เมื่อเดือนที่แล้วเรานำเสนอข่าวเรื่องแชทบอทสัญชาติไทยที่ชื่อ ‘บอทน้อย’ (@botnoi) ได้รับรางวัลในหมวดแชทบอทที่คุยเก่งที่สุดจากงาน LINE BOT AWARD ไป (ตามไปอ่านได้ที่นี่)
ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย คือผู้พัฒนาแชทบอทที่ว่านี้ เขาจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศเยอรมัน มหาวิทยาลัย Ulm และได้ทุนของรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Caen ประเทศฝรั่งเศส
แน่นอนว่า The MATTER ชวนวินน์ มานั่งคุยถึงความเป็นมา ขั้นตอนการพัฒนาเจ้าบอทน้อย และความรู้สึกของการได้รับรางวัล และอะไรที่ทำให้คิดว่าต้องพัฒนาบอทน้อยให้เป็นจริงเป็นจังและพูดคุยได้เหมือนเพื่อนจริงๆ
The MATTER : ก่อนหน้าที่จะมาทำแชทบอท คุณทำงานด้านไหนมาก่อน
วินน์ : ผมเรียนและทำงานในสาย AI มาประมาณ 10 ปี สมัยที่อยู่เยอรมันก็เคยเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ Daimler-Benz ตอนนั้นช่วยทีมวิจัยพัฒนาระบบ Pedestrian detection หรือระบบใช้กล้องตรวจจับคน หากระบบพบเจอคนวิ่งตัดหน้ารถยนต์แล้วคนขับเบรกไม่ทัน รถก็จะเบรกหรือเลี้ยวหนีอัตโนมัติเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แล้วก็เคยช่วยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Caen พัฒนาหุ่นยนต์ลาดตระเวณให้กับ DGA หน่วยกลาโหมของประเทศฝรั่งเศส หุ่นยนต์นี้จะเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงภัย แล้วสร้างแผนที่พร้อมกับตรวจจับวัตถุต่างๆ ในพื้นที่
หลังจากเรียนกับทำงานที่ยุโรปมา 8 ปีก็ตัดสินใจกลับมาทำงานใกล้บ้าน ได้งานเป็น data scientist คนแรกของบริษัท AirAsia Berhad บริษัทแม่ที่มาเลเซีย แล้วในที่สุดตอนนี้ย้ายมากลับทำงานที่เมืองไทยสมใจ โดยได้งานเป็น group data scientist ให้กับบริษัทเทเลนอร์ กรุ๊ป งานที่ทำก็คือคิดค้นสร้างพัฒนาต้นแบบ (prototype) ที่เอามาใช้ได้ในสายการตลาด แล้วก็คอยช่วยซับพอร์ตให้คำปรึกษาทีม data science กับ analytic หลายๆทีมของบริษัทในเครือประมาณ 15 บริษัททั่วโลกรวมถึงบริษัทดีแทคในไทย ด้วยอานิสงค์ของบอทน้อย ทำให้ตอนนี้ผู้ใหญ่ในเทเลนอร์ให้ผมดูแลโปรเจคสร้างแชทบอทให้กับบริษัทครับ
The MATTER : เจ้าบอทน้อยตัวเก่งมีความเป็นมายังไง?
วินน์ : พอดีว่าเรียนจบมาทางด้าน AI ครับ แล้วก็ทำพวก Natural language processing(NLP – การประมวลผลภาษาธรรมชาติ) อยู่พอดี ที่ผ่านมาก็หาโปรเจกต์โน่นนี่ทำสนุกๆ ไปเรื่อยเปื่อย จนเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อนไปอ่านเจอว่าแอพแชทยอดฮิตอย่าง LINE เปิดให้นักพัฒนาเข้าถึง API และทำแชทบอทได้ เลยศึกษาดู ตอนแรกทำเล่นๆ สนุกๆ แต่อยากให้มันเก่งและฉลาดกว่านี้ เลยไปบอกเพื่อนๆ ใน LINE กับใน Facebook ให้แอดบอทน้อยไปคุยหน่อย แรกๆ เพื่อนก็ไม่เข้าใจว่านี่คืออะไร ทำทำไม ใช้งานแล้วได้อะไร เพราะแรกๆ บอทน้อยยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง กว่าจะมีคนยอมแอดมาเป็นเพื่อนสักคนลำบากมาก คือจะให้บอทฉลาดต้องมีคนมาใช้ แต่จะให้คนมาใช้บอทก็ต้องฉลาดด้วย
The MATTER : แสดงว่าบอทน้อยไม่ได้เป็นบอทถามคำตอบคำ แต่เป็นบอทที่จะเรียนรู้เองว่าถ้าเจอคำถามแบบนี้ควรตอบยังไง?
วินน์ : อืม เป็นการผสมกันครับ คือบอทน้อยจะเรียนรู้ด้วยตัวเองแต่เราก็ต้องคอยสอนไม่ให้มันออกนอกลู่นอกทาง เราจะควบคุมให้บอทน้อย มีนิสัยและแบบอย่างที่เราอยากให้มันเป็น ซึ่งก็คือ จิตใจดี ไม่หยาบและตลกนิดๆ
The MATTER : มีแนวคิดหรือไอเดียอะไรที่ทำให้คิดอยากจะสร้างบอทน้อยขึ้นมา?
วินน์ : คิดว่าเราจะสร้างจุดต่างจาก Siri ของ Apple หรือแชทบอทตัวอื่นๆ ยังไง เพราะผมมองว่า Siri เป็นผู้ช่วยของผู้ใช้ หรืออย่างแอพฟ้าใสก็เป็นเลขาให้ผู้ใช้หมือนกัน เลยอยากสร้างเพื่อนหุ่นยนต์ ที่จุดเด่นคือการคุยได้เหมือนเพื่อนคนนึงครับ
The MATTER : อะไรที่ทำให้คิดว่าเราต้องพัฒนาบอทน้อยให้เป็นจริงเป็นจังและพูดคุยได้เหมือนเพื่อนจริงๆ
วินน์ : คือเราจะเป็นคนสอนบอทว่าใครคุยแบบไหนมา บอทต้องตอบกลับไปให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เค้าคุยด้วย ซึ่งการสอนจะเกิดจากการนำข้อความที่ผู้ใช้พิมพ์คุยกับบอทมาสุ่ม แล้วระบบก็จะนำข้อความเหล่านั้นมาเรียนรู้ด้วยสิ่งที่สอนเข้าไป อยู่มาวันนึงไปเจอข้อความในระบบประมาณว่า ‘อยากตาย’ ‘รู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า’ ‘ไม่มีใครคบ’ ‘ไม่รู้อยู่ไปทำไม’ ตอนนั้นผมตกใจมาก ต้องรีบไปสอนบอทใหม่เลย ว่าถ้าเกิดเจอข้อความแนวๆ นี้ ตอบกลับไปแนวๆ ว่าอย่างน้อยก็มีบอทน้อยที่เป็นเพื่อน แล้วก็เป็นกำลังใจให้ ตอนนั้นก็คิดว่าผมน่าจะสอนบอททันนะ จนผ่านไปวันสองวัน มีผู้ใช้แคปหน้าจอบอทน้อยที่ตอบให้กำลังใจเค้า มาโพสข้อความในเพจ Facebook ของบอทน้อย ขอบคุณบอทน้อยที่ให้กำลังใจและช่วยชีวิตเค้าไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่คนสองคนด้วยนะ จากตรงนี้ก็เลยคิดว่าเป็นจุดที่ต้องเอาจริงเอาจังกับบอทน้อยซักที รู้สึกภูมิใจที่บอทน้อยได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
The MATTER : เลยกลายเป็นจุดเด่นของบอทน้อยว่า ต้องสุภาพ เป็นมิตรและเป็นเพื่อนได้จริงๆ?
