แอนน์ ชูแชต (Anne Schuchat) ผู้อำนวยการใหญ่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค CDC เคยกล่าวว่า “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ จะฆ่ามนุษย์ตายก่อนที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) จะฆ่าพวกเราเสียอีก”
ถ้ายังจำกันได้ยาโคลิสติน (colistin) เคยถูกเรียกว่าเป็น ‘จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งยาปฏิชีวนะ’ หรือปราการด่านสุดท้ายของยาต้านจุลชีพราวกับปราการ ‘เฮลมส์ดีพ (helm’s deep) ใน The Lord of the Rings ซึ่งไม่เคยมีทัพใดสามารถยึดป้อมนี้ได้ เพราะถ้าคุณป่วยติดเชื้อจนยาอื่นเอาไม่อยู่จริงๆ ยาโคลิสตินมักจะเป็นที่ลี้ภัยให้คุณเสมอ แพทย์ค่อนข้างไว้วางใจในประสิทธิภาพ และเชื่อว่าวิทยาการจะมีหมัดเด็ดพอต่อกรกับเชื้อโรคที่พยายามรุกรานมนุษย์
จนกระทั่งปี ค.ศ. 2015 ป้อมปราการที่ว่าแน่อย่างยาโคลิสติน เริ่มหมดความขลังจนน่ากังวล เมื่อเชื้อ E.coli บ้านๆ สายพันธุ์หนึ่งสามารถต่อต้านฤทธิ์ยาได้ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในแวดวงวิทยาภูมิคุ้มกัน และนี่ไม่ใช่เพียงเชื้อเดียว เพราะมีการคาดการณ์ว่าทุกๆ ปีจะมีเชื้อดื้อยาชนิดใหม่ที่กลายพันธุ์ไม่น้อยกว่า 10 สายพันธุ์ พร้อมจู่โจมภูมิคุ้มกันร่างกาย และจะไม่มีอะไรต้านทานพวกมันได้
ถ้าถามว่าให้เลือกระหว่าง ‘เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ’ กับ ‘การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ’ คุณจะเลือกอะไรที่คิดว่าเลวร้ายน้อยสุด?
แต่ในความเป็นจริงคุณนั้นกลับเลือกไม่ได้สักนิด เพราะทั้ง 2 อย่างจะถูกยัดเยียดเข้าหาคุณพร้อมๆ กัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเองก็เป็นปัจจัยร่วมก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะสายพันธุ์ใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์เองยังไม่เข้าใจกลไกลึกลับนี้ได้ดีนัก
เราคงไม่สามารถจินตนาการโลกที่ปราศจากยาปฏิชีวนะ เพราะถ้าแพทย์สมัยใหม่ไม่มีมัน พวกเราก็อาจจะไม่พ้นผ่านช่วงวัยเด็ก อาจเป็นปุ๋ยอยู่ใต้ต้นมะม่วงไปนานแล้ว ยาปฏิชีวนะจึงเป็นความมหัศจรรย์ของวิทยาการโลกมาเคียงคู่กับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ (organ transplant) และ การผ่าตัดหัวใจ (heart surgeries) ที่ช่วยชีวิตมนุษย์ทั่วโลก แต่หลังจากที่เราได้ค้นพบยาปฏิชีวนะตัวแรกอย่าง ‘ยาเพนิซิลลิน’ (penicillin) เชื้อแบคทีเรียเองก็พยายามหาช่องว่างเพื่อหลบเลี่ยงเข้าสู่ร่างกายสิ่งมีชีวิตได้ตลอด พวกมันอาจจะไม่ได้เป็นนักสังหารโดยทันที แต่เติบโตขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง
เราได้เห็นการรณรงค์จากแวดวงคนในสาธารณสุขและภาครัฐถี่ขึ้นช่วงนี้ เรื่องข้อห้ามในการบริโภคยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นที่เป็นปัจจัยนำมาสู่เชื้อดื้อยา ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นปัจจัยจากพฤติกรรมมนุษย์ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกเช่นกัน ผลักให้แบคทีเรียพัฒนาความต้านทานขึ้น เพื่อที่มันจะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมให้ได้ แบคทีเรียจึงสร้างกลไกในการต่อต้านยาปฏิชีวนะ ส่งต่อยีนต้านทานนี้ไปยังอาณาจักรแบคทีเรียสายพันธุ์เดียวกันเอง หรือข้ามสายพันธุ์ โดยนัยแล้วธรรมชาติเองเป็นกลไกที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ทั้งที่ไม่ต้องมีมนุษย์เกี่ยวข้องเลยด้วยซ้ำ เป็นวิถีของธรรมชาติอยู่แล้ว
แต่มนุษย์เองที่กลับเร่งปรากฏการณ์หายนะนี้เร็วขึ้น เชื้อดื้อยาจึงไม่ใช่ปัญหาในอนาคตต่อไป แต่เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวนี้ ตอนนี้
จากสถิติพบว่ามีผู้คนทั่วโลก 700,000 คนเสียชีวิตเนื่องจากไม่มียาใดๆ ที่รักษาการติดเชื้อได้ แต่การคาดการณ์ที่น่าตกตะลึงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี ค.ศ. 2050 อาจมีตัวเลขผู้เสียชีวิตมากถึง 10 ล้านคน ถ้าปัจจุบันยังไม่มีมาตรการในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยเกินรับ รัฐจะสูญเสียงบประมาณพันล้านล้านเหรียญต่อปี และเราจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่ WHO นิยามว่า post-antibiotic era หรือยุคหลังจากยาปฏิชีวนะ ซึ่งความรุ่งเรืองของยาปฏิชีวนะได้เสื่อมอำนาจลง ใช้รักษาอย่างไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าแต่ก่อน (หรือรักษาไม่ได้เลย) แม้กับเชื้อแบคทีเรียธรรมดาๆ ที่เรารู้จักกันมาเป็นร้อยๆ ปี
