ตื่นมาแทบไม่ต้องวางแผนว่าต้องทำอะไร ร่างกายเราก็พาตัวเองลุกไปทำนู่นนี่แบบอัตโนมัติ หรือนิสัยบางอย่างในชีวิตประจำวัน ที่เราจะทำแบบนั้นอยู่เสมอไม่เคยเปลี่ยน มันช่างสะดวกสบาย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำแบบนี้มาตั้งนานจนโตมาขนาดนี้ก็ไม่เสียหายอะไรนี่ เอาล่ะ เราไม่ได้มาบอกว่านิสัยนี้ดี นิสัยนี้ต้องเลิก แต่ถ้าหากวันนึงอยากเปลี่ยนนิสัยเดิมๆ ขึ้นมาล่ะ ไม้แก่อย่างเราจะดัดได้ทันเวลาหรือเปล่านะ มาดูกันว่าในวันที่เราอยากเลิกนิสัยเดิมๆ สักอย่าง เราจะต้องทำยังไง แม้สมองของเราจะชินกับนิสัยนั้นไปแล้วก็ตาม
แม้เราจะรับรู้มาตลอดว่าสมองของมนุษย์นั้นล้ำลึกอย่างน่าอัศจรรย์ สอดประสานการทำงานร่วมกับส่วนอื่นในร่างกายได้ดีเสมอมา แต่สิ่งที่สมองของเราชอบทำมากที่สุด คือ การทำอะไรง่ายๆ เพื่อประหยัดพลังงาน สมองจึงมักหาหนทางซอกแซกให้เราอยู่เสมอ จากการทำงานแบบคาดเดา เช้านี้เราต้องทำแบบนี้นะ เพื่อจะได้ไปทำงานได้ทันเวลา ภายในเวลาเท่านี้ เราก็ใช้ชีวิตไปตามนั้น ง่า สบาย ไร้ปัญหา เดาไว้หมดแล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง แบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน จนกลายเป็นนิสัยไปในที่สุด แล้วทำไมสมองถึงชอบให้เราทำอะไรเป็น routine แบบนี้นักล่ะ?
ในหนึ่งวันสิ่งที่กินพลังงานจากร่างกายของเรามากเป็นอันดับต้นๆ คือ สมอง ประมาณ 20-25% จากพลังงานทั้งหมด จริงๆ ถ้าเทียบสัดส่วนร่างกายกับสมอง มนุษย์ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีสมองใหญ่พอสมควร การใช้พลังงานมหาศาลจึงตามมา ว่ากันตามตรง ยิ่งใช้สมองในการขบคิดน้อยก็ยิ่งใช้พลังงานน้อยลงตามไปด้วย การทำอะไรเป็น routine ทำเรื่องเดิมๆ นิสัยเดิมๆ แบบไม่ต้องคาดเดาอะไรใหม่ จึงเป็นหนทางที่สมองเลือกให้เรา เพราะมันจะช่วยประหยัดพลังงานได้มากที่สุดนั่นเอง เราจึงรู้สึกสะดวกสบายกับการทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ แบบนี้ จนหลายอย่างมันกลายร่างไปเป็นนิสัยของเรา จากความเคยชินบางครั้งบางคราวนี่แหละ
แล้วการทำอะไรเป็น routine ไม่ดียังไง? ถ้ามองในแง่ความสะดวกสบาย ฉันอยากทำแบบนี้ พอใจที่จะทำแบบนี้ ก็ไม่มีอะไรที่เราจะมาชี้ได้ว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีนะ ต้องเลิกนะ ต้องทำต่อนะ เพราะนั่นคือการตัดสินใจของเจ้าตัวอยู่ดี แต่หลายครั้งที่ความเคยชินนี้ส่งผลกับการแก้ปัญหาในชีวิต แม้จะเป็นปัญหาง่ายๆ ก็ตาม หากเราชินกับการทำอะไรเดิมๆ แบบนี้ไปแล้ว เราก็จะทำแบบนั้นต่อไป โดยมองไม่เห็นการแก้ปัญหาที่ง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพียงเพราะมันไม่ได้อยู่ในนิสัยที่เราทำบ่อยๆ นั่นเอง
ลองดูการทดลองของ อับราฮัม ลูชินส์ (Abraham Luchins) ในปีค.ศ. 1942 เรื่องการรินน้ำในเหยือกกัน โดยการทดลองของให้ มีเหยือกอยู่ 3 ขนาด ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเนี่ย รินน้ำให้ได้ปริมาณตามที่เขาต้องการ ขอข้ามเรื่องตัวเลขมาสู่ผลลัพธ์ของเรื่องนี้กัน โจทย์ส่วนมากของเขา จะใช้วิธีแก้ปัญหาเดียวกันหมด เพียงแค่เปลี่ยนตัวเลขไปมาเท่านั้น แต่ข้อสุดท้ายนั้นต่างออกไป มันมีวิธีทำที่ง่ายแสนง่าย แต่ผู้เข้าทดลองชินกับการทำโจทย์แบบข้อก่อนหน้าไปแล้ว ก็เลยเลือกทำตามวิธีเดิม จนไม่ได้หยุดคิดด้วยซ้ำว่าข้อสุดท้ายนี้มันง่ายแค่ไหน นั่นแหละ สิ่งที่อาจกระทบกับชีวิตของเรา หากเราชอบทำอะไรเดิมๆ จนชิน
แม้ทำมานานจนติดเป็นนิสัย ตั้งแต่เด็กจนโต ตั้งแต่เรื่องชีวิตประจำวันไปจนถึงการทำงาน ไม่ว่าเรื่องไหน ถ้าหากเราอยากแก้ไขให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น หรืออยากเลิกนิสัยทำอะไรซ้ำเดิม เพื่อได้ลองสิ่งใหม่ๆ ดูบ้าง เริ่มตอนไหนก็ไม่สาย เรามีเทคนิคที่ช่วยให้การเลิกนิสัยเก่า เริ่มนิสัยใหม่ ราบรื่นยิ่งขึ้น ส่วนรายละเอียดที่ลึกลงไปกว่านั้น จะเป็นเรื่องของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป มาดูเทคนิคเบื้องต้นของการเริ่มต้นใหม่กันดีกว่า
พาตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศใหม่ๆ
บรรยากาศเดิมๆ เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้เราทำนิสัยเดิมๆ เช่นกัน ลองหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ให้กับตัวเอง หรือสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นการส่งสัญญาณไปที่สมองว่าบรรยากาศเปลี่ยนไปแล้วนะ เราจะทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว หากเราชอบวางของไม่เป็นที่ จนพื้นแทบไม่มีช่องว่างให้เดิน แต่เราก็ยังอาศัยความเคยชินอยู่กับมันจนรู้สึกว่า “ก็ไม่รกเท่าไหร่นี่” ลองหาภาพห้องในสไตล์ที่ชอบบนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เห็นว่าถ้าหากห้องเราไม่รกแบบตอนนี้ มันจะสวยงาม สบายตา ขนาดไหนกันนะ
หากเราชอบสูบบุหรี่ระหว่างทางไปทำงาน ขับรถไปสูบบุหรี่ไป บนรถหนึ่งตัว ก่อนเข้าออฟฟิศอีกหนึ่ง ไปซื้อกาแฟอีกหนึ่ง ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวยให้เราหยิบบุหรี่ขึ้นมาอย่างที่เราเคยชินแล้ว หากสามารถหาอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจได้ก็จะยิ่งช่วยให้เราไม่นึกถึงความเคยชินเก่าๆ ที่กำลังไม่ได้ทำในตอนนั้นอีกด้วย
ให้โดพามีนเป็นรางวัลกับตัวเอง
เวลาเราทำอะไรสำเร็จเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรามักจะดีใจ มีความสุข จากการลงมือทำครั้งแรกๆ แต่ครั้งต่อๆ ไปที่เราทำจนชินแล้ว ความสุขที่ว่านั้นแทบไม่หลงเหลือให้เราได้รู้สึกถึงมันเลย ความสุขในตอนแรกเริ่มนั้นไม่ได้มาจากดินฟ้าอากาศ แต่มาจากฮอร์โมนแห่งความสุขอย่างโดพามีน (Dopamine) ที่เรามักจะได้รับเป็นรางวัลจากสมองของตัวเองเมื่อได้ทำกิจกรรมที่น่าพึงพอใจ
ลองมาเพิ่มโดพามีนให้ตัวเอง ด้วยการหาอะไรใหม่ๆ ทำดูบ้าง กิจกรรมที่ไม่เคยทำ กิจกรรมที่ไม่ได้ทำนานแล้ว หรือการเลิกทำอะไรเดิมๆ แม้จะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่าง วางของไม่เป็นที่ ทิ้งจานชามไว้ข้ามคืน เป็นต้น เพื่อเรียกคืนความรู้สึกพึงพอใจตอนได้ลงมือทำอะไรสำเร็จเป็นครั้งแรกกลับมา ไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งใหม่หรือการเลิกทำก็ตาม โดพามีนก็จะทำหน้าที่ของมันอย่างสม่ำเสมออยู่ดี
จับเวลาและหาที่ลงให้กิจกรรมใหม่ๆ
รดน้ำต้นไม้ 5 นาที กายบริหารง่ายๆ 15 นาที อ่านหนังสือ 1 บท 20 นาที เล่นเกมลับสมอง 5 นาที เล่นดนตรี 30 นาที ทุกกิจกรรมต่างมีเวลาในตัวของมัน คลาดเคลื่อนไปบ้าง เราไม่ได้จะถกกันเรื่องเวลา ว่าจริงๆ แล้วกิจกรรมนี้ควรใช้เวลาไปเท่าไหร่ แต่เราอยากแนะนำให้ลองกำหนดเวลาที่แน่นอนและเหมาะสมกับกิจกรรมที่เราเล็งไว้
สมมตินะสมมติ ตั้งแต่ทำงานที่บ้าน มีเวลาอ่านหนังสือที่นอนค้างบนชั้นจากงานสัปดาห์หนังสือปีก่อนๆ เราก็เกิดอยากจะอ่านหนังสือให้เป็นนิสัย วันละหนึ่งบทก็ยังดี ลองจับเวลาดูว่าเราใช้เวลาเท่าไหร่ สมมติอีกว่าใช้เวลา 20 นาที ทีนี้มาสำรวจกิจวัตรประจำวันตอนที่อะไรๆ เป็นปกติดู ลองดูว่ามีช่วงเวลาไหนที่สามารถใส่กิจกรรม 20 นาทีนี้ลงไปได้บ้าง อาจจะเป็นช่วงเดินทางกลับที่พักหลังเลิกงาน ช่วงเวลาก่อนนอน ช่วงเวลาหลังมื้อเย็น อะไรก็ตามขอให้เป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับที่เราวางแผนไว้ ถ้าไม่มีเวลาจริงๆ ล่ะ? อย่าไปฝืนเลย เอาไว้ทำตอนมีเวลาว่างแน่นอนอย่างวันหยุดก็ได้ แค่ทำอย่างสม่ำเสมอและตั้งใจกับมันก็พอ
ความเคยชินอาจไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด เรายังมี muscle memory ท่าไม้ตายของความเคยชิน ที่อยู่ในรูปแบบของทักษะและความเชี่ยวชาญ สุดท้ายแล้วเรื่องนี้อาจจะเริ่มต้นจาก ความเข้าใจในตัวเองว่าความเคยชินไหนที่กำลังทำลายความสามารถของเรา นิสัยไหนที่ควรเลิกและอยากเลิกเสียที หรือการมองหาอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเอง แม้ในวันที่อายุของเราเดินทางมาประมาณนึงแล้วก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก