พอได้ยินชื่อเสียงของ NASA พวกเราก็มักนึกถึงภารกิจสุดท้าทายระดับมวลมนุษยชาติ มันคือศูนย์รวมคนเก่งๆ จากทั่วโลกที่เราได้แต่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ

(Photo : Getty Image)
จะไปฝึกงานกับ NASA น่ะเหรอ ฝันไปเถอะ! เพราะมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะกลายเป็นเด็กฝึกงานกับองค์กรที่บุกเบิกอนาคตแห่งการสำรวจอวกาศและวิทยาศาสตร์
แต่คำสบประมาทแบบนี้จะจริงเหรอ?
เพราะสาวไทยคนหนึ่งกลับไม่ได้คิดอย่างนั้น เธอเป็นคนไทยรุ่นที่ 2 ของโครงการเปิดรับฝึกงานกับ NASA และที่นี่เขาไม่ได้สอนให้คุณไปชงกาแฟหรือถ่ายเอกสาร แต่โยนโครงการชิ้นใหญ่ๆให้รับผิดชอบไปเลย
The MATTER มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘วิน’ วริชณา ระกำทอง หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า ‘วินนี่ วินดี้’ สาวน้อยวัย 24 ปี นักศึกษาปริญญาโทสาขา System Engineering (วิศวกรรมระบบ) San Jose State University แคลิฟอร์เนีย
เธอจบปริญญาตรีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนมาอเมริกาเคยทำงานเป็น Software Engineer อยู่เกือบ 2 ปี
วันนี้เราจะคุยกับเธอเรื่องประสบการณ์การฝึกงานกับ NASA ที่น้อยคนจะได้สัมผัส
The MATTER : ก่อนหน้านี้สนใจอวกาศและองค์กร NASA ด้วยหรือเปล่า?
ตอนเด็กๆ ชอบดูเวลาเค้าส่งยานออกไปนอกโลก ถ่ายทอดสดทางทีวี ชอบดูข่าวหรืออ่านข่าวเรื่องอวกาศน่ะคะ แต่ไม่ถึงกับจำชื่อยานได้ทุกลำหรอก คิดว่ามันเจ๋งดี เทคโนโลยีต่างๆ ที่เขาคิดค้นเพื่อออกไปสำรวจนอกโลกทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมข้างนอกต่างกับโลกลิบลับ
The MATTER : ตอนนั้นคิดยังไงถึงตัดสินใจลองสมัครฝึกงานกับ NASA?
เรียนปริญญาโทไป 2 เทอมแล้ว พอถึงช่วงปิดเทอมใหญ่ต้องหาที่ฝึกงานเราก็สมัครไปหลายที่เลยค่ะ แต่เลือกฝึกงานที่ NASA เพราะ คิดว่าเป็นองค์กรในฝันของหลายๆ คนรวมถึงวินเองด้วย ตอนแรกคิดว่าไม่ได้รับเลือกชัวร์ๆ ค่ะ แต่ไหนๆ ก็อยู่อเมริกาแล้ว มีโอกาสได้เข้าใกล้ NASA มากกว่าตอนอยู่ที่ไทย เลยลองสมัครดู
The MATTER : ระบบการคัดเลือก ‘โหดหิน’ สมกับเป็นองค์กรที่เอาคนไปอยู่บนอวกาศไหม?
แอบโหดนะคะ (ฮา) ใช้เวลากรอกใบสมัครออนไลน์ไป 3 – 4 วันเหมือนกัน ช่วงสัมภาษณ์ก็ใช้ได้อยู่ค่ะ แต่คำถามทั่วไปไม่มีพิเศษอะไร ที่คิดว่าเขาโอเค อาจเป็นเพราะน้ำเสียงเค้าไม่ตึงๆ มั้งคะ อย่างโครงการนี้เปิดรับเป็นครั้งที่ 2 รับเด็กฝึกงานรวมๆ แล้ว 100 กว่าคน ทั่วอเมริกามีทั้งหมด 13 Node ซึ่งใน Node ที่วินทำ มีทั้งหมด 12 คนค่ะ ถ้าถามทำไมวินถึงถูกเลือก อาจจะใช้คำว่า ‘งงๆ’ ก็ได้นะคะ แต่จริงๆ เขาอาจจะเห็นอะไรในตัวเราก็ได้ ทั้งที่ตัวเองคิดว่าไม่ดีพอ
The MATTER : NASA คัดเลือกแต่เด็กเก่งๆ เทพๆ เท่านั้นหรือเปล่า?
