ในวันที่อะไรๆ ก็ไม่เป็นใจ มีทั้งความเครียด ความเหนื่อยล้า เกาะบ่าไว้แน่นทั้งสองข้าง เชื่อว่าหลายคนต่างมีเมนูไม้ตายในใจ ที่ได้กินเมื่อไหร่ก็รู้สึกสบายใจขึ้นมาเมื่อนั้น ทั้งๆ ที่เป็นอาหารง่ายๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน อาจเป็นโกโก้ร้อนสักแก้วก่อนนอน ช่วยให้ลืมความกังวล แล้วเข้านอนได้อย่างสบายใจ หรืออาจเป็นข้าวผัดไข่ เมนูง่ายๆ จากวัตถุดิบไม่กี่อย่าง แต่ทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านในทุกคำที่ได้ชิม ทำไมกันนะ การได้กินเมนูลับในใจ ถึงทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาได้จริงๆ
เคยสังเกตตัวเองกันไหมว่า เวลาที่เราเกิดความเครียด ความกังวล เรามักจะมีเมนูในใจที่ได้กินเมื่อไหร่ จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นเมื่อนั้น เราเรียกอาหารเหล่านั้นว่า ‘Comfort Food’ อาหารที่กินแล้วรู้สึกดี มักจะเป็นเมนูง่ายๆ อาจไม่ใช่อาหารจานโปรดที่เราอยากกินในทุกวัน ไม่ใช่เมนูประจำที่ต้องสั่งเมื่อมาร้านนี้ แต่เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยทางใจที่รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้กิน
โดยเรามักจะนึกถึงเมนูเหล่านี้เวลาเกิดความเครียดหรือตอนป่วย อย่างขนมยี่ห้อโปรดที่ได้กินตอนดูทีวีกับครอบครัว ไม่ก็โจ๊กใส่ไข่ไม่ใส่ขิง ที่แม่ทำให้กินตอนป่วย ทีนี้ พอจะเห็นภาพกันบ้างแล้วว่า Comfort Food ก็คืออาหารง่ายๆ สักอย่างที่เชื่อมโยงอยู่กับความทรงจำ ทำให้เรากลับไปคิดถึงช่วงเวลาเหล่านั้นจนเกิดเป็นความอุ่นใจขึ้นมา
ความทรงจำที่ซ่อนอยู่ในอาหาร
แบบนี้แล้ว เรากินอะไรอร่อยแล้วมีความสุข จะนับเป็น Comfort Food ไหมนะ? ต้องอธิบายก่อนว่า Comfort Food ไม่ได้ทำงานแบบนั้น มันไม่ได้เป็นแค่อาหารอร่อย กินแล้วพอใจ แล้วทุกอย่างจบอยู่แค่นั้น แต่ Comfort Food นั้นได้แบกเอาความทรงจำ บรรยากาศ ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้ด้วย
ลองมากางแผนที่ความทรงจำของเรากันก่อน เวลาเรานึกถึงเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่มันอยู่ไกลจากปัจจุบันมากๆ มีบ้างที่เราไม่อาจจำมันได้ทั้งหมดเป๊ะๆ เรียงไทม์ไลน์ได้เป็นฉากๆ เราเพียงแค่รู้สึกถึงบรรยากาศตอนนั้น ผ่านรายละเอียดบางอย่าง เช่น เราจำได้ดีว่าที่สวนสนุกอากาศร้อนมากแค่ไหน ร้อนเสียจนแม่ซื้อไอศกรีมดับร้อนให้เราที่ยังเป็นเด็กตัวน้อย เลยอาจทำให้เราจำได้ดีว่าเมื่อเจออากาศร้อนจนหงุดหงิดใจแค่ไหน ไอศกรีมรสหวานเย็นจะช่วยบรรเทาความร้อนได้เสมอ
ซึ่งอะไรเหล่านั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับความทรงจำดีๆ ความทรงจำแย่ๆ ก็ทำงานเช่นเดียวกัน เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ที่เราไม่ยอมกินมันอีกเลยตั้งแต่เด็กจนโต เพราะเราถูกบังคับให้กินจนหมดทั้งที่ไม่อยากกินเลยสักนิดเดียว ทุกครั้งที่กลับมากิน เราจะยังจำบรรยากาศแสนอึดอัดในโรงอาหารนั้นได้ดีเสมอ
ความทรงจำของเราทำงานแบบนั้น คอยซ่อนตัวอยู่กับรายละเอียดบางอย่างที่เราอาจมองข้ามไป ซึ่ง Comfort Food ก็ทำงานแบบนั้นเช่นกัน เราจึงคิดถึงอาหารอะไรสักอย่างที่ปลอบประโลมเราได้ ในช่วงเวลาที่เราเครียดหรือป่วย ไม่ใช่แค่กินของอร่อยให้อารมณ์ดี แต่เราเลือกกินเพราะคิดถึงความทรงจำ บรรยากาศบางอย่าง ที่บรรจุอยู่ในอาหารนั้นๆ
สมองตอบสนองอย่างไรกับ Comfort Food?
