“กินยาคุมอยู่ รับวัคซีนได้ไหม”
“คุณพ่อเป็นโรคหัวใจ ฉีดวัคซีนได้หรือเปล่า”
นอกจากคำถามว่า วัคซีนดีๆ จะมาเมื่อไหร่แล้ว ยังมีอีกสารพัดคำถามกับการเตรียมความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนในกลุ่มคนที่ต้องฉีดวัคซีนแล้ว โดยข้อมูลนี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานอันสำคัญที่ทุกคนควรรับรู้และเข้าใจโดยถ่องแท้ก่อนรับวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ต้องรับการรักษาด้วยโรคอื่นอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง โรคหัวใจ รวมถึง ผู้ที่ต้องฉีดวัคซีนอื่นๆ นอกเหนือจาก COVID-19
แล้วในกลุ่มโรคต่างๆ ต้องเตรียมตัวเองก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 ยังไงบ้าง ต้องหยุดกินยาที่ใช้อยู่ประจำก่อนหรือเปล่า The MATTER รวบรวมคำตอบเหล่านี้ จาก นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์ และนพ.ปวิน นำธวัช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึง ข้อมูลจากสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ มาให้ได้ดูกัน
สำหรับโรคที่ต้องรักษาอาการต่อเนื่องอย่างโรคหัวใจ โรคติดเชื้อ HIV โรคเบาหวาน และโรคไตนั้น นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า หากอาการเพิ่งกำเริบ หรือเพิ่งรับการรักษาไป เช่น เพิ่งฟื้นจากอาการหัวใจวาย หรือเพิ่งเข้ารับการทำบอลลูนหัวใจมา ควรรอให้อาการคงที่ก่อน อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีอาการอะไรที่ผิดแปลกไปแล้ว จึงค่อยเข้ารับวัคซีน
เช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดสมองที่จำเป็นต้องรอให้อาการคงที่ก่อน ค่อยฉีดวัคซีน โดยควรรอให้อาการคงที่ก่อนประมาณ 1-2 เดือน เพื่อความมั่นใจก่อน
ส่วนในกลุ่มโรคที่จำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคมะเร็งต่างๆ และโรค SLE เป็นกลุ่มโรคที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนรับวัคซีน โดย นพ.ปวิน กล่าวว่า การใช้ยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้ผลที่ได้ของวัคซีน COVID-19 ด้อยลง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
ขณะที่ นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ผู้รับการรักษาจำเป็นต้องให้ที่ปรึกษาทางการแพทย์ช่วยดูว่า ยากดภูมิที่ใช้รุนแรงหรือไม่ แล้วถ้าจำเป็นจะต้องหยุดยา จะต้องหยุดไว้ 1-2 สัปดาห์ก่อนฉีดหรือไม่
“ไม่อย่างนั้นฉีดไปแล้วภูมิจะขึ้นไม่ดี แต่ถ้าเราควบคุมอาการของโรคที่เป็นได้ดี และใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่ไม่รุนแรงมาก คือกดภูมิค่อนข้างน้อย ก็ไม่เป็นไร เพราะยากดภูมิคุ้มกันไม่ได้มีผลต่อวัคซีนทุกตัว เป็นยากดภูมิคุ้มกันบางตัวเท่านั้น”
ขณะที่ ในกลุ่มโรคภูมิแพ้นั้น นพ.ปวินกล่าวว่า สามารถฉีดวัคซีนได้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะยารักษาโรคภูมิแพ้ไม่ได้มีผลเกี่ยวกับวัคซีน แต่สำหรับกลุ่มคนที่เป็นโรคหวัดอยู่นั้น ไม่ควรฉีดในตอนที่ยังมีอาการ และควรรอให้หายป่วยก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ เพื่อที่ว่า เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว จะแยกได้ว่า อาการไหนที่ผิดแปลกไปนั้นเป็นอาการหลังจากการฉีดวัคซีนจริงๆ ไม่ใช่อาการของโรคที่เป็นอยู่
ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช เช่น โรคแพนิก โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม ทางราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเอาไว้ว่า ผู้ที่รักษาในกลุ่มโรคจิตเวชสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ โดยไม่ต้องหยุดยา แต่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรเพิ่มยา หรือปรับเปลี่ยนยาก่อนรับการฉีดวัคซีนเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอาการถอนยา หรือ อาการข้างเคียงได้ แต่ถ้าหากเพิ่งเปลี่ยนการใช้ยาไป นพ.นิธิพัฒน์ ก็แนะนำว่า ควรรอสังเกตอาการให้ดีก่อนว่า ไม่มีอะไรผิดแปลกไป แล้วค่อยรับวัคซีน COVID-19
ส่วนในกลุ่มที่ต้องรับวัคซีนอื่นๆ นั้น ต้องพิจารณาจากตัววัคซีนที่เข้ารับก่อนว่า เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดอย่างเร่งด่วนไหม เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนบาดทะยัก ที่หากไม่ฉีดทันทีแล้วอาจเสียชีวิตได้ ก็ควรฉีดให้เรียบร้อย แล้วค่อยฉีดวัคซีน COVID-19 หรือจะฉีดควบคู่กันไปก็ได้ แต่ในวัคซีนที่ไม่เร่งด่วน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ควรฉีดพร้อมกัน เพื่อจะได้แยกได้ว่า อาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนนั้น มาจากวัคซีนตัวไหน
ขณะที่ กลุ่มคนที่ต้องใช้ยานอนหลับ คุณหมอทั้งสองยืนยันว่า ไม่มีผลเกี่ยวข้องกับวัคซีน จึงสามารถใช้ยาและฉีดวัคซีนได้ตามปกติ
อีกคำถามที่คนสงสัยกันก็คือ ในกลุ่มที่กินยาคุมกำเนิด สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่? นพ.นิธิพัฒน์ก็กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องหยุดยา เพื่อรับวัคซีน COVID-19 เพราะยาคุมกำเนิดในปัจจุบัน มีปริมาณฮอร์โมนน้อยลงกว่าแต่ก่อน จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือดได้น้อยกว่าในอดีต
แต่ยาคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในโดยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวัคซีนอาจกระตุ้นให้ลิ่มเลือดที่มีอยู่แล้วในร่างกาย แสดงอาการออกมาชัดเจนได้ แต่ถึงอย่างนั้น นพ.นิธิพัฒน์ก็กล่าวว่า โอกาสจะเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีนหลังใช้ยาคุมกำเนิดนั้น มีน้อยมากๆ
และสำหรับยาอื่นๆ อย่าง ยาแก้ปวดไมเกรน ยาแก้อักเสบ นพ.ปวินกล่าวว่า สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ โดยหากจำเป็นต้องใช้ยา ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ยา
อย่างไรก็ดี ก่อนจะเข้ารับการฉีดวัคซีน ควรแจ้งประวัติให้แพทย์ทราบโดยละเอียดก่อน โดยคุณหมอทั้งสองยังแนะนำด้วยว่า ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคให้ถี่ถ้วนก่อนรับวัคซีน และต้องสังเกตอาการให้ดีหลังจากรับวัคซีนแล้ว
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก