ไม่แปลกที่ Smartphone และ iPad จะเป็นผู้ส่งจูบฝันดีให้กับคุณทุกคืน เพราะแม้แต่การนอน เราก็ไม่วายบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่า “จะนอนแล้วน้า” แต่มีงานวิจัยล่าสุดนี่สิออกมาบอกว่าการเพ่งแสงจ้าจากมือถือเพื่ออ่านสเตตัสที่เพื่อนๆ คุณเพ้อยามดึก อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะมันเป็นภัยซ่อนเร้นที่นำพา’โรคอ้วน‘ มาหาคุณโดยไม่รู้ตัว
ในตอนกลางวัน Smartphone ของเราจะปล่อยแสงสีฟ้าความเข้มสูง เพื่อให้เราสามารถมองเห็นการแสดงผลบนหน้าจอในแสงแดดธรรมชาติ แต่ในยามค่ำคืนสมองพวกเรากลับสับสนมึนงงกับแสงจ้าจากหน้าจอ ที่ไม่ต่างจากดวงอาทิตย์ย่อส่วนขนาดมือถือ ดังนั้นเจ้าสมองจะหยุดปล่อยฮอร์โมน ‘เมลาโทนิน’ (melatonin) ที่จำเป็นต่อการนอน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนนาฬิกาชีวภาพทำให้คุณง่วงนอนและพักผ่อน
พอเมลาโทนินไม่มา คุณจึงไม่พร้อมนอนและยังสไลด์มือถือต่อไปอีกหลายชั่วโมง
ยิ่งหากติดมือถือจนเป็นนิสัย สมองจะสร้างสารพิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ทำให้การนอนครั้งต่อๆ ไปยากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังและต้องรักษาด้วยเงินไม่น้อย (แถมบ้านเรายังมีสถาบันวิจัยที่แก้ปัญหาเรื่องการนอนไม่กว้างขวางนัก)
จากงานวิจัยที่ผ่านมาหลายชิ้น ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง’แสง’ และระบบเผาพลาญของร่างกาย (Metabolism) อย่างมีนัยยะ ล่าสุดนักวิจัยและแพทย์ผู้ศึกษาประสาทวิทยา Kathryn Reid จากมหาวิทยาลัย Northwestern ในรัฐอิลลินอยส์ ศึกษาแสงสีฟ้าที่สร้างผลกระทบต่อ วงจรนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ที่กำหนดสมดุลร่างกาย ว่าเมื่อไหร่คุณต้องตื่น ต้องนอน และต้องกิน
แล้วมันทำให้’อ้วน’ได้ยังไงนะ?
Kathryn Reid ได้ทำการศึกษาอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 14 คนโดยทำการทดลองถึง 4 วัน 4 คืน เธอและทีมวิจัยพบว่า คนที่ถูกกำหนดให้เล่นมือถือก่อนนอนเป็นประจำทุกคืน จะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) สูงขึ้น และมีค่าเฉลี่ยของ’กลูโคส’ หรือน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยทำให้ร่างกายคุณมีการสะสมไขมัน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเหตุจากอินสุลินในร่างกายไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้อย่างที่ควรจะเป็น
คุณอ้วนคุณเดียวไม่พอ เพราะคุณยังจะทำให้ลูกๆ อ้วนตามไปด้วย
จากสถิติล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ PLOS ONE เผยข้อมูลว่า มีเด็กก่อนวัยเรียนกว่า 42 ล้านคนทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากพฤติกรรมเล่นมือถือก่อนนอนเพราะการเลียนแบบพ่อแม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงการถูกแสงสีฟ้าเป็นเวลานาน ในขณะที่ร่างกายยังไม่พัฒนาเต็มที่อีกด้วย
แสงที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นไม่ว่าจะจากมือถือ แท็บเล็ต และโทรทัศน์ ทำให้เด็กยุคนี้เผชิญหน้ากับปัญหาการนอนมากว่าเด็กๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา และนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ลูกของคุณต่อสู้กับความอ้วนได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามจากรูปแบบชีวิตของพวกเราก็ยากที่จะปฏิเสธเทคโนโลยี เพราะอินเทอร์เน็ตและ Smart device bitcoin casinos ต่างจำเป็นต่อการรับรู้ข่าวสารและการทำมาหากินทั้งสิ้น การหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าก็ไม่ต่างจากการเนรเทศตัวเองไปอยู่ในถ้ำอันมืดมิดแสนไกลโพ้น
หากมีสิ่งที่คุณจะทำได้ นั่นคือการจัดการตารางชีวิตอย่างเป็นระบบ ให้ความสำคัญกับการพักผ่อน พอๆ กับการเสพข้อมูลในแต่ละวัน มือถือคุณต้องชาร์จไฟฉันใด สมองคุณก็จำเป็นต้องพักเพื่อการซ่อมแซมและปรับฮอร์โมนให้สมดุลฉันนั้น
และนอกจากภัยแสงสีฟ้าในยามค่ำคืน มือถือเจ้ากรรมก็อาจร่วงใส่หน้าน้ำตารื้นโดยที่โทษใครไม่ได้แม้แต่แสงสีฟ้าเองก็ตาม (มือถือยังพอทน แต่ถ้าเป็น iPad นี่สิ โอย)
อ้างอิงข้อมูลจาก
N. Cheung, Phyllis C. Zee, Dov Shalman, Roneil G. Malkani, Joseph Kang, Kathryn J. Reid. Morning and Evening Blue-Enriched Light Exposure Alters Metabolic Function in Normal Weight Adults. PLOS ONE, 2016; 11
Cassandra L. Pattinson, Alicia C. Allan, Sally L. Staton, Karen J. Thorpe, Simon S. Smith. Environmental Light Exposure Is Associated with Increased Body Mass in Children. PLOS ONE, 2016