อิ่มเอมรสรักสัมผัสแนบชิด ตักตวงความสุขที่ล้นปรี่ในเสี้ยวนาที เหมือนดอกไม้ไฟสว่างไสวทั่วทั้งฟ้าแล้วดับมอดลงภายในเวลาอึดใจเดียว หลังจากช่วงเวลาแห่งความสุขที่ปลายทางจบลง แต่ละคู่ต่างมีธรรมเนียมแตกต่างกันไป บ้างกกกอด หยอกเย้า บ้าง pillow talk ข้างกันไม่ห่าง แต่ไม่ใช่ว่าเซ็กซ์จะมอบความสุขและเติมเต็มช่องว่างให้ทุกคนเสมอไป บางคนเมื่อเซ็กซ์จบลง แม้จะสุขสมทางร่างกาย แต่กลับร้าวรานในจิตใจ
ทั้งที่เซ็กซ์ (ด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย) ดูเป็นเรื่องหอมหวาน เย้ายวน เหมือนแอปเปิ้ลในสวนเอเดน เหมือนมันฝรั่งทอดตอนตีสอง ที่เชิญชวนให้เราไปลิ้มชิมรส แต่เมื่อจบกระบวนการแล้ว แม้ว่าระหว่างทางมันจะสร้างความรู้สึกแสนพิเศษขนาดไหน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุขในตอนจบ มีทั้งคนที่เอนหลังผ่อนคลาย และคนที่ร้องไห้ให้กับความเศร้า ความกังวลที่โผล่มาแบบไม่รู้ตัว
งานวิจัยจาก Queensland University of Technology พบว่า 41% ของผู้ชาย 46% ของผู้หญิง ต่างเคยเกิดเหตุการณ์นี้สักครั้งในช่วงชีวิต อาการเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า Postcoital Dysphoria (PCD) ภาวะที่เกิดความเศร้า วิตกกังวล หลังมีเซ็กซ์หรือการช่วยตัวเอง อาจกินเวลาตั้งแต่ระยะสั้นๆ 5 นาที ไปจนถึงหลายชั่วโมง
แล้วมันเกิดจากอะไรกันล่ะ? ยังไม่มีใครให้คำตอบที่แน่ชัดได้ ว่าสาเหตุ ‘จริงๆ’ ของมันมาจากอะไร จากข้อสันนิษฐาน มีทั้งปัญหาในความสัมพันธ์ อย่างความไม่พร้อมที่จะมีเซ็กซ์ในตอนนั้น ความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ที่ไม่มากเลย จึงนำมาสู่ความรู้สึกผิดในตอนท้าย การถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า หากเรามีความเครียดสะสม หรือถูกกระตุ้นความทรงจำเลวร้ายด้วยเซ็กซ์ในครั้งนั้น อาจทำให้เกิดความสับสนและเสียใจปนเปอยู่ในนั้น
แต่ถ้าเราไม่ได้มีปัญหาที่ว่านั้นเลยล่ะ มันจะเกิดจากอะไรได้บ้าง?
มีข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจจาก แดเนียล เชอ (Daniel Sher) นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเซ็กซ์ ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้ว่า มันอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนก็เป็นได้
ในขณะมีเซ็กซ์ ร่างกายของเรานั้นช่างปั่นป่วน เหมือนกับลำดับความคิดในหัวที่ผสมปนเป มือที่สะเปะสะปะอยากเอื้อมไปสัมผัสทั่วร่างกาย ฮอร์โมนหลายชนิดถูกหลั่งออกมาเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ที่ขาดไม่ได้คือ โดพามีน (Dopamine) ที่เราคุ้นในชื่อเล่นว่าฮอร์โมนแห่งความสุข และ เซโรโทนิน (Serotonin) สารสื่อประสาทที่ส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของเราอย่างมาก ก็พลันเพิ่มขึ้นมาในช่วงเวลานี้ด้วย
แล้วทีนี้อย่างเจ้าเซโรโทนินกันต่อ หน้าที่ของมันค่อนข้างวาไรตี้เสียหน่อย ทั้งควบคุมความอยากอาหาร ความหิว บรรเทาความเจ็บปวด ระงับความโกรธ ควบคุมการนอน อารมณ์ อารมณ์ทางเพศก็รวมอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน จริงๆ ยังมีหน้าที่ของมันอีกมาก แต่เราอยากให้ลองโฟกัสที่หน้าที่ควบคุมอารมณ์ เพราะโซโรโทนินนั้น ยังเกี่ยวข้องกับโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ ด้วย
เพราะเมื่อเซโรโทนินมีปริมาณที่ผิดปกติ มันจะเริ่มสร้างความปั่นป่วนให้กับร่างกาย และแน่นอนว่าปั่นป่วนมาถึงอารมณ์ของเราด้วย จากหน้าที่ที่ช่วยสร้างความสงบ ผ่อนคลายให้กับร่างกาย เมื่อมันหายไป เราจะเริ่มหงุดหงิด วิตกกังวล ไปจนถึงอาการซึมเศร้า (ในเคสของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงมักมีการให้เซโรโทนินเพื่อให้เกิดความสมดุลของสารเคมีในสมอง)
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าในขณะที่มีเซ็กซ์ ร่างกายของเรานั้นมีอารมณ์พลุ่งพล่าน ซึ่งมันสัมพันธ์กับฮอร์โมนเหล่านี้ที่เรากำลังพูดถึงนี่แหละ มันไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดสุดยอด หลังจากนั้นทุกอย่างก็หยุดลงรวดเร็วเหมือนรถไฟเหาะ ร่างกายและจิตใจของเราต้องกลับไปค่า default มันจึงเกิดอาการร่วงลงอย่างรวดเร็วจนเกินกว่าเราจะปรับตัวได้ทัน นั่นจึงอาจเป็นที่มาของความไม่คงที่ของเซโรโทนิน ที่ทำให้ใครหลายคนต้องนั่งปาดน้ำตา
ฮอร์โมนที่ว่านั้นมันส่งผลกับอารมณ์ได้อย่างฉับพลันขนาดนั้นเลยหรอ? ลองนึกถึงช่วงก่อนมีประจำเดือนดู ความหงุดหงิด งุ่นง่าน ที่เกิดขึ้น ก็เป็นฝีมือของเซโรโทนินที่ลดต่ำลงด้วยเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่มันจะออกมาอาละวาดกับอารมณ์ของผู้คนได้มากขนาดนี้
ที่สำคัญ สิ่งนี้มันสามารถเกิดขึ้นได้ เป็นภาวะในช่วงสั้นๆ เราไม่จำเป็นต้องกังวลกับมันมากนัก แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือตลอดเวลา ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง
อ้างอิงข้อมูลจาก