1
ในวันที่ 8 มกราคม 1992 ประธานาธิบดี จอร์จ บุช (ผู้พ่อ) ไปร่วมงานเลี้ยงที่จัดโดยนายกรัฐมนตรี คิอิชิ มายาซาวะ แห่งญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ปรากฏว่าในงานนั้น ประธานาธิบดีบุชเกิดอาการอาเจียนและเป็นลมขึ้นมา
เรื่องน่าจะจบอยู่แค่นั้น เพราะต่อให้เป็นลมและอาเจียน แต่บุชก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก เขาอยู่ในระหว่างเดินทางเยือนเอเชียนาน 12 วัน แถมเช้าวันนั้นเขายังเล่นเทนนิสแบบเล่นคู่กับพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและมกุฏราชกุมารนารุฮิโตะด้วย จึงอาจเหนื่อยล้าเจ็บป่วยขึ้นมาได้ แต่บังเอิญงานนั้นเป็นงานใหญ่ระดับ State Event ที่มีทูตถึง 135 คนเข้าร่วม,
ข่าวลือจึงเกิดขึ้น
ลือกันว่า-บุชเสียชีวิต!
เราคงพอรู้ว่า คนญี่ปุ่นถือสากับเรื่องแบบนี้มากแค่ไหน เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว คนพูดถึงเรื่องนี้กันมาก แต่ที่เกิดข่าวลือถึงระดับตายขึ้นมาได้นั้น เป็นเพราะมีคนโทรศัพท์ไปหาซีเอ็นเอ็น แอบอ้างว่าตัวเองเป็นแพทย์ประจำตัวบุช แล้วแจ้งข่าวว่าบุชเสียชีวิตแล้ว ซีเอ็นเอ็นให้คนเขียนข่าวนี้ทันที และเกือบออกอากาศอยู่รอมร่อแล้ว ถึงขั้นส่งข่าวนี้เข้าไปในระบบข้อมูลกลาง แต่โชคดีที่สำนักข่าวระดับโลกอย่างนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการตรวจสอบข่าวก่อน ทำให้รู้ว่าอาการของบุชไม่หนักขนาดนั้น แต่กระนั้น ‘คลื่น’ ของข่าวลือ ก็แพร่สะพัดออกไปในวงกว้าง ถือเป็นคนข่าวลือของคนดังที่ลือไกลที่สุดข่าวหนึ่ง
แต่ถึงกระนั้น ข่าวลือเกี่ยวกับบุชเสียชีวิต ก็ยังไม่ใช่ข่าวลือเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนดังที่ดังที่สุดในโลก เพราะตลอดประวัติศาสตร์ข่าวลือคนดังตาย ไม่มีข่าวไหนสู้ข่าว Paul is Dead ไปได้
พอลในที่นี้ก็คือพอล แม็คคาร์ทนีย์ ซึ่งมีการร่ำลือกันมาตั้งแต่ปี 1967 (ก่อนจอห์น เลนนอน จะเสียชีวิตตั้งนาน) ว่าพอลประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิต แต่เพราะเดอะบีทเทิลส์กำลังดัง ร่ำลือกันว่าถ้าพอลตายไป ก็อาจเกิดผลเสียต่อความนิยมของวงได้ เพราะพอลถือเป็นแม่เหล็กสำคัญคนหนึ่ง ก็เลยต้องไปหา ‘คนหน้าเหมือน’ มาแทนพอล
ข่าวนี้เริ่มร่ำลือกันในลอนดอนก่อน เรื่องของเรื่องก็คือ พอลขับรถยนต์แอสตันมาร์ตินของเขา แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ คนเลยจับเรื่องนี้มาลือ แต่เนื่องจากโลกยุคนั้นไม่ได้มีโซเชียลมีเดียประเภทเปิดปุ๊บติดปั๊บเหมือนเปิดเตาแม่เหล็กไฟฟ้า การลือของสมัยนั้นค่อยๆ ขับเคลื่อนไปช้าๆ เหมือนจุดเตาอั้งโล่ ต้องค่อยๆ พัดถ่านให้คุร้อนทีละน้อย ดังนั้น กว่าข่าวลือจะมาถึงจุด ‘พีค’ ก็ถึงปี 1969 ซึ่งเป็นปีที่เดอะบีเทิลส์มีอัลบั้มใหม่ (คือ Abbey Road) แต่สาธารณชนกลับไม่ค่อยเห็นหน้าค่าตาของพอลเท่าไหร่ ที่จริงมีรายงานว่า พอลเพิ่งแต่งงานใหม่ เขาเลยไปอยู่บ้านที่สก็อตแลนด์ และที่จริงกำลังครุ่นคิดว่า-จะเอาอย่างไรกับการทำงานต่อดี เพราะจริงๆ แล้วเขากำลังจะแยกวงออกมาทำงานเดี่ยว
ความพีคเกิดขึ้นเพราะมีหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเล่มหนึ่ง ตีพิมพ์บทความชื่อ Is Beatle Paul McCartney Dead? เป็นบทความที่พูดถึงข่าวลือนี้ แต่ไม่ได้ทำแค่พูดถึงเท่านั้น ยังไป ‘วิเคราะห์’ ทั้งคำร้องและหน้าปกแผ่นเสียงต่างๆ ของเดอะบีทเทิลส์ด้วย เพื่อดูว่าพอลตายจริงหรือเปล่า เพราะพอลจะเป็นคนเขียนคำร้องต่างๆ จำนวนมาก ถ้าพอลตายไป วิธีคิดวิธีเขียนอะไรต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนด้วย พูดง่ายๆ ก็คือมีการวิเคราะห์กันเป็นตุเป็นตะ ข่าวลือก็เลยแพร่สะพัดไปเป็นการใหญ่ จนประโยค Paul is Dead สะพัดไปทั่ว เรียกได้ว่าเป็นเหมือน ‘มีม’ ในปัจจุบันนี่แหละครับ เพียงแต่เป็นมีมที่สะพัดช้ากว่ามาก
ที่น่าสังเกตก็คือ ข่าวลือทั้งสองข่าว เกิดขึ้นในยุคที่โลกยังไม่มีสื่อออนไลน์ เพราะฉะนั้น ‘รูปแบบการแพร่’ ของข่าวลือ จึงแตกต่างไปจากที่เป็นในปัจจุบัน แน่นอน ข่าวลือย่อมเกิดจากเหตุอะไรบางอย่างที่ ‘จริง’ ไม่น้อย (เช่นบุชอาเจียน หรือพอลประสบอุบัติเหตุจริงๆ ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าเป็น Pretext ของข่าวลือ) แต่การที่จะ ‘ลือ’ เลยระดับของความจริงได้ เราจะเห็นได้ว่าสมัยก่อนมี ‘ตัวเร่งปฏิกิริยา’ (Catalyst) ที่ชัดเจน (เช่น คนโรคจิตโทรไปสำนักข่าว หรือมีคนเขียนบทความอะไรบางอย่างเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้น) แต่ถ้าเป็นในโลกออนไลน์ปัจจุบัน เราจะเห็นได้เลยว่า ตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้มีมากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน ข่าวลือจำนวนมากจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กันจากหลายแหล่ง และเนื่องจากหลายเรื่องก็มีแนวโน้มที่จะลือไปในทิศเดียวกัน (เช่น พอลหายหน้าไปแปลว่าพอลตายแล้วแน่ๆ) รวมทั้งเกิดการผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้เรื่อยๆ กลไกการเกิดข่าวลือในปัจจุบันจึง ‘น่าเชื่อ’ มาก เพราะข่าวลือแบบเดียวกัน เดี๋ยวคนนั้นก็แชร์มา เดี๋ยวคนนี้ก็แชร์มา ทำให้เราคิดว่าเกิดการตรวจสอบข่าวกับแหล่งที่สองที่สาม (หรือสี่ห้าหก) เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่จริงๆอาจมาจากที่เดียวกันก็ได้ แต่เหนืออื่นใด ข่าวลือในปัจจุบันนั้นหา ‘ต้นตอ’ ได้ยากมาก
สมัยพฤษภาคม 2535 น่าจะเป็นยุคแรกๆ ที่มีความพยายามใช้เทคโนโลยีในการแพร่ข่าวลือ โดยสำนักข่าวต่างๆ นั่งอยู่เฉยๆ ก็มักจะมีแฟกซ์ลึกลับ (สมัยนั้นโทรศัพท์ยังบอกหมายเรียกเข้าไม่ได้) ส่ง ‘ข่าวลือ’ ต่างๆมาให้อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โน้นนั้นนี้ ผมเคยรับแฟกซ์แบบนี้ด้วยตัวเอง และหลายครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่า-ข่าวลือแบบนี้เป็นข่าวลือที่เกิดจากการ ‘จัดต้ัง’ อย่างเป็นระบบ หรือเกิดจากความวิกลของปัจเจกบางคน แต่เชื่อว่าแม้ในปัจจุบันก็ไม่มีใครคลี่คลายความลับของแฟกซ์ลึกลับนี้ได้
นอกจากแหล่งที่มา ระยะเวลาของข่าวลือสมัยก่อนก็ต้องใช้เวลาในการ ‘ฟักตัว’ นานกว่า (เหมือนที่บอกว่าเป็นการจุดไฟด้วยเตาอั้งโล่) การแพร่กระจายของข่าวยังเป็นไปด้วยช่องทางที่ ‘หนืด’ กว่า และต้องอาศัยการตอกย้ำซ้ำๆ จากหลายแหล่ง ถึงจะทำให้ข่าวลือนั้น ‘เคลื่อน’ หรือ ‘ระบาด’ ไปได้อย่างมีนัย ในอีกด้าน การออกมา ‘แก้ข่าว’ ก็เป็นไปช้ากว่าโลกปัจจุบันมาก เพราะคนที่ถูกลือต้องรอดูให้รู้แน่ว่าข่าวลือนั้นแพร่ไปในวงกว้างและสร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหนเสียก่อน ไม่ใช่รีบด่วนออกมาแก้ข่าวแบบกระต่ายตื่นตูม ซึ่งน่าจะเกิดผลเสียต่อคนที่ถูกลือมากกว่าผลดี
ข่าวลือเมื่อยี่สิบปีก่อนกับตอนนี้ จึงเป็นข่าวลือที่อยู่ในโลกคนละใบ!
2
ข่าวลือคือ ‘ข้อมูล’ อย่างไม่เป็นทางการที่แพร่หลายไปในคนกลุ่มใหญ่ของสังคมหนึ่งๆ
คุณรู้ไหมครับ ว่า ‘ข่าวลือ’ นั้นไม่ใช่แค่เรื่องลมๆ แล้งๆ เฉยๆ (ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง) แต่ข่าวลือบอกอะไรเราเกี่ยวกับสังคมหนึ่งๆ ได้มากมายทีเดียว
ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ข่าวลือจะเป็นตัวบอก ‘บุคลิก’ (Characteristic Features) ของทุกสังคมได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ข่าวลือในแต่ละสังคมนั่นแหละ ที่เป็นตัวสร้าง ‘สำนึกทางวัฒนธรรม’ (Cultural Mentality) ของสังคมนั้นๆ ขึ้นมา
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ข่าวจริง’ ที่ปรากฏอยู่ใน ‘ฉากหน้า’ ไม่เคยมีอำนาจกำกับสังคมได้มากเท่าข่าวลือที่ซ่อนซ้อนเร้นอยู่ในหลืบแต่สะพัดกวัดไกวรู้ไปทั่ว!
ลองพิจารณาข่าวลือให้ดีนะครับ เราจะเห็นว่า ทั้ง ‘ข่าว’ และ ‘การ’ ลือนั้น มันมีสองขั้วประกอบอยู่ในร่างเดียวกันเสมอ อาทิเช่น ข่าวลือมักจะเป็นเรื่องที่เป็น ‘ความลับ’ บางอย่าง และความลับก็มักเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว ข่าวลือจึงทำหน้าที่นำความเป็นส่วนตัวนั้นออกสู่สาธารณะ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องทำด้วยวิธีการแบบส่วนตัวด้วย (แก…แกรู้หรือยังว่า ฯลฯ) ไม่ใช่ประกาศออกสื่อไปโต้งๆ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะผู้ลือมีความก้ำกึ่งในตัว ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกหรือผิดศีลธรรมมากน้อยแค่ไหน คือถ้าลือก็อาจรู้สึกว่าผิดศีลธรรม แต่ถ้าไม่ลือ-ก็อาจทำผิดศีลธรรมอีกแบบ (ซึ่งจะขยายความศีลธรรมแบบนี้ต่อไปข้างล่างนะครับ) ที่เหนือไปกว่านั้นอีกขั้นก็คือ-เอาเข้าจริงก็ไม่รู้แน่ชัดนักหรอกว่า สิ่งที่ลือออกไปนั้นจริงหรือไม่
ข่าวลือจึงมีลักษณะ ‘สองขั้ว’ (Duality) หลายแบบ นั่นคือ [ส่วนตัว / สาธารณะ] [เปี่ยมศีลธรรม / ผิดศีลธรรม] และ [จริง / เท็จ]
ที่เมื่อกี้ผมบอกว่า ถ้าไม่ลือ ก็อาจทำผิด ‘ศีลธรรม’ ได้ด้วยนั้น เป็นเพราะข่าวลือมี ‘หน้าที่’ ของมันในสังคม เป็นหน้าที่ที่ตกทอดมาแต่ดึกดำบรรพ์ และบางคนเชื่อว่าเป็นหน้าที่ที่ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วย
หน้าที่ที่ว่าก็คือการแพร่กระจาย ‘ข้อมูล’
ในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ พูดได้เลยว่า ‘ชีวิต’ ก็คือการสั่งสมข้อมูลต่างๆ และชีวิตทางสังคมก็คือการ ‘แชร์’ ข้อมูลเหล่านั้นออกไปให้คนอื่นได้รู้ด้วย ในสังคมที่ไม่ซับซ้อนอย่างสังคมนักล่าหาของป่าสมัยก่อน ข้อมูลอาจแพร่กระจายถึงกันหมดได้อย่างเสมอหน้า (เช่น มีสัตว์ป่าดุร้ายอยู่ในบริเวณนี้ มีแหล่งอาหารอยู่บริเวณนั้น) แต่ในสังคมที่ซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะสังคมปัจจุบัน ข่าวลือคืออาวุธสำคัญที่ใช้ในการ ‘ควบคุม’ ทางสังคม ทั้งควบคุมคนในกลุ่มเดียวกัน คนที่อยู่ต่างกลุ่ม และใช้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเองด้วย
ในด้านหนึ่ง ข่าวลือคือวิธีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่มที่กำลังเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน ในอีกด้านหนึ่ง ข่าวลืออาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของเป้าหมายได้ด้วย เมื่อมองข่าวลือแบบนี้ เราจะเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชัดเจน เพราะการที่คนใช้ข่าวลือเพื่อควบคุมคนอื่น แปลว่าย่อมคิดว่าตัวเองอยู่ในมาตรฐานทางศีลธรรมที่เหนือกว่า แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้อยู่ว่าการปล่อยข่าวลือเป็นเรื่องที่มีระดับศีลธรรมต่ำ ดังนั้นข่าวลือจึงมีลักษณะพิเศษน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะจะลือได้กว้างไกลลือไปจริง ต้องรักษา ‘สมดุล’ ของ Dualities ทั้งสาม คือ [ส่วนตัว / สาธารณะ] [เปี่ยมศีลธรรม / ผิดศีลธรรม] และ [จริง / เท็จ] อยู่ได้ ดังนั้น ในอดีต คนที่ทำตัวเป็น ‘เจ้ากรมข่าวลือ’ (Rumor-Monger) ที่ผูกขาดข่าวลือกับตัวมากเกินไป ก็จะถูกจับตามองและมักกลายเป็นคนที่คนอื่นไม่ค่อยไว้วางใจนัก
ในอีกด้านหนึ่ง ข่าวลือแทบจะเป็น ‘เครื่องมือ’ เดียว ที่กลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยในสังคม ใช้ ‘รับมือ’ กับกลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่า (โดยผูกโยงอยู่กับ ‘มาตรฐานศีลธรรม’ บางชุด) ซึ่งก็คงเป็นท่ีรู้กันอยู่แล้วนะครับ ว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่านี่แหละ ที่มักเป็นผู้ ‘เซ็ต’ บรรทัดฐานต่างๆให้กับสังคม ดังนั้นข่าวลือที่ไป ‘แซะ’ บรรทัดฐานเหล่านี้ จึงแสดงถึง ‘อาการ’ ไม่พึงพอใจของคนที่มีอำนาจน้อย ในอันที่จะเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานอะไรบางอย่างของกลุ่ม ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ได้หลายแบบ เช่น คนที่มีอำนาจมากยอมเปลี่ยนพฤติกรรม (รวมถึงบรรทัดฐาน) หรือถ้าเป็นสังคมเผด็จการ ก็จะเกิดความพยายามควบคุมข่าวลือด้วยวิธีการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมักจะไม่ได้ผล เพราะข่าวลือคือเครื่องมืออันทรงพลังที่ค่อยๆ บ่อนเซาะไม่หยุดหย่อน
แต่เมื่อสังคมพัฒนาซับซ้อนมากขึ้น ข่าวลือก็มีความซับซ้อนตามไปด้วย แม้หน้าที่ในการควบคุมพฤติกรรมของคนอื่นโดยใช้ข่าวลือจะยังคงเป็นเหมือนเดิม แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ชัดว่า ต่อให้ลือในประเด็นเดียวกัน คนที่มีความคิดต่างกันก็สามารถ ‘ลือ’ เรื่องเดียวกันไปคนละแง่มุมได้ การรับหรือปล่อยข่าวลือต่างๆ จึงช่วย identify ได้ด้วยว่าคนนั้นคนนี้อยู่ ‘กลุ่ม’ เดียวกับเราหรือเปล่า และเพราะดังนั้น ข่าวลือของคนต่างกลุ่มที่มีอำนาจพอๆกันแต่มีความคิดความเชื่อต่างกัน จึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ซ้อนซับไปได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะเมื่อเสริมด้วยอำนาจของสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ก็ทำให้การ ‘ถล่ม’ กันด้วยข่าวลือโดยใช้สื่อลวงเป็นไปได้ง่ายและเป็นข้อมูลที่ ‘พล่อย’ (Tactless Information) มากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่ง มันก็ไปทำลาย ‘อำนาจ’ ของข่าวลือที่เคยมีมา
ข่าวลือที่เคยมีส่วนสำคัญในวิวัฒนาการเพื่อควบคุมสังคมและสร้างสำนึกทางวัฒนธรรมร่วม ตอนนี้มีหน้าที่ใหม่-คือเป็นเครื่องมือผลิตความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่างแต่มีอำนาจพอๆ กัน
ข่าวลือที่สร้างความตายให้บุชกับพอลในอดีต จึงอาจกลายเป็นข่าวลือที่สร้างความตายใหม่ให้เรา
เป็นความตายที่ซับซ้อนกว่าเดิม
Illustration by Namsai Supavong
อ่านเพิ่มเติม
-Purpose and Vitality of Rumours : Political Aspects โดย Valdas Pruskus