การเผชิญหน้ากับสาธารณะโดยตรง เป็นเหมือน ‘สิ่งต้องห้าม’ ที่แวดวงวิชาการวิทยาศาสตร์ในอดีตไม่เคยโอเค
แต่ในยุค Social Media ใครๆ ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงได้ ทำให้ ‘นักวิทย์ตัวพ่อ’ และ ‘ผู้สนใจวิทย์ฯมือสมัครเล่น’ ตบเท้าเข้าสู่วงการอย่างคึกคัก เพื่อนำเสนอวิทยาศาสตร์ในมุมมองใหม่ๆ ที่ย่อยง่าย เป็นมิตร และไม่มีศัพท์แสงวิชาการ แต่การพยายามเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพของพวกเขาหรือไม่?
เพราะความนับถือว่า ‘วิทยาศาสตร์เป็นของสูง’ ในบ้านเรา อาจทำให้คุณทำได้เพียงกราบไหว้งานวิจัยบนแท่นบูชา
เป็นเซเล็บนั้นเจ็บปวด
“กูไม่ชอบให้สัมภาษณ์กับสื่อเลยนะ”
นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ผมรู้จัก (แต่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อ) พวกเขายอมรับว่า ไม่อยากเป็นที่รู้จักเลยสักนิดเดียว แม้อยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลท์หลายต่อหลายครั้ง แต่ยังไม่กล้าคิดว่าตัวเองเป็น ‘นักวิทย์สุดป็อบ’ ที่หลายคนยกตำแหน่งให้ แม้หลายครั้งจะถูกสถาบันออดอ้อนให้ไปออกหน้ากล้อง ถ่ายโฆษณาองค์กร ลงแผ่นพับ หรือลงวารสารวิชาการรายเดือนเป็นประจำก็ตาม
“บางทีนะ โดนเรียกให้ไปถ่ายโน่นนี่ เสียสมาธิการทำวิจัยอยู่เหมือนกัน”
หลังจากงานวิจัยของเขาถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science จนเป็นที่ฮือฮา โทรศัพท์ก็ดังเช้าจรดเย็น สื่อหลายเจ้าพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ แถมต้องไปเดินสายตามช่องทีวีอื่นๆ เพื่ออธิบายผลงานทางวิทยาศาสตร์ในภาษาที่มนุษย์ทั่วๆ ไปเข้าใจ ใช้เพจส่วนตัวพูดคุยเรื่องวิทย์ๆ ไม่นานเพื่อนร่วมงานเริ่มออกปากแซวอย่างสนุกสนาน จนในที่สุดกลายเป็น ‘พรีเซ็นเตอร์จำเป็น’
“แรกๆ ก็สนุกดี ได้พูดเรื่องวิจัยให้คนอื่นๆ ฟัง” เขาเงียบสักครู่
“แต่คราวนี้ล่ะ ความลำบากเริ่มมาเยือน”
ความโด่งดังมีราคาค่างวดเสมอ เหมือนการเหวี่ยงบูมเมอแรงไปแล้วคว้ารับไม่ทัน นักวิทย์ที่ผมคุยด้วย (ไม่เรียกว่าสัมภาษณ์ดีกว่า เพราะคุยนอกรอบแถมกินเบียร์กันคนละ 2 กระป๋อง) พยายามนำเสนองานวิจัยชิ้นใหม่ต่อยอดในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น และต้องใช้กระบวนการของวารสารวิชาการ (Scholarly Journals) มีคณะผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบและอ่านงานวิจัยดังกล่าวว่า เป็นที่ยอมรับ (Accepted) ปฏิเสธ (Rejected) หรือให้กลับไปปรับปรุงแก้ไข (revised) ก่อนรับรองให้ตีพิมพ์ในวารสาร หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘Peer-reviewed’ กลายเป็นว่า นักวิทย์ฯทรงคุณวุฒิหลายคนเมินงานวิจัยของเขา และเริ่ม Rejected ผลงานต่างๆ คอมเมนต์งานค่อนข้างรุนแรงว่า ‘มีผลลัพธ์ที่เกินจริง’
“กูว่า กูถูกเล่นงาน เพราะพยายามทำตัวดังไปว่ะ”
หลังจากนั้น เขาก็ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อทุกเจ้า ไม่ออกโทรทัศน์ เก็บตัวในห้องแล็บเงียบๆ ก้มหน้าก้มตาทำงานวิจัยไป เพราะการเปิดเผยตัวเองอย่างล้ำหน้า สร้างผลกระทบต่องานที่ทำระยะยาวอย่างที่เขาไม่คาดคิด
“คิดว่าจะไม่มีสื่อสารกับสาธารณะอีกแล้ว เหนื่อยใจ”
คุณมันดังเกินไป
ไม่แปลกที่ช่วงนี้คุณจะเห็นนักวิทยาศาสตร์หลายคนมี Facebook เป็นช่องทางการสื่อสารของตัวเอง โดยไม่ต้องรอเผยแพร่ผลงานทางวิชาการให้เหงือกแห้ง และนักศึกษาแพทย์หลายคนก็พยายามเล่าเรื่องการแพทย์ฉบับชาวบ้านกันอย่างคึกคัก
การที่นักวิทยาศาสตร์ออกมามีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสาธารณะ มีผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาบ้างไหมเหมือนอย่างประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีนักของเพื่อนนักวิทย์ผมรายนี้ ดูมีความเชื่อมโยงกับอาการที่มีชื่อเรียกว่า ‘Sagan Effect’ (เซแกน เอฟเฟกต์) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่นักวิชาการหลายๆ คน โดน ‘โบกกลับ’ จากแวดวงวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาทำงานอยู่ เพราะป็อบเกินไป
ในยุค 1960 นู้น คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) ยังเป็นนักดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย Harvard ที่เป็นเหมือนซูเปอร์สตาร์ค้างฟ้าแห่งวงการดาราศาสตร์ เขาเชี่ยวชาญเรื่องบรรยากาศดาวเคราะห์ต่าง ๆ เซแกนได้ศึกษาว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นและมีวิวัฒนาการบนโลกอย่างไร ภายหลังได้เผยแพร่ในหนังสือของ Time-Life ชื่อ Planets และยังมีชื่อเสียงจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Contact แถมได้รับรางวัล Emmy Awards หลายต่อหลายชิ้น กลายเป็นว่าชื่อเสียงอันโดดเด่นทำให้สื่อมวลชนสนใจเซแกนแบบตามแจ มีเรื่องอะไรก็นึกถึง ‘เซแกน’ เป็นคนแรกๆ
เขาจึงเป็นนักวิทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลกแบบไม่ยากนัก จากความเจ้าเสน่ห์อันเป็นที่รัก
แต่ยิ่งอยู่ท่ามกลางความสนใจนานเท่าไหร่ ผลงานวิชาการของเขายิ่งเริ่มประสบปัญหา เขาเสียโอกาสในการนำเสนอผลงานสำคัญหลายครั้ง
มหาวิทยาลัย Harvard ปฏิเสธให้เขาสอนต่อในฐานะอาจารย์ และสมาคมวิทยาศาสตร์ National Academy of Sciences ไล่เขาออกจากการเป็นสมาชิก เพื่อนร่วมวิชาชีพเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า เซแกนขาดคุณสมบัติของการเป็น ‘นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง’ จากการที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับรายการ The Tonight Show แทนที่จะอยู่ในห้องทดลองเหมือนคนอื่นๆ
Sagan Effect จึงเป็นการเปรียบเปรยถึงความป็อบปูล่าในวงการวิทยาศาสตร์ที่ดันกลายเป็นดาบสองคม นักวิจัยหลายๆ คนไหวตัวทัน พยายามวางตัวไม่ให้เป็นจุดสนใจมากนัก ไม่ยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อ และไม่พูดพาดพิงถึงงานของคนอื่นๆ เพราะกลัวงานวิชาการของพวกเขาจะถูกมองว่า ไม่ใช่ ‘Strong Science’ อย่างแท้จริง และกลัวคนในแวดวงวิชาชีพลดความเชื่อถือลง
นักวิทยาศาสตร์หลายคนพยายามใช้ทางลัดในการเข้าถึงสื่อที่มีอยู่ในมือ ในการผลักดันนโยบายต่างๆ แทนที่จะใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในระบบ แต่พวกเขาเลือกสื่อสารกับมวลชนโดยตรง ผ่าน Social Media ผลักดันเรื่องให้ถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายให้เร็วที่สุด แต่ก็ยังไม่วายถูกมองว่าพยายามทำให้วงการวิทยาศาสตร์เสื่อมเสีย และไม่ใช่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์
การที่วิทยาศาสตร์ถูกหวงห้ามและสงวนไว้สำหรับนักวิชาการเท่านั้น ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือของผู้ชาย และถูกควบคุมโดยนักวิทย์ฯที่มีตำแหน่งทางวิชาการที่สูงกว่าสวมทับอยู่ การปฏิเสธมวลชนอย่างถาวร กีดกันผู้หญิงออกจากวิชาชีพ และคนที่เป็นชนชาติกลุ่มน้อยในสังคมไม่มีทางเข้าถึงวิทยาศาสตร์ในอย่างที่ควรจะเป็น
พื้นที่ทางวิชาการเปลี่ยนไปเมื่อ Social Media มาเยือน
น่าสนใจที่พื้นที่ Social Media ลดความเป็นพิษของแวดวงวิทยาศาสตร์ลงบ้าง และบางครั้งก็เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการ Funding ทุนวิจัยจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกควบคุมจากคนในแวดวงวิทย์ๆ สายเคร่ง และหัวใจการสื่อสารผลงานวิจัยไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างคนทั่วไป รวมถึงได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงงานวิจัยในรูปแบบที่เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้พวกเขาสามารถนำไปปรับใช้หรือต่อยอดงานวิจัยนั้น ๆ ได้ก็เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยุคต่อไปควรเป็น
“ก็ต้องเข้าใจด้วยนะว่า การเมืองในแวดวงนี้มันเข้มข้น จะตั้งเป้ากับงานที่ทำหรือเป็นกระบอกเสียง มันก็ต้องตัดสินใจ”
“แต่กูเชื่อนะ ว่าท้ายสุด คนไทยก็รักวิทยาศาสตร์ เขาต้องการของพวกนี้”
การสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทำให้สังคมหันมามองว่า พวกเขามีเครื่องมือแห่งปัญญาอยู่ในมือโดยที่ไม่ต้องปีนหอคอยงาช้างและหล่นลงมาให้เจ็บตัว