แม้ชีวิตของเหล่าสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็น แต่ชายผู้หนึ่งกลับนำเราไปสัมผัสความอบอุ่นของพวกมันได้ใน Life of Reptiles
เขาพาผู้ชมกว่าล้านคน ขึ้นไปโผบินพร้อมๆกับพญาอินทรี และโอบอุ้มท้องนภาไว้ใน Life of Birds หลังจากนั้นเขายังทำหน้าที่เป็นกัปตันเรือเดินสมุทรเพื่อพาเราดำดิ่งไปยังโลกใต้น้ำที่น้อยคนได้สัมผัสใน The Blue Planet
ชายชราผู้เป็นมิตรกับน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ การยืนหยัดเพื่อธรรมชาติอยู่คู่วงการสารคดีโลกมากว่า 60 ปี และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายทั่วโลก ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ และเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และทรงพลัง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เปราะบางและอ่อนไหวอย่างยิ่งยวด
โลกเต็มไปด้วยเรื่องราวการดำรงอยู่อันน่าทึ่ง มันเร้าใจ อกสั่นขวัญแขวน และอุดมไปด้วยความรู้สึกนับพัน เพราะเพียงคลิปการเอาตัวรอดของกิ้งก่าจากกองทัพงูกระหายเลือดก็สามารถเรียกร้องความสนใจจากชาวออนไลน์ได้ไม่ยาก และเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าสารคดีระดับโลก Planet Earth กลับมาแล้ว มันจะยิ่งใหญ่กว่า และน่าหลงใหลกว่า แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนไปก็คือ…
Planet Earth II ต้องมี เดวิด แอทเทนเบอเรอห์
ประภาคารอันส่องสว่างของวงการสารคดี
แอทเทนเบอเรอห์ หรือชื่อเต็มๆคือ “เซอร์เดวิด เฟรเดอริค แอทเทนเบอเรอห์” (David Frederick Attenborough) สนใจความมหัศจรรย์ของชีววิทยาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เติบโตท่ามกลางธรรมชาติของยุโรปตอนกลาง หลงใหลเรื่องราวของวิวัฒนาการและความหลากหลายของสรรพชีวิต ทำให้เขาตั้งเป้าศึกษาธรรมชาติวิทยาอย่างจริงจังจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แม้จะหันเหไปเป็นทหารเรืออยู่ 2 ปี แต่การเดินทางกับราชนาวีก็ทำให้เขาเห็นความมหัศจรรย์ของท้องทะเล เขาบันทึกปูมชีวิตในทุกการเดินทางด้วยการสังเกตพฤติกรรมสัตว์น้ำและแนวปะการัง
จนกระทั่งปี 1950 เทคโนโลยีโทรทัศน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก นอกเหนือจากงานข่าว ยังมีงานสารคดีซึ่งแม้จะมีคนทำงานกันเพียงวงแคบ แต่ได้รับการติดตามจากผู้ชมไม่น้อย แอทเทนเบอเรอห์ในวัยหนุ่มสนใจการสื่อสารมาตลอด เขาเห็นความเป็นไปได้ว่าหากผู้ชมได้สัมผัสเรื่องราวอันประทับใจของธรรมชาติเหมือนอย่างที่เขาพบนั้นคงจะดีไม่น้อย จึงลองสมัครงานที่สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ ในหน่วยที่พึ่งก่อตั้งและยังแบเบาะ BBC Natural History
แม้จะต้องทำงานอยู่เบื้องหลังหลายปีในฐานะทีมค้นคว้าข้อมูลและเขียนสคริปต์อยู่ 4 ปี แต่มีเหตุบังเอิญเมื่อพิธีกรประจำรายการ Zoo Quest เกิดป่วยกะทันหันไม่สามารถถ่ายทำสารคดีให้จบได้ แอทเทนเบอเรอห์จึงทำหน้าที่ออกหน้ากล้องแทน แม้จะโดนล้อเลียนเรื่องฟันที่ใหญ่และไม่สมส่วนก็ตาม
ความบังเอิญเป็นแค่โอกาส แต่การจะไปนั่งในหัวใจผู้ชมนั้นสำคัญกว่า หัวใจที่ทำให้ผู้คนต้องมนต์สะกดของแอทเทนเบอเรอห์ คือการร้อยเรียงทุกถ้อยคำในสารคดีอย่างเข้าอกเข้าใจ มองชีวิตเป็นปรากฏการณ์ และมนุษย์เองสามารถเรียนรู้อะไรได้จากมัน เขาพยายามทำให้ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้ชีวิตในป่านามิเบีย หรือกลางหุบเขาอันโดดเดียวในทิเบต ผู้คนก็ยังสัมผัสถึงหัวใจและมองเห็นตัวเองได้
