โดนเคลมงาน ไปเหยียบเท้าคนอื่น หรือถูกมองเหยียดเพราะไม่ได้เรียนสูง แม้คุณจะพิสูจน์ตัวเองด้วยการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ขนาดเปลี่ยนโฉมโลกไปตลอดกาลแล้วก็ตาม คุณเองก็มีสิทธิ ‘ถูกลืม’ ได้เช่นกัน
มนุษย์ล้วนต่อสู้กับอคติที่คนอื่นมี เผลอๆ มันอาจจะยากกว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เสียอีก แวดวงวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้ใจกว้างมากนักสำหรับอะไรที่แปลกใหม่เกินไป หรือสิ่งที่ ‘มาก่อนเวลาอันควร’ ทั้ง Scientist และ Non Scientist ต่างต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ได้มาซึ่งการค้นพบที่สร้างจุดยืนใหม่กับอนาคต
หากคุณกำลังทำอะไรอยู่แล้วถูกรุมเร้าจากคนรอบข้างจนเป็นอุปสรรค แถมเริ่มรู้สึกว่า กำลังจะถูกลืมไปอย่างช้าๆ โปรดสละเวลาอ่านเรื่องราวของผู้ค้นคว้าทั้ง 7 ท่าน ที่ไม่ได้วิเศษไปกว่าคุณ แถมบางคนถูกลืมชื่อไปแล้วด้วย
แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือ เป้าหมายแห่งความไม่ยอมแพ้ และแน่นอนว่า พวกเขาได้กรุยทางโลกสู่ยุคใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์
1. เมรี่ แอนนิ่ง (Mary Anning) – จากเด็กเก็บของเก่าขายสู่เจ้าแม่ตัวจริงแห่งโลกดึกดำบรรพ์
วงการบรรพชีวินในอดีตเป็นเรื่องของสุภาพบุรุษ มันคือกิจกรรมที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี แข่งขันเฉือนคม หักหลังกันไปมาของผู้ทรงอิทธิพลเพื่อหาว่าใครจะค้นพบสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่สมบูรณ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงแทบไม่มีที่ว่างสำหรับสุภาพสตรีเลยสักคืบนิ้วเดียว
ณ หาดทางใต้ของอังกฤษ คลื่นรุนแรงซัดกระแทกโขดหินครั้งแล้วครั้งเล่า เผยให้เห็นซากฟอสซิลจาก ‘มหายุคมีโซโซอิก’ อันซุกซ่อนชีวิตที่ทุกคนหลงใหล พวกมันคือสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ และไดโนเสาร์ที่เคยอยู่บนพิภพตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
สาวน้อย ‘เมรี่ แอนนิ่ง’ หาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บฟอสซิลริมหาดขายเป็นของสะสมให้คนมีสตางค์ในละแวกนั้น ซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงภัยไม่น้อยเพราะเธอต้องปีนไปตามโขดหินแหลมคม จากการฝึกฝนและประสบการณ์ เธอจึงมีสายตาแม่นยำ สามารถแยกแยะฟอสซิลจากก้อนกรวดอื่นๆ ได้ จนสามารถเขียนบันทึกเป็นเรื่องเป็นราว ลงรายละเอียด และมีการจัดหมวดหมู่ฟอสซิล แต่กระนั้นเลยความพยายามของเธอยังถูกค่อนแคะจากแวดวงนักวิทยาศาสตร์ใจแคบว่า “เป็นแค่เด็กผู้หญิงเก็บของเก่าขาย”
‘เมรี่ แอนนิ่ง’ ขุดพบสัตว์โบราณหลายสายพันธ์ และเป็นหนึ่งในน้อยคนบนโลกที่ขุดพบ ‘พลีซิโอซอร์’ (Plesiosaurs) สัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ที่อาศัยในมหาสมุทรที่สมบูรณ์แบบที่สุด เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งขณะอายุเพียง 47 ปี และได้รับการดุษฎีจากสมาคม Geological Society of London ที่ไม่เคยคัดเลือกผู้หญิงเข้ามาเป็นสมาชิกเลยกว่า 72 ปี
