วิธีการคุมกำเนิดที่คุณรู้จักมีกี่วิธีกันนะ? ถ้าจะให้ยกตัวอย่างแบบเร็วๆ ก็น่าจะเป็นการใส่ถุงยางอนามัย นับวันปลอดภัย หรือการกินยาคุมแบบเม็ดที่สาวๆ หลายคนนิยมใช้วิธีนี้กันซะส่วนใหญ่
สำหรับ ‘ยาฝังคุมกำเนิด’ จริงๆ วิธีนี้มีมานานมากแล้ว แต่ก็เกิดความเข้าใจผิดไปต่างๆ นานาเยอะแยะมากมาย ด้วยความที่เป็นการฝังเข้าไปในร่างกาย ก็อาจจะสร้างกังวลว่า วิธีการแบบนี้จะเกิดเอฟเฟ็กต์อะไรกับร่างกาย หรือฮอร์โมนหรือเปล่า วัยรุ่นหรือผู้ที่ยังไม่พร้อมมีบุตรสามารถฝังยาคุมได้ไหม แล้วค่าใช้จ่ายที่ตามมาล่ะ จะเยอะเกินกว่าที่เราจะแบกรับไหวไหมนะ
The MATTER ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่าง นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย ถึงกลไกการทำงานของยาคุมกำเนิดแบบฝัง พร้อมกับเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ ทั้งข้อดี ข้อเสีย หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่หลายคนอาจยังไม่ทราบแน่ชัด
ปูพื้นฐานความรู้ว่าด้วยการคุมกำเนิด แบบไหนเหมาะกับใคร?
คุณหมอเริ่มต้นด้วยการแจกแจงวิธีการคุมกำเนิดให้เราฟังคร่าวๆ ก่อนว่า จะเลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีไหนต้องพิจารณาจากสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ วิธีคุมกำเนิดสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ต้องการเว้นช่วงมีบุตรระยะสั้น เช่น กลุ่มผู้หญิงหลังแต่งงานที่ต้องการจะมีบุตร ต้องการเว้นช่วงเพียงเล็กน้อย กลุ่มนี้ให้ใช้ยาคุมแบบกิน ออกฤทธิ์สั้น หยุดกินแล้วตั้งครรภ์ได้ทันที แต่มีข้อเสีย คือ ต้องกินทุกวัน หากลืมกินหรือเกิดข้อผิดพลาดก็อาจตั้งครรภ์ได้
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ต้องการเว้นช่วงมีบุตรนาน หรือแบบกึ่งถาวร กลุ่มนี้เป็นที่มาของการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง และการใส่ห่วงอนามัย และกลุ่มสุดท้ายแบบถาวร เป็นการคุมกำเนิดด้วยการทำหมัน ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า ควรเป็นผู้ชายทำจะดีที่สุด เพราะสามารถทำได้ง่ายกว่า ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก แต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องใช้เทคนิคทางการแพทย์เยอะ ด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ควานหาท่อรังไข่ ใช้วิธีตัดท่อรังไข่เพื่อไม่ให้ตัวไข่วิ่งผ่านท่อแล้วไปเจอกับอสุจิได้
การทำหมันด้วยวิธีนี้ถ้าเป็นการทำในผู้หญิงหลังคลอดที่เรียกว่า ‘หมันเปียก’ จะทำได้ง่ายกว่า ‘หมันแห้ง’ นั่นเพราะในผู้หญิงหลังคลอดจะยังคงขนาดมดลูกที่ค่อนข้างใหญ่ สามารถผ่าตัดเปิดแผลได้ง่าย และมีโอกาสผิดพลาดน้อยกว่าหมันแห้งมากๆ
หน้าที่ของ ‘ยาคุมแบบฝัง’ และผลข้างเคียงที่ควรรู้
คุณหมอพาเราลงรายละเอียดต่อถึงวิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร ซึ่งมีอยู่ 2 แบบให้เลือก แบบแรก คือ การใส่ห่วงอนามัย คุณหมอบอกว่า วิธีนี้โอกาสผิดพลาดในการตั้งครรภ์น้อยมาก และแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย แต่ข้อเสีย คือ ต้องใส่ห่วงเข้าไปในโพรงมดลูก มีผลทำให้ผนังมดลูกระคายเคืองสำหรับบางราย ส่วนอีกวิธีที่ได้รับความนิยมมากว่านั้น และไม่จำเป็นต้องพบสูตินารีแพทย์โดยตรงก็คือ การใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝัง
กลไกการทำงานของยาคุมแบบฝัง คือ ป้องกันระงับการตกไข่ ตัวยาฝังมีฤทธิ์ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกมีลักษณะเหนียวมากขึ้น เหนียวจนกระทั่งอสุจิไม่สามารถผ่านเข้าสู่มดลูกได้ วิธีการก็ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องพบสูตินารีแพทย์ คือ ผ่าตัดเปิดแผลบริเวณท้องแขน จากนั้นก็สอดท่อเล็กๆ เพื่อดันยาเข้าไป ใช้เวลาเพียง 10-20 นาทีเป็นอันเสร็จ
แต่ข้อควรรู้ก็คือ การฝังยาคุมไม่ได้มีผลทันทีที่ฝัง ตัวยาจะออกฤทธิ์ภายใน 5 วันหลังทำการฝัง ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝังคุณหมอแนะนำว่า เป็นช่วงระหว่างมีประจำเดือนจะดีที่สุด แต่ถ้าช่วงไม่มีประจำเดือน หรือช่วงเว้นว่าง เมื่อฝังเสร็จแล้วต้องรอไปอีก 7 วัน รวมถึงผู้หญิงที่อยู่ในภาวะหลังแท้งบุตรก็สามารถฝังยาคุมได้ทันทีเช่นกัน เพราะฮอร์โมนในร่างกายยังไม่อยู่ในช่วงตกไข่
