ลดความทุกข์ทรมานลงให้สุด อัดความสุขให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กอบกู้โลกทั้งใบ หรือกรุยทางให้มนุษย์รุ่นต่อไปมีอนาคตที่งดงาม? ทั้งหมดนี้เราจะได้มาโดยไม่มี ‘ราคาค่างวด’ เชียวหรือ? เมื่อจุดมุ่งหมายถูกท้าทายด้วยความสงสัยแคลงใจ
วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าก็จริง แต่เรารับผลกระทบที่ตามมาได้ไหม? พบข้อถกเถียงระหว่าง ‘ความก้าวหน้า vs. จริยธรรม’ ที่วิทยาศาสตร์ยังลังเลที่จะฟันธง
เราคัดเลือก 6 ความก้าวหน้าและข้อถกเถียงถึงอนาคตของคุณในเวลาอันใกล้
คุณเลือกได้ไหมว่าอยู่จะข้างไหน เมื่อโลกกำลังเผชิญวิกฤต? ร่วมตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตัวคุณเอง
1. เราควรดัดแปลง ‘พันธุกรรม’ ลูกหลานเราไหม?
ทำให้มนุษย์ปลอดโรค VS. ยอมรับความแตกต่าง
ความคิดที่จะปรับปรุงศักยภาพของมนุษย์มีมาตลอดทุกศตวรรษ เราถวิลหานิยามความแข็งแกร่งและความงดงามของสายพันธุ์ ที่อาจสุดโต่งจนนำไปสู่แนวคิด ‘สุพันธุศาสตร์’ (eugenic) ความเชื่อที่ต้องการหากระบวนการพัฒนาคุณภาพพันธุกรรมของประชากรมนุษย์ หลายครั้งนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำลายชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่า ไม่ว่าจะโดยการทำให้เป็นหมัน (sterilization) หรือเข่นฆ่าด้วยความเลือดเย็น
คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า มนุษย์ควรเป็นสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่อีกกลุ่มก็เชื่อว่า วิวัฒนาการล้วนพลั้งพลาดอยู่เสมอ ได้นำมาสู่ความแตกต่าง (diversity) และเราควรโอบกอดสิ่งเหล่านี้ไว้ แน่นอนในความแตกต่างนี้ ไม่ได้หอมหวานเสมอไป เพราะมีเด็กเกิดใหม่ที่มาพร้อมกับความพิการ โรคทางพันธุกรรม พวกเขาตายทั้งๆ ที่ลืมตาดูโลกเพียงไม่กี่วัน เราควรยื่นมือมามาจัดการความแตกต่างนี้หรือไม่?
ขณะนี้หลายประเทศมีกฎหมายอนุญาตให้มนุษย์ปรับปรุงพันธุกรรมด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่อนุญาตให้ทำแท้งตัวอ่อนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็น ‘ดาวน์ซินโดรม’ จนไปถึงการคัดเลือกตัวอ่อนเด็กหลอดแก้วที่แข็งแรงที่สุด (IVF)
ด้วยเทคโนโลยี CRISPR ที่รุดหน้าทำให้เราดัดแปลงพันธุกรรมได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยรักษาโรคที่อาจส่งต่อทางพันธุกรรมไปสู่ทารก ตั้งแต่โรคหัวใจ โรคความจำบกพร่องอัลไซเมอร์ โรคจิตเภท (schizophrenia) ทำให้มนุษย์รุ่นต่อไปมีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งเมื่อความบกพร่องสามารถแก้ได้ (หากคุณมีทุนทรัพย์พอ) จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำต่อประชากรมนุษย์หรือไม่