ปรากฏการณ์ AMR (antimicrobial resistance) จึงเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่มีความซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างมีพลวัตต่อทุกกิจกรรมมนุษย์ ต่อทุกเศรษฐานะทางสังคม ทุกชนชั้นจะได้รับผลกระทบ (แต่คนจนน่าจะโดนหนักกว่า เพราะยาปฏิชีวนะที่เข้าถึงได้กลับไม่มีแล้ว) รวมไปถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากปัจจุบันพวกเราผลิตและบริโภคยาปฏิชีวนะมากถึงหมื่นตันต่อปี ยิ่งมีเสียงเรียกร้องต้องการใช้มากขึ้น ก็ยิ่งเป็นช่องทางบริษัทยาสั่งผลิตยาปฏิชีวนะจำนวนมาก
แต่ยาปฏิชีวนะพวกนี้ไม่ได้ผลิตกันง่ายๆ แต่จริงๆ กลับใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก และเกิดกากของเสียจากกระบวนการผลิตยาปฏิชีวนะที่ส่วนหนึ่งอาจรั่วไหลปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย เนื่องจากยังไม่มีมาตรการจัดการดูแลกากของเสียดีพอ และรัฐเองอาจยังไม่มีกำลังมากพอไปจี้กำชับทุกโรงงานให้มีมาตรฐานเดียวกันทุกเวลา กากของเสียปฏิชีวนะเหล่านี้จึงปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม หรือปนเปื้อนในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติ โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มสัตว์บริโภคของภาคปศุสัตว์ ที่ทำให้สัตว์ในฟาร์มเป็นแหล่งเพาะเชื้อดื้อยา และเมื่อสัตว์ถูกเปลี่ยนเป็นอาหารเสิรฟ์บนโต๊ะ คุณสมบัติในการต้านยาปฏิชีวนะก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ได้ถ่ายทอดมาที่มนุษย์เองซึ่งเป็นผู้บริโภคคนสุดท้ายเอง
ระยะหลังเชื้อดื้อยาจึงไม่ได้มีวงระบาดอยู่แค่บริเวณโรงงาน ฟาร์ม หรือสถานพยาบาล แต่อยู่ในพื้นที่ชุมชนด้วย พื้นที่สาธารณะที่พวกเราต้องใช้อยู่ทุกวัน ที่ที่คนไปมาหาสู่กัน เชื้อดื้อยาจากอีกคนอาจไปสู่อีกคน และการติดเชื้อจะมีความเป็นสาธารณะขึ้นเรื่อยๆ
AMR จึงเป็นประเด็นทางสังคมที่ดุเดือดขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคนในวงการสาธารณะสุขคาดว่า น่าวิตกกังวลมากกว่า climate change ในแง่ที่สังหารมนุษย์รวดเร็วกว่า และต้องการให้สังคมตื่นตัวมากจนถึงระดับการตื่นตัวแบบ climate change ให้ได้ เพื่อให้ทุกคนรับรู้ว่า พฤติกรรมของฉันนั้นมีผลต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อดื้อยา
แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการรณรงค์ Climate change และ AMR ควรทำควบคู่กันหรือพ่วงแนวคิดนี้ไปด้วยกัน
เพราะจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่า ภาวะโลกร้อนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งให้เกิดปรากฏการณ์เชื้อดื้อยาเร็วขึ้น เมื่อแบคทีเรียต้องการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน (ซึ่งแบคทีเรียชอบสภาพแวดล้อมร้อนอยู่แล้ว) จะทำให้มันแพร่กระจายกว้างขึ้น มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์สูงขึ้น และง่ายต่อการแพร่ระบาดในสิ่งมีชีวิต
ดังนั้นวิธีการที่ออกจะกำปั้นทุบดินหน่อยๆ สำหรับคนทั่วไป คือการลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หรือหากต้องใช้ก็ควรใช้อย่างรับผิดชอบ พฤติกรรม ‘กินดักไว้ก่อน’ อาจจะต้องค่อยๆ เลิกความเคยชินนี้ คำเตือนสีแดงข้างขวดไม่ได้เขียนเอาไว้เล่นๆ แต่มีผลกระทบจริงจัง ส่วนภาครัฐเองก็ควรสนับสนุนการวิจัยใหม่ๆ ค้นหาวิทยาการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันต่อสู้กับการระบาดแบคทีเรีย มีงบประมาณในการรณรงค์อย่างจริงจัง และเอกชนควรมีส่วนร่วมในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้คนไทยกระตุกคิดทุกครั้งก่อนกินยาปฏิชีวนะ
ถ้าเราลดการใช้ถุงพลาสติกได้ เพราะกลัวเต่าทะเลหรือพะยูนจะกินลงท้อง คำเตือนข้างขวดยาปฏิชีวนะก็น่าจะทำให้เราฉุกคิดได้เช่นกัน เพราะผลกระทบจากเชื้อดื้อยานั้นมีผลต่อคุณโดยตรง
อ้างอิงข้อมูลจาก
The AMR problem: demanding economies, biological margins, and co-producing alternative strategies
Antimicrobial Resistance: Tackling a crisis for the health and wealth of nations