ปัจจุบันงานวิจัยบรรพชีวินมีรากฐานมาจากการศึกษาด้วยประสบการณ์ของ ‘เมรี่ แอนนิ่ง’ และเธอเองเป็นผู้พิสูจน์ว่า ผู้หญิงเองควรจับพลั่ว ถกชายกระโปรงขึ้น และยอมให้มือเลอะบ้าง แต่อย่าละเลยสายตาอันเฉียบคมในการมองสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นค่า
2. เชน ชิงวู (Chien-Shiung Wu) – จากคนทำงานหนักใต้เงาคนอื่นสู่สตรีหมายเลขที่ 1 แห่งโลกฟิสิกส์
‘เชน ชิงวู’ เป็นลูกผู้หญิงที่ครอบครัวไม่ต้องการและมักประสบความลำบากในการเรียนเสมอ แต่เธอกลับไม่ลดละความพยายามในการเดินสายวิชาการ จนออกจากมณฑลเจียงซู ประเทศจีน สู่สหรัฐอเมริกา และเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง University of California ในปี 1936 ขณะที่เธอเรียนนั้น ได้ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับรังสีเอ็กซ์ (X-ray) และก๊าซซีนอน (Xenon) จนกลายมาเป็นหนึ่งในหัวหอกที่พัฒนาโครงการลับสุดยอดของสหรัฐอเมริกา Manhattan Project
แต่เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงฟิสิกส์มากขึ้น จากการเป็นคนแรกที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีการสลายให้อนุภาคบีตา (Betadecay) ของ เอนรีโก แฟร์มี ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชานิวเคลียร์ฟิสิกส์ว่า อะตอมที่มีสถานะไม่เสถียรจะปล่อยรังสีออกมา กระทั่งอะตอมนั้นๆ มีความเสถียรขึ้น จนคนในแวดวงเรียกว่า ‘การทดลองของวู’
ในปี 1957 เธอได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับนักวิจัยชาวจีนคนอื่นๆ แต่เธอกลับมักถูกเมินเฉย เพราะเป็นคนพูดไม่เก่ง ขี้อาย ไม่ค่อยชอบพบปะผู้คน จึงมักถูกแย่งเครดิตงานหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเอามาเป็นประเด็นในการทำงาน แม้เธอจะทำงานใต้ร่มเงาของคนอื่นเป็นเวลานาน แต่ก็ได้รับรางวัลเหรียญเกียรติยศ National Medal of Science ผู้เชี่ยวชาญกล่าวชื่นชมว่า สิ่งที่เธอทำมีความหมายใกล้เคียงกับ ‘มารี กูว์รี’ นักเคมีผู้ค้นพบรังสีเรเดียมที่ใช้ยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “สตรีหมายเลขที่ 1 แห่งโลกฟิสิกส์” หรือ ‘ราชีนีวิจัยนิวเคลียร์’
3. เรย์มอนด์ ดาร์ต (Raymond Dart) – จากผู้เหยียบเท้านักวิทย์ยุโรปสู่ผู้พิสูจน์รากเหง้ามนุษย์ทฤษฎีใหม่
ในปี 1924 ประชมคมวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า มนุษย์มีต้นกำเนิดมาจากทวีปยูเรเชีย (Eurasia) มหาทวีปที่รวมเอาทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียเข้าด้วยกัน จากหลักฐานการค้นพบฟอสซิลของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในหุบเขานีเอนเดอร์ (Neander Valley) ของประเทศเยอรมัน แต่ใครๆ ก็ยังเชื่อว่า มันยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ปริศนาหลายชิ้นหายไป แล้วมันคืออะไรล่ะ?
