ลัทธิอันชั่วร้ายไม่ได้สูญสลายหายไปไหน แต่ได้ส่งต่อแนวคิดมายังพรรคการเมืองไทย คลื่นโทรศัพท์สะกดจิตวัยรุ่นไม่ให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ มีอดีตนักการเมืองไทยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ปั่นป่วนทั้งหมดที่ใครต่อใครก็ต่างชี้นิ้วไปที่คนๆ เดียว
เนื้อเรื่องเหล่านี้ถ้าแต่งเป็นนิยายอ่านสนุก หยิบมาอ่านตอนบ่ายๆ ก็คงจี้เส้นขำในคอดี แต่ในความเป็นจริงกลับมีคนจำนวนมากที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน ร้อยเรียงเป็นเส้นเรื่องชุดเดียวที่อธิบายเหตุการณ์ได้ทั้งหมด พอคุณรู้ว่ามีคนเชื่อเรื่องพิลึกกึกกือแบบนี้สุดหัวใจ มันก็น่าเศร้าขึ้นมาทันที
มีชุดเรื่องเล่าเช่นนี้เต็มไปหมดในอินเทอร์เน็ต และพวกเราเองก็ถูกดึงดูดไปกับข้อมูล ‘จับแพะชนแกะ’ (ยอมรับว่าส่วนใหญ่อ่านสนุกจริงๆ) หรือว่าแท้จริงแล้ว ทุกการตัดสินใจของเราอาจถูกครอบงำด้วยองค์กรมืดที่ทรงอำนาจจนสามารถบิดเบือนอะไรก็ได้ ข่าวลับบางชิ้นจึงถูกส่งต่อมาจากกรุ๊ปไลน์ของบรรดาญาติๆ ที่หลายคนผันตัวเองเป็นนักสืบ The X-Files ทั้งที่หลานในบ้านเพิ่งสมัครไลน์ให้เล่นเมื่อ 2-3 เดือนก่อนนี้เอง
ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) หรือศาสตร์แห่งการจับแพะชนแกะ แม้จะมีมานานพอๆ กับประวัติศาสตร์การทำข่าว แต่กลับเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับยุคสารสนเทศเฟื่องฟู อินเทอร์เน็ตเองกลายเป็นบ้านที่ดีให้เหล่านักทฤษฎีหยิบเรื่องโน้นมาชนกับเรื่องนี้อย่างออกอรรถรส ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบางคนเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘นักทฤษฎีมือสมัครเล่น’ สร้างชุดความคิดที่เชื่อมโยงอย่างเป็นตุเป็นตะ กลายเป็นกลุ่มลับลวงพรางในไลน์ แม้เรื่องเหล่านี้ถูกสวมทับด้วยคำว่า ‘ทฤษฎี’ (Theory) แต่ก็อาจจะเป็นคำที่ดูดีเกินไปหน่อย เพราะส่วนใหญ่แล้วคงไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดตามหลักวิทยาศาสตร์เลย
แต่ทำไมคนจำนวนมากยังเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอย่างสุดใจขาดดิ้นอยู่ดี?
ใช่แล้ว! ที่คนเชื่อเรื่องแบบนี้ เพราะมันทำให้พวกเขาสบายใจยังไงล่ะ
งานศึกษาปรากฏการณ์ความเชื่อทางสังคมนั้นอยู่ในความสนใจของเหล่านักวิชาการมาโดยตลอด อย่างกลุ่มนักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Miami นำโดย Joseph E. Uscinski และ Joseph M. Parent (พวกเขาเคยเขียนหนังสือ American Conspiracy Theories ในปี ค.ศ. 2014) สำรวจไว้ว่า คนอเมริกันกว่า 3 ใน 4 เคยเชื่อว่า ‘โอบามา’ ไม่ได้เป็นคนอเมริกันด้วยซ้ำ พอๆ กับเหตุการณ์ 9/11 ที่ยังมีคนโทษรัฐบาล George W. Bush ว่าอยู่เบื้องหลังแผนวินาศกรรมระดับโลก
แม้พวกเรามักจะชอบคิดกันว่าคนที่เชื่อเรื่องแบบนี้เป็นตุเป็นตะ คงต้องเป็นพวกชอบท่องเว็บบอร์ดลับๆ หรือเป็นลุงๆ ป้าๆ ที่ชอบแชร์ไลน์กลุ่ม แต่งานศึกษาเชิงสถิติกลับพบว่า คนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิด มีทุกอายุ ทุกเชื้อชาติ ทุกระดับรายได้ ไม่ว่าจะมีทัศนคติทางการเมืองฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา ก็ล้วนนิยมจับแพะชนแกะเพื่อให้ความสบายใจเช่นกัน
ชาวลิเบอรัลมักมีแนวคิดว่า สื่อและพรรคการเมืองเป็นหมากของพวกทุนนิยมและองค์กรยักษ์ใหญ่ ส่วนพวกสายอนุรักษ์นิยมเชื่อว่า นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย และกลุ่มลิเบอรัลเป็นพวกที่อยู่เบื้องหลังการสมคบคิดที่บ่อนทำลายความมั่นคงของสังคมด้วยงานวิชาการ เช่น ตัวอย่างทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรมพืช ฝั่งซ้ายก็โยงความผิดไปยังบริษัทมอนซานโต (Monsanto) บริษัทมหาชนจำกัดด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรข้ามชาติ ชี้ว่าเป็นบริษัทที่สร้างอาหารผีดิบทำลายเกษตรกรรายย่อย
ดังนั้นการจะเป็นทฤษฎีสมคบคิด มักค่อยๆ ก่อตัวอย่างมีรูปแบบที่เห็นชัดๆ 4 กระบวน
- ต้องมีกลุ่มบุคคลจำนวนมากๆ หนุนหลัง
- ทำงานอย่างเป็นความลับ
- พยายามพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสถาบัน การแย่งชิงอำนาจ การบิดเบือนความจริงและการใช้ประโยชน์
- พยายามสะท้อนว่ากำลังทำลายเจตจำนงอันดีงามของสังคม
พอเข้าคอนเซ็ปต์เหล่านี้ปุ๊บ เรื่องลือเรื่องเล่าก็พร้อมจะเป็นการสมคบคิดโดยสมบูรณ์แบบ
งานศึกษาทางจิตวิทยาชิ้นใหม่ๆ ทำให้เราเข้าใจกระบวนความเชื่อได้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในวารสาร Applied Cognitive Psychology พบว่า คนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดล้วนมีองค์ประกอบคล้ายๆ กัน คือ โดยธรรมชาติพวกเขาไม่สามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ รู้สึกว่าสภาพแวดล้อมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมล้วนเป็นภัย ขาดความมั่นคงในการทำภารกิจให้ลุล่วงในแต่ละวัน สูญเสียความเชื่อมั่นต่อตัวเอง
จึงไม่แปลกที่ทฤษฎีสมคบคิดล้วนก่อตัวขึ้นจากช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความกลัวและความไม่แน่นอนในสังคม เช่น ช่วงก้าวผ่านการปกครอง หลังจากเหตุก่อการร้าย เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ มีการแพร่ระบาดของโรค หรือภัยธรรมชาติที่มียอดคนตายมากๆ เพราะมนุษย์รู้สึกว่าสูญเสียการควบคุม และต้องการคำตอบจากปรากฏการณ์เหล่านี้ แต่เมื่อไม่มีใครให้เหตุผลได้ดีพอ ทฤษฎีเหล่านี้จึงดูฟังขึ้นมากกว่า
นักจิตวิทยา Jan-Willem van Prooijen กล่าวว่า “การใช้ความรู้สึกในการเชื่อมโยงแต่ละจุดเข้าด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับความเป็นจริงนั้นทำให้ผู้คนนิยม”
ความวิตกกังวลทำให้มนุษย์มองเห็นรูปแบบที่ไม่เคยมีอยู่จริง และพยายามหาคำอธิบายโดยใช้หลักฐานที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย หรือสร้างหลักฐานใหม่ขึ้นมาปลอมๆ เพื่อให้เชื่อมโยงแต่ละจุดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ตัวเองมีความสบายใจว่าเหตุการณ์ทางสังคมนั้น ตัวเองสามารถอธิบายมันได้ แม้จะไม่มีเค้าความจริงเลยก็ตาม
มีมุมมองที่น่าสนใจว่า การสนับสนุนโดยให้คนมีวิจารณญาณ เริ่มจากการทำให้ระบบการศึกษาเป็นที่พึ่งของคนในสังคมได้จริง
งานศึกษาพบว่า คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยม มีแนวโน้มเชื่อทฤษฎีสมคบคิดกว่า 42% เมื่อเทียบกับระดับสูงกว่าปริญญาตรีที่ 23% แต่อย่างไรก็ตามในหมู่คนที่มีการศึกษาสูง มีคนอย่างน้อย 1 ใน 5 ยังเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอยู่ด้วยเช่นกัน และที่น่ากลัวคือ พวกเขาจะถ่ายทอดความรู้ไปให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบังคับหรือใช้อำนาจกับสังคมได้ก็ยิ่งส่งต่อทฤษฎีสมคบคิดให้แพร่กระจายไป
ความเชื่อล้วนเป็นสิ่งเปราะบาง ดังนั้นเราจำเป็นต้องตั้งคำถามกับข้อมูลที่รับมา และมองมันโดยไม่ใช้อคติเป็นตัวกำหนด แต่การพัฒนาสังคมให้มีวิจารณญาณก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะจับแพะชนแกะอะไรไม่ได้เลย ของแบบนี้ต่างหากที่ทำให้สังคมน่าสนใจ ทฤษฎีสมคบคิดทำให้เราตั้งคำถามและปัดฝุ่นชุดตรรกะออกเสียบ้าง หาคนที่ถกเถียงด้วยแล้วถูกคอ มีเบียร์เย็นๆ สักหน่อยกับเรื่องเล่าทฤษฎีสมคบคิดก็เป็นของคู่กันที่ฟังสนุกไม่หยอก
การมีอยู่ของทฤษฎีสมคบคิดนี้จึงอาจจะยังเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่คนยังรู้สึกไม่มั่นคงในสังคมที่เขาอยู่ พรุ่งนี้คุณก็อาจจะได้ยินเรื่องสมคบคิดอะไรแปลกๆ ได้เป็นร้อยๆ เรื่องแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Jan‐Willem van Prooijen. The Influence of Control on Belief in Conspiracy Theories. Conceptual and Applied Extensions.
Joseph E. Uscinski and Joseph M. Parent. American Conspiracy Theories. Oxford University Press.