เขาเป็นนักสารคดีคนแรกๆที่ให้ความสำคัญกับบทบรรยาย ด้วยสำเนียงอังกฤษลุ่มลึกมีเสน่ห์ ไม่กระโชกโฮกฮาก ดังนั้นการให้เสียงบรรยายจะไม่ใช่การนั่งอ่านตามสคริปต์แยกภาพแยกเสียง แต่แอทเทนเบอเรอห์จะดูภาพรวมทั้งหมดก่อนเพื่อซึมซับบรรยากาศ ก่อนจะกลั่นเป็นเสียงบรรยาย นั้นทำให้กระบวนการนี้กินเวลานาน ในหนึ่งสัปดาห์เขาจึงบันทึกเสียงไม่ได้มากตอนเหมือนนักบรรยายสารคดีคนอื่นๆ
กว่า 60 ปีที่ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ ผลิตสารคดีให้กับบ้าน BBC มาอย่างยาวนาน เขามีส่วนในการอำนวยการสร้าง เขียนบท วิจัยร่วมกับนักสำรวจ หลายครั้งที่เขาต้องเดินทางไปถ่ายทำในสถานที่จริงซึ่งยากลำบากและเสี่ยงชีวิตไม่น้อยเพื่อดำเนินรายการด้วยตนเอง การมีส่วนช่วยในความก้าวหน้าของวงการชีววิทยาศึกษาของอังกฤษทำให้เขาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ (Honorary degrees) จากมหาวิทยาลัยทั่วเกาะอังกฤษ 31 ใบ มากกว่านักวิทยาศาสตร์เสียอีก
เพราะเหตุนี้จึงทำให้การปรากฏตัวของลุงเดวิด แอทเทนเบอเรอห์ เรียกเสียงฮือฮาจากสาธารณะได้ตลอด เขาเป็นที่รักของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ทั่วเกาะอังกฤษ มีจดหมายนับพันๆ เขียนมาเล่าเรื่องที่พวกเขาชมสารคดีพร้อมลูกๆ ตั้งแต่คนวัยเบบี้บูมเมอร์ ถึงคน Gen Y ก็ยังเฝ้ารอดูสารคดีผ่านจอโทรทัศน์
สื่อสารวิทยาศาสตร์แบบแอทเทนเบอเรอห์
ใครๆก็เมินหน้าหนี หากได้ยินคำว่า “เอาล่ะ เรามาฟังเรื่องวิทยาศาสตร์แสนสนุกกัน” เขารู้ดีว่าผู้ชมส่วนใหญ่ไม่ได้สนอกสนใจอะไรขนาดนั้น (ออกจะเบื่อด้วยซ้ำ) และคนในสายอาชีพวิทยาศาสตร์เองก็มักสอบตกเวลานำเสนอผลงานวิทยาศาสตร์ให้ชาวบ้านตาดำๆฟัง เพราะพวกเขาต้องทนฟังศัพท์แสงที่ดูฉลาดดี แต่ไม่นำพาไปสู่อะไร
สารคดีหลายๆชิ้นจึงจบลงด้วยความน่าเบื่อ ข้อมูลแห้งๆ เรียงเป็นพรืด กับบทบรรยายที่ไร้อารมณ์ร่วม และน้ำเสียงผู้บรรยายที่ไม่ได้สนใจอะไรในสิ่งที่เขาอ่าน สิ่งเหล่านี้เป็นช่องว่างที่แอทเทนเบอเรอห์จะสามารถมาเติมเต็มได้ เขาใช้รูปแบบและน้ำเสียงการเล่าที่เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ใจ เหมือนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ชม โดยไม่สปอยหรือทำเป็นรู้ก่อน แต่เมื่อถึงจุดไคลแม็กซ์เขาก็ไม่เก็บอารมณ์ความสุข สมหวัง และกระตุ้นให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและวิทยาศาสตร์
แอทเทนเบอเรอห์ ไม่เคยแอคว่าตัวเองเป็นพหูสูต หรือนักวิทยาศาสตร์เซเลบตัวพ่อ เขามักนำเสนอความอ่อนโยนและความเปราะบางทางอารมณ์ที่ไม่ต่างจากพวกเรา ซึ่งมันจับต้องได้ เจ็บปวดได้ และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นหัวใจของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีควรมี
หน่วย BBC Natural History (รู้จักในชื่อ NHU) ที่แอทเทนเบอเรอห์และทีมงานรุ่นแล้วรุ่นเล่าส่งต่อประสบการณ์ทางธรรมชาติเต็มไปด้วยฟุตเทจล้ำค่าที่สำคัญ ซึ่งล้วนบันทึกเหตุการณ์ทางชีววิทยาไว้รอบโลก และมีการเรียบเรียงอย่างชาญฉลาดบนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ กว่า 50 ปี พวกเขาได้อุทิศทรัพยากรและเวลา (บางครั้งก็ชีวิต) เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นธรรมชาติในมุมที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ทุกๆ ครั้งที่แอทเทนเบอเรอห์เดินเข้าไปยังตึก NHU ก็มักจะได้ยินเรื่องราวการผจญภัยของทีมงาน ผู้คนเล่าเรื่องทริปล่าสุด และความรู้สึกวินาทีที่พวกเขาสบตากับสัตว์ป่าที่เสมือนต้องมนต์สะกด