ดร.เรเชล โกลด์แมน (Rachel Goldman) นักจิตวิทยา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ Comfort Food ไว้ว่า “อาหารเชื่อมโยงกับอารมณ์ ความทรงจำ ความรู้สึก และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ อาหารจึงมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา เราสามารถยึดติดกับอาหารบางชนิดได้ง่ายเนื่องจากความสัมพันธ์ที่เรามีกับอาหารเหล่านั้น”
“เราไม่เพียงกินเพื่อความอยู่รอดหรือเพราะหิวโหย แต่กินเพื่อความสุขและบรรเทาอารมณ์บางอย่าง เราเรียกสิ่งนี้ว่า การกินตามอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป แต่ถ้าเราใช้แต่วิธีนี้เสียจนมันกลายเป็นวิธีเดียวที่เราใช้เพื่อจัดการกับอารมณ์ นั่นอาจกลายเป็นปัญหาได้”
แม้จะฟังดูเหมือน Comfort Food เป็นการกินตามอารมณ์ กินเพื่อตอบสนองอารมณ์บางอย่างของเรา แต่ Comfort Food ที่บรรจุไปด้วยความทรงจำอันอบอุ่น ความทรงจำที่ทำให้เรารู้สึกดี จะไปกระตุ้นให้เกิดโดพามีน ฮอร์โมนแห่งความสุข จนเราเกิดความสุขทางร่างกายตามไปด้วย สมองเราเลยจดจำว่าอาหารชนิดนี้เป็นเหมือนรางวัล เราจึงเกิดความรู้สึกพิเศษบางอย่างที่หาไม่ได้ในอาหารชนิดอื่น แม้ว่าจะอร่อยกว่าก็ตาม
ทุกอย่างเริ่มต้นจากการทำงานอันแข็งขันของความทรงจำ ทำให้เราจดจำบรรยากาศที่ซ่อนอยู่ในอาหารได้ แม้เพียงได้กิน รสชาติ สัมผัส ก็กระตุ้นให้เราย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องราวนั้นๆ ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีหรือแย่ Comfort Food จึงเป็นเหมือนอาหารในช่วงเวลาดีๆ ที่สมองเราจดจำไว้แล้วว่า เราจะรู้สึกดีเสมอเมื่อกินอาหารนี้
เมื่อเราเลือกกิน Comfort Food เพื่อให้ใจได้หลีกหนีจากความเครียด ความวุ่นวาย เราไม่ได้เลือกเพียงเพราะมันอิ่มท้อง หรือเพราะความอร่อยเกินจานไหนๆ แต่เราเลือกความทรงจำที่ซ่อนอยู่ในจานนั้น ความทรงจำที่เราจะได้ย้อนกลับไปเหมือนได้กินจานนั้นครั้งแรกอยู่เสมอ
อ้างอิงจาก