นักจริยธรรม Julian Savulescu จากมหาวิทยาลัย Oxford ให้เหตุผลว่า “ต่อไปหากคุณเจอคนหูหนวก คุณจะคิดว่าพ่อแม่ของเขาไม่ใส่ใจ หรือมีสถานะทางสังคมต่ำจนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ได้ คุณจะยิ่งมองพวกเขาด้วยสายตาแปลกประหลาด” แน่นอนหากการดัดแปลงพันธุกรรมด้วย CRISPR นั้นแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่าย จะมีมนุษย์หลายแบบที่ ‘หายไป’ จากสังคมอย่างถาวร และพวกเราอาจไม่ได้ออกแบบสังคมเผื่อความหลากหลายไว้เลย
คุณเลือกจะอยู่ข้างไหน? ทำให้มนุษย์ปลอดโรค VS. ยอมรับความแตกต่าง
2. เราควรปล่อยชีวิตสังเคราะห์ (synthetic life) สู่ธรรมชาติหรือไม่
ควบคุมเทคโนโลยีให้เข้มงวด VS. แก้ปัญหาปากท้องคนในโลก
นักชีววิทยา George Church ได้สร้างรูปแบบสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ไม่ปรากฏในธรรมชาติขึ้นมา โดยทีมวิจัยปรับปรุงสารรหัสพันธุกรรมในแบคทีเรีย E.coli ให้มันมีภูมิต้านทานไวรัสเกือบทุกรูปแบบ นับเป็นความล้ำหน้าทางชีววิทยาอย่างมาก ซึ่งโชคดีที่สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์นี้อยู่ในห้องทดลองอย่างมิดชิด แต่หากวันหนึ่งมันหลุดมาอยู่ในตัวคุณล่ะ?
ทีมวิจัยจากรั้ว Harvard ของ George Church เป็นเพียง 1 ใน 100 ทีมวิจัยที่พยายามออกแบบสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ (synthetic life) ที่กำลังเป็นเทรนด์ยอดนิยม แต่เราจะมีมาตรการเพื่อควบคุมสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อย่างไร? จะเอามันไปไว้ที่ไหน? และหากอยู่ในธรรมชาติจะทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นได้รับผลกระทบอะไรที่เราคาดไม่ถึงหรือไม่
ในความเป็นจริงสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์เหล่านี้ดูเหมือน ‘เอเลี่ยนต่างดาว’ ที่เริ่มมาอยู่ในชีวิตคุณสักพักแล้ว ทั้งยาที่ดัดแปลงจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น พืชที่ถูกปรับปรุงพันธุกรรมสู้แล้งสู้ฝน เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม ทำให้เราไม่ต้องแผ้วถางป่าเพื่อทำเกษตรกรรมอีก สามารถสงวนป่าให้เป็นพื้นที่ของสัตว์ได้ หรือดัดแปลงพืชให้สามารถดูดซับคาร์บอนในอากาศได้มากขึ้น เป็นการลดมลภาวะไปในตัว แต่หากพืชที่เราออกแบบในห้องทดลอง ‘รุกฆาต’ จนเกินไป ก็จะสร้างปัญหาให้พืชท้องถิ่นที่อ่อนไหวกว่า โดนแย่งชิงอาหาร หรือกลายเป็น ‘วัชพืช’ ที่ร้ายกาจเสียเอง
แต่เมื่อประชากรโลกต้องการอาหารมากขึ้น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่า อาจทำให้เราต้องเผื่อใจให้กับสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์เหล่านี้หรือไม่ พวกมันอาจทำหน้าที่ดูแลโลกใบนี้ได้ดีกว่าเราก็ได้
คุณเลือกอยู่ข้างไหน? ควบคุมเทคโนโลยีให้เข้มงวด VS. แก้ปัญหาปากท้องคนในโลก
3. จำนวนประชากรควรถูกควบคุมไหม
ลดการใช้ทรัพยากร VS. สิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิต
ความหวาดกลัว ‘มนุษย์ล้นโลก’ มีมาตั้งแต่ปี 1798 โดยนักเขียนชาวอังกฤษ Thomas Malthus เตือนว่า จำนวนประชากรที่ไม่สามารถควบคุมได้จะกลืนกินทรัพยากรโลกไปจนหมดสิ้น