“ผมจะหาภาพที่พวกคุณถ่ายได้ที่ไหน ผมอยากจะเห็นมันใจจะขาด” เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ นักสารคดีวัย 90 กับหัวใจของนักสารคดีที่ไม่มีวันแก่ชรา
ก่อนจะจบบทความ ผมขอนำเสนอบางมุมที่คุณอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์
ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะประกัน
แอทเทนเบอเรอห์ ถูกติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pace maker) เมื่อปีที่แล้ว จากบริษัทประกันภัยที่ขู่จะไม่คุ้มครองหากเขาดื้อรั้นเดินทางไปไหนต่อไหนโดยไม่มีอะไรดูแลอัตราการเต้นหัวใจในวัย 90 ปี “ผมบอกได้เลย การมีไอ้เครื่องนี้ในร่างกายมันไม่สนุก หากหัวใจผมเกิดเต้นผิดจังหวะขึ้นมาเมื่อไหร่ มันจะเตะจนผมสะดุ้งทุกที”
ไม่ชอบ “หนู” เอาเสียเลย
แม้คุณจะเป็นนักธรรมชาตินิยมขนาดไหน ก็มีสัตว์บางประเภทที่ไม่ถูกชะตาด้วย “ผมไม่ชอบหนู และผมก็ไม่เคยปิดบังเป็นความลับ” เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ BBC “เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมปวดท้องอย่างหนักที่อินเดีย ต้องไปถ่ายท้องในส้วมผุๆ พังๆ จากนั้นพวกหนูก็ไต่ขึ้นมาจากส้วมขณะที่ตัวมันเปียกๆ และเริ่มไต่ไปตามขาผม ผมบอกเลยว่าพวกมันคือฝันร้าย”
สถานที่ชื่นชอบที่สุด
พื้นที่ยุโรปตอนกลางซึ่งเป็นที่ที่เขาเติบโตมาล้วนให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน “ผมสามารถหาร้านอาหารดีๆ และไวน์ราคาถูกๆ ได้ หลังจากการถ่ายทำสารคดี” เหตุผลนี้พิสูจน์ว่า นักธรรมชาตินิยมบางครั้งก็ไม่ได้ปฏิเสธความสะดวกสบายเสียทีเดียว
โศกนาฏกรรมครอบครัว
หลายคนคงทราบว่า เหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยปี 2004 พรากผู้หญิงในครอบครัวเขาไปถึง 3 คนใน 3 รุ่น เมื่อคลื่นยักษ์เข้าซัดที่เขาหลัก จังหวัดพังงา เขาสูญเสียลูกสาว Jane Holland อายุ 49 หลานสาว Lucy อายุ 15 และแม่สามีของ Jane ชื่อ Audrey อายุ 81 ปี แอทเทนเบอเรอห์เจ็บปวดจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก แต่เขาก็ไม่เคยต่อว่าท้องทะเล
คดีฆาตกรรมสุดสยองในบ้าน
ในปี 2011 พบกะโหลกมนุษย์ปริศนาในสวนหลังบ้านของแอทเทนเบอเรอห์ มันเป็นเหตุฆาตกรรมสุดสยองที่ถูกเก็บงำเป็นความลับกว่า 132 ปี เมื่อปี 1879 สาวใช้วิปริต Kate Webster ลงมือฆาตกรรมแม่ม่ายสาว Martha Thomas และสับหล่อนเป็นชิ้นๆ จากนั้นก็ต้มร่างแม่ม่ายและปรุงเป็นอาหารให้ลูกๆเจ้าของบ้านกินอย่างสยดสยอง
สาวใช้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจากชิ้นส่วนเท้าที่กินไม่หมด แต่ไม่มีใครพบส่วนหัวของแม่ม่ายสาวอีกเลยกว่า 132 ปี จนกระทั่งผู้รับเหมาได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงภูมิทัศน์สวนรอบๆ บ้านแอทเทนเบอเรอห์ พวกเขาพบกะโหลกของ Martha Thomas ที่หายไป คุณคงขนลุกไม่น้อย ที่ต้องอยู่ในบ้านที่มีการฆาตกรรมสุดสยอง แต่แอทเทนเบอเรอห์กลับไม่สะทกสะท้านอะไรเลย
แต่ก็นั่นแหละ การกลับมาอีกครั้งของ Planet Earth 2 อาจทำให้คุณหลงรักธรรมชาติและน้ำเสียงอันมีเสน่ห์เหลือร้ายของ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ รอติดตามเขาให้ดีแล้วกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Life on Air by David Attenborough
http://www.radiotimes.com/news/2016-11-13/david-attenborough-on-planet-earth-ii-brexit-and-the-future-of-humanity
Cover Illustration by Namsai Supavong