวมนุษย์อวกาศหญิงอเมริกาคนแรกสู่ห้วงอวกาศ Sally Ride
ในปี 1977 นาซากำลังมองหามนุษย์อวกาศหญิง ซึ่งในเวลานั้น Sally ยังคงเป็นเพียงนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ในมหาวิทยาลัย Stanford สาขาวิชาฟิสิกส์ เหมือนฟ้าลิขิตที่ทำให้เธอได้เห็นใบประกาศรับสมัครนี้ของ นาซาในหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย Sally ตัดสินใจจะรับงานนี้โดยทันทีและนาซาก็อ้าแขนรับเธอเป็นหนึ่งในหกหญิงที่ได้รับการคัดเลือกและเข้าไปฝึกในโปรแกรม จนกระทั่งในวันที่ 18 มิถุนายน ปี 1983 เธอพร้อมจนสามารถกลายเป็นนักอวกาศหญิงคนแรกได้สำเร็จ แซลลี่ตัดสินใจหยุดทำงานกับนาซาในปี 1987 หลังจากเกษียณตัวเองแล้ว จึงไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย California และเริ่มศึกษาหาหนทางเพื่อช่วยให้ผู้หญิงและเหล่าเด็กสาวที่อยากเรียนในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ได้มีโอกาสได้เรียนตามต้องการ
ในปี 2003 Sally ถูกบันทึกอยู่ใน Astronuat Hall of Fame เพื่อเป็นเกียรติแก่มนุษย์อวกาศผู้ทุ่มเททั้งแรงใจและกายให้แก่งานของตัวเอง
เธอจากโลกไปด้วยอายุ 61 ปี หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งตับอ่อนเป็นระยะยาวนานถึง 17 เดือน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Text by Marisa Paleebat & Geerapat Yodnil
Illustration by Pornwisa Buaklee