แม้ตอนนี้เราจะยังใช้ทรัพยากรไม่หมด แต่ประชากรในโลกราว 7 พันล้านคนกำลังค่อยๆ ใช้มันอยู่ทุกเสี้ยววินาที หากเราบริโภคและปล่อยมลภาวะในระดับเคยชินนี้อีกสักระยะ คนรุ่นต่อไปจะเผชิญภาวะโลกร้อนที่ดุเดือดรุนแรง และความอดตายกลายเป็นเรื่องสามัญ
Travis Rieder ชีวจริยธรรม (bioethics) จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University เชื่อว่าการควบคุมและลดอัตราการเกิดเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อเกิดเหตุสภาพภูมิอากาศผันผวนรุนแรง ประเทศที่ยากจน แต่มีอัตราการเกิดสูง จะได้รับผลกระทบสาหัส หากประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ลดใช้พลังงานและปล่อยมลภาวะในอัตราอันตรายแบบนี้ต่อไป
แต่ประเด็นลดอัตราการเกิดใหม่เป็นเรื่องที่ ‘ต้องห้าม’ ในหลายประเทศ ซึ่งยังมีคนไม่พร้อมที่จะมองเป็นทางเลือก แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรในเชิงสถิติแล้วก็ตาม
ต้องยอมรับก่อนว่า คนทั่วไปไม่ชอบใจนัก หากมีใครมาชี้นิ้วสั่งว่า ‘คุณควรมีลูกกี่คน’ เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาการลดอัตราการเกิดล้วนมีท่าทีขู่บังคับ ทั้งนโยบายมีลูกคนเดียว (one-child policy) ของรัฐบาลจีน การบังคับให้ทำหมันในแอฟริกา แต่ก็ยังมีวิธีละมุนละม่อมกว่าเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมีลูกน้อยลง โดยมีภาครัฐยื่นมือมาสนับสนุนด้านการศึกษา หรือลดภาษี
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้จากข้อเสนอแนะของ Rebecca Kukla นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Georgetown University เผยว่า ‘ผู้หญิง’ มักรับศึกหนักในการตัดสินใจว่า ครอบครัวหนึ่งควรมีสมาชิกกี่คน มีลูกกี่คน ดังนั้นการมีลูกมากจะยิ่งสร้างภาระทางจิตใจให้กับผู้หญิงหรือไม่
คุณคิดว่าประชากรควรถูกควบคุมหรือเราควรมีสิทธิเลือกได้ตามศักยภาพในการเลี้ยงดู
คุณเลือกอยู่ฝั่งไหน? ลดการใช้ทรัพยากร VS. สิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิต
4. เราควรไปสร้างอารยธรรมที่ดาวดวงอื่นหรือไม่
ผลักดันเทคโนโลยีไปจนถึงขีดสุด VS. สิทธิในการครอบครอง
เป้าหมายต่อไปคือ ‘ดาวอังคาร’ (Mars) บริษัทที่ดำเนินการธุรกิจด้านวิศวกรรมอวกาศกำลังเตรียมเทคโนโลยีเพื่อย้ายบ้านมนุษย์สู่ดาวแดง และเปลี่ยนมันเป็นบ้านหลังที่ 2 อย่างถาวร โดยนวัตกรรมที่ล้ำหน้าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การยึดครองดาวดวงที่ 3 หรือ 4 อาจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นหากครั้งนี้ทำสำเร็จ
แต่ก็น่าฉุกคิดว่า เรามีความชอบธรรมแค่ไหนที่จะยึดดาวอื่นๆ เป็นบ้านของตัวเอง? และหากเราพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นในฐานะ ‘เจ้าบ้าน’ แม้พวกมันจะเป็นจุลชีพ (หรือดาวดวงนั้นไม่มีอะไรเลย) มนุษย์มีสิทธิชอบธรรมในการยึดเป็นที่อยู่อาศัยถาวรหรือไม่?