ครั้งที่ ‘เรย์มอนด์ ดาร์ต’ นักกายวิภาคจากออสเตรเลียยังทำงานอยู่ในแอฟริกา เขาได้รับพัสดุพิสดารชิ้นหนึ่งโดยในกล่องระบุว่า เป็นชิ้นส่วนกะโหลกของลิงบาบูนที่พบในเหมืองหินปูน แต่เมื่อเขากำลังจะจดรายละเอียดมันก่อนเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ กลับสังเกตว่ากะโหลกนี้ไม่น่าจะเป็นลิงบาบูน แต่เป็นกะโหลกของเด็ก เพราะมีสมองที่ค่อนข้างใหญ่ และกระดูกสันหลังเชื่อมต่อกับกะโหลกแบบตั้งตรง ไม่ได้อยู่บริเวณท้ายทอยเหมือนในกลุ่มลิง
‘เรย์มอนด์ ดาร์ต’ จึงเชื่อว่า เจ้าของกะโหลกจะต้อง ‘เดินตัวตรง’ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมนุษย์ และตั้งชื่อว่า ออสตราโลพิเธคคัส แอฟริกานัส (Australopithecus africanus) ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกของการวิวัฒนาการ จากลิงใหญ่มาเดิน 2 ขาอย่างมนุษย์ จนสร้างทฤษฎี ‘ต้นกำเนิดมนุษย์มาจากทวีปแอฟริกา’ ที่ฮือฮาที่สุดตลอดกาล
ทฤษฎีของ เรย์มอนด์ ดาร์ต นี้เป็นการเหยียบเท้านักวิทยาศาสตร์ฝั่งยุโรปไปเต็มๆ เพราะที่นั่น ตอนนั้นส่วนใหญ่ยังมีรสนิยมแนวคิดแบบ Eurocentric ที่เชื่อว่าอะไรที่เกิดขึ้นในยุโรปมักเป็นศูนย์กลางของทั้งหมดทั้งมวล ผลงานของเขาจึงไม่ได้รับการเหลียวแลจากนิคมวิจัยชาวยุโรปอยู่นานหลายปี
เรย์มอนด์ ดาร์ต ไม่หมดกำลังใจง่ายๆ เพราะเหยียบเท้าแล้วไม่ควรสะกิดให้คัน แต่ต้องกระทืบให้มิด เขาจึงแท็คทีมกับนักบรรพชีวินเพื่อนสนิท บุกตะลุยถ้ำทั่วแอฟริกาจนได้หลักฐานฟอสซิลใหม่ๆ มากพอ และเก่าแก่กว่าที่พบในทวีปยูเรเซียอีก
แม้ทฤษฏีของดาร์ตจะไม่ได้ถูกต้องมากที่สุดในปัจจุบัน แต่มันได้วางรากฐานแนวคิดใหม่ แอฟริกาเป็นบ้านที่ซับซ้อนและมีการค้นพบบรรพบุรุษของเราที่เก่าแก่ขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่มีข้อสรุปที่ดีที่สุดว่า ต้นกำเนิดของมนุษย์อยู่แห่งหนใด แต่สปิริตแห่งการถกเถียงถือเป็นความกล้าที่เรย์มอนด์ ดาร์ต มอบให้กับแวดวงวิทยาศาสตร์
4. ‘ฟรานซิส โบฟอร์ต’ Francis Beaufort – จากกะลาสีเฉียดตายสู่นักพัฒนาการเดินเรือสมัยใหม่
ขณะที่ ‘ฟรานซิส โบฟอร์ต’ ยังหนุ่มยังแน่น เข้าเดินทางไปกับเรือเดินสมุทรของ British Royal Navy ในปี 1780 เพียงแค่ทริปแรกที่เดินทางไปยังประเทศจีน กองเรือพบกับความปั่นป่วนนรกแตก เรืออับปางจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะดันหลงจากแผนที่เดินเรือที่ขาดความแม่นยำ ทำให้พวกเขาต้องลอยเท้งเต้งกลางมหาสมุทรนานถึง 5 วัน เหตุการณ์ครั้งนั้นฝังใจเขามาตลอด แต่ก็ไม่ลืมกลิ่นอายของมหาสมุทรที่โหยหา มันกว้างใหญ่ น่าตื่นเต้น และเอาแน่เอานอนไม่ได้แม้สักครั้งเดียว
เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งนายเรือฝึกหัด (Midshipman) จึงอยากทำรายงานสภาพอากาศทางทะเลที่ละเอียดขึ้นจากมาตรฐานเดิมคือรายงานทุกๆ 12 ชั่วโมง ให้ถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 2 ชั่วโมง และสร้างระเบียบการจดบันทึกที่รอบคอบ เรียกว่า Alphanumeric ที่มีทั้งตัวเลขและตัวอักษร จนกลายเป็นมาตรฐานสากลของราชนาวีเกือบทุกประเทศ
หนึ่งในนั้นคือ มาตรฐานการวัดที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ‘โบฟอร์ต สเกล’ (Beaufort scale) เพื่อกำหนดมาตราความเร็วลม และคาดคะเนความเร็วของลมไว้ใช้ในการเดินเรือใบในมหาสมุทร แต่ต่อมาก็พัฒนาจนใช้วัดบนบกได้
ราชนาวีอังกฤษออกคำสั่งให้เขาทำแผ่นที่เดินเรือจำนวนมากที่ไม่เคยมีการสำรวจหรือบันทึกมาก่อนตลอด 26 ปี จนได้แผนที่ความละเอียดสูงและแม่นยำ (สำหรับยุคนั้น) กว่า 1,500 ฉบับ และหลายชิ้นยังใช้งานอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเขาได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วมเรือที่มีภารกิจ ‘เพื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์’ ที่ชื่อว่า HMS Beagle (คุ้นใช่ไหม) เขาจึงเป็นหนึ่งในผู้ถูกคัดเลือกเพียงไม่กี่คนที่เดินทางในเรือลำเดียวกับ ‘ชาร์ล ดาร์วิน’ เพื่อมุ่งสู่หมู่เกาะกาลาปากอส
5. อัลฮาเซ็น Alhazen – จากชายผู้ที่ชนชาติตะวันตกลืมสู่ผู้วางรากฐานระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์
สังเกต ตั้งสมมติฐาน อนุมาน ทำซ้ำด้วยการทดลอง พวกเราเรียนสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ชั้นมัธยม แต่ใครกันเป็นผู้สร้างกระบวนการนี้ขึ้นมา จนกลายเป็นรากฐานทั้งหมดของระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ที่ไร้กาลเวลา ชายผู้นั้นถูกหลงลืมจากโลกตะวันตก และแทบไม่มีใครกล่าวขานถึงเขาเลย
อัลฮาเซ็น เกิดในศตวรรษที่ 10 ในพื้นที่อันกว้างใหญ่เรียกขานในปัจจุบันว่า อิรัก ด้วยความที่ธรรมชาติเป็นนักเรียนรู้สุดหัวใจ ขวนขวายทุกอย่างมาเติมเต็มสมอง เขาเติบโตในช่วงชาติภาษาอาราบิคกำลังสุกงอมด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเขาเองก็เป็นดาวเด่นที่สุกสกาวคนหนึ่งในยุค
เขาเขียนหนังสือ 100 เล่มเกี่ยวกับฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และอาจเป็นคนแรกที่วิเคราะห์ว่า สมองของเราสร้างภาพลวงตาให้ดวงจันทร์ใหญ่ขึ้นเหนือเส้นขอบฟ้า ราวกับว่าดวงจันทร์กำลังเดินทางเข้าใกล้โลก หรือปรากฏการณ์เกิดภาพกลับหัวที่กลายเป็นเทคนิคของการบันทึกภาพในกล้องถ่ายรูป
ยุคก่อนนั้นการคิดอะไรล้ำๆ ล้วนเกิดจากการทึกทักเอาเองของปราชญ์หลายสำนัก ไม่มีระเบียบหรือหลักการที่เป็นมาตรฐานใดๆให้จับต้อง แต่ อัลฮาเซ็น เพิ่มระเบียบของการทดลอง เก็บข้อมูล และนำไปสู่กระบวนการวิจัย
ทุกวันนี้ตั้งแต่สัปดาห์วิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา จวบจนฟิสิกส์ในองค์กร CERN ยังใช้ระเบียบของ อัลฮาเซ็น ร่วมกัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ตาม
6. เจมส์ ฮัตตัน (James Hutton) – จากผู้ถูกหาว่าโอหังสู่ผู้กรุยทางธรณีวิทยาสมัยใหม่
เจมส์ ฮัตตัน เติบโตในเอดินบะระ สหราชอาณาจักร ในยุคที่เบ่งบานทางวิทยาการที่สุด (Enlightenment) เขาเป็นนักสังเกตที่มีสายตาเฉียบแหลมและหัวก้าวหน้า เขาสามารถตั้งทฤษฎีว่าด้วยเรื่อง ‘Deep time’ หรือการแบ่งยุคสมัยต่างๆ ของโลกตั้งแต่ครั้งบรรพกาลที่มีอายุกว่า 4.55 พันล้านปีจวบจนปัจจุบัน ผิวโลกของเรามีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งกับที่ ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องลบลู่ดูหมิ่นในสายตาของศาสนจักรที่เชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก
แนวคิดของ เจมส์ ฮัตตัน วางรากฐานของศาสตร์ธรณีวิทยาสมัยใหม่ เปิดประตูพาเราไปทำความเข้าใจ การแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค (Plate Tectonics) ว่าเปลือกโลกเรานั้นเคลื่อนที่เสมอ ศึกษาเรื่องการเกิดภูเขาไฟ และมองโลกเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่เติบโตได้ เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘ชาร์ล ดาร์วิน’ พบกับทฤษฎีวิวัฒนาการในท้ายที่สุด
ก่อนหน้านี้เขาเป็นสุภาพบุรุษชาวไร่ที่สนใจการทำกสิกรรม เขาเดินทางไปทั่วอังกฤษจนพบหินรูปแบบต่างๆ แล้วตั้งคำถามว่า ทำไมหินถึงผิดรูป บิดงอ เปลี่ยนสัณฐาน และมีองค์ประกอบที่ไม่เหมือนกันเลย หินที่อยู่ชั้นล่างลึกลงไปถึงกลับขึ้นมาอยู่เหนือเปลือกโลกได้ โลกจึงไม่เคยนิ่งงัน มันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นวัฏจักรที่กินเวลานานนับพันล้านปี
อย่างไรก็ตามบรรยากาศในปี 1788 ไม่ค่อยเป็นใจกับแนวคิดนอกกรอบของเขา จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแวดวงศาสนา ตำหนิถึงความโอหังไร้แก่นสาร กระทั่ง เจมส์ ฮัตตัน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 100 ปี ทฤษฏีของเขาจึงถูกนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังนำมาปัดฝุ่นใหม่ กลายเป็นงานแมสๆ เมนสตรีมไปในที่สุด
7. เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks) – จากผู้ถูกใช้ประโยชน์โดยไม่ได้เครดิตสู่เจ้าของเซลล์อมตะที่ไม่มีวันตาย
ณ โรงพยาบาล John Hopkins ปี 1951 สาวชาวนา เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks) อายุ 31 ปี กำลังเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก (cervical carcinoma) ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ในช่วงสุดท้ายของชีวิตไม่เพียงกี่ชั่วโมง แพทย์ได้ทำการตัดเนื้อมะเร็งออกไปจากเฮนเรียตตาโดย ‘ไม่ได้ขออนุญาต’ จากเจ้าตัว เซลล์มะเร็งของเฮนเรียตตาเองมีความพิเศษจนน่าตื่นตา คือสามารถเจริญเติบโตได้ไม่มีวันสิ้นสุดราวกับเป็น ‘อมตะ’ นักวิจัยจึงนำเซลล์มะเร็งมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองรุ่นแล้วรุ่นเล่าในชื่อลับเพื่อปกปิดเจ้าของเซลล์มะเร็งเดิมว่า ‘HeLa’
เซลล์อมตะ HeLa สร้างประโยชน์ให้กับวงการวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง กรุยทางให้เราพัฒนาวัคซีนรักษาโรคโปลิโอสำเร็จ หาความเป็นไปได้ในการการปฏิสนธิภายนอกร่างกายที่ใกล้เคียงธรรมชาติหรือ IVF ต่อยอดสู่งานวิจัยเพื่อรักษาเอดส์และมะเร็งกว่า 20 ปี ซึ่งเซลล์ HeLa ถูกส่งต่อไปสถาบันต่างๆ ทั่วโลกอย่างเป็นนิรันดร์
กระนั้นเฮนเรียตตา แล็กส์ และครอบครัวกลับไม่ได้ผลประโยชน์จากเซลล์ร่างกายเธอเลย หลุมศพที่แท้จริงของเธอก็ยังไม่สามารถระบุได้ จนกระทั้งหนังสือเชิงสอบสวนที่เขียนในปี 2010 ได้เปิดโปงเซลล์ Hela ขึ้นจนเป็นที่สนใจของสาธารณชน และในปี 2013 นักวิจัยได้ทำการช่วยกันพิสูจน์อัตลักษณ์ทางพันธุกรรมของ เฮนเรียตตา แล็กส์ และยื่นจดสิทธิบัตร เพื่อให้ลูกหลานของเธอได้รับผลประโยชน์จากการเสียสละอันไม่ได้ตั้งใจของเธอ
ปัจจุบันเซลล์มะเร็งของเธอและองค์ความรู้ทางการแพทย์ยังคงเติบโตต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.ucmp.berkeley.edu