การกลั่นแกล้งในสังคมมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การแสดงกิริยาก้าวร้าวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคำพูดที่แสดงถึงการล้อเลียน เสียดสี เหยียดหยาม ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา ท่าทาง ปมด้อย เพศ รสนิยม ทัศนคติ การศึกษา ความสามารถ หรือแม้กระทั่งความเชื่อส่วนบุคคล แต่ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งรูปแบบไหนก็นับว่าเป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะแค่เพียงไม่กี่คำหรือพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจสร้างบาดแผลไว้ในใจของคนโดนแกล้งไปอีกนานแสนนาน
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่หลายๆ ครั้ง พฤติกรรมการกลั่นแกล้งของใครบางคนจะทำให้ใครหลายคนเกิดความไม่พอใจ จนนำไปสู่การรวมกลุ่มหรือการเคลื่อนไหวเพื่อ ‘ต่อต้าน’ คนคนนั้น
ท่ามกลางความโกรธเกลียดของคนในสังคม ที่มีต่อคนที่มักพูดจากลั่นแกล้งหรือรังแกคนอื่น ต่างมีบริบทอีกมากมายที่แทรกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น การให้กำลังใจ รวมไปถึงการออกมาปกป้องผู้ที่ถูกกระทำ แต่บางครั้ง การปกป้องไม่ได้มาในรูปแบบของการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่มาในรูปแบบของการต่อว่าหรือด่าทอผู้ที่กลั่นแกล้งแทน
ซึ่งการ ‘บูลลี่กลับ’ เพื่อโต้ตอบนั้น ก็กลายเป็นการ ‘ผลิตซ้ำ’ วัฒนธรรรมการบูลลี่ไปเรื่อยๆ
เพื่อย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการบูลลี่ ในแง่หนึ่งจึงมีความต้องการที่จะทำให้คนที่กลั่นแกล้งเข้าใจถึงประสบการณ์เจ็บปวดแบบเดียวกัน นั่นก็คือการ ‘เอาคืน’ หรือการ ‘บูลลี่กลับ’ (แอบฟังดูย้อนแย้ง) ในยุคที่เพียงจรดปลายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้ง่ายๆ การเลือกใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเองก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกโต้กลับ ทั้งวิธีพิมพ์ข้อความ hate speech ลงไปหวังให้คนคนนั้นเสียหาย การขุดประวัติเก่าๆ ขึ้นมาเล่า ไปจนถึงโจมตีรูปลักษณ์ภายนอก ดังนั้น เวลามีคนทำผิดพลาดไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะถูกบูลลี่กลับอีกที เช่นว่า “หน้าตาก็ไม่ดี ยังไปบูลลี่คนอื่นอีกเหรอ” หรือ “พอบูลลี่กลับ ทำไมทำเป็นรับไม่ได้” แน่นอนว่าหากคนบูลลี่ได้ยินเช่นนี้ คงรู้สึกสะเทือนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
แต่การเอาคืนช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรจริงๆ รึเปล่า? เพราะนอกจากจะดูย้อนแย้งแล้ว เหตุผลที่เราไม่ควรหยุดปรากฏการณ์นี้ด้วยการบูลลี่กลับ คือ มันอาจจะไปสานต่อ ‘วัฏจักรการกลั่นแกล้ง’ (the cycle of bullying) ไปเรื่อยๆ แบบไม่จบไม่สิ้น เพราะในขณะที่เราต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแกกัน เรากลับเป็นทำซ้ำพฤติกรรมนั้นซะเอง และหากได้ลองทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้คนคหนึ่งมีนิสัยชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาเองก็ ‘เคยถูกกลั่นแกล้ง’ มาก่อน
การสำรวจข้อมูลการกลั่นแกล้งในประเทศอังกฤษปี ค.ศ.2016 ของเว็บไซต์ Ditch the Label เผยว่า คนที่เคยเจอประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งมาก่อน มักจะมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งคนอื่นต่ออีกที อาจจะด้วยปมจากการถูกรังแกหรือพูดจาดูหมิ่นในอดีตที่นานมาแล้ว หรือ ณ ปัจจุบันอันใกล้ก็ตาม พวกเขาจึงต้องสร้าง ‘กลไกป้องกันตนเอง’ (defence mechanism) ขึ้นมา ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าไม่เป็นผู้กระทำก่อน จะกลายเป็นถูกกระทำซะเอง ดังนั้น การเริ่มกระทำก่อนจึงทำให้พวกเขารู้สึกมีอำนาจเหนือผู้อื่น และทำให้ปมด้อยที่มีถูกมองข้ามไป
หากลองสังเกตภาพวัฏจักรการกลั่นแกล้งของ แดน โอล์เวาส์ (Dan Olweus) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์เกน ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทั้งหมด จะเห็นว่ามีบริบทต่างๆ และบุคคลอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้กลั่นแกล้งและผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งเท่านั้น แต่ยังมีผู้สนับสนุน รวมถึงที่คอยดูอยู่ห่างๆ และผู้ที่ออกมาปกป้องอีกที
เราจะเห็นเส้นที่เชื่อมโยงระหว่างจุด G (ผู้ที่ออกมาปกป้อง) กับจุด A (ผู้ที่กลั่นแกล้ง) ซึ่งหมายถึงแนวโน้มที่ว่า ผู้ที่อยู่ในจุด G อาจกลายเป็นหนึ่งใน ‘สาเหตุ’ ที่ทำให้เกิดวัฎจักรนี้ต่อไปโดยไม่รู้ตัว และทำให้พวกเขาไม่ต่างกับผู้ที่กลั่นแกล้ง—วงจรอุบาทว์ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด
เรากำลังเป็นคนที่บูลลี่อีกทอดหนึ่งรึเปล่า?
แม้เป็นเรื่องยากที่เราจะมองว่าการกระทำของตัวเองเป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเราอาจมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งคนอื่นโดยไม่รู้ตัว แถมยังตบท้ายแบบเซฟๆ ด้วยคำว่า “ล้อเล่น” จนเคยชิน แต่ถ้าเราไม่อยากเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น วิธีหนึ่งที่ทำได้ไม่ยากคือ ‘สังเกต’ รีแอ็กชั่นของคู่สนทนาหรือคนรอบข้างตลอดเวลา ว่าพวกเขามีท่าทีอึดอัดหรือไม่สบายใจกับคำพูดหรือการกระทำของเราหรือเปล่า เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าอีกฝ่ายเซนซิทีฟกับคำพูดหรือการกระทำของเรามากน้อยแค่ไหน หรือถ้าจู่ๆ มีใครเดินเข้ามาตักเตือนหรือแนะนำ ก็ลองรับฟังอย่างเปิดใจและไม่โกรธเคือง เพราะถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราทบทวนตัวเองได้ทันเวลา
การเลือกตอบโต้ด้วยวิธีบูลลี่มาบูลลี่กลับ ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางใดๆ ก็ตาม นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหา แถมยังทำให้วัฏจักรการกลั่นแกล้งหมุนเวียนต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
หากคิดว่าการกลั่นแกล้งกันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นแม้จะกับใครก็ตาม การลองสังเกตผลตอบรับจากอีกฝ่าย ก็น่าจะป้องกันไม่ให้เราสนับสนุนพฤติกรรม ซึ่งเราเองก็ไม่เห็นด้วยได้
อ้างอิงข้อมูลจาก