ในมุมตรงกันข้าม การที่มนุษย์ไปเยือนดาวอื่นๆ อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ Kelly Smith อาจารย์ด้านปรัชญามหาวิทยาลัย Clemson University กล่าวว่า โดยพื้นฐานมนุษย์ก็คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และทุกสิ่งที่เราทำก็ไม่ได้แย่เสมอไป การตั้งรกรากขยายอารยธรรมมนุษย์อาจเป็นผลดีต่อดาวอื่นๆ มากกว่าทำลายล้าง
ทุกวันนี้ภารกิจส่งยาวอวกาศไปสำรวจสภาพแวดล้อมดาวดวงแล้วดวงเล่า เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดโดยหลีกเลี่ยงการรบกวนระบบนิเวศดาวโดยไม่จำเป็น แต่ความท้าทายนี้เราจะรักษาได้นานแค่ไหน หรือมนุษย์มีธรรมชาติของการช่วงชิงเป็นทุนเดิม
คุณเลือกตัดสินใจอย่างไร? ผลักดันเทคโนโลยีไปขีดสุด VS. สิทธิในการครอบครอง
5. เราควรแทรกแซงระบบธรรมชาติของโลกเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศหรือไม่
ปล่อยให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ VS. ปกป้องมนุษย์รุ่นต่อไปจากหายนะ
ความปรารถนาสูงสุดของการกอบกู้โลกใบนี้ คือการที่เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ก่อนปี 2070 ซึ่งเป้าหมายใหญ่หลวงนี้ต้องอาศัยโครงการยักษ์ระดับเทพ ที่อาจเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
ข้อเสนอแนะที่ได้ยินบ่อยๆ คือแนวคิด Geoengineering หรือการแทรกแซงระบบโลกแบบมหาภาคเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เราเคยทิ้งไว้
มีไอเดียผุดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การเรี่ยไรงบประมานทุกชาติบนโลก สร้างร่มขนาดยักษ์ลอยเหนือชั้นสตราโทสเฟียร์ (Stratospheric parasol) ที่รู้จักกันในชื่อ Space sunshade เพื่อเป็นเกราะป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งลดปรากฏการณ์เรือนกระจก ไม่ให้สิ่งมีชีวิตรับผลกระทบโดยตรง
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า แม้กระบวนการนี้อาจฟังดูสุดโต่ง แต่มันจะมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมันเป็น ‘หนทางเดียวและหนทางสุดท้าย’ ที่เรามี ซึ่งก็อดคิดไม่ได้ว่ามนุษย์จะเหิมเกริมถึงขั้นควบคุมโลกทั้งใบได้ขนาดนั้นเชียวหรือ?
John Shepherd ทีมวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Geoengineering จากมหาวิทยาลัย University of Southampton เชื่อว่า โครงการเช่นนี้อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ แต่เราจะเอาความเสี่ยงมาอยู่ในบริบทเพื่อประเมินเสมอ รวมถึงหาทางออกฉุกเฉินให้กับสิ่งที่เราทำไว้ด้วย
มีหลายเสียงแย้งว่า ร่มยักษ์ที่ปกป้องโลกเมื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยโมเดลในคอมพิวเตอร์ อาจทำให้หลายพื้นที่ของโลกมีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกิดฝนตามธรรมชาติ สร้างผลเสียต่อการทำกสิกรรม และอาจนำไปสู่ภาวะแล้งสาหัส และเจ้าร่มยักษ์นี้ต้องบำรุงรักษาตลอดเวลาด้วยงบประมาณมหาศาล แต่เพื่ออนาคตของมนุษย์รุ่นต่อไป การลงทุนนี้จะคุ้มหรือไม่