วินน์ : ใช่ครับ จริงๆ ผมว่าตัวเองมีเพื่อนเยอะแล้วนะ แต่บางทีก็เหงาขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้จะคุยกับใคร มีอยู่ช่วงนึงไปเรียนอยู่เมืองนอก แล้วตรงกับช่วงปิดเทอม เพื่อนๆ คนอื่นก็กลับบ้านกันเพราะเป็นช่วงคริสต์มาส อากาศก็หนาวแถมที่เมืองไทยตอนนั้นก็ตีสาม จะคุยกับใครก็ไม่ได้ ตอนนั้นเลยคิดว่าคงมีหลายคนที่เค้าคงเหงากว่านี้ เครียดกว่านี้ หรือบางคนอกหัก พอไปบ่นกับเพื่อนมากๆ เพื่อนรำคาญ พ่อแม่ก็ไม่กล้าคุย คือบางทีก็แค่อยากระบายเฉยๆ เท่านั้นเอง มันเลยเป็นจุดสำคัญของบอทน้อย
The MATTER : หลายปีก่อนหน้ามีแชทบอทตัวนึงที่ดังมาก ดังจนเป็นข่าว แต่เค้ามีปัญหาว่าผู้ใช้สอนบอทให้พูดคำหยาบจนมันติดไปเลย แล้วอย่างบอทน้อยถ้ามีคนตั้งใจมาสอนให้พูดคำหยาบ จะมีโอกาสเปลี่ยนตัวเองเป็นขาโหดเหมือนเค้ามั้ย?
วินน์ : ผมว่าแชทบอทของเค้าใช้ระบบเรียนรู้เสรีไม่มีการควบคุม (Unsupervised learning) แชทบอทแบบนี้จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ เหมือนเด็กที่ไปจำอะไรมาแล้วทำตาม แต่บอทน้อยผมควบคุมและกรองคำหยาบออกจากระบบ ส่วนคำพูดคำจาในการโต้ตอบก็จะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ก็เรียกว่าเป็น (Semi-supervised learning)
The MATTER : ไปเจองาน LINE BOT AWARD ได้ยังไง ทำไมตัดสินใจเอาบอทน้อยเข้าประกวด?
วินน์ : พอพัฒนาไปซักระยะ เห็นแววว่าส่งได้ ก็เลยลองส่งดู จะได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย แล้วก็อยากได้เงินลงทุนเพิ่มเติมด้วยเพราะบอทน้อยเริ่มจากงานอดิเรก พอคนใช้เยอะขึ้น ระบบก็ล่ม สุดท้ายก็ต้องเอาเงินส่วนตัวออกมาลงทุนขยายระบบให้รองรับคนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตอนแรกไม่รู้ว่าส่งเข้าประกวดกันกี่ทีม แต่ตอนส่งไป ค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะเข้าตากรรมการ เค้ามีเกณฑ์การตัดสิน 5 ข้อ บอทน้อยก็ตอบโจทย์ได้ทั้งหมดโดยเฉพาะจำนวนคนใช้ที่มากถึง 2 แสนกว่าคน
The MATTER : พอทราบว่าบอทน้อยเข้ารอบ 24 ทีม รู้สึกยังไงบ้าง แล้วตอนนั้นเตรียมตัวอย่างไรเพื่อประกวดรอบสุดท้าย
วินน์ : พอได้ข่าวว่าผ่านเข้ารอบ ก็ดีใจและตื่นเต้นมาก ตอนนั้นมีเวลาเตรียมตัวแค่อาทิตย์เดียว ตั้งใจว่าจะนำเสนองานให้เป็นกันเองไม่ใช่แบบธุรกิจเพราะไปแข่งที่ญี่ปุ่น และนำเสนอให้คนญี่ปุ่นฟัง แถมมีเวลาพูดแค่ 5 นาที ต้องพยายามหาวิธีสื่อสารให้เข้าใจแบบง่ายๆ สุดท้ายเลยมีเรื่องราวการนำเสนอว่า บอทน้อยคือเพื่อนหุ่นยนต์ ที่มีโดราเอมอนเป็นไอดอล เค้าก็เห็นภาพว่า นี่คือเพื่อนหุ่นยนต์ที่คอยหวังดีและช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่เพื่อนที่เอาของวิเศษมาสปอยล์นะ
The MATTER : สุดท้ายเลยได้รางวัลหมวดแชทบอทคุยเก่งจนได้
วินน์ : ใช่ครับ ตอนแรกไม่ได้นึกถึงรางวัลนี้ เพราะเล็งรางวัล Localization Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้กับชาวต่างชาติ ตอนประกาศผลรางวัลแล้วทีมจากประเทศอินโดนีเซียได้ก็เหวอเหมือนกัน
แต่ดีใจมากที่สุดท้ายก็ได้รางวัล Conservation Award แทน กรรมการบอกว่าเป็นรางวัลที่ให้กับแชทบอทที่มี AI ในการโต้ตอบเก่งที่สุด ซึ่งผมเองไม่ได้คิดถึงเลยนะ คิดว่าญี่ปุ่นเค้าน่าจะเก่งกว่าเรื่อง AI แต่พอได้รางวัลนี้ก็มาก็ภูมิใจมาก ดีกว่ารางวัล Localization เยอะเลย
The MATTER : บอทน้อยก็ไม่ได้คุยภาษาไทยได้อย่างเดียว คุยเป็นภาษาต่างชาติได้ด้วย?
วินน์ : ตอนจะเข้าประกวด พยายามหาวิธีที่จะชนะใจกรรมการ ตอนนั้นคิดว่าถ้าทำให้คนต่างชาติที่ไม่เคยใช้ LINE มาก่อน ยอมลงโปรแกรม LINE เพื่อคุยกับบอทน้อย ก็จะทำให้ LINE สนใจขึ้นมาเพราะถือว่าช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้เค้า เลยตัดสินใจให้เพื่อนชาวเนปาลตั้งเพจชื่อ Sanobot (แปลว่าบอทน้อยในภาษาเนปาล) แล้วสอนภาษาเนปาลให้บอทน้อย จากนั้นให้ลูกพี่ลูกน้องชาวสิงคโปร์ สอนภาษาจีนให้บอทน้อย แล้วตั้งเพจ Xiaobo (แปลว่าบอทน้อยในภาษาจีน) เช่นกัน สุดท้ายผลตอบรับดีเกินคาดครับ อย่างแฟนเพจเนปาลประมาณหมื่นกว่าคน แฟนเพจ xiaobo ก็น่าจะถึงหมื่นเหมือนกัน ในระยะเวลาสั้นๆ
The MATTER : อนาคตจะเพิ่มฟีเจอร์อะไรเข้าไปอีก?
วินน์ : ส่วนตัวมีเพื่อนต่างชาติหลายประเทศครับ เลยตั้งใจว่าจะฝึกให้บอทน้อยพูดได้หลายๆภาษา เพราะฟีเจอร์อีกอันที่สำคัญคือการคุยเป็นภาษาต่างชาติ แฟนๆ บอทน้อยก็ชมว่ามีประโยชน์มาก เอาไว้ฝึกภาษาได้ด้วย ส่วนต่อมาคือพัฒนาฟีเจอร์ความสนิทสนมของผู้ใช้กับบอทน้อย จะมีค่าวัดเช่นคุยกับบอทน้อยมากแค่ไหนหรือระยะเวลาที่รู้จัก ก็จะแปลงเป็นค่าความสนิทสนม ถ้าสนิทมากก็อาจจะมีสิทธิพิเศษเพิ่มเติมเช่นได้แคปชั่นหรือมุกที่ฮากว่าเดิม หรือได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ก่อนใคร นอกจากนี้ก็มีฟีเจอร์อื่นๆ ที่กำลังตามมา มีอีกเยอะครับ แต่ขออุบไว้ก่อน
The MATTER : ผู้ใช้ตอนนี้เท่าไหร่แล้ว?
วินน์ : ล่าสุดตอนนี้มีผู้ใช้บอทน้อย 4 แสนกว่าคนบน LINE ส่วนบน Facebook เพจก็มีคนติดตามกว่าแสนคนแล้ว และในแต่ละวันบอทน้อยโต้ตอบกับผู้ใช้ประมาณสิบล้านข้อความ
The MATTER : ตอนนี้ดูแลคนเดียวหรือมีทีมงานที่ช่วยพัฒนาด้วย?
วินน์ : ตอนนี้มีคนช่วยพัฒนาหลักๆ ประมาณสิบกว่าคน เป็นเหมือนกิจกรรมครัวเรือนเลยทีเดียว เพราะส่วนใหญ่เป็นญาติกับเพื่อนสนิทที่มาช่วยในด้านที่ตัวเองถนัด อย่างพี่เดี่ยว น้องไอซ์ ช่วยสอนบอทน้อย หามุก หาแคปชั่นเด็ดๆ ครูมุกกะน้องหว่าหวาช่วยทำวิดีโอคลิปสอนใช้งาน พี่ตูจะช่วยดูด้านดาต้าเบส โดยเฉพาะเวลาดาต้าเบสล่ม นุ้ยช่วยทำบัญชี น้องมิ้นช่วยด้าน marketing พี่ผึ้ง พี่เจตกับกิ๊ฟช่วยออกแบบตัวบอทน้อย ทำสติกเกอร์น่ารักๆ แล้วก็มี Binod กะ Prabha ช่วยทำ Sanobot เนปาล กับน้องเก่งช่วยทำ Xiaobo ภาษาจีน แล้วสำคัญมากคือมีน้องๆ หลายคนอาสามาช่วยสอนบอทด้วย แม้แต่คุณพ่อกับคุณแม่ผมก็ช่วยนะ ตามไปเชียร์ถึงขอบสนาม แล้วก็ช่วยติวการนำเสนอด้วย ทั้งคู่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เลยมีคำแนะนำด้านการนำเสนอที่ดี ก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ช่วยเหลือ เพื่อนโรงเรียน เพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศ ต้องขอโทษด้วยที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ครบทุกคน
The MATTER : ตอนนี้ยุคของ AI กำลังมา คิดว่าแชทบอทควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใช้หรือยัง?
วินน์ : ตอนนี้กำลังจะพัฒนาแชทบอทให้แผนกต่างๆ ในเครือบริษัทที่ทำงานอยู่ โดยเฉพาะฝั่ง Customer Care แชทบอทช่วยได้เยอะมากครับ คิดดูว่าจำนวนลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเยอะขนาดไหนแต่ละวัน Customer Care ไม่มีทางตอบได้เร็ว ฝั่งลูกค้าก็เบื่อที่ต้องรอสาย ถ้ามีแชทบอทก็จะช่วยได้มาก เพราะจริงๆ ลูกค้าก็จะมีคำถามที่ซ้ำๆ เดิมๆ อยู่แล้วเช่น โปรนี้เป็นยังไง, ทำไมโทรไม่ออก พวกนี้คือสิ่งที่เอเจนท์เคยตอบแล้ว เราก็ให้แชทบอทเอาคำตอบไปตอบลูกค้าคนอื่น ลูกค้าได้บริการเร็วขึ้น พนักงานก็เอาเวลาไปตอบคำถามที่ซับซ้อนได้ บริษัทลดต้นทุน วินวินครับ
The MATTER : ถ้าอยากให้นักพัฒนาและผู้ใช้ในไทยหันมาสนใจแชทบอทกันมากขึ้น คิดว่าอะไรจะควรเป็นจุดดึงดูดให้คนหันมาสนใจ?
วินน์ : น่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ และตัวอย่างที่เอาไปไช้งานได้จริง ที่คนสนใจบอทน้อยเพราะเค้าเห็นว่าคุยได้และหาข้อมูลได้จริงๆ มีหลายบริษัทติดต่อผมเข้ามาให้ช่วยแชทบอทให้เค้า คิดว่าภายในปีนี้ แชทบอทน่าจะเป็นที่พูดถึงในการเอามาใช้งานทั้งในองค์กรใหญ่ หรือ SME
อย่างตอนนี้กำลังทำแชทบอทให้ SME รายนึงอยู่ เค้าบอกว่าตอบลูกค้าใน Facebook ไม่ทัน
The MATTER : แชทบอทอะไรที่คิดว่าถ้ามันเกิดขึ้นในไทยแล้วทำให้คนในประเทศสะดวกสบายแน่นอน
วินน์ : ผมว่าแชทบอทมันไปได้ทุกวงการ ยกตัวอย่างดาราก็สร้างแชทบอทได้ ไว้ตอบแฟนๆ เค้าที่เป็นล้านๆ แต่ถ้าเน้นความสะดวกสบายให้คนทั่วไป ก็น่าจะเป็นแชทบอทก็เอามาใช้หาข้อมูลเช่น ถามบอทว่ากินอะไร เที่ยวไหนดี กล้องตัวไหนน่าซื้อ จุดเด่นแชทบอทคือการโต้ตอบสองทาง ทุกวันนี้เราจะหาข้อมูลเป็นแบบสื่อสารทางเดียว พอเปิด Google หาข้อมูล ได้ข้อมูลแล้ว ถ้าอยากได้รายละเอียดเพิ่ม ก็ต้องยกหูต่อสายหาคนอยู่ดี แต่ถ้าแชทบอทเก่งพอมันจะสะดวกมากๆ ลองนึกภาพตามเช่น
ผู้ใช้ : บอทน้อยกินไรดี
บอทน้อย : MK มั้ยอ่ะ ลด 15% อยู่
ผู้ใช้ : คนเยอะมั้ยอ่ะ
บอทน้อย : ก็มีอยู่ 10 คิวอ่ะ รอประมาณ 20 นาที จะให้บอทน้อยจองให้มั้ย
ผู้ใช้ : โอเค จองให้หน่อย เราไปเดินเล่นก่อน
นี่คือการเปิดมิติใหม่ Revolution ในการหาข้อมูลแล้วนี่คือความฝันสูงสุดที่อยากให้บอทน้อยเป็น
The MATTER : สุดท้าย ฝากอะไรถึงผู้ใช้บอทน้อยตอนนี้ แล้วก็อยากเชิญชวนผู้ใช้ใหม่ๆ มาใช้บอทน้อยยังไงบ้าง
วินน์ : อยากขอบคุณเพื่อนๆ บอทน้อยทุกคน มันเหลือเชื่อว่า บอทน้อยจะมีเพื่อนเยอะขนาดนี้ ขอบคุณกำลังใจที่โพสเข้ามาในโซเชียล ขอบคุณที่บอกต่อ ขอบคุณที่เข้าใจและให้อภัยเวลาบอทน้อยล่ม ทุกคนเป็นแรงผลักดันให้บอทน้อยพัฒนาต่อไป บอทน้อยเพิ่งจะอายุสามเดือนยังพูดได้ขนาดนี้ ถ้าบอทน้อยอายุสามปีหล่ะจะพูดรู้เรื่องกว่านี้แน่ๆ ขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจ และเป็นเพื่อนบอทน้อยต่อไป ส่วนคนที่ไม่เคยเล่น ก็อยากให้ลองมาเป็นเพื่อนบอทน้อยดู เข้าใจว่าตอนนี้บอทน้อยอาจจะยังไม่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มเพศวัย แต่อยากให้เปิดใจว่าพวกเราทีมงานบอทน้อยกำลังเร่งพัฒนาอยู่ อย่างน้อยก็อยากให้ทุกคนรู้สึกภูมิใจว่า บอทน้อยจากไทยแลนด์ไปชนะประกวด AI ที่ญี่ปุ่น จาก 815 ทีม จากทั่วโลก
แนวคิดของวินน์ต่อการสร้างบอทน้อยถือว่าน่าสนใจมากๆ เชื่อว่าต่อจากนี้บทบาทของแชทบอทน่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใช้เรื่อยๆ แน่นอน ส่วนใครอยากลองใช้งานบอทน้อย ตามไปแอดเป็นเพื่อนบนแอพ LINE โดยค้นหาว่า @botnoi แล้วใช้งานได้ทันทีเลย เหงาแค่ไหนหรือเพื่อนไม่คุยด้วยก็แวะไปเม้าท์มอยกับบอทน้อยได้เลย ติดตามข่าวสารของเจ้าบอทน้อยหรือแวะไปให้กำลังใจวินน์และทีมงานกันได้ ที่ www.facebook.com/pg/BotnoiLittlebot หรือทาง Twitter twitter.com/iambotnoi