พูดว่ากลางๆ ดีกว่าค่ะ คุณสมบัติผู้สมัครคือ GPA 3.00 ขึ้นไป และเรียนด้าน Engineering (วิศวกรรม) Earth Sciences (วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ) หรือ Remote Sensing (การสำรวจระยะไกล) ก่อนส่งใบสมัครเขาก็กรองไประดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่ถึงกับขั้นหัวกะทิขนาดนั้น สำหรับโครงการที่วินทำอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับองค์กรมาก่อนก็ทำได้ เช่น พวกพวกคณะวิศวกรรมมาเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นพิภพทีหลังเอา แต่ต้องเขียนโปรแกรมเป็นอยู่แล้วค่ะ อันนี้จำเป็น
The MATTER : พอได้ไปสัมผัสบรรยากาศแล้วความ ‘คาดหวัง’ กับ ‘ความเป็นจริง’ สวนทางกันไหม?
ไม่ค่อยต่างนะคะ อาจจะเป็นเพราะวินได้คุยกับพี่คนไทยที่มีประสบการณ์ฝึกงานกับ NASA ก่อนหน้าปีที่แล้ว พี่เขาเล่าให้ฟังเยอะเลย
The MATTER : NASA เขาให้ทำอะไรบ้าง ทราบมาว่ามีโครงการ NASA DEVELOP
NASA DEVELOP คือส่วนหนึ่งของ Applied Sciences Program โดยการนำข้อมูลจากดาวเทียมต่างๆของ NASA มาแก้ปัญหาส่วนรวมให้กับทั่วโลกเลยค่ะ โดยผู้ร่วมโครงการต้องทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในหัวข้อนั้นๆ เช่น โครงการของวินเกี่ยวกับ ‘ภัยแล้งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง’ ต้องทำงานร่วมกับองค์กร Asian Disaster Preparedness Center ซึ่งเค้าจะเอาโครงการเราไปใช้จริงด้วย
The MATTER : โครงการที่น้องวินรับผิดชอบมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?
Mekong River Basin Agriculture เป็นการนำเอารูปที่ถ่ายจากดาวเทียมต่างๆ ของ NASA ตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบันมา Process เพื่อดูความแห้งแล้งในอดีตซึ่งคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ เพื่อที่จะวางแผนการทำเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พื้นที่ที่วินสนใจคือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงนั่นคือ ประเทศพม่า, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และไทยค่ะ ผลสัมฤทธิ์ท้ายสุดของโครงการคือสร้าง Time Series (กราฟโชว์ค่าของแต่ละปี) ของความแห้งแล้ง และ Python script เพื่อให้นำไปใช้ต่อในอนาคต
ตอนนี้ทำไปได้ประมาณ 60% แล้วค่ะ ในทีมมี 4 คน เรียนวิศวกรรม 2 คน และเรียนด้านวิทยาศาสตร์พื้นพิภพอีก 2 คน มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันตลอด เราสอนเค้าเขียนโปรแกรม เค้าสอนเราด้านการนำแผนที่จากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์
The MATTER : แปลว่าเขาหวังจริงจังเลยว่างานเราก่อประโยชน์ได้มากแค่ไหน
ประมาณนั้นค่ะ แต่ละ Project ของ DEVELOP เป็นหัวข้อที่เค้าคิดมาแล้วว่าจะสามารถทำเสร็จภายใน 10 อาทิตย์ เพราะทุกๆ โครงการจะต้องนำไปใช้จริง
The MATTER : แสดงว่า NASA ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับอวกาศอย่างเดียว
ใช่แล้วค่ะ ไม่ได้เกี่ยวกับอวกาศโดยตรงไปซะทั้งหมด ทั้ง Applied Science วิทยาศาสตร์ประยุกต์ Earth Science วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ หรือแม้กระทั่งเรื่องภัยพิบัติ น้ำท่วม เกษตรกรรม พลังงาน หรือ มลพิษทางอากาศก็มี
The MATTER : งานวิจัยไหนของ NASA ที่น้องวินตื่นเต้นเป็นพิเศษ
เรื่องอาหารค่ะ! ได้ไปร่วมงานนิทรรศการของ NASA มาเมื่ออาทิตย์ก่อน บูทเรื่องอาหารเป็นหนึ่งในนั้น น่าสนใจมาก ทำยังไงอาหารถึงเก็บได้นาน แถมนักบินอวกาศได้รับสารอาหารครบถ้วน อาหารและน้ำดื่มเท่าคนปกติดื่มบนโลก
The MATTER : มีประเด็นเรื่องพื้นที่หวงห้ามบ้างไหม หรือการเข้าถึงข้อมูลที่ ‘ปกปิด’ ของ NASA
ไม่มีค่ะ แต่จะมีเรื่องการ Access ข้อมูลของเรา จะไม่เหมือนกับพนักงานของ NASA จริงๆ และผู้ฝึกงานต่างชาติจะต้องมีเอกสารเยอะกว่าคนที่นี่หน่อย
The MATTER : น้องวินต้องฝึกงานกับ NASA เป็นเวลานานเท่าไหร่ ดูงานเยอะยุ่งยากทีเดียว
ฝึกงานเป็นเวลา 10 อาทิตย์ค่ะ ทำงานอาทิตย์ละ 33 ชั่วโมง การวัดผลก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถส่งต่อโครงการให้กับพาร์ทเนอร์ของเราได้ เช่น Project Summary, Tech paper, Presentation, Video, Poster แล้วไหนจะตัวโปรแกรมเองอีก แต่ละชิ้นมีเดทไลน์ต้องส่งแต่ละชิ้นต่างๆ กันไป ซึ่งแต่พอจบเทอม ต้องส่งครบหมดนี่ค่ะ (โฮกกกกกก)
The MATTER : นอกจากต้องทำงานให้กับ NASA แล้ว เวลาว่างน้องวินกับเพื่อนทำอะไรบ้าง
มีนัดกันไปเดินป่าค่ะ ว่ายน้ำบ้าง คนในทีมที่เรียนอยู่เมืองนี้เขาก็จะรู้แหล่ง หากิจกรรมให้ทำกันตลอด
The MATTER : เรามักมีภาพจำว่าคนใน NASA เป็นพวกเนิร์ดๆ จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?
ไม่เนิร์ดนะคะ ก็คงมีปนๆ กัน แต่คนที่นี่ทำงานเก่งกันทุกคนเลย
The MATTER : มีหนุ่ม NASA ฮอตๆ บ้างไหม
มี แต่เป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่นะคะ (ฮา)
The MATTER : หลังจากฝึกงานเสร็จวางแผนอะไรไว้บ้าง
ต้องเรียนต่ออีกสองเทอมค่ะ แต่การฝึกงานทำให้ได้ทั้ง Hard skill และ Soft skill เลยค่ะ เราจะต่อยอดได้กว้างขึ้น ได้ Connection มากขึ้นด้วย หลังเรียนจบคงต้องวางแผนอีกทีค่ะ
The MATTER : คิดว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกากับไทย แตกต่างกันมากไหม?
ต่างค่ะ ที่อเมริการู้สึกได้เลยว่า เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบจริงๆ ปริญญาตรีในปีสองปีแรกจะเป็นวิชาหลัก นักเรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ ปีต่อๆ มาพอรู้ว่าชอบอะไรค่อยโฟกัสไปที่สิ่งที่อยากจะเรียนอะไรจริงๆ แต่ในไทยต้องเลือกคณะเลยตั้งแต่จบ ม.6 ซึ่งตอนนั้นบางคนยังหาตัวเองไม่เจอ ข้อสอบที่นี่เป็นการถามตรงๆ ตามที่เรียน นักเรียนประเทศอื่นมาเรียนที่นี่เลยได้เกรดดีกันกว่าตอนอยู่ประเทศตัวเอง ประเทศไทยบางวิชาสอนอยู่โลก แต่ข้อสอบถามไปถึงดาวอังคาร เด็กมึนเลย ฮ่าๆ
The MATTER : ทำอย่างไรพวกเราจะสามารถออกจาก Comfort Zone แบบน้องวินได้บ้าง
อยากให้ลองหาสิ่งที่เราสนใจแล้วศึกษาดู เราจะไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อเลย และจะทำสิ่งนั้นออกมาได้ดีที่สุด อีกอย่างคืออย่าดูถูกตัวเอง วินก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนแรกไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะเราคิดว่าเราไม่เก่ง เราทำไม่ได้ แต่พอออกจากจุดนั้นมาได้ แล้วจะพบว่าแต่ละคนมีดีในตัวเองค่ะ

ปีหน้าอาจเป็นโอกาสของคุณก็ได้! และสิ่งที่คุณทำอาจทำให้พวกเราเข้าใจโลกใบนี้และจักรวาลได้ดียิ่งขึ้น
หากใครยังไม่จุใจ ตามไปอ่านเรื่องสนุกๆ ของวิน กับชีวิตฝึกงานที่ NASA ในบล็อคส่วนตัวของเธอต่อได้ที่ Windependence จ้า