เป็นเรื่องปกติกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นไวรัสใดๆ ก็ตาม เช่นเดียวกับ COVID-19 ที่แพร่ระบาดมาปีกว่าๆ และแตกแขนงออกไปหลากหลายสายพันธุ์ จนมีคนแซวกันว่า COVID-19 นี่พัฒนาตัวเองเร็วกว่าบางประเทศเสียอีกนะ
แต่ในบรรดาสายพันธุ์ต่างๆ ที่เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ไปนี้ มีสายพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าน่าเป็นกังวล และได้คำเรียกว่า Variant of Concern
สำหรับไวรัสกลุ่มที่เข้าข่าย Variant of Concern นั้น จะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีความสามารถในการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ลดประสิทธิภาพของแอนติบอดีที่ร่างกายของมนุษย์สร้างขึ้นหลังจากการติดเชื้อหรือการรับวัคซีนมา ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาหรือวัคซีนลดลง หรือรวมไปถึง ความยากในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วย
The MATTER ได้หยิบยกข้อมูลของสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในวงกว้าง และเป็นหนึ่งในกลุ่ม Variant of Concern ที่เราต้องจับตามองมาให้ชมกัน ดังนี้
COVID-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 (อังกฤษ)
พบครั้งแรก
พบในมณฑลเคนท์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนกันยายน ปี 2020
ลักษณะการกลายพันธุ์
อยู่กลุ่มของสายพันธุ์ GR ตำแหน่งกลายพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่บนหนามของไวรัส ซึ่งเป็นจุดที่ไวรัสใช้เกาะติดกับเซลล์ของร่างกายมนุษย์ พบการกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y ซึ่งการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้จะทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ
ต่างจากเดิมอย่างไร
ไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า และข้อมูลเบื้องต้นยังระบุว่า สายพันธุ์นี้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 30-70% โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาเตือนว่า COVID-19 สายพันธุ์นี้ อาจส่งให้ผลผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น 30% ขณะที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) และมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าการติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์นี้ อาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 64%
นอกจากนี้ นักระบาดวิทยาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ B.1.1.7 และผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์อื่น โดยใช้จำนวนผู้ป่วย 55,000 คนเป็นตัวตั้ง ก่อนจะพบว่ามีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ B.1.1.7 จำนวน 227 ราย มากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ 141 ราย แสดงให้เห็นว่าอัตราผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นจาก 2.5 เป็น 4.1 ต่อ 1,000 คน เมื่อมีสายพันธุ์ B.1.1.7 เข้ามาเกี่ยวข้อง
พบแล้วในกี่ประเทศ
พบแล้วในอย่างน้อย 114 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
วัคซีนได้ผลไหม
งานวิจัยจากหลายสำนัก ระบุว่า วัคซีนส่วนมากอย่าง Pfizer-BioNTech, Moderna, Johnson & Johnson, AstraZeneca, Sputnik และ Novavax มีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.7 และมีผลการทดลองว่าวัคซีน Johnson & Johnson และ AstraZeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยขั้นรุนแรงในพื้นที่ที่สายพันธุ์ B.1.1.7 ระบาด
แต่ก็ต้องย้ำว่า ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ 100% จึงยังเป็นไปได้ว่า จะมีผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ยังติดเชื้อซ้ำอีกได้เช่นกัน
COVID-19 สายพันธุ์ B.1.351 (แอฟริกาใต้)
พบครั้งแรก
พบที่แอฟริกาใต้ เมื่อเดือนตุลาคม และประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ปี 2020
ลักษณะการกลายพันธุ์
อยู่ในกลุ่มของสายพันธุ์ GH มีการกลายพันธุ์มากผิดปกติ โดยเฉพาะในบริเวณโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นจุดที่ไวรัสใช้เกาะติดกับเซลล์ของร่างกายมนุษย์ ทั้งยังพบการกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y และ E484K ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติและอาจส่งผลต่อการตอบสนองสารแอนติบอดี
ต่างจากเดิมอย่างไร
การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์นี้ทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น รวมถึงเป็นสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงสารแอนติบอดีที่อยู่ในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วยต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาที่ร่างกายเคยพบมาก่อนจากการติดเชื้อก่อนหน้านั้น หรือจากการได้รับวัคซีนด้วย แต่ยังไม่มีหลักฐานว่ามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์เดิม
พบแล้วในกี่ประเทศ
พบแล้วอย่างน้อยใน 60 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
วัคซีนได้ผลไหม
วัคซีนที่มีอยู่บางตัวนั้นอาจมีประสิทธิภาพลดลงกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้ แต่ WHO ระบุว่า วัคซีนยังสามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยร้ายแรงและการเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันอาการจากการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์
COVID-19 สายพันธุ์ P.1 (บราซิล)
พบครั้งแรก
ตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในผู้ที่เดินทางมาจากบราซิลเข้าประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้เริ่มระบาดครั้งแรกในบราซิล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2020
ลักษณะการกลายพันธุ์
อยู่กลุ่มของสายพันธุ์ GH เกิดการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนามของเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้ไวรัสยึดเกาะกับเซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ดีขึ้น ลักษณะการกลายพันธุ์คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ B.1.351 คือ พบการกลายพันธุ์ที่รหัสพันธุกรรมในตำแหน่ง N501Y และ E484K ทำให้แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น และมีความต้านทานต่อภูมิคุ้มกันที่มากกว่าสายพันธุ์อื่น เนื่องจากพลาสมาหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับกับไวรัสเหล่านี้ได้น้อยลง
ต่างจากเดิมอย่างไร
นักวิจัยระบุว่า สายพันธุ์นี้อาจแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นถึง 2.5 เท่า นอกจากนี้ มีรายงานว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้ต้านทานวัคซีนและหลบเลี่ยงระบบภูมิต้านทานได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน มีโอกาสจะติดเชื้อสายพันธุ์นี้ซ้ำอีกครั้งได้
พบแล้วในกี่ประเทศ
พบแล้วอย่างน้อยใน 25 ประเทศ
วัคซีนได้ผลไหม
ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่บ่งชี้ว่า วัคซีนไม่สามารถต้านไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถหลบเลี่ยงแอนติบอดีซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นอกจาก 3 สายพันธุ์นี้ ยังมีสายพันธุ์อื่นๆ ที่เราต้องให้ความสนใจ อย่างสายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีกลายพันธุ์คู่ (double mutant) ในตำแหน่งของรหัสพันธุกรรมที่ E484Q และ L425R โดยกระทรวงสาธารณสุขอินเดียแถลงว่า “การกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ช่วยให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการติดเชื้อได้มากขึ้น”
แต่รัฐบาลอินเดียระบุว่า การวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาพบว่า ตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีการกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่งในเชื้อชนิดเดียวนั้น เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการตรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่มากพอที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรง หรือช่วยอธิบายถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในบางรัฐได้
หรือสายพันธุ์ B.1.427 และ B.1.429 ซึ่งพบในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention) ประกาศให้เป็นอีกสองสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่ม Variant of Concern พร้อมมีรายงานว่า สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 20%
คำถามสำคัญสำหรับเรื่องของการกลายพันธุ์ก็คือ จะทำให้คนติดเชื้อได้ง่ายขึ้นไหม จะทำให้ล้มป่วยรุนแรงกว่าเดิมหรือเปล่า แล้ววัคซีนที่เรามีอยู่นี้สามารถต้านทานไวรัสดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งนี่ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ต้องเร่งหาคำตอบกันให้ได้
อ้างอิงจาก