สำหรับผลข้างเคียงจากการฝังยาคุม มีตั้งแต่ประจำเดือนมาแบบกระปริบกระปรอยในช่วงแรกๆ มาน้อยผิดปกติ มาแล้วมาอีก หรือบางรายก็ไม่มาเลย ทำให้หลายคนกังวลว่า จะเป็นอันตรายกับร่างกายไหม คุณหมอบอกว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน มดลูกจะไม่มีเยื่อบุที่ทำให้ผนังมดลูกหนาขึ้น เพราะภาวะมีประจำเดือนเกิดจากการที่ผู้หญิงอยู่ในภาวะตกไข่ ทำให้ผนังมดลูกหนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของทารก แต่ถ้าไม่มีการตกไข่ หรือไม่มีการตั้งครรภ์ เยื่อบุที่สร้างขึ้นเหล่านั้นจะสลายไปเป็นประจำเดือนแทน
หากเราฝังยาคุมไปแล้วประจำเดือนไม่มา ของเสียที่ต้องขับออกมาในรูปแบบของประจำเดือนจะไปขับออกในรูปแบบอื่นแทน เช่น ทางเหงื่อ อุจจาระ หรือปัสสาวะ ฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าประจำเดือนไม่มาแล้วจะเป็นอันตราย เพียงแต่ผลข้างเคียง คือ หากอยากจะกลับมามีบุตรอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย บางรายใช้เวลา 2-3 เดือน หรือบางรายก็มากถึง 6 เดือน
คุณหมอแนะนำว่า ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปที่มีสามีและลูกแล้ว และต้องการเว้นช่วงมีบุตรนาน สามารถใช้ยาฝังได้เลย ส่วนอีกกลุ่มซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นวัยรุ่นที่ยังไม่อยากตั้งครรภ์ บางทีลืมกินยาคุม หรือพกพาไม่สะดวก แนะนำให้ใช้วิธีฝังยาคุมเช่นกัน
อายุต่ำกว่า 20 ฝังยาคุมฟรี ด้วยการตัดสินใจของตัวเองได้เลย
คุณหมอบอกว่า ตอนนี้กลุ่มที่ทางกระทรวงสาธารณสุขพยายามผลักดันให้ใช้วิธีการฝังยาคุม คือ กลุ่มเจริญพันธุ์ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี กลุ่มนี้สามารถใช้บริการฝังยาคุมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายได้เลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนผู้ที่มีอายุ 20 ไปขึ้นไปจะฝังฟรีได้กรณีเดียว คือ เมื่อต้องการยุติการตั้งครรภ์ และต้องการเว้นว่างจากการมีบุตร
“อายุต่ำกว่า 20 ปี คือ กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ นอกจากตัว พ.ร.บ.ป้องกันแก้ไขตั้งครรภ์วัยรุ่นแล้ว เราก็ทำให้เป็นแผนเชิงรุกไปเลยโดยการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน เจ้าหน้าที่จะมีเบอร์ส่วนตัวให้น้องๆ นัดแนะในการฝังยาคุมภายหลังได้ โรงพยาบาลบางแห่งก็มีบริการฝังยาคุมนอกสถานที่ แต่โดยกลไกจะเป็นในพื้นที่ก่อน เพราะต้องเน้นเรื่องความสะอาด ซึ่งการฝังยาคุมให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้เลย ไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ตั้งแต่ 10-11 ปีขึ้นไป หรือคนที่มีประจำเดือนแล้ว ทั้งหมดจะได้รับการดูแลเป็นความลับ”
หลังจาก พ.ร.บ.ป้องกันแก้ไขตั้งครรภ์วัยรุ่นออกมาแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจเก็บสถิติด้วยวิธีการเฝ้าระวังการคลอดบุตรของเด็กวัยรุ่นที่โรงพยาบาลพบว่า เปอร์เซนต์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 50-55 ขณะนี้ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 39 หรือคิดเป็นจากปีละแสนราย ลดลงเหลือ 5-6 หมื่นคน
ฝังยาคุมแล้ว ยังต้องใส่ถุงยางอยู่ไหม?
เราให้คุณหมอไล่เรียงลำดับให้ดูว่า วิธีการคุมกำเนิดแบบไหนมีเปอร์เซ็นต์ความปลอดภัยสูงสุด อันดับหนึ่ง คือ การฝังยาคุมและการใส่ห่วงอนามัย คุณหมอบอกว่า 2 วิธีนี้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการตั้งครรภ์น้อยกว่าการใส่ถุงยางอนามัย แต่ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย คือ ป้องกันการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ได้
ฉะนั้นสำหรับแพทย์แล้วการใส่ถุงยางอนามัยยังคงเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ดีที่สุดอยู่ หากต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ยังไม่ใช่สามีภรรยา แม้จะฝังยาคุมหรือใส่ห่วงอนามัยแล้ว คุณหมอก็แนะนำให้ใส่ถุงยางอนามัยควบคู่ไปด้วย เพราะอย่าลืมว่า ยาคุมหรือการใส่ห่วงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์
สำหรับสามีภรรยา หรือคู่รักที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้วทั้งคู่ หากฝังยาคุมหรือใส่ห่วงอนามัยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัย เพราะการฝังยาคุมเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สุด
Illustration by Waragorn Keeranan