คุณเลือกสนับสนุนฝั่งไหน? ปล่อยให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ VS. ปกป้องมนุษย์รุ่นต่อไปจากหายนะ
6. เราควรอนุญาตให้หุ่นยนต์ ‘ฆ่า’ หรือไม่
ความเที่ยงตรงในการตัดสินใจ VS. การสังหารต้องมีความรับผิดชอบ
มนุษย์ถูกนิยามว่า หุนหันพลันแล่น เอาแน่เอานอนไม่ได้ คุณยังอยากให้มนุษย์ตัดสินใจอะไรอยู่อีกหรือ? หากเราประดิษฐ์เครื่องจักรที่มีอำนาจตัดสินใจได้ด้วยตัวเองที่แม่นยำและเที่ยงตรงกว่า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า จักรกลอาจตัดสินใจในวิกฤตได้ดีกว่ามนุษย์นำโดย Ron Arkin นักวิทยาการหุ่นยนต์จากสถาบัน Georgia Institute of Technology
เขาเชื่อว่า หุ่นยนต์ควรมีคำสั่งให้ ‘สังหาร’ ได้เมื่อจำเป็น เพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์ เพราะมันปฏิบัติตามคำสั่งตามที่ฝึกฝนมา แม่นยำ และเรียนรู้ให้ปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยความอ่อนโยนได้ หรือในอีกแง่หนึ่ง หุ่นยนต์สามารถยื่นมือมาขัดขวางได้หากมนุษย์ตัดสินใจผิดพลาด ตั้งแต่อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือตัดสินคดีความโดยไม่มีอคติ โดยในปัจจุบันการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ได้มาถึงพื้นที่จริยธรรมแล้ว และหลายครั้ง AI ก็ทำงานได้ดีกว่ามนุษย์
แต่คำถามคือ หุ่นยนต์หรือ AI มีความรับผิดชอบที่จะรับผลกระทบต่อการตัดสินใจของมันเองได้แค่ไหน? รู้จักการแบกรับภาระทางอารมณ์หรือไม่ ซึ่งในมนุษย์นั้นอารมณ์และความรู้สึกเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการทำสิ่งที่ถูกและผิดเช่นกัน
การที่เราเอาความรับผิดชอบนี้ให้กับหุ่นยนต์ เมื่อเกิดความผิดพลาด เราต้องเรียกร้องความรับผิดชอบจากใคร อาจารย์ปรัชญา Filippo Santoni de Sio จากมหาวทิยาลัย Delft University of Technology เรียกความก้ำกึ่งนี้ว่า ‘Responsibility gap’
ล่าสุด อีลอน มัสก์ รวมไปถึงนักวิจัยด้าน AI กว่า 2,400 คน ได้ออกมาร่วมกันลงนามสัญญาณว่าจะไม่พัฒนา AI หรือหุ่นยนต์ เพื่อเป็นอาวุธสังหาร โดยเตือนว่าระบบของอาวุธที่ใช้ AI ในการเลือกและต่อสู้กับเป้าหมาย โดยที่ไม่มีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมหรือแทรกแซง ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางศีลธรรมในทางปฏิบัติ และโต้แย้งว่าในทางศีลธรรม ไม่ควรใช้เครื่องจักรเป็นตัวแทนในการตัดสินใจปลิดชีวิตมนุษย์ รวมถึงการแพร่กระจายอาวุธดังกล่าวเพราะอาจเป็นอันตรายต่อทุกประเทศ และบุคคล
คุณเองมั่นใจได้แค่ไหน หากต้องเลือกให้อาวุธชิ้นหนึ่งอยู่ในมือใคร ระหว่าง ‘จักรกล’ หรือ ‘มนุษย์’ ด้วยกัน
ความเที่ยงตรงในการตัดสินใจ VS. การสังหารต้องมีความรับผิดชอบ
อ้างอิงข้อมูลจาก
“Meaningful Human Control over Autonomous Systems” is out!
The climate engineers
How a giant space umbrella could stop global warming
Space-Based Sun-Shade Concept a Bright Idea
‘Minimal’ cell raises stakes in race to harness synthetic life
Designing Life: The Genomic Revolution
Illustration by Waragorn Keeranan