ข่าวลือ เป็นอีกสิ่งที่เก่าแก่พอๆ กับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ดูเหมือนว่ามนุษย์เราจะมีการเผยแพร่ข่าวสารแบบปากต่อปากหรือ ‘เล่าลือ’ เรื่องต่างๆ กันมาช้านานแล้ว
ปัญหาของคำว่าข่าวลือ หรือการเล่าลือก็คือ ข่าวสารที่ถูกลือมักมีแนวโน้มที่จะเป็นเรื่องไม่จริง แถมไม่จริงไม่พอยังมีแนวโน้มแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ยิ่งถูกลือถูกเล่าต่ออย่างออกรส เรื่องราวทั้งหลายยิ่งมีแนวโน้มที่บิดเบี้ยวขึ้นไปเรื่อยๆ
แล้วทำไมมนุษย์เราถึงชอบลือ ทำไมเราถึงชอบซุบซิบนินทา แล้วเราจะจัดการกับข่าวลือยังไงดี
ลือกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
ลิลิตพระลอมีท่อนหนึ่งที่ใครๆ ก็รู้จัก “เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย” จะว่าไปแล้วเรื่องราวโศกนาฏกรรมในลิลิตพระลอ หนึ่งในวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย เริ่มต้นด้วยการแพร่กระจายของเสียงเล่าลือถึงรูปโฉมของพระลอ
ในเทวตำนานของกรีกและโรมันมีเทวีที่ชื่อ Phame (กรีก) หรือ Fama (โรมัน) เป็นเทพธิดาที่เกี่ยวข้องกับข่าวลือ (rumor) ลักษณะของเทวีองค์นี้คือการทำให้สิ่งเล็กๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พฤติการณ์ของนางคือการพูดซ้ำในสิ่งที่ตนเองได้ยินได้ฟังมา (โดยที่ไม่ได้แยกแยะว่าจริงหรือเท็จ) และการพูดซ้ำในแต่ละครั้งก็จะดังขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจุดเริ่มของเรื่องราวเป็นเพียงเสียงกระซิบเบาๆ ก็ตาม
เวอร์จิล กวีโรมัน บรรยายภาพของเทวี Fama ไว้ว่า นางเป็นเทวีที่เท้าเหยียบอยู่บนพื้นดินแต่ศีรษะมุดอยู่ในเมฆ นางทำให้สิ่งเล็กน้อยดูสำคัญ และสิ่งที่ดูสำคัญยิ่งสำคัญขึ้น ภาพของเทวีองค์นี้มักให้ปีกที่ปกคลุมด้วยลิ้น หู และดวงตาจำนวนมาก (อี๋เนอะ) มือของเทวีถือทรัมเป็ตคู่หนึ่ง ทรัมเป็ตอันหนึ่งหมายถึงเรื่องจริง อีกอันหมายถึงเรื่องเท็จ
ภาพของเทวีแห่งข่าวลือก็เหมือนลักษณะของข่าวลือ คือมีการสร้างขึ้น แพร่กระจาย แล้วก็ค่อยๆ มีคนเชื่อถือ ข่าวลือไม่มีการแยกแยะระหว่างความจริงและความลวง ข่าวลือมักจะถูกขยายและบิดเบือนไปตามการลือ
วิทยาศาสตร์ในเสียงลือ
ด้วยความที่ข่าวลือมักเต็มไปด้วยความผิดพลาดและมักเป็นความเท็จ ข่าวลือเลยมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นผลร้ายมากกว่าเป็นผลดี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่สังคมมีความอ่อนไหวและมีการแพร่กระจายของข่าวลืออย่างหนัก ช่วงนั้นเองเลยมีความพยายามที่จะเข้าใจและยับยั้งจัดการกับข่าวลือต่างๆ อย่างเป็นกิจลักษณะ
ในปี 1947 มีการตีพิมพ์งานศึกษาชื่อ ‘จิตวิทยาของข่าวลือ’ (The Psychology of Rumor) ของ Allport และ Postman งานศึกษาดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยที่พยายามจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม
Allport and Postman อธิบายลักษณะของข่าวลือไว้ว่า การแพร่กระจายของข่าวลือเกิดจากการเล่าต่อๆ กัน ข่าวลือให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล เรื่องราวและลักษณะต่างๆ เรื่องราวของข่าวลือมักจะตอบสนองกับความต้องการทางอารมณ์ของคนในสังคมนั้นๆ ทั้งนี้พี่แกยังพบว่าข้อมูลรายละเอียดต่างๆ จะยิ่งตกหล่นผิดพลาดไปในขณะที่ข่าวลือนั้นถูกเล่าผ่านปากแค่ 5-6 คนแรกเท่านั้น
Robert Knapp ลูกศิษย์ของ Allport เลยทำการศึกษาเพิ่มเติมแล้วก็แบ่งข่าวลือออกเป็น 3 ประเภทคือ Pipe-dream คือข่าวลือที่สะท้อนถึงความฝันของผู้คนในสังคม คือลึกๆ แล้วคนอยากให้เกิดอะไร (ที่มักจะเป็นไปไม่ได้) ขึ้น ก็มีข่าวลือไปในทำนองนั้น Bogie-man หรือ fear rumor คือข่าวลือที่พื้นฐานอยู่บนความกลัว สะท้อนถึงความกลัวและความวิตกกังวลของผู้คนในสังคม สุดท้ายคือข่าวลือที่นำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นข่าวลือที่บ่อนทำลายมิตรภาพและความสัมพันธ์ของผู้คน Robert Knapp พบว่าข่าวลือที่มีเนื้อหาในแง่ลบมักจะแพร่กระจายได้ดีกว่าในข่าวลือแง่บวก
เจอข่าวลือต้องทำยังไง?
การศึกษาเรื่องข่าวลือ ในงานเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ของข่าวลือ (The science of rumors) มีคำแนะนำง่ายๆ ว่าเวลาที่เราเจอข่าวลือ ควรทำดังนี้
- ไม่ควรเชื่อข่าวสารใดๆ ในทันที ไม่ว่าข่าวนั้นจะมาจากช่องทางใดก็ตาม (Don’t believe information coming from traditional media and new media)
- ดูว่าข่าวนั้นมาจากแหล่งข่าวไหน (Check the sources from where the news came)
- อย่าถือว่าแหล่งใดแหล่งหนึ่งจะถูกต้องเสมอ (Do not consider any source as a-priori authoritative) คือควรต้องตรวจสอบกับหลายๆ ทาง
- พยายามเพิ่มความรู้พื้นฐานต่างๆ ของตัวเอง (Increase your own basic scientific knowledge)
- พยายามเป็นคนขี้สงสัย และคิดเชิงวิพากษ์อยู่เรื่อยๆ (Always maintain a genuine scepticism and develop critical thinking.)
จริงๆ ข้างต้น ก็ว่าด้วยความรู้พื้นฐานเลยเนอะ ข่าวสารมาจากไหน ใครพูด อย่าปักใจเชื่อหรือพูดทันที ในทางพุทธศาสนาก็พูดเรื่องนี้อยู่เสมอในหลักกาลามสูตร คือก่อนจะเชื่ออะไรก็ต้องคิด ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อน
ในอีกด้าน การแพร่สะพัดของข่าวลือก็อาจจะสะท้อนถึงความอ่อนไหวทางอารมณ์ของคนในสังคมนั้นๆ เมื่อเราเผชิญหน้ากับข่าวลือ เราก็ควรจะถอยหลังออกมาสักหนึ่งก้าว…อย่างมีสติและประคองความเข้มแข็งเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งโดดเข้ากลางพายุ
มีคำกล่าวว่า ข่าวลือเหมือนกับเปลวไฟในสายลม คือมันง่ายที่จะลุกลาม และถ้าเราไปเป็นส่วนหนึ่งในการกระพือข่าวลือ มันก็อาจนำไปสู่ความเสียหายต่างๆ ได้ รวมถึงความเสียหายแก่ตัวผู้พูดเอง