ในงานประกาศรางวัลก็มักจะมีเรื่องเด่นๆ ให้ได้เห็นกันอยู่เสมอ อย่างในงานประกาศรางวัล Grammy Awards 2018 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวรางวัลเองก็มี Bruno Mars ที่คว้ารางวัลกลับบ้านไปเยอะที่สุดถึงหกรางวัล หรือดราม่าในการประกาศรางวัลสาขาเพลงร็อคยอดเยี่ยมที่วง Avenged Sevenfold ปฏิเสธไปร่วมงานด้วยเหตุผลที่ว่าค่าเดินทางไม่คุ้มกับการไปลุ้นรางวัลที่ไม่ถ่ายทอดสดออกสื่อใดๆ
และไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งก็คือการแสดงออกทางการเมืองและสังคมที่จัดหนักจัดเต็ม อย่างการให้คนดังมากมายอ่านหนังสือ Fire And Fury หนังสือที่สัมภาษณ์คนรอบตัวประธานาธิบดี Donald Trump ว่ามีปัญหาใดบ้าง ซึ่งหนึ่งในคนดังที่มาอ่านก็คือ Hillary Clinton ก่อนจะกลายเป็นมุกเด็ดของค่ำคืนการแจกรางวัลนี้ ส่วนนักร้องและเซเลบคนอื่นๆ ก็มาร้องเพลงทำการแสดงในแง่มุมอื่น อย่างการต่อต้านการเหยียดผิว, ความเสมอภาคทางเพศ, เรื่องคนอพยพ ไปจนถึงปัญหาของโรคซึมเศร้า
การที่พวกเขาออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองหรือเคลื่อนไหวทางสังคมแบบนี้อาจจะดูเฉยๆ ถ้าพวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดา แต่การเป็นเซเลบดารานั้น นอกจากจะเป็นที่จดจำแล้ว สิ่งที่พวกเขา/เธอนำเสนอออกมาก็ยังถูกได้ยินมากกว่าด้วย แต่ไม่ใช่ว่าการออกเสียงของคนดังจะได้รับความสนใจตลอดเวลา ให้นึกสภาพว่าคนดังคนนั้นอาจจะอยากพูดเพื่อสังคม แต่ประเด็นที่คนสนใจกันอยู่ดันเป็นเรื่องในมุ้งของบ้านคนดังเนี่ยสิ ทำให้หลายๆ ทีพวกเขาเลือกที่จะใช้เวทีงานประกาศรางวัลต่างๆ ซึ่งโดนขัดคอจากคำถามอื่นได้ยาก แถมยังต้องถ่ายทอดสดออกสื่อ จึงยากที่จะถูกตัดทอนข้อความ และหลายๆ ครั้ง มันก็ทำให้เราใส่ใจและจดจำได้มากขึ้นว่าตอนนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับสังคมอยู่
ด้วยเหตุนี้่เราจึงบอกเล่าอีเวนต์ที่ดาราเซเลบต่างชาติที่ใช้พื้นที่ของงานประกาศรางวัลต่างๆ เพื่อแสดงออกความเห็นทางสังคมและการเมืองที่น่าจดจำ
ผู้เข้าร่วมงาน Golden Globe 2018 นัดกันแต่งสีดำรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ
งานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ผ่านมาได้มีการผลักดันการเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางสังคมที่สังคมในฟากฮอลลีวูดด้วยการลง Hashtag ‘Time’s Up’ และนัดกันแต่งเสื้อผ้าสีดำไปเดินพรมแดงไม่ว่าจะเป็นเซเลบเพศใดก็ตามที เพื่อเป็นการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ อันเป็นผลพวงต่อเนื่องจากการเปิดโปงการลวนลามของ Harvey Weinstein และกระแส #MeToo เมื่อก่อนหน้า
ถึงอย่างนั้นก็มีบางคนที่ไม่ได้แต่งชุดดำ ไม่ใช่ว่าไม่ได้อ่าน Line เพื่อนนะ อย่างในกรณี Meher Tatna ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฮอลลีวูด (Hollywood Foreign Press Association) บอกระหว่างเดินพรมแดงว่าตัวเธอไม่แต่งชุดสีดำเนื่องจากในธรรมเนียมอินเดียที่เป็นบ้านเกิดของเธอไม่ใส่ชุดสีดำไปงานเฉลิมฉลอง และตัวของเธอเองก็สนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่เธอก็ได้ติดเข็มกลัด Time’s Up มาทดแทน (ซึ่งจริงๆ การรณรงค์ก็ให้เลือกติดเข็มกลัดได้อยู่แล้ว)
นอกจากนั้นก็จะมี Barbara Meier กับ Blanca Blanco ที่ใส่ชุดสีสันสดใสไป พวกเธอให้สัมภาษณ์หลังงาน และหลังจากที่โดนติเตียนไปก่อน เธอก็ออกมาให้สัมภาษณ์อีกทีว่า พวกเธอแต่งชุดสดใสเพราะมองว่าคนเราไม่ควรโฟกัสการแก้ปัญหาแค่สีเสื้อ แต่ก็ถูกแซะจากคนตามข่าวและทวิตชนว่า พวกเธอก็แค่อยากเด่นเพื่อหวังผลในภายภาคหน้าเท่านั้นล่ะ
ไม่ใช่แค่การแสดงออกด้วยเสื้อผ้าเท่านั้น ในการรับรางวัลครั้งนี้ยังมีการสปีชที่น่าสนใจจากเหล่าดาราเซเลบอีกหลายๆ คน ซึ่งคนที่มีสปีชเด็ดขาดที่สุดในงานปีนี้ก็คงไม่พ้น Oprah Winfrey พิธีกรรายการทอล์กโชว์ชื่อดัง เธอบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ใช่แค่ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ แต่มันยังแฝงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียบกันด้านเชื้อชาติ และสุนทรพจน์ของเธอก็ประทับใจผู้คนจนเกิดกระแสอยากจะผลักดันให้หญิงสาวคนนี้กลายเป็นผู้สมัครเข้าชิงประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
Marlon Brando กับการไม่ขึ้นรับรางวัลออสการ์ในปี 1973
เวทีออสการ์เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักแสดงและเหล่าเซเลบมักจะใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ราว 1 นาทีในการรับรางวัลแสดงความเห็นของตัวเองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพวกเขา (แต่คุณก็ต้องมั่นใจก่อนนะว่าตัวเองจะได้รางวัล) และก็มีหลายๆ ครั้งที่ช่วงเวลาไม่นานมากนี้ก็มีอะไรที่ทำให้โลกต้องตื่นตะลึง
เหตุการณ์เคลื่อนไหวเชิงสังคมและการเมืองหนึ่งที่เราเห็นว่าน่าจดจำ ก็คงไม่พ้นการที่ Marlon Brando ตัดสินใจปฏิเสธรับรางวัลออสการ์สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ The God Father ที่เขาควรจะรับกลับมาประดับที่บ้าน แต่ในวันที่ 27 มีนาคม 1973 Marlon ต้องการจะประท้วงชาวอเมริกันพื้นเมืองที่ถูกนำเสนอในสื่อบันเทิงแบบไม่ถูกต้อง โดยในยุคก่อนหน้านั้นมีการนำเสนอให้อินเดียนแดงเป็นตัวร้าย คอยล่าสังหารตัวละครสัญชาติอเมริกาก่อนที่จะถูกฆ่าตายในตอนท้ายของเรื่อง รวมถึงว่า ในช่วงนั้นมีเหตุการณ์ประท้วงที่วูดนี (Wounded Knee) ที่ต่อมาผู้เข้าร่วมประท้วงฝ่ายสนับสนุนอินเดียนแดงเสียชีวิตและหายสาปสูญไป
Marlon ได้ส่งจดหมายความยาว 15 หน้า มอบให้กับ Sacheen Littlefeather นักแสดงสาวและนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนของชาวพื้นเมืองอเมริกันขึ้นพูดแทนตัวเขาเอง ต่อหน้าผู้ชมรางวัลออสการ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะกลุ่มนักเคลื่อนไหวเชื่อว่าเวทีนี้น่าจะเป็นแค่เวทีเดียวที่ทาง FBI จะไม่สามารถระงับการถ่ายทอดสดที่มีคนรอชมอยู่ทั่วโลกได้
แม้ว่า Sacheen Littlefeather จะถูกปรามให้พูดแค่ 60 วินาที เธอจึงไม่ได้อ่านจดหมายที่ได้รับฝากมา แต่การปรากฏตัวและคำพูดของเธอที่ถูกพูดขึ้นพร้อมเสียงปรบมือและเสียงโห่ร้อง ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักแสดงชาติพันธุ์อื่นๆ ในฮอลลีวูดพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้รักษาสิทธิ์ของตนมากขึ้น (หนึ่งในนั้นคือ Jada Pinkett Smith ภรรยาของ Will Smith) – และนี่ก็เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ก่อน #OscarsSoWhite ถึง 43 ปีเลยล่ะ
ปัจจุบัน Marlon Brando เสียชีวิตแล้ว ด้าน Sacheen Littlefeather แม้จะอยู่ในวัย 71 ปีก็ยังคงทำหน้าที่เป็นนักกิจกรรมเพื่อชนชาวอินเดียนแดงเช่นเดิม ส่วนออสการ์ตัวนั้น Roger Moore ที่เป็นผู้เชิญรางวัลเคยเก็บไว้กับตัวจนกระทั่งทางคณะกรรมการของรางวัลออสการ์มาเก็บกลับในภายหลัง
Michael Moore บทเวทีออสการ์ปี 2003
Michael Moore เป็นนักทำสารคดีสายแซะสะท้อนสังคมระดับมืออาชีพคนหนึ่งของอเมริกา การออกตัวแรงๆ เรื่องการเมืองของผู้ชายคนนี้คงต้องถือว่าเป็นงานอดิเรก หรืออาจจะบอกว่างานประจำก็พอได้ เพราะภาพยนตร์สารคดีของเขาก็บอกกล่าวเรื่องนี้ อย่างเรื่อง Where To Invade Next ก็เป็นการจิกกัดว่ารัฐบาลอเมริกาจะไปบุกโจมตีชาติใดเพื่อยึดเอาสิ่งที่ดีงามกลับมาที่ประเทศของตน หรือ Farenheit 11/9 ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขาที่มีแผนจะออกฉายช่วงปลายปีนี้ โดยโฟกัสถึงการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump ซึ่งเขาชนะคะแนนการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤศจิกายน เลยโดนพลิกเลขมาตั้งเป็นชื่อให้สอดคล้องกับหนัง Farenheit 9/11 ไปด้วย
กลับมาที่เหตุการณ์โลกต้องจำของเขาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองกันดีกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในงานประกาศรางวัลออสการ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี 2003 ที่ Moore ได้รับรางวัลจากสารคดีเรื่อง Bowling For Columbine สารคดีเกี่ยวข้องกับความง่ายดายของการครอบครองปืนในช่วงต้นยุค 2000 จนเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ (Columbine High School Massacre) อย่างที่พอเดากันได้ว่าตัวสารคดีบ่งบอกให้เห็นช่องว่างทางกฎหมายของอเมริกาในยุคนั้น ที่หาปืนได้ง่ายมากๆ อย่างที่สารคดีแสดงให้เราเห็นว่าพวกเขาสามารถหาปืนฟรีได้หากเปิดบัญชีกับธนาคารแห่งหนึ่ง
ด้วยความทันยุค และการเดินเรื่องแบบ เดินไปถึงที่ ทำให้ดูจะๆ เห็นกันจริงๆ ภาพยนตร์เรื่อง Bowling For Columbine จึงได้ใจคณะกรรมการออสการ์และคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดีไปอย่างไม่เกินความคาดหมายนัก จนกระทั่ง Michael Moore เดินขึ้นไปบทเวทีพร้อมกับทีมงานทั้งๆ ที่การเข้าชิงครั้งนี้เป็นครั้งแรกของพวกเขา หลังจากเดินไปถึงไมค์แล้วเขาก็ขอเชิญผู้เข้าชิงคนอื่นๆ ขึ้นมาด้วย หลังจากพูดถึงแนวทางการทำงานของพวกเขาที่อยู่กับการทำเรื่องจริงไม่ได้ทำเรื่องแต่ง (fiction) แล้ว ผู้กำกับที่เพิ่งได้รับรางวัลก็ระเบิดความรู้สึกในใจและการแสดงออกต่อต้านประธานาธิบดี George W. Bush ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงนั้น
“เรา — เราอยู่ในช่วงเวลานี้ ที่พวกเราส่งคนไปทำสงครามด้วยเหตุผลจอมปลอม? ไม่ว่าจะเทปกาวปลอมๆ หรือระดับการเตือนภัยสีส้มปลอมๆ เราขอต่อต้านสงครามคุณบุช ช่างละอายจริง คุณบุช ช่างน่าละอายใจจริงๆ” [“We — We live in a time where we have a man sending us to war for fictitious reasons.?Whether it’s the fictition of duct tape or the fictitious of orange alerts, we are against this war, Mr. Bush. Shame on you, Mr. Bush, shame on you.”]
สุนทรพจน์ช่วงท้ายนี้โดนบทเพลงของวงออร์เคสตรากลบไปเล็กน้อย (หรือถ้าพูดแบบบ้านๆ ก็คือ การ ‘เล่นไล่’ ซึ่งเป็นธรรมเนียมกลายๆ ของงานประกาศรางวัลหลายๆ งานที่เปิดเพลงไล่คนพูดยาวหรือไม่จำเป็น) สื่อในยุคนั้นก็ซัด Moore ไปอีกหลายเจ้าว่า พูดเกินจริงบ้าง เขาพูดแบบนั้นเพราะเป็นฝ่ายซ้ายสุดประตูบ้าง เพราะก่อนหน้างานประกาศรางวัลออสการ์ 4 วัน อเมริกาเพิ่งส่งกองทัพไปถึงประเทศอิรัก แต่เวลาผ่านไปก็มีคนเห็นด้วยกับการต้านการส่งทหารไปร่วมในสงครามที่พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกันตรงๆ มากขึ้น หรือถ้าพูดว่าการแสดงจุดยืนต่อต้านสงครามของ Michael Moore ในวันรับรางวัลก็กลายเป็นการช่วยรณรงค์เหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดไปโดยปริยาย
อย่างที่เราบอกครับ Michael Moore ยังวนเวียนอยู่กับการทำสารคดีและยังคงเสวนาเรื่องการเมืองเป็นระยะ อย่างที่เขาทำนายไว้ว่า Donald Trump จะได้เป็นประธานาธิบดี หลายคนอาจจะมองว่าความคมคายในการนำเสนออาจจะต่ำลง เน้นแซะมากขึ้น แต่เขายังเป็นคนเป่านกหวีดเพื่อจุดสติให้กับสังคมได้อย่างดี
Bono นักร้องนำวง U2 กับกิจกรรมจำนวนมากมายมหาศาล
Bono ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับการออกตัวเรื่องทางสังคมและการเมืองนัก อย่างตัวเพลงของวง U2 เองก็มีเนื้อหากระทบการเมืองและสังคมในยุคสมัยที่วงร้องเพลงนั้นอยู่แล้ว และในชีวิตส่วนตัว Bono เองก็เป็นนักกิจกรรมคนหนึ่ง
เอาจริงๆ จะบอกว่าพี่ชายคนนี้มีอาชีพที่สองเป็นนักกิจกรรมก็ไม่ผิดนัก ด้วยเพราะเขาเดินหน้าในฝั่งนี้มาตั้งแต่หลายสิบปีก่อนแล้ว นับตั้งแต่ที่เขาได้เข้าร่วมวง Band Aid วงรวมดาราคนดังระดับโลกที่รวมตัวกันหลายครั้ง โดยหลักแล้วเป็นการรวมวงหารายได้เพื่อการกุศล ซึ่ง Bono ได้เข้าร่วมวงนี้ถึงสามครั้ง ระดมทุนให้ชาติประเทศโลกที่สามก็ออกบ่อย ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรค AIDS, ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย, ช่วยเหลือผู้ขาดอาหาร ฯลฯ
ด้วยความที่ว่าแกออกงานเยอะมากนี่ล่ะครับ ทำให้แกไปพูดอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะเช่นกัน อย่างเวที TED นี่ก็เคยไป หรือเวที NAACP (National Association for the Advancement of Colored People) หรือ สมาคมแห่งชาติสำหรับความก้าวหน้าของคนสี ก็ได้ไปพูด แถมแกพูดแต่ละทีก็ยาวใช่ย่อย ไม่ค่อยโดนห้ามเท่าไหร่นัก (อาจจะโดนเซ็นเซอร์บ้างในบางอรรถรสของพี่แก)
แต่โดยรวมแล้วคำพูดของเขาก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา อันมาจากการที่เขาเติบโตมาในไอร์แลนด์ซึ่งมีศรัทธาในพระเจ้าสูง แต่เขาก็ไม่ได้ออกมาพูดเรื่องศาสนานเพียวๆ เพราะเขายังชอบพูดเรื่องอิสระในการกระทำของมนุษย์ แถมยังแสดงแนวคิดเชิงมนุษยนิยมที่เห็นว่ามนุษย์สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ติติงกลุ่มทุนนิยมส่วนหนึ่ง เพื่อวันหนึ่งโลกนี้จะไร้ซึ่งความยากจน
ไม่นานมานี้ Bono ก็ออกมาติติงประธานาธิบดี Donald Trump ในงาน Grammy Award ครั้งล่าสุด ด้วยคำพูดที่ว่า “แด่ประเทศที่สวยงาม อุดมไปด้วยวัฒนธรรม ความแตกต่าง และประวัติศาสตร์กว่าพันปี พวกคุณไม่ใช่ประเทศเฮงซวย” [“To all the beautiful countries, filled with culture, diversity and thousands of years of history — you are not sh*tholes!”]
ก่อนที่เขาจะเว้นวรรคให้เสียงปรบมือแล้วพูดต่อว่า “และสุดท้ายนี้ขอให้คนที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ในโลกที่ไม่เท่าเทียม ไม่เพียบพร้อม และไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่พวกเรานำมา ผมขอบอกกับพวกคุณ: ส่งความอ่อนหล้า ความยากจน และใครก็ตามที่ต้องการจะลี้ภัย ถ้าร่วมมือกัน พวกเราไม่ได้เพียงแค่สร้างประเทศที่ดีขึ้น แต่สร้างโลกที่สมควรจะรวมเป็นหนึ่งเดียว” [“And lastly for those who fight for equality in a world that is not equal, not just, and not ready for the change we are here to bring, I say unto you: bring us your tired, your poor and any immigrant who seeks refuge, for together we can build not only a better country but a world that is destined to be united.”]
Cannes Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ที่พร้อมรับเรื่องการเมือง
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดงานหนึ่งของโลกนี้ หลายคนอาจจะสนใจตรงการเดินพรมแดง หรือว่าหนังเรื่องไหนที่จะได้รับรางวัลปาล์มทองคำ แต่อีกส่วนหนึ่งที่เทศกาลภาพยนตร์แห่งนี้เป็นมาตลอดก็คือ พื้นที่แสดงความเห็นทางการเมืองของคนทำหนังหลายประเทศ โดยเฉพาะคนทำหนังจากประเทศที่อาจจะมีโอกาสได้ออกสื่อน้อยกว่า ก็มักจะมาพูดแสดงความเห็นหรือออกตัวกันในงานนี้
ตัวอย่างที่น่าจะเห็นได้ชัดก็คงเป็นในช่วงปี 2006 จากหนังเรื่อง An Inconvenient Truth ที่พูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อน Al Gore ซึ่งหลายคนอาจจะจำได้จากการเป็นผู้ที่เคยร่วมชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกา ก็ใช้เวทีเมืองคานส์เป็นก้าวหนึ่งในการรณรงค์เรื่องโลกร้อนนี้ และเขาก็ใช้หนังภาคต่ออย่าง An Inconvenient Sequel: Truth to Power มาบอกเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อนหลังจากมีการผลักดันข้อตกลงปารีส (The Paris Agreement) ในปี 2016 ต่ออีกครั้ง
หรือถ้าตัวคนทำหนังไม่ได้มีโอกาสมาพูดอะไร ตัวหนังที่นำเสนอในงานทุกปีก็แทบจะสะท้อนว่า ในปีนั้นสังคมของประเทศต่างๆ อยากบอกเล่าเรื่องราวอะไร อย่างช่วงปี 2017 ที่ผ่านมาก็มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่เลือกจะบอกเล่าถึงผู้อพยพในมุมมองต่างๆ อย่าง Sea Of Sorrow ภาพยนตร์สารคดีของ Vanessa Redgrave นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่วัย 80 ปี บอกเล่าเรื่องราวของผู้อพยพหลายรุ่นหลากวัยอย่างจริงจัง หรือ Jupiter’s Moon ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องชายอพยพที่มีความสามารถเหาะเหินเดินอากาศและทำให้หมอที่รักษาเขาหมายจะใช้ประโยชน์จากความสามารถนั้น ที่แม้จะประหลาดแต่ก็สะท้อนภาพการใช้ผลประโยชน์ของเจ้าของประเทศกับคนอพยพในโลกจริงด้วยเช่นกัน
เราเชื่อว่าเวทีแห่งนี้จะคอยสะท้อนภาพของหลายๆ ประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องไปอีกนาน ถึงอย่างนั้นตัวผู้แทนจัดงานอย่าง Thierry Fremaux ก็เคยออกปากว่า “ตัวงานไม่ได้เป็นการเมือง แต่เป็นเจ้าของผลงานที่การเมือง คนสร้างภาพยนตร์ต่างหากที่การเมือง ส่วนพวกเราภูมิใจที่นำเสนอภาพยนตร์เหล่านี้ [“The festival isn’t political. It is the auteurs that are political, it is the filmmakers that are political. We are very proud to present this film.”]
เพราะฉะนั้นก็พอจะเดาได้ล่วงหน้าว่า เทรนด์ของหนังเมืองคานส์ในเร็วๆ นี้คงมีอะไรจากกระแส #MeToo ตามออกมาให้ชมกันเป็นแน่แท้
การเมืองอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราหรือใครอยากจะไปยุ่งวุ่นวายกับมากนัก เพราะมันมักจะมีอะไรชวนปวดเฮดตามมาเป็นประจำ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบทุกการกระทำของมนุษย์เราก็มีผลกระทบกับการเมืองและสังคมในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นการที่คนดัง เซเล[ หรือดาราจะออกความเห็นที่เกี่ยวกับสังคมกับการเมืองบ้างคงไม่ผิดเท่าใดนัก ตัวอย่างที่เรายกมา ณ ที่นี้นั้นก็เป็นแค่ส่วนน้อยนิดเท่านั้นด้วย
บางทีการได้รับฟังความเห็นจากหลายทิศ รวมถึงจากทางเหล่าคนดังที่มีโอกาสได้เจอคนเยอะๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เลวร้าย เพราะการพัฒนาสังคมกับการเมืองให้ดีขึ้น คงไม่ได้มาจากการพูดของใครมุมใดมุมเดียวล่ะเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
U2, Logic Stand Up For “Sh*thole” Countries During Grammy Performances