เมื่อเรามีความสุขกับอะไรสักอย่าง เราดื่มด่ำมันวันแล้ววันเล่า เติมมันลงไปในชีวิตเพื่อตอบสนองความพอใจของตัวเอง ยิ่งนับวันยิ่งต้องการมากขึ้น จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม โหยหามันอย่างไม่สิ้นสุด ตักตวงมันราวกับว่าเป็นบ่อน้ำวิเศษที่จะไม่มีวันเหือดแห้งไป ใช่ บ่อน้ำนั้นอาจจะไม่เหือดแห้งลง เช่นเดียวกับความต้องการของเราจะเพิ่มขึ้นทุกวันด้วยเช่นกัน ถ้าเรายังไม่หยุดอาการเสพติดความสุขนั้น
อาจจะฟังดูเหมือนเรากำลังเป็นไลฟ์โค้ชหน้าใหม่ อยากจะชี้ทางสว่างให้ชาวเน็ต ช้าก่อน แนวคิดที่ว่านั้น เป็นแนวคิดจากเทรนด์ ‘Dopamine Fasting’ ที่เชื่อว่าตอนนี้หลายคนกำลังเลือกทำแต่กิจกรรมที่ให้ความสุขกับตัวเองมากเกินไป
อย่างการใช้โซเชียลมีเดีย กินแต่อาหารถูกปาก จนลืมคำนึงถึงโภชนาการ เลยอยากจะลดนิสัยเสพติดความพอใจนั้นลง ด้วยการไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ใช้ gadget เพื่อความพึงพอใจใดๆ อย่าง สมาร์ตโฟน ทีวี วิทยุ หรือแม้แต่เกมส์คอนโทรล รวมทั้งความสุขทางร่างกายอย่างเซ็กซ์และการช่วยตัวเอง ก็ต้องงดไปก่อน เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อรีเซ็ตสมองให้กลับมามีสมาธิ และโฟกัสกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
แล้วความสุขกับ Dopamine เกี่ยวข้องกันยังไง?
โดพาร์มีน (Dopamine) เป็นสารเคมีในสมองที่ทำหน้าที่หลายอย่าง แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังเล่าอยู่นี้ โดพาร์มีนจะหลั่งออกมาเมื่อเรามีความพึงใจ ประมาณว่ามีความสุขปุ๊บ โดพาร์มีนก็จะหลั่งออกมา แล้วเราจะรู้สึกมีความสุขจังเลย ดีจังเลย (และมีมากตอนที่เรามีความรัก โดพาร์มีนเลยมีชื่อเล่นว่าฮอร์โมนแห่งความรัก) เมื่อเราเลือกทำอะไรก็ตามที่ทำให้ตัวเองพึงพอใจเนี่ย โดพาร์มีนเป็นเหมือนรางวัลจากสมองให้กับร่างกาย
จุดมุ่งหมายของ Dopamine Fasting จึงอยู่ที่เลิกพฤติกรรมเสพติดความสุขมากเกินไป จนสมองเลือกที่จะทำแต่ทางที่ให้ความสุขกับตัวเองจนเกินไป เช่น การเลือกกินแต่อาหารที่อร่อย ถูกปาก จนไม่คำนึงถึงโภชนาการ การเสพติดโซเชียลมีเดีย เป็นต้น เราจึงต้องลดโดพาร์มีนที่ได้ลง หลักการเดียวกันกับ fasting ในอาหารนั่นแหละ
แนวคิดนี้มาจากไหน?
โดยแนวคิดนี้เริ่ม go viral จาก LinkedIn ของ ดร. คาเมรอน เซปา (Dr. Cameron Sepah) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกจิตเวช จาก University of California San Francisco ที่ได้แนะนำวิธีนี้ขึ้นมา แต่ว่า เขาเองนี่แหละที่บอกว่าชื่อของมันค่อนข้างชวนให้เข้าใจผิดไปเสียหน่อย แต่ก็ได้ผลดี เพราะมันติดหูและไวรัลมาก แต่ที่มีคำว่า Dopamine อยู่ในนั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นภาพง่ายๆ ของการเสพติดเท่านั้น
วิธีนี้ของเขาก็นำมาใช้จริงกับผู้ที่มารักษาในคลินิกของเขา โดยเขาเริ่มสังเกตว่าการตัดสินใจต่อความพึงพอใจ (ทำนองว่า อันนี้พอแล้วนะ อันนี้ดีแล้ว พอใจแล้ว) ถูกรบกวนด้วยอะไรบางอย่าง จนเกิดอาการไม่มีความสุขกับสิ่งง่ายๆ จนเกิดการเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ว่าแบบนั้นดีกว่าน่า เขาสันนิษฐานว่ามันอาจเกิดจากการที่เราได้รับแต่สิ่งที่น่าพึงพอใจมากเกินไป จนโดพาร์มีนมากเกินไปเช่นกัน
เขาแนะนำให้เราเลิกหาความสุขใส่ตัวเองมากเกินไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ที่เราจะไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ฟังเพลง ไม่เต้น ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย ไม่เล่นเกม ไม่พูดคุยเกินความจำเป็น จนไปถึงไม่มีเซ็กซ์และการช่วยตัวเองด้วย เพื่อแก้ทางการได้รับโดพาร์มีนมากไปในแบบของเขา แต่ทว่า วิธีนี้กลับมีผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก และเกิดการตั้งคำถามว่าวิธีนี้ของเขามันใช้ได้จริงไหม?
ทำไมมันถึงใช้ไม่ได้จริง?
ลองมาฟังอีกฝั่งหนึ่งกันบ้าง วอลเตอร์ ไพเพอร์ (Walter Piper) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจาก New York University ได้พูดถึงวิธีนี้ว่า ชื่อของมันค่อนข้างจะเกินจริงไปหน่อย เขาอยากให้ใช้อะไรง่ายๆ ที่ให้ความหมายในเชิงเดียวกันอย่าง ‘vacation’ หรือ ‘taking a break’ มากกว่า
และที่สำคัญคือ คนเราไม่สามารถกำหนดปริมาณของโดพาร์มีนที่หลั่งได้อย่างชัดเจน ว่าจะให้มันออกมามากน้อยแค่ไหน ไม่ว่ายังไงร่างกายของเราจะมีโดพาร์มีนรออยู่แล้ว ถ้ามีอะไรไปกระตุ้น มันจึงจะหลั่งออกมา หรือต่อให้มันไม่หลั่งออกมา มันก็มีรอเราอยู่ตลอดนั่นเอง ดังนั้น การไปกำหนดปริมาณด้วยตัวเองจึงเป็นไปได้ยาก
งานวิจัยหัวข้อ ‘The dopamine motive system: implications for drug and food addiction’ ที่ตีพิมพ์ใน Nature Reviews Neuroscience ปี ค.ศ.2017 ได้กล่าวถึงเรื่องโดพาร์มีนไว้ว่า มันซับซ้อนเกินกว่าเราจะเข้าใจหรือไปกำหนดอะไรมัน เราไม่ได้สามารถเข้าใจมันผ่านการกิน เที่ยว เล่น เซ็กซ์ แล้วมีความสุข มันไม่ใช่แค่นั้น ดังนั้น Dopamine Fasting แบบที่ต้องการกำหนดปริมาณของโดพาร์มีนด้วยตัวเองจึงเป็นไปได้ยาก
แม้แนวคิดนี้จะถูกโจมตีอย่างหนักตั้งแต่ชื่อเรียกแขก และตัวแนวคิด ที่มันแทบไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มารองรับเลย เอาจริงๆ แล้ว มันดูคล้ายกับการไม่ทำตามใจตัวเองมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเราต้องการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสพความสุขเกินไปของเรา
ดร.คิม เอลแมนส์ (Dr. Kim Hellemans) ในพ็อดแคสต์ ‘Minding the Brain’ ได้แนะนำว่า เราสามารถใช้แนวคิด social detox หรือ un-plug แบบทั่วไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องถึงขนาดงดทุกอย่างในชีวิต เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม การตัดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็ส่งผลเสียกับระบบประสาทของเราเช่นกัน
สุดท้ายแล้ว ไม่ตามใจตัวเองจนเกินไป อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่อยากลด ละ เลิกอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่ต้องมองผ่านฟิลเตอร์โดพาร์มีนให้ยุ่งยาก
อ้างอิงข